รูปแบบเกษตรกรรมในปัจจุบันนั้นทำลายทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ของโลก เนื่องจากรูปแบบเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลให้เกิดการใช้งานทรัพยากรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ในขณะเดียวกันยังมีการใช้สารสังเคราะห์และเครื่องจักรเพื่อนำประสิทธิภาพของระบบนิเวศมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ จนเกิดความเสื่อมโทรมของธาตุอาหารในดิน คุณภาพน้ำและมลพิษทางอากาศ จนเกิดการตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของมนุษย์ที่มีต่อโลก
David Holmgren และ Bill Mollison ได้เสนอแนวคิดการออกแบบระบบที่เป็นการเพาะปลูกอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองกับความท้าทายในการอยู่รอดอย่าง วัฒนธรรมยั่งยืน หรือ วัฒนธรรมยั่งยืนเป็นการวางผังพื้นที่และวางแผนระบบเพื่อจัดการทรัพยากร ที่เน้นสร้างวงจรของทรัพยากรเลียนแบบธรรมชาติให้เกิดการหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ เพื่อลดการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสู่พื้นที่อื่นๆ รวมถึงใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด มีกระบวนการคิดที่ผนวกรวมเอาระบบนิเวศทั้งบนบกและในน้ำให้เชื่อมต่อกันเป็นองค์รวม
โดยการออกแบบแบบวัฒนธรรมยั่งยืน เน้นการผลิตอาหารที่หลากหลาย การหมุนเวียนทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศให้น้อยที่สุด ซึ่งยึดหลักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ คือ Care of Earth ให้ความเคารพต่อระบบนิเวศในโลก ดูแลรักษาระบบนิเวศ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ Care of People คือการดูแลให้ตนเองและสังคมที่อาศัยอยู่ ได้รับความต้องการพื้นฐานอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถดูแลระบบนิเวศต่อไปได้ และสุดท้าย Care of Returns หรือ Fair share การใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด เข้าใจระบบนิเวศ เข้าใจความต้องการของตนเอง เพื่อรับผิดชอบและกำหนดขอบเขตการใช้ทรัพยากร
หลักการออกแบบเพื่อวัฒนธรรมยั่งยืน
1. Observe and Interactสังเกตปัจจัยทางธรรมชาติพื้นที่เพื่อนำมาออกแบบให้เกิดความเหมาะสม สร้างความเข้าใจพื้นฐานของพื้นที่เพื่อให้ในอนาคตสามารถปรับปรุงและพัฒนาต่อได้ สามารถนำไปใชวางแผนการออกแบบพื้นที่ปลูกผักสวนครัว ป่าอาหาร รวมถึงการดูแลรักษาพื้นที่เกษตร การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่
2. Catch and Store Energyการออกแบบจะต้องนำเอาปัจจัยทางธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ลม แสงแดด ความชื้น น้ำฝนและความร้อนใต้ดิน แล้วจึงออกแบบระบบที่เป็นการจำลองวัฎจักรทางธรรมชาติ สามารถนำมาใช้ในการออกแบบอาคารที่รับลมและไม่สะสมความร้อน ระบบการบำบัดน้ำด้วยธรรมชาติ
3. Obtain a Yieldออกแบบการให้ผลผลมีปริมาณเพียงพอและยั่งยืน สามารถหมุนเวียนผลผลิตและการเติบโตทดแทนกันของพืชเป็นวงจรได้ นำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบสวนครัว สวนป่า สวนขนาดเล็ก วนเกษตร
4. Apply Self-regulation & Accept Feedbackพิจารณาผลกระทบที่เกิดจากตัวระบบที่ออกแบบและวิถีชีวิตของเรา เพื่อพัฒนาปรับปรุง เพราะถึงแม้จะเป็นการออกแบบโดยเลียนแบบธรรมชาติ แต่ก็ยังเป็นการออกแบบจากมนุษย์อยู่
5. Use & Value Renewable Resources & Servicesเครื่องมือและกระบวนการที่ส่งเสริมวัฏจักรของระบบนิเวศ ลดการเกิดของเสีย ส่งเสริมการหมุนเวียนของสารอาหารในธรรมชาติ เช่น การใช้พลังงานธรรมชาติ ใช้แรงมนุษย์หรือสัตว์ การใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ การใช้การย่อยสลายจากจุลินทรีย์ในดิน
6. Produce No Wasteต้องมีการวางแผนระบบการเข้าและออกของสารอาหารให้สมดุล เพื่อเป็นลดปริมาณของเสียและมลพิษ อาจออกแบบให้มีจุดย่อยสลายขยะในครัวเรือนและพื้นที่เกษตรเป็นหลุมหรือบ่อ หรือใช้ซากพืชมาคลุมดินเพื่อเก็บกักความชื้น
7. Design from Patterns to Detailsการออกแบบจะต้องจำลองระบบธรรมชาติอย่างละเอียดเพื่อให้ระบบเกิดความยั่งยืนและสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง เช่น การทำเนินดิน บ่อรับน้ำ
8. Integrate Rather Than Segregateออกแบบอย่างเป็นองค์รวม เพราะองค์ประกอบต่าง ๆ ในธรรมชาติมีการเกื้อกูลกัน เกิดปฎิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เช่น การออกแบบระบบน้ำ การบำบัดน้ำใช้
9. Use Small and Slow Solutions เน้นให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้เวลาและความอดทน ซึ่งการจัดการในระดับย่อยนี้จะช่วยให้สามารถจัดการได้ง่ายและเฉพาะจุด ลดผลกระทบที่อาจเกิดกับระบบนิเวศโดยรวม เช่น การใช้วิธีลดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีทางธรรมชาติแทนการใช้สารเคมี
10. Use and Value Diversityในการออกแบบจะต้องใช้ประโยชน์จากความหลากลหายของระบบนิเวศให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าและรักษาความหลากหลายของระบบนิเวศไว้ เช่น การปลูกพืชแบบอิงอาศัยกัน
11. Use Edges & Value the Marginalออกแบบจัดการรอยต่อของแต่ละพื้นที่ ให้เป็นโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มากขึ้นและสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้น เช่น การออกแบบระหว่างพื้นที่นิเวศสองพื้นที่
12. Creatively use and respond to changeการเปลี่ยนแปลงในระบบวัฒนธรรมยั่งยืนเกิดขึ้นได้ตลอด เนื่องจากมีความสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรธรรมชาติ ซึ่งมีปัจจัยหลายด้านที่ เราควรใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ เช่น การใช้โรงเรือนในการเพาะปลูกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล
ออกแบบพื้นที่การใช้งาน (Zones)
การจัดวางพื้นที่โดยใช้ปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาพิจารณา ได้แก่ ปัจจัยทางที่ตั้ง ระดับการเข้าถึงและความเข้มข้นของกิจกรรมมนุษย์ เปรียบเทียบการวางผังเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น โดยชั้นในสุดเป็นส่วนที่พักอาศัยและไล่ระดับตามความถี่ในการเข้าใช้งานออกมาจนถึงชั้นนอกสุด
ชั้นในสุดเป็นส่วนที่พักอาศัย อาจออกแบบให้เป็นส่วนที่มีการจัดการทรัพยากรและพลังงาน มีระบบการหมุนเวียนของสารอาหาร น้ำ จากการใช้งานในบ้านเพื่อนำไปใช้ต่อในพื้นที่เกษตร ถัดมาเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชที่ต้องการการดูแล เช่น พวกผลไม้ ต่อมาส่วนที่ 3 เป็นส่วนเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารหลัก สมุนไพร ผักต่าง ๆ ส่วนที่ 4 เป็นส่วนที่อยู่ห่างจากบ้านมากที่สุด ต้องการการดูแลน้อยที่สุด จึงเน้นปลูกต้นไม้ใหญ่
การปลูกแบบใกล้ชิดและซ้อนความสูง (Stack and pack)
การปลูกพืชหลากหลายใกล้ชิดจนครอบคลุมพื้นที่ดินทั้งหมด จะช่วยดึงดูดแมลงศัตรูพืชอื่นๆ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ให้ประโยชน์แก่พืชที่เราต้องการเก็บเกี่ยว เช่น ดาวเรือง ดาวกระจาย บานชื่น ทานตะวันและบานไม่รู้โรย โดยสามารถดึงดูดแมลงศัตรูพืชให้มาสนใจ รวมถึงแมลงตัวห้ำช่วยขับไล่แมลงอื่น ๆ หรืออาจใช้พืชสมุนไพรที่มีกลิ่นเพื่อขับไล่แมลง เช่น กระเพรา ตะไคร้ ปลูกแซมตามแปลงผัก ในต่างประเทศก็มีการใช้พืชมีกลิ่นเพื่อช่วยไล่แมลงจากพืชที่มีศัตรูพืชมาก หากต้องการแยกส่วนพื้นที่อาจมีการใช้ขอนไม้ หรือไม้พุ่มสูงเพื่อแยกกลุ่มพืช การปลูกพืชหลากหลายและใกล้ชิดกันเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยสร้างความหลากหลายทางแนวราบ
การปลูกที่ก่อให้เกิดลักษณะของการซ้อนชั้นของพืช หรือหลักการวนเกษตร (Agroforestry) เป็นการปลูกต้นไม้ 7 ระดับ ได้แก่ ไม้เรือนยอด (Canopy) ไม้ขนาดใหญ่ อาจเป็นต้นที่ปลูกเอาเนื้อไม้หรือมีผลให้อาหารได้ เช่น ประดู่ ยางนา สัก มะค่า สะตอ เหรียง กระท้อน มะพร้าว และหมาก เป็นต้น ไม้ระดับกลาง (Low trees) มักเป็นพืชที่ให้ผลผลิต เช่น มะม่วง ขนุน ชมพู่ มังคุด ไผ่ ทุเรียน ลำไย กล้วย แก้วมังกร มะละกอ ไม้พุ่ม (Shrubs) พวกสมุนไพร พืชดอก เช่น ตะไคร้ สะระแหน่ บัวบก มะนาว ไม้ล้มลุก (Herbaceous) ไม้หัว (Root vegetables) พืชที่มีหัวใต้ดิน เช่น กลอย ขิง ข่า กระชาย กระทือ มันสำปะหลัง มันเทศ ไม้คลุมดิน (Groundcovers) เป็นอาหาร สมุนไพรและของใช้ ไม้เลื้อย (Climbers and vines) พวกพืชที่มีเถาเกาะเกี่ยว เช่น ตำลึง มะระ ถั่วฝักยาว บวบ พริกไทย กาแฟ การปลูกแบบใกล้ชิดและซ้อนความสูง จะช่วยให้เราใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยในการยึดเกาะหน้าดิน เพิ่มธาตุอาหารในดินและสร้างความหลากหลายทางแนวดิ่ง
วางระบบ (Systematic design)
จากหลักการของวัฒนธรรมยั่งยืนที่กล่าวว่า จะต้องวางแผนอย่างเป็นองค์รวม ในการออกแบบจึงต้องทำความเข้าใจแต่ละองค์ประกอบเสียก่อน ซึ่งองค์ประกอบแต่ละส่วนนั้นมีประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น ต้นไม้ เรือนพุ่มให้ร่มเงา เป็นที่พักพิงของสัตว์และพืช ผลและดอกเป็นแหล่งอาหาร ใบเมื่อร่วงหล่นให้ปุ๋ยแก่ดิน ระบบรากใต้ดินทำการยึดหน้าดินและทำงานร่วมกับจุลินทรีย์เพื่อกักเก็บธาตุอาหารในดิน ดูดซับน้ำ ซึ่งประโยชน์ในแต่ละด้านสามารถเข้าไปมีบทบาทในหลากหลายวงจรวัฏจักรของการการแลกเปลี่ยนสารอาหาร การจัดการน้ำ การจัดการของเสียได้
ระบบการจัดการน้ำ เริ่มต้นจากแหล่งที่มาของน้ำ อาจมาได้ทั้งจากน้ำฝนและน้ำใช้ ซึ่งน้ำฝนสามารถนำมาใช้สำหรับรดพืชผักได้ ส่วนน้ำจากน้ำใช้จะต้องผ่านการกรองด้วยพืช ไม่ได้นำมารดพืชผักโดยตรง จากนั้นวางแผนการใช้น้ำโดยใช้หลักการตามธรรมชาติ โดยศึกษาระดับของพื้นที่และชนิดพืชที่เหมาะสม แล้วใช้แรงโน้มถ่วงเป็นตัวช่วยในการให้น้ำแก่พืช เช่น การให้น้ำโดยการขุดท้องร่อง หรือการปลูกไล่ระดับ แล้วใช้ความแตกต่างของระดับพื้นดินจำแนกพืชพรรณที่ใช้ตามความต้องการน้ำในการเจริญเติบโต
ระบบการจัดการของเสียและน้ำเสีย การจัดการของเสียหรือขยะ ซึ่งอาจเกิดจากพืชในพื้นที่ ใบไม้สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยหรือคลุมโคนต้นไม้ กิ่งก้านของต้นไม้สามารถนำมาใช้เป็นฟืนหรือนำมาบดเพื่อเป็นเปลือกไม้สำหรับทางเดิน ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถนำมาหมักเป็นปุ๋ยร่วมกับของเสียจากอาหารและบ้านเรือนแล้วนำไปใช้กับพืชผักได้ การออกแบบพื้นที่ทำปุ๋ยจากเศษอาหารยังสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การทำหลุมหมักขยะ ใช้ถังฝังดินเพื่อหมักขยะ การใช้ไส้เดือนช่วยย่อยสลายเศษอาหาร
การจัดการน้ำเสียจากบ้านเรือน สามารถใช้วิธีการจัดการในระบบเปิดและจัดการในระบบปิด การจัดการในระบบเปิดเป็นการใช้พืชและการบำบัด ให้เกิดการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ไหลหมุนเวียน ตกตะกอนและกรองด้วยพืชจนมีคุณภาพดีแล้วจึงนำน้ำไปใช้หรือปล่อยสู่แหล่งน้ำ การจัดการในระบบปิด เป็นการใช้ระบบท่อนำน้ำใช้แล้ว ดักเอาตะกอนออกแล้วให้น้ำไหลเข้าสู่บริเวณเพาะปลูกพืชพรรณ แต่วิธีการนี้จะต้องระมัดระวังในเขตที่ชั้นน้ำใต้ดินสูง เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของชั้นน้ำใต้ดินได้
กระแสการพัฒนาให้พื้นที่ภูมิทัศน์ไม่ได้มีไว้เพียงแค่การตกแต่งสวยงาม แต่ยังสามารถเป็นแหล่งอาหารให้แก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของเมือง เช่น ในเมืองแคลิฟอร์เนีย (California) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United states of America) ส่งเสริมการนำเอาพื้นที่ว่างมาพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตร โดยให้เจ้าของพื้นที่ลงนามยินยอมให้พื้นที่ของตนเป็นพื้นที่เกษตรเป็นระยะเวลา 5 ปี จะได้ลดหย่อนภาษีที่ดิน นอกจากนี้ในเมืองบอสตัน (Boston) ยังได้มีการประการการจัดสรรที่ดินเขตเกษตรกรรมเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรกรรม เกษตรกรรมบนหลังคา การเลี้ยงไก่ ผึ้ง และการมีตลาดนัดท้องถิ่น โดยเฉพาะการเกษตรขนาดเล็กอนุญาตให้มีการทำอย่างเสรี
หรือ Breezeway house งานออกแบบบ้านในย่านริชมอนด์ (Richmond) ประเทศแคนาดา (Canada) ซึ่งมีเป้าหมายให้พื้นที่บ้านและภูมิทัศน์โดยรอบ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ใช้แนวคิดของวัฒนธรรมยั่งยืนในการออกแบบอย่างเชื่อมต่อกับตัวอาคาร เปิดช่องในรับลมในทุกฤดูและมีการใช้ร่มเงาไม้เพื่อลดอุณหภูมิของลมก่อนเข้าสู่ตัวอาคาร ซึ่งเปิดส่วนทางเดินกลางเพื่อให้ลมไหลผ่านได้อย่างสะดวกพื้นที่ภายนอกออกแบบให้ดูเป็นธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มีการเก็บน้ำฝนไว้ใช้ แบ่งส่วนพื้นที่ปลูกต้นไม้ยืนต้นไว้โดยรอบ สร้างเส้นทางธรรมชาติสำหรับเดินเข้าไปใช้งาน ส่วนพื้นที่เชื่อมต่อกับบริเวณใช้งานหลัก ใช้เป็นพืชล้มลุก สมุนไพรและผลไม้
หลักการออกแบบนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการนำเอาแนวคิดวัฒนธรรมยั่งยืนเข้าไปใช้ในพื้นที่เท่านั้น แต่ความสำคัญคือจะต้องทำความเข้าใจในบทบาทของแต่ละองค์ประกอบของและการนำเอามาประกอบกันเป็นระบบ โดนผ่านการวางผังที่ช่วยให้แต่ละองค์ประกอบสามารถเชื่อมต่อละทำหน้าที่ระหว่างกันได้
การนำเอาแนวคิดของวัฒนธรรมยั่งยืนเข้ามาใช้จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของพื้นที่ เนื่องจากหลักการของวัฒนธรรมยั่งยืนคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในหลากมิติ ทั้งนี้ยังสอดคล้องไปกับแนวคิดเรื่องนิเวศบริการ (Ecological services) อีกด้วย
การทำการเกษตรที่จำลองระบบนิเวศและวัฎจักรของธรรมชาติ ทำให้พื้นที่สามารถให้ประโยชน์แก่มนุษย์ได้สูงสุด ทั้งการให้ผลผลิตและการช่วยรักษาความสมดุลของพื้นที่
อ้างอิงข้อมูลจาก
Appropedia. (2017). Zones. Retrieved from https://www.appropedia.org/Zones
ASLA. (n.d.). APPLYING ECOLOGICAL DESIGN: GARDENS AND PERMACULTURE. Retrieved May 27, 2020, from https://www.asla.org/residentialagriculture.aspx
Boston planning & development agency. (2014). Urban Agriculture Zoning For The City of Boston. Retrieved from http://www.bostonplans.org/planning/planning-initiatives/urban-agriculture-rezoning
Coolearth Architect inc. (2017a). Breezeway House – Permaculture Design. Retrieved from http://www.coolearth.ca/2017/12/18/breezeway-house-permaculture-design/
Coolearth Architect inc. (2017b). Breezeway Passive House in Richmond Hill – Passive House, Net Zero and Permaculture. Retrieved from http://www.coolearth.ca/2017/06/01/breezeway-house-in-richmond-hill-passive-house-net-zero-and-permaculture/
Eli, Z. (2013). California’s New Urban Agriculture Property Tax Incentive.
Frank, M., Bowyer, J., Bratkovich, S., Fernholz, K., Groot, H., Howe, D. J., & Pepke, D. E. (2015). Permaculture 101: an Introduction To Regenerative Design. 15. Retrieved from http://www.dovetailinc.org/report_pdfs/2015/dovetailpermaculture0915.pdf
Garden Gate Staff. (2018). Beneficial companion planting.
Graham, B. (1981). Permaculture , a Beginners Guide.
JAAN Designs. (n.d.). Parksville Permaculture. Retrieved from https://www.jaandesigns.ca/project/parksville-permaculture/
Jagdish, R. (2019). Permaculture Practices, Principles and Design. Retrieved from https://www.agrifarming.in/permaculture-practices-principles-and-design#Permaculture_Practices
Marie, I. (2019). Best and Worst Companion Plants for Tomatoes.
Mollison, B. (1988). Permaculture: A Designers’ Manual (p. 580). p. 580. Retrieved from http://www.amazon.com/Permaculture-Designers-Manual-Bill-Mollison/dp/0908228015
TT PermaGarden. (2012). Forest Gardens. Retrieved from https://ttpermatuin.wordpress.com/2012/06/27/forest-gardens/
ภูมิปัญญาเกษตร. (n.d.). Retrieved from https://sites.google.com/site/vetherporpeanglife/phumipayya-kestr-4-5-7-9-chan
Content by Onkamon Nilanon
Illustration by Montree Sommut