CITY CRACKER

Flexible City เมืองปรับเปลี่ยนรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เราอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน วันหนึ่งเราล็อกดาวน์ ทำงานที่บ้าน อีกเดือนเราออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำงานเหลื่อมเวลา ถนนบางเส้นไม่มีการใช้งาน วันหนึ่งมีพายุ น้ำท่วม ภัยพิบัติ หรือโรคระบาดกลับมา เราอาจกลับไปถูกล็อกดาวน์อีกครั้ง

 

ในขณะที่ระบบสาธารณูปโภคและเมืองที่เราสร้างมีความถาวรไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การดำเนินชีวิตในช่วงวิกฤตินั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือเราต้องดัดแปลงจากสิ่งที่มีให้ชีวิตเมืองดำเนินไปได้ หรือแม้กระทั่งต้องปิดเมืองอยู่กับบ้านเพื่อรอให้ภัยนั้นคลี่คลาย

จะดีแค่ไหนหากเราสามารถออกแบบเมืองให้ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ รับมือป้องกันและบรรเทาภัยที่เกิดขึ้นได้ โดยที่เรายังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อยู่ร่วม และอยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลงได้ ผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีในเมือง ทั้งที่ดิน อาคาร สถานที่ราชการ สนามกีฬา คลอง พื้นที่สีเขียว ดาดฟ้า ถนน ระบบสาธารณูปโภค ให้รองรับการปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม

ispionline.it

เมืองแข็ง

แนวคิดของการพัฒนาเมืองแบบแข็งๆ ที่เราอยู่กันทุกวันนี้ แท้จริงแล้วมาจากตะวันตก ในยุคภายหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เมืองอยู่กันหนาแน่นมีสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ ขาดสุขลักษณะ Le corbusier  สถาปนิกชาวฝรั่งเศส จึงได้เสนอแนวทางการวางผังเมือง แบบเครื่องจักร ที่มีระบบที่ชัดเจน จัดโซนนิ่งของอาคารทางเดินคน แยกจากทางรถยนต์มีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวในแต่ละอาคารอย่างเหมาะสม

และแนวคิดดังกล่าว ก็พัฒนาเรื่อยมาต่อการทำผังสีแยก zoning ของเมือง เป็นย่านพักอาศัย ย่านอุตสาหกรรม ที่ทพงานทแหล่ง shopping เพื่อให้เมือง สะอาด มีประสิทธิภาพและไม่แออัดเหมือนแต่ก่อน แต่การพัฒนาเมืองแบบดังกล่าวมันก็ทำให้เราเห็นการแยกส่วน ขาดชีวิต ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เป็นเมืองของรถยนต์มากกว่าเมืองของผู้คนอย่างที่ควรจะเป็น

การสร้างโรงงาน อาคารคอนกรีต แทนที่พื้นที่รับน้ำ เป็นเรื่องปกติ และพึ่งพิงกับทางระบายน้ำรวมถึงคูคลอง ที่ถูกดาดแข็งจากตลิ่งธรรมชาติ เพื่อประสิทธิภาพการไหลของน้ำ แทนที่ระบบนิเวศด้วยระบบที่มันไม่ยืดหยุ่น

dotproperty.co.th

เมืองปรับเปลี่ยนแบบไทยๆ

บ้านเรา เช่น กรุงเทพฯ รับวิธีพัฒนาและเติบโตแบบเมืองแข็งนี้มาใช้ แทนที่เมืองน้ำที่ปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นกับบริบททางธรรมชาติได้ พื้นที่อย่างคลองและพื้นที่เกษตร ท้องร่อง ที่นา ทั้งในและรอบๆ เมือง คือเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาอย่างเข้าใจธรรมชาติ เพื่ออยู่ร่วมกับน้ำหลากในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ดี ซึ่งแต่ชาวบางกอกไม่ได้มองว่าน้ำเป็นภัย แต่มองว่าคือทรัพยากร-ต้นทุนที่สามารถออกแบบเมืองและออกแบบวิถีชีวิตให้ปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นไปกับกระแสน้ำตามฤดูกาลได้

หน้าน้ำ รับน้ำเข้าที่นาท้องร่องช่วยในการเพาะปลูก อาคารยกใต้ถุนสูงอยู่ร่วมกับระดับน้ำได้ ไม่สร้างอาคารขวางทางน้ำแต่เมื่อเราเอาวิธีคิดแบบเมืองแข็งด้วยทัศนคติที่ไม่ปรับเปลี่ยนกับธรรมชาติและภัยภายนอก เราแทนที่คลองด้วยถนน และแทนที่พื้นที่เกษตรด้วยอาคารคอนกรีต โรงงานอุตสาหกรรม ระบายน้ำด้วยท่อ กันน้ำท่วมด้วยเขื่อนคอนกรีต กลายเป็นเมืองที่พึ่งพาเทคโนโลยีเครื่องจักร ระบบสาธารณูปโภค สูญเสียศักยภาพในการปรับตัวผ่านพื้นที่กลไกธรรมชาติที่ยั่งยืน ขาดพื้นที่รับน้ำ ขาดที่ผลิตอาหาร ขาดแหล่งพลังงาน

ด้วยวิธีออกแบบเมืองที่ขาดสมดุล และไม่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง เมืองจึงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตและภัยที่มาถึง เราเห็นการกักตุนอาหาร เราเห็นการสร้างกระสอบทราย การกักตัวอยู่บ้าน ไปทำงานและใช้ชีวิตไม่ได้ ตามปกติ ทั้งที่ เรามีทรัพยากรแต่เอามาใช้ไม่ได้ เพราะนโยบาย กฏหมายไม่เอื้อ เปิดโอกาส เราจึง ไม่สามารถปรับเมืองเข้ากับความท้าทายที่มาได้

facebook.com/papboran

 

ปรับสิ่งที่เรามีเพื่อเมืองยืดหยุ่น

1. ผังเมืองหลากหลายและยืดหยุ่น

เมืองจะถูกพัฒนาตามผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดไว้ เพื่อการพักอาศัย พาณิชยกรรม เกษตรกรรม ภายใต้กรอบการพัฒนาในระยะเวลา 20 ปี โดยจะมีการปรับปรุงแผน ทุกๆ 5 ปี ซึ่งจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกอาจมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับภาวะต่างๆ ทั้งภาวะโรคระบาด สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ควรมีการปรับแผนที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ระบบ zoning ที่ตายตัว อาจเป็นอุปสรรคต่อความยืดหยุ่นในการตอบรับกับภัยและความท้าทายต่างๆ

รูปแบบการการพัฒนาพื้นที่แบบ mixed use น่าจะเป็นคำตอบของเมืองยุคใหม่ ที่พื้นที่เมืองจุดหนึ่งๆ ในระดับย่าน สามารถทำหน้าที่ได้หลากหลาย ทั้งที่พัก ทำงาน ผลิตอาหาร พักผ่อน หรือแม้กระทั่งรองรับภัยพิบัติได้ ในขณะเดียวกันก็เอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินได้เพื่อตอบรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของโครงการ ต้องวางแผนการพัฒนาที่ต้องเผื่อไว้ว่า การใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือ โครงการสามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไป เช่น โครงการอาจพัฒนาเป็น อาคารจอดรถเพื่อบริการชุมชนโดยรอบในระยะแรก และปรับเปลี่ยนเป็นที่ค้าขายและสำนักงานของของธุรกิจขนาดเล็กในระยะถัดไป และอาจปรับเป็นที่พัก home office ได้ในอนาคต

2. สาธารณูปการ ปรับเป็นที่หลบภัย

ในยามวิกฤติ เราจะเห็นความต้องกาาของการพื้นที่สำหรับหลบภัย เป็นที่พักพิงชั่วคราว เป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งพื้นที่สาธารณูปการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สวนสาธารณะ สนามกีฬา โรงเรียน สถานที่ราชการ ที่เข้าถึงง่าย และมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม สามารถออกแบบให้รองรับกับการปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่หลบภัย พักพิง ตามสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ได้

มีกรณีศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ที่เผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวมาทุกยุคทุกสมัย จึงเกิดแนวคิดสร้างพื้นที่ว่างหรือสวนสาธารณะเพื่อเป็นที่ให้คนใช้เป็นที่หลบภัยมาตั้งแต่อดีต โดยสวนหลบภัยในยุคปัจจุบันนี้ จะประกอบไปด้วยระบบสาธารณูปโภคให้สามารถดัดแปลงรองรับคนจำนวนมากได้ มีท่อระบายน้ำที่สามารถติดตั้งห้องน้ำเพิ่มเติมได้ ที่นั่งในสวนปรับเป็นจุดทำอาหารได้ มีจุดชาร์จมือถือและแลปทอป จากพลังงานแสงอาทิตย์ในกรณีต้องใช้เป็นที่ทำงาน มีจุดกางเต็นท์เป็นที่พักพิง ส่วนใต้สนามหญ้าเป็นที่กักเก็บน้ำและอาหารไว้ใช้ได้ราว 72 ชั่วโมง นอกจากนั่นยังมีระบบสื่อสารที่พร้อมสื่อสารกับศูนย์ภัยพิบัติทั่วประเทศอีกด้วย

Rows of desks in the operation room at Rinkai disaster park. Photograph: Aflo/Rex

3. อาคารใช้งาน 24 ชั่วโมง

อาคารที่ออกแบบสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอนนี้ จำเป็นต้องวางระบบและเผื่อให้เกิดการใช้งานที่ปรับเปลี่ยนได้กับสถานการณ์และพฤติกรรมของสังคมในวิถีใหม่

Covid 19 ทำให้เราเห็นถึงการใช้งานอาคารเพื่อเป็นทั้งที่พักและที่ทำงานได้ในขณะเดียวกัน เมือคนต้องถูกล็อกดาวน์ส่งผลต่อพฤติกรรมต่อจากนี้ เราอาจมีการเหลื่อมเวลาการใช้ชีวิตเพื่อกระจายความหนาแน่นเกิดการใช้งานอาคาร 24 ชม. ที่อาจมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างกัน ตามแต่ละช่วงเวลา เช่น เช้าเป็น cafe ช่วงกลางวันเป็น co-workingspace และปรับเปลี่ยนเป็นบาร์ในช่วงกลางคืน หรืออาจเป็น office space ในวันถัดไปได้

หากอาคารตั้งอยู่ในพื้นที่รับน้ำ ก็อาจต้องทำให้ชั้น 1 ของอาคารสามารถน้ำท่วมได้ เป็นพื้นที่กิจกรรมชั่วคราว หรือ พื้นที่สาธารณะ ในขณะที่มีการใช้สอยสำคัญ ตลอดจนงานระบบต่างๆ จะอยู่ที่ชั้นบนๆ

4. พื้นที่ว่างปรับใช้งานชั่วคราว

พื้นที่ว่างในเมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้งบนดินและหลังคาอาคารนั้นมีมาก ที่เป็นทั้งของรัฐและเอกชน ที่รอให้เกิดการพัฒนาในอนาคต ที่กว่าจะเกิดการพัฒนานั้นใช้ระยะเวลานาน ด้วยปัจจัยทั้งเรื่องสภาวะเศรษฐกิจ เงินลงทุน และความเหมาะสมของการใช้งานในอนาคต ซึ่งบ่อยครั้ง ที่ดินเหล่านั้นถูกทิ้งร้าง ไม่เกิดการใช้ประโยชน์ อันนำมาซึ่งการเสียโอกาสต่อการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองโดยรวม

จะดีกว่าไหม ถ้าเรามีมาตรการกระตุ้น และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้ที่ดินเหล่านั้น ทั้งหลังคา บนดิน พื้นที่ใต้ทางด่วน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในระยะเวลาชั่วคราว เพื่อช่วยเมืองในการรับมือกับความท้าทายที่เข้ามา ทั้งการเป็นที่ผลิตอาหารแจกจ่ายชุมชนในยามวิกฤติ เป็นพื้นที่ตลาดหาบเร่แผงลอยเพื่อควบคุมสุขลักษณะที่ดีและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝน หลังคาว่างเป็นที่ผลิตพลังงาน หรือแม้กระทั่งเป็นพื้นที่สวนสาธารณะลานกีฬาของชุมชนและเมืองให้เกิดพื้นที่สุขภาวะที่ดี ซึ่งมันจะช่วยให้ที่ว่างเป๋นกลไกทำเมืองให้ตอบรับกับความต้องการของแต่ละช่วงเวลาได้

5. ที่ว่างใต้ดิน ปรับ เป็นเมือง

ท่ามกลางการเติบโตของเมืองที่มีมากขึ้นจนทำให้ที่ว่างบนดินเหลือน้อยต่อการเติบโตในอนาคต ประกอบกับสภาพอากาศที่เลวร้ายมากขึ้นจากสถานการณ์โลกร้อน การสร้างพื้นที่ใต้ดินในเมือง จึงเป็นแนวคิดที่หลายเมืองทั่วโลก ทั้งที่ฟินแลนด์ มอลทริออล ปูซาน สิงคโปร์หันมามองถึงความเป็นไปได้ที่จะทำให้เมืองปรับตัวกับภัยและความท้าทายได้ดีขึ้นเพราะเป็นที่ปลอดการรบกวนจากปัจจัยภายนอก หันมาใช้พื้นที่ใต้ดินเป็นที่หลบภัยและทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่อากาศเลวร้าย เป็นที่เก็บของและระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น เป็นทางสัญจรและ เป็นแหล่งผลิตอาหาร

6. พื้นที่สาธารณะปรับเป็นสวนรับมือภาวะโลกร้อน

พื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นทางเท้า เกาะกลางถนน สวนสาธารณะ หรือ พื้นที่ว่างหน้าอาคารสำนักงาน พื้นที่เหล่านี้แทนที่จะออกแบบให้เป็นเพียงพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหรือสัญจร แต่มันสามารถออกแบบให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำสำหรับย่านและเมืองได้ โดยในยามปกติ สามารถใช้เป็นลานโล่ง สนามกีฬา สนามหญ้า หรือ พื้นที่สีเขียว

แต่ในช่วงฤดูฝนที่เมืองเผชิญกับปริมาณฝนที่มากขึ้น พื้นที่เหล่านี้ จะช่วยในการชะลอและกักเก็บน้ำ เพื่อลดการท่วมขังกับพื้นที่โดยรอบ อีกทั้งยังช่วยเติมน้ำลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อความชุ่มชื้นให้กับบริเวณนั้นได้ และถ้าผนวกเข้ากับระบบแทงก์น้ำใต้ดินผ่านระบบกรอง เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำฝนนี้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเมื่อพื้นที่เหล่านี้ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนกับภูมิอากาศมีมากขึ้นในเมือง จะช่วยทำให้เมืองมีศักยภาพที่จะรับมือกับกับภาวะโลกร้อนได้ดีมากยิ่งขึ้น

7. ถนนปรับเป็นทางจักรยานและทางเดิน

เส้นทางสัญจรภายในเมืองควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้ของทั้งคน รถ และจักรยานในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ อย่างในช่วงเกิด COVID-19 เราอาจต้องการใช้ถนนเพื่อเป็นทางเท้าและการสัญจรทางจักรยานเพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางมากกว่าการไปแออัดในระบบขนส่งมวลชน ซึ่งอาจพิจารณาการปิดถนน ปิดเลน ขยายทางเท้าในบางเส้นทางและช่วงเวลาที่พอเมืองพ้นช่วงวิกฤติ ก็อาจเปิดให้รถสัญจรได้ตามปกติ

ที่เมือง Seattleในช่วงเกิดโรคระบาด COVID-19 มีการปิดถนน 20 ไมล์ภายในเมือง เพื่อให้คนหันมาใช้เป็นทางจักรยานและทางเดิน แต่ยังอนุญาตให้รถขนของ รถดับเพลิงและรถพยาบาลผ่านเข้าออกได้

seattletimes.com

 

สิ่งที่ต้องเตรียมการ เพื่อทำเมืองให้ปรับได้ อาจต้องเริ่มจากการวางแผนและผังกำหนดพื้นที่ และสร้าง นโยบาย ตลอดจนไกด์ไลน์ของการพัฒนาในพื้นที่เป้าหมายนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้อง

 

สิ่งสำคัญคือเราต้องยอมรับในวิถีใหม่ที่การเปลี่ยนแปลงนั้นรวดเร็ว ไม่แน่นอน เราจึงต้องปรับกายภาพและวิถีของเราให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนดังกล่างด้วยการทำชีวิตและเมืองกายภาพให้ยืดหยุ่น เพื่อให้เราอยู่ร่วมกับภัยและความท้าทายได้อย่างปกติ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

tokyorinkai-koen.jp

ispionline.it

theguardian.com

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :