CITY CRACKER

Coastal Ecology เข้าใจกระบวนการทางกายภาพและการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล

ชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตและเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดแห่งหนึ่งหนึ่ง จากการเป็นพื้นที่รอยต่อของระบบธรรมชาติสามระบบด้วยกัน คือ แผ่นดิน อากาศและมหาสมุทร การมีปฏิสัมพันธ์ของ 3 องค์ประกอบทำให้ตลอดแนวชายฝั่งทะเลมีลักษณะภูมิทัศน์และระบบนิเวศที่แตกต่างกันออกไปตามอิทธิพลทางธรรมชาติ

 

การศึกษาพลวัตของธรรมชาติจะช่วยลดความเสียหายและสามารถนำไปวางแผนการใช้งานพื้นที่ชายฝั่งได้ พื้นที่ชายฝั่งเป็นพื้นที่ที่มีสามารถพบเห็นไปทั่วไปตามชายขอบของแผ่นดินทั่วโลก คิดเป็นระยะทางรวมถึง 1.6 ล้านกิโลเมตรใน 123 ประเทศ และเป็นพื้นที่ที่มนุษย์มีกิจกรรมมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง พื้นที่ชายฝั่งทะเล (Coastal Zone) หมายถึง พื้นที่ที่เป็นรอยต่อของแผ่นดิน น้ำและอากาศ ได้รับอิทธิพลจากความเป็นชายฝั่งทะเล ซึ่งอาจส่งผลเข้าไปยังแผ่นดินในระยะไม่กี่ร้อยเมตรไปจนถึงหลายร้อยกิโลเมตร  พื้นที่ชายฝั่งทะเลสามารถแบ่งตามระบบนิเวศที่เห็นได้ชัดเจนเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ พื้นที่ทะเล (Maritime Zone) หรือ นอกชายฝั่ง (Offshore) หมายถึงบริเวณที่เป็นอาณาเขตท้องน้ำและใต้น้ำลงไป และบริเวณชายฝั่ง (Intertidal Zone) หมายถึงส่วนชายฝั่งที่ได้รับอิทธิพลของคลื่น การขึ้นลงของน้ำทะเล มีพืชพรรณและสัตว์บก 

ขอบเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล

กระบวนการทางกายภาพของชายฝั่งทะเล

ลักษณะทางภูมิประเทศของชายฝั่งทะเล เป็นผลมาจากกระบวนการของคลื่น ลม กระแสน้ำและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ที่กระทำต่อชายฝั่งผ่านกระบวนการการกัดเซาะ นำพาและตกตะกอน ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งนั้นมีลักษณะของความทนทานต่อแรงกระทำไม่เท่ากัน เช่น หาดทราย ดินเลน กรวด จึงเกิดเป็นพื้นที่ที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน

ปัจจัยด้านกระแสน้ำ มีคลื่นและกระแสน้ำขึ้นน้ำลงเป็นปัจจัยหลัก โดยคลื่น (Waves) เป็นตัวการสำคัญในการเกิดลักษณะภูมิประเทศและพลวัตของชายฝั่ง โดยคลื่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากกระแสลม ซึ่งความเร็วของลมนั้นส่งผลต่อขนาดของคลื่น หากลมแรงคลื่นจะยิ่งมีความแรง และเมื่อคลื่นเดินทางเข้าสู่บริเวณที่ตื้นจะค่อย ๆ สูญเสียกำลังลงก่อนจะสลายตัวไป (John et al., 2017; ไพฑูรย์ ปิยะปกรณ์, 2559) ในช่วงมรสุมที่มีกำลังลมแรง อาจก่อให้เกิดคลื่นพายุซัดชายฝั่ง (Strom surge)

กระแสน้ำขึ้นน้ำลง (Tides) มีผลต่ออิทธิพลของกระแสน้ำเค็มบริเวณชายฝั่ง กระแสน้ำขึ้นน้ำลงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นจังหวะตามความสัมพันธ์ของตำแหน่งพระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งระดับน้ำมีการเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ 2 เมตรไปจนถึง 12 เมตร

ปัจจัยของแผ่นดินเกี่ยวข้องตั้งแต่ลักษณะของดินและหินในพื้นที่ที่มีความทนทานต่อการกัดเซาะแตกต่างกัน การพัดพาของตะกอนจากแผ่นดิน ระดับความสูงของชายฝั่ง เกิดการกัดเซาะ นำพาและตกตะกอน ทำให้เกิดเป็นชายฝั่งทะเลแบบโขดหิน ชายฝั่งทะเลแบบหาดทราย หรือชายฝั่งที่เป็นที่ลุ่มน้ำเค็ม ซึ่งลักษณะความหยาบของตะกอนจะส่งผลต่อความลาดเอียงของชายหาด ซึ่งหากพื้นที่ชายฝั่งมีลักษณะมีพื้นผิวละเอียดจะมีความลาดชันน้อยและจะช่วยสลายกำลังของคลื่นได้ดีกว่า ลักษณะชายฝั่งที่มีลักษณะผิวหยาบ จะมีความลาดชันสูงและสลายกำลังของคลื่นได้ไม่ดี ทำให้มีการกัดเซาะมาก

ชายฝั่งทะเลมีทั้งประเภทชายฝั่งที่เป็นโขดหิน ชายฝั่งหาดทรายและหาดเลน ชายฝั่งทะเลเกิดการกัดเซาะอยู่ตลอดเวลาตามธรรมชาติ เช่น บริเวณหน้าผาริมทะเลก็เป็นผลจากการกัดเซาะของคลื่นเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นหน้าผาตัดตรงหรือในบางพื้นที่มีรูปร่างเป็นซุ้มโค้ง เมื่อมีการกัดเซาะแล้วย่อมมีการตกตะกอนจากการนำพาของคลื่น ซึ่งก่อให้เกิดลักษณะสัณฐานของชายฝั่งทะเลรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ ชายหาด สันดอน ไปจนถึงพรุ โดยการถือกำเนิดของระบบสัณฐานชายฝั่งนี้พึ่งพาการนำพาตะกอนจากทั้งแม่น้ำและคลื่นทะเล ซึ่งอาจถูกขัดขวางการนำพาตะกอนจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การขุดลอกแม่น้ำ การสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะ 

ความสัมพันธ์ในการใช้งานชายฝั่งทะเล อ้างอิง (Agardy et al., 2012)


พื้นที่ชายฝั่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากและรวมถึงมนุษย์ที่อาศัยชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่เลี้ยงชีพ มีความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนสารอาหารซึ่งกันและกัน 
หากปัจจัยทางธรรมชาติของชายฝั่งทะเล ได้แก่ แผ่นดิน อากาศและมหาสมุทร ถูกรบกวนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสัณฐานชายฝั่งทะเล ไปสู่ลักษณะใหม่และความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลย่อมหมดลงไปด้วยเช่นกัน

ด้วยความที่ภูมิสัณฐานของประเทศไทยมีลักษณะเป็นแหลมยื่นไปในทะเล พื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจึงมีพื้นที่ชายฝั่งขนาบสองทิศทาง คือ ทิศตะวันออกติดต่อกับทะเลอ่าวไทย มีลักษณะของชายฝั่งทะเลยกตัว ชายฝั่งค่อนข้างเรียบไม่เว้าแหว่งมาก และทิศตะวันตกติดต่อกับทะเลอันดามัน มีลักษณะของชายฝั่งยุบจม มีพื้นที่ราบชายฝั่งไม่มากนัก มีเกาะจำนวนมากและมักพบลักษณะของปากแม่น้ำที่กว้างมากหรือชะวากทะเล โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยสามารถพบระบบนิเวศป่าชายหาด ระบบนิเวศป่าชายเลนและระบบนิเวศแนวปะการัง ซึ่งระบบทั้งสามทำงานสัมพันธ์กันในการบรรเทาคลื่นลมชายฝั่ง และหากระบบใดระบบหนึ่งเสียความสมดุลตามธรรมชาติไป จะส่งผลต่อระบบอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลักษณะทางธรณีสัณฐานของชายฝั่งทะเลไทย
อ้างอิง (Department of Mineral Resources, 2559)

 

การกัดเซาะชายฝั่ง

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ การที่กระบวนการชายฝั่งถูกรบกวนด้วยสาเหตุทางธรรมชาติหรือจากมนุษย์แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสัณฐานชายฝั่ง ในพื้นที่ชายเลน สาเหตุหนึ่งเกิดจากการรุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลนและก่อให้เกิดความเสื่อมโทรม จนพื้นที่ไม่สามารถบรรเทาแรงคลื่นทะเลได้ ในพื้นที่หาดทราย เกิดการนำพาตะกอนออกจากหาดมากกว่าการนำพากลับมาสู่หาดหรือมีการขัดขวางกระบวนการนำพาตะกอนของชายฝั่ง ทำให้ทรายบริเวณชายหาดลดน้อยลงและไปตกตะกอนอยู่บริเวณอื่น 

การกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ คลื่นเป็นสาเหตุหลักของการเกิดการกัดเซาะบริเวณชายหาด เช่น เกิดจากลมมรสุมตามฤดูกาล กระแสลมประจำทิศซึ่งมีผลต่อทิศทางคลื่น น้ำขึ้นน้ำลง

ส่วนการกัดเซาะชายฝั่งอันเนื่องมาจากมนุษย์ ประกอบด้วย การพัฒนาชายฝั่งทะเล เช่น ถนนเลียบชายฝั่ง ท่าเรือ ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการตามธรรมชาติของชายฝั่ง การบุกรุกพื้นที่นิเวศชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน ป่าชายหาด ทำให้ปราการที่ช่วยบรรเทาแรงของคลื่นและลมมรสุมเสื่อมโทรมลง การสร้างเขื่อนและฝายกั้นแม่น้ำก็มีผลกระทบต่อชายฝั่ง ทำให้ตะกอนและธาตุอาหารที่ในอดีตเคยไหลลงสู่ทะเลลดลง ไม่มีตะกอนเติมบริเวณชายฝั่ง และสาเหตุที่ส่งผลกระทบที่เห็นได้ชัด คือ การสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการชายฝั่ง จนเกิดการกัดเซาะต่อเนื่องเป็นวงกว้าง

km.dmcr.go.th

 

การกัดเซาะชายฝั่งในช่วงมรสุมและหลังการพัฒนา

ตามกระบวนการทางชายฝั่งหลังจากการเกิดการเซาะ หาดทรายจะเริ่มกลับเข้าสู่สมดุลด้วยตัวเอง แต่หากใช้กำแพงกันคลื่นแนวตั้งบริเวณชายทะเลที่คลื่นซัดถึงเพื่อทำการรักษาชายฝั่งและพื้นที่หลังกำแพงที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นสิ่งปลูกสร้าง ทำให้เมื่อเกิดคลื่นลมตามฤดูกาลหรือน้ำขึ้นน้ำลงในแต่ละวัน จะก่อให้เกิดคลื่นซัดเข้าหากำแพงกันคลื่น แรงจากคลื่นที่แต่เดิมถูกซับกำลังด้วยชายหาดและความลาดเทของหาด จะกระแทกเข้ากับกำแพงคอนกรีตและแตกออกทุกทิศทาง

เราจึงมักเห็นคลื่นที่กระโจนเหนือกำแพงกันคลื่น แรงของคลื่นที่แตกออกจะกัดเซาะพื้นทรายใต้น้ำ รวมถึงพื้นที่หาดทรายข้างเคียงด้วย แม้จะทำการเสริมโครงสร้างลดแรงของคลื่นเพียงใด แต่ชายหาดที่สูญเสียไปก็ไม่อาจกลับคืนมาได้ และนี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำให้นิเวศชายฝั่งไม่สามารถให้ประโยชน์แก่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้เช่นเดิม เช่น การประมงชายฝั่ง การวางไข่ของเต่า การหากินของปู

ผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งก่อให้เกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นจึงควรมีแนวทางสำหรับการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง งานวิจัยศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายได้เสนอแนะไว้ 4 แนวทางด้วยกัน คือ

1. การยุติการแทรกแซงระบบของธรรมชาติ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหากัดเซาะที่เป็นผลกระทบ

การปล่อยให้หาดทรายได้ฟื้นฟูตนเองตามธรรมชาติหรือการไม่ทำอะไร อาจเกิดการกัดเซาะพื้นที่ หรือหากเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนกันคลื่นอื่น แต่สุดท้ายการกัดเซาะจะหยุดลงเมื่อเข้าสู่สมดุลด้วยตนเองแล้ว อาจใช้วิธีการขยับแนวถอยร่นชายฝั่งทะเล เพื่อปรับให้ปริมาณตะกอนที่ลดลงและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นได้ปรับสมดุลใหม่ แต่จะต้องยอมเสียพื้นที่ชายฝั่งไปจำนวนหนึ่ง วิธีการนี้มักใช้ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีมูลค่าสูงหรือมีสิ่งปลูกสร้างหนาแน่น โดยอาจจะต้องมีการจ่ายชดเชยเพื่อย้ายแนวถอยร่น เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างในแนวถอยร่นใหม่จะต้องถูกรื้อถอนทั้งหมด

National Institute for Coastal and Marine Management of the Netherlands, 2004

 

2. การป้องกันการกัดเซาะด้วยโครงสร้างแข็ง

การป้องกันการกัดเซาะด้วยเทคนิคทางวิศวกรรม เช่น เขื่อนกันคลื่น หินทิ้ง จะมีต้นทุนในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และยังมีผลกระทบต่อสมดุลหาดทรายทางตอนเหนือและตอนใต้ของพื้นที่ ทำให้เกิดการกัดเซาะต่อเนื่อง อาจส่งผลให้พื้นที่หาดทรายมีขนาดเล็กลงหรือหายไป ส่งผลต่อการใช้งานพื้นที่หาดทรายในเชิงนันทนาการและสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพิงหาดทราย การนำมาใช้จะต้องผ่านการวิเคราะห์พื้นที่อย่างดีเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยอาจะเลือกใช้แนวทางที่สอดคล้องกับกระบวนการธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งทะเลจากโครงสร้างกันคลื่นในทะเล
อ้างอิง (Nelson, 2018)

3. การป้องกันการกัดเซาะด้วยวิธีเลียนแบบวัฏจักรสมดุลของทรายตามธรรมชาติ

การฟื้นฟูชายหาดจากการกัดเซาะด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ไม่ทำการก่อสร้างสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอีก ใช้การเติมทราย (Beach nourishment) หรือการถ่ายเททรายจากจุดที่ทรายถูกพัดพาไป ยังจุดที่เกิดการกัดเซาะ เพื่อบรรเทาผลกระทบในช่วงฤดูมรสุม วิธีการนี้อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการสร้างโครงสร้างแข็ง แต่ทำให้พื้นที่หาดทรายสามารถให้ประโยชน์แก่ชุมชนโดยรอบและสิ่งมีชีวิตได้ โดยใช้การบำรุงรักษาทุก ๆ 3 – 5 ปี

การเติมทรายให้ชายหาดสามารถทำได้ทั้งการเติมทรายบนชายฝั่งหรือการเติมทรายนอกชายฝั่ง ซึ่งวิธีการเติมทรายนอกชายฝั่งเป็นวิธีที่ให้กระบวนการตามธรรมชาตินำพาทรายไปสร้างสัณฐานตามธรรมชาติ และได้ผลดีเช่นเดียวกับวิธีการแรก โดยไม่ทำให้ลักษณะของชายฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน แต่การบำรุงรักษาหาดทรายด้วยการเติมทรายจำนวนมากยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ ในโครงการ Sand engine หรือ Zandmotor ในประเทศเนเธอร์แลนด์ (The Netherlands)

ในบางพื้นที่ที่เกิดการกัดเซาะไม่มากสามารถรักษาชายหาดโดยการใช้ วัสดุธรรมชาติในการสร้างรั้วโปร่ง เพื่อลดความเร็วลม ซึ่งจะสอดคล้องกับกระบวนการของการเกิดเนินทราย เพื่อเร่งการเกิดเนินทรายและดักทรายไว้ รูปแบบการใช้แนวรั้วมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัยน ไม่ว่าจะเป็นแนวขนานกับชายฝั่ง แนวตั้งฉากกับชายฝั่ง หรือสลับเป็นฟันปลา ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับกระแสลมในพื้นที่ด้วย วิธีการนี้หากกระทำควบคู่ไปกับการใช้พืชพรรณชายหาดจะยิ่งช่วยให้เกิดการยึดเกาะทรายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พัฒนาการของแนวทางการใช้ทรายเพื่อรักษาชายฝั่ง
อ้างอิง (Stive et al., 2013)

 

4. การรื้อถอนสิ่งที่เป็นสาเหตุของการกัดเซาะและไม่ใช้ประโยชน์ออก

ทำการรื้อถอนโครงสร้างที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการกัดเซาะและทำการฟื้นฟูหาดทรายด้วยวิธีการทางธรรมชาติควบคู่กันไป การรื้อถอนโครงสร้างจะเป็นการปล่อยให้ทรายที่โครงสร้างเคยดักไว้จากกระแสน้ำขนานชายฝั่งได้กลับเข้าสู่กระบวนการตามธรรมชาติ ซึ่งการรื้อถอนโครงสร้างมี 2 รูปแบบ คือรื้อสิ่งรบกวนบริเวณหาดธรรมชาติ เช่น กำแพงชายฝั่ง เขื่อนกันคลื่น เขื่อนหินทิ้ง อีกแบบคือรื้อสิ่งรบกวนบริเวณหาดและปากแม่น้ำ ปากแม่น้ำหลายพื้นที่ถูกสร้างโครงสร้างเพื่อฟื้นฟูปากแม่น้ำ เนื่องจากทรายและน้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปในแผ่นดิน ส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากน้ำจืดมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะดันกระแสน้ำเค็มออกไป วิธีการนี้อาจจะต้องทำการศึกษากระบวนการของแม่น้ำที่ไหลลงทะเลควบคู่ไปด้วย การสร้างเขื่อนปากแม่น้ำส่งผลต่อกระบวนการพัดพาตะกอนทราย 

จากการศึกษาประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์พบว่า ทางเลือกที่ 4 จะเปิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวมมากว่าทางเลือกอื่น การบริหารจัดการแนวชายฝั่งนั้นไม่เพียงแต่เข้าใจถึงทางเลือกในเชิงนโยบายที่หลากหลายแล้ว การนำไปปรับใช้กับพื้นที่ตามเงื่อนไข เช่น พื้นที่ที่เป็นพื้นอยู่อาศัย ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ในพื้นที่ และยังควรมีการวางแนวทางการจัดการในระยะยาวด้วย 

แม้ว่าการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ที่มีความยาวน้อยกว่า 200 เมตร จะถูกยกเว้นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ Environment Impact Assessment (EIA) ที่ควรได้รับการประเมินในการทำการเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่บริเวณชายฝั่งของประเทศไทย ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ซึ่งทำให้การก่อสร้างริมแนวชายฝั่งขนาดเล็กกระทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2555)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 กองบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่กำหนดให้มี 3 มาตรการด้วยกัน คือ  มาตรการสีขาว (White measure) ทำการลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อาศัยชายฝั่งทะเล เช่น การกำหนดพื้นที่ถอยร่นตามแนวคาดการณ์ของระดับน้ำทะเลในอีก 100 ปี พื้นที่ถอยร่นตามระดับน้ำขึ้นสูงสุด  มาตรการสีเขียว (Green measure) รักษาสัณฐานชายฝั่งโดยสร้างผลกระทบในพื้นที่ข้างเคียงให้น้อยที่สุด เป็นการใช้กระบวนการทางธรรมชาติเข้ามารักษาชายหาด มาตรการสีเทา (Gray measure) การรักษาชายฝั่งด้วยมาตรการทางวิศวกรรม เช่น การสร้างโครงสร้างแข็ง

มาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
อ้างอิง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2561a)

จากสถิติในอดีตช่วงประมาณปี พ.ศ. 2550 – 2560 ตามความในรายงานของกองบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย เป็นการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้โครงสร้างแข็งและเทคนิคทางวิศวกรรม ถึงร้อยละ 89 จากมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการพื้นที่ชายฝั่งในประเทศไทยให้เป็นไปในแนวทางที่เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

ระบบนิเวศชายฝั่งทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม เมื่อมนุษย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบ เก็บเกี่ยวความอุดมสมบูรณ์และใช้ชีวิตร่วมกับระบบนิเวศ การทำงานกับพื้นที่ธรรมชาติด้วยความเข้าใจกระบวนการทางนิเวศและธรณีสัณฐาน จะช่วยให้การจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยและใช้ค่าใช้จ่ายในการทำงานอย่างสมเหตุสมผล ทั้งยังเอื้อประโยชน์ให้แก่ชุมชนในพื้นที่และสิ่งมีชีวิตอื่นที่ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่สมบูรณ์

การเริ่มต้นอาจเป็นการเปลี่ยนวิธีการตั้งคำถามจากการสรรหาวิธีการแก้ไขปัญหา เป็นการทำความเข้าใจปัญหาแล้วจึงหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

-Galvan, R., F., Barranco, V., Galvan, J. C., Batlle, Sebastian FeliuFajardo, S., & García. (2016). We are IntechOpen , the world ’ s leading publisher of Open Access books Built by scientists , for scientists TOP 1 %. Intech, i(tourism), 13. https://doi.org/http://dx.doi.org/10.5772/57353

Agardy, T., Alder, J., Dayton, P., Curran, S., Kitchingman, A., Wilson, M., … Vorosmarty, C. (2012). Coastal Systems. In Ecosystems and Human Well-being: Current State and Trends (pp. 559–586). https://doi.org/10.1017/cbo9781139019507.023

Australian National Botanic Gardens and Centre for Australian National Biodiversity Research. (2012). Sand dunes. Retrieved from http://www.anbg.gov.au/photo/vegetation/sand-dunes.html

Boaden, P. J. S., & Seed, R. (1985). An Introduction to Coastal Ecology. https://doi.org/10.13140/RG.2.1.3489.3208

Burke, L., Kura, Y., Kassem, K., Revenga, C., Spalding, M., & MCallister, D. (2001). Coastal ecosystems. In World Resources Institute. https://doi.org/10.1007/978-0-387-36699-9_19

coastph. (2019). What are mangroves? Retrieved from https://www.coast.ph/ccef-news/04/mangroves-a-link-between-the-land-and-the-sea/

Davidson-Arnott, R. (2010). An Introduction to Coastal Processes and Geomorphology.

Department of Mineral Resources. (2559). STATUS OF COASTAL GEO-ENVIRONMENT IN THAILAND. Retrieved from http://www.dmr.go.th/main.php?filename=Coastal2015___EN

Earp, H. S., Prinz, N., Cziesielski, M. J., & Andskog, M. (2018). For a World Without Boundaries: Connectivity Between Marine Tropical Ecosystems in Times of Change. YOUMARES 8 – Oceans Across Boundaries: Learning from Each Other. https://doi.org/10.1007/978-3-319-93284-2

Erickson-Davis, M. (2018). New study finds mangroves may store way more carbon than we thought. Retrieved from https://news.mongabay.com/2018/05/new-study-finds-mangroves-may-store-way-more-carbon-than-we-thought/

FAO. (n.d.). BACKGROUND INFORMATION. Retrieved from http://www.fao.org/3/AB751E/AB751E01.htm

Feddes Olthof. (2016). Prins Hendrikzanddijk. Retrieved from https://landezine-award.com/prins-hendrikzanddijk/

IUCN. (n.d.). Mangroves and coastal ecosystems. Retrieved from https://www.iucn.org/theme/marine-and-polar/our-work/climate-change-and-ocean/mangroves-and-coastal-ecosystems

John, S., Brew, D. S., & Cottle, R. (2017). Coastal ecology and geomorphology. In Methods of Environmental and Social Impact Assessment. https://doi.org/10.4324/9781315626932-7

Kaneko, N., Yoshiura, S., & Kobayashi, M. (2014). Sustainable Living with Environmental Risks. In N. Kaneko, S. Yoshiura, & M. Kobayashi (Eds.), Sustainable Living with Environmental Risks (Vol. 9784431548). https://doi.org/10.1007/978-4-431-54804-1_12

Lady Robinson Beach. (n.d.). Retrieved April 24, 2020, from https://lady-robinson-beach.weebly.com/main-processes.html

Little, C., Nixon, J., Anthony, P., Armit, T., Blackshaw, B., Green, S., … Small, R. (2019). Fylde council: Tourism and Leisure Committee. (November).

Melius, M. L., & Caldwell, M. R. (2002). California Coastal Armoring Report : Managing Coastal Armoring and Climate Change Adaptation in the 21st Century.

National Institute for Coastal and Marine Management of the Netherlands. (2004). Living with coastal erosion in Europe: Sediment and Space for Sustainability – A guide to coastal erosion management practices in Europe. 164. Retrieved from http://ec.europa.eu/ourcoast/download.cfm?fileID=1233

National Oceanic and Atmospheric Administration. (2014). Oil Spills in Mangroves: PLANNING & RESPONSE CONSIDERATIONS.

Nelson, S. A. (2018). Coastal Zones. Retrieved from https://www.tulane.edu/~sanelson/Natural_Disasters/coastalzones.htm

Sheppard, C. (Ed.). (2018). World Seas: An Environmental Evaluation 2nd Edition (Volume II:).

Siddique, M. (2018). Chapter 4 Introduction to beach processes and management strategies. Retrieved May 12, 2020, from https://www.slideshare.net/yourmohsin/chapter-4-introduction-to-beach-processes-and-management-strategies?fbclid=IwAR0ii1I_RonHD6hkIuDlEAmtc8LDH3E73rugUBDIE_0P6ENWbeQnx6JsT7o

Stive, M., de Schipper, M., Luijendijk, A., Ranasinghe, R., van Thiel De Vries, J., Aarninkhof, S., … Marx, S. (2013). The Sand Engine: a solution for vulnerable deltas in the 21st century? Coastal Dynamics, (June), 1537–1546.

The Editors of Encyclopaedia Britannica. (n.d.). Mangrove. Retrieved May 12, 2020, from https://www.britannica.com/plant/mangrove

Turenscape. (2019). Form Follows Processes: Sanya Mangrove Park. Retrieved from https://www.turenscape.com/en/project/detail/4654.html

US Army Corps of Engineers. (2009). How sea walls erode a beach. Retrieved from http://archive.boston.com/news/local/massachusetts/graphics/030411_seawall_explainer/

Varela, C. (2019). Sand dunes: A wandering wonder of nature. Retrieved from https://www.lancswt.org.uk/blog/charlotte-varela/sand-dunes-wandering-wonder-nature

WHAT ARE COASTAL DUNES? (n.d.). Retrieved from https://coastaldunesx.weebly.com/

Wootton, L., & Miller, J. K. (2016). NJ Sea Grant Consortium Dune Manual. (January 2016).

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2556a). พื้นที่ป่าชายหาด. Retrieved from https://km.dmcr.go.th/th/c_213

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2556b). สัณฐานชายฝั่งทะเลไทย. Retrieved from https://km.dmcr.go.th/th/c_56/s_77/d_2766

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2561a). คู่มือความรู้ การกัดเซาะชายฝั่ง.

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2561b). แนวทางการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2555). ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

กัลยาณี พรพิเนตพงศ์, ;, จริยภัทร บุญมา, ;, & โสภิณ จิระเกียรติกุล, ; (2558). ทางเลือกเชิงนโยบายในการจัดการปัญหาการกัดเซาะหาด ทราย: การวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ของสังคม. JOURNAL OF ECONOMICS, 19(1).

โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์. (2556). ข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการฟื้นฟูการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์ (Vol. 4). https://doi.org/10.1017/CBO9781107415324.004

ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล. (n.d.). ป่าชายเลนในประเทศไทย. Retrieved from http://www.mkh.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=62&Itemid=168&lang=th

เทียมใจ คมกฤส. (2536). การปรับตัวทางโครงสร้างของ “ไม้เบิกนำ” ในป่าชายเลน.

ไพฑูรย์ ปิยะปกรณ์. (2559). เนินทรายชายฝั่งทะเล: กระบวนการและสัณฐาน. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 19, 376–393.

มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์. (n.d.). ชุมชนบ้านเปร็ดใน อำเภอเมือง จังหวัดตราด. Retrieved from https://www.utokapat.org/ตัวอย่างความสำเร็จ/ชุมชนบ้านเปร็ดใน-อ-เมือง/

รัตน์กวี บุญเมฆ. (n.d.). การเชื่อมโยงการจัดการป่าชายเลนสู่ความมั่นคงทางอาชีพ ท่ามกลางภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง. 1–17.

ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง. (2560). เปิดภาพ “ป่าชายหาดสมบูรณ์สุดในคาบสมุทรไทย.” Retrieved from https://news.thaipbs.or.th/content/264657

สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2561). ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน เที่ยวป่าชายเลนเมืองตราด. Retrieved from https://www.greenglobeinstitute.com/Frontend/Content.aspx?ContentID=25b871c0-d940-4fa3-bdba-01561ebb2696

สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง. (2562). การแก้ปัญหาชายฝั่งทะเลไทย … ยิ่งแก้ ยิ่งพัง? Retrieved from https://www.tcijthai.com/news/2019/16/scoop/9314

 

Content by Onkamon Nilanon
Illustration by Napon Jaturapuchapornpong
Share :