CITY CRACKER

Ink Foraging ศิลปะของหยดหมึกที่ทำจากวัตถุดิบในเมือง

ลองนึกภาพว่า ถ้าเรามีหมึก มีงานศิลปะที่รอยหมึกแต่ละสี มาจากวัตถุดิบ จากสิ่งของสารพัดที่เราหาได้ในเมือง ร่อยรอยหมึกสีเทาทำมาจากเถ้าบุหรี่ของใครสักคน สีเขียวจากสนามหญ้าสักแห่งที่เราเคยมีทรงจำ หรือสีจากดอกไม้สักดอกที่ใครสักคนให้เรามา

 

หมึกหรือสีสันที่เราอาจจะมองว่าธรรมดา หรือพ้นสมัยไปแล้ว

อาจเต็มไปด้วยความหมายและความทรงจำ มากกว่าที่จะเป็นเพียงสี หรือกระดาษ

 

แค่พูดถึงหมึก- ink การใช้ปากกาหมึกซึม ระบบขวดหมึก ถ้าเราไม่ได้ชอบเล่นปากกาเก่า เช่นลามี่ หรือเป็นคนหัดเขียนลายมือแบบวิจิตบรรจง เราเองก็อาจรู้สึกว่าคำว่าหมึกแสนจะเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ต้องพูดถึงการทำหมึกที่ฟังแล้ว- เฮ้ย ทำได้ด้วยหรอ แต่จริงๆ ทั้งศิลปะการใช้หมึก ศิลปะจากหยดหมึก โดยเฉพาะการทำหมึกด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่เราทำได้ที่บ้าน ด้วยของใกล้ตัว ได้กลับไปเอาบางส่วนของเมือง กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน และของเราอีกครั้ง

สปอยล์ว่าการทำหมึก ก็คือการใช้วัตถุดิบที่คิดว่าจะให้สีมาจำนวนหนึ่ง นำไปต้ม เคี่ยวในส่วนผสมสำคัญเช่นน้ำส้ม ยางไม้จนที่ดี เราก็จะได้สี (pigment) มาใช้แล้ว

citylab.com

 

แน่นอนว่าของที่เราทำขึ้นเอง ย่อมมีลักษณะพิเศษบางอย่าง จากหมึกที่เคยผลิตจากโรงงาน ทุกขวดได้มาตราฐาน สี ความเข้ม เฉดเท่ากัน แต่หมึกที่เราทำขึ้นเองอาจ ‘ไม่ได้มาตรฐาน’ แต่เราก็จะมีหมึกที่มีสีสันเฉพาะ มีเรื่องราวพิเศษบางอย่างอยู่เบื้องหลัง หมึกที่ทำขึ้นเองมักมีกลิ่น มีสี มีความสม่ำเสมอที่เฉพาะตัว เมื่อลากไปแล้ว แม้ตัวสีหมึกจะไม่เสมอกัน แต่ก็เป็นความงามอีกแบบหนึ่ง

การใช้หมึกจนกระทั่งกลายเป็นโรงงานผลิตหมึกธรรมชาติที่กระทั่งผลิตหมึกสีสันจากวัตถุดิบพื้นถิ่นรอบๆ ตัว เริ่มต้นจากสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในโตรอนโต ประเทศแคนาดาเมื่อนักกวาดประกอบหนุ่มคนหนึ่งเดินไปเห็นป้ายเขียนว่า ‘Black Walnut Tree’ ด้วยความที่เป็นนักวาดที่ใช้หมึกสีดำสร้างสรรค์งานให้กับนิตยสารและหนังสือพิมพ์ชั้นนำ เช่น The New York Times อยู่แล้ว คุณ Jason Logan นึกขึ้นได้ว่าตัวเองก็ใช้หมึกจากต้นไม้เหล่านี้นา หลังจากนั้นก็เลยเริ่มทดลองทำหมึกด้วยตัวเอง จนกลายเป็นบริษัทหมึก และออกหนังสือชวนผู้คนมาทำหมึกกัน

 


Watch this video on The Scene.

ความงดงามของหมึกสีดำจากต้นวอลนัท และจุดเริ่มต้นการหาของป่าในเมือง

บางทีเราอยู่ในโลกของมาตรฐาน และการผลิตจำนวนมากๆ จนเสพติดกับความเหมือนกัน ความเท่ากัน จนบางทีเราก็ลืมว่า หลายครั้งความงามอยู่ที่อยู่ความเฉพาะตัว ความไม่สม่ำเสมอบางอย่างคล้ายกับเนื้อไม้ คล้ายกับกลิ่นที่ขึ้นอยู่กาลและเวลา สำหรับหมึกเองก็เช่นกัน

ด้วยความที่ Jason Logan เป็นนักวาดภาพประกอบ จริงๆ ตัวแกเองก็ใช้หมึกธรรมชาติ คือหมึกที่ผลิตจากต้นวอลนัทนี่แหละ แกอธิบายว่าหมึกของต้นไม้เหล่านี้จะลักษณะพิเศษ มีกลิ่นเฉพาะตัวของพืชพรรณหรือวัตถุดิบนั้นๆ ในขณะเดียวกัน ในแต่ละการลากเส้น ตัวหมึกจะทิ้งชั้นสีที่ไม่เสมอกัน ค่อยๆ ไล่เฉดลงอันเป็นลักษณะเฉพาะของสีที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ หรือวัสดุบางอย่าง จะไม่ได้เรียบเนียน หรือเท่ากันเหมือนกับหมึกโรงงาน

แน่นอนว่าหมึกธรรมชาตินั้นผลิตได้ยาก และเมื่อคุณโลแกนมีลูก แกก็อยากจะได้หมึกที่มีเคมีน้อยที่สุด ประจวบกันแกไปเห็นป้ายต้นวอลนัทดำ อันเป็นต้นไม้ที่ใช้ทำหมึกที่ใช้หากินมายาวนาน แกเลยจัดการเริ่มทดลองทำหมึกด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากของใกล้ๆ ตัว ซึ่งสุดท้ายทำไปทำมาก็เปิดเป็นบริษัท The Toronto Ink Company เป็นบริษัทผลิตหมึกจากวัตถุดิบทั้งใกล้และไกลตัว จากหมึกสีเหลืองเจิดจ้าของขมิ้นชัน ถึงหมึกสีม่วงล้ำลึกจากองุ่นป่า

คุณโลแกนเล่าว่า ถึงเวลาแกก็ใช้เวลา ไปตามหา เก็บเกี่ยว ค้นหา (forage) ‘ของเมือง’ ทั้งหลายเพื่อลองมาผลิตเป็นหมึกนี่แหละ นึกภาพว่นาเออเราอยู่ในเมือง แต่จริงๆ เราก็หาของป่า-ของบ้านมาผลิตเป็นสีสันได้ และก็มีสเน่ห์พอสมควร สีของคุณโลแกนนั้นก็แสนโรแมนติก แกมักพูดถึงสีจากเถ้าของบุหรี่ สีเหลืองจากก้นกรอง สีเขียวสดใสของไม้พุ่มริมทาง หรือกระทั่งสีขาวที่ชวนให้นึกถึงน้ำตาลบนเค้ก ก็ทำจากสีของกำแพงเก่าๆ ที่หลุดลอก

 

npr.org

 

สำรวจเมืองด้วยสายตาใหม่

นอกจากกิจการการผลิตหมึก และอีกส่วนคือการสร้างงานศิลปะจากหยดหมึก งานศิลปะที่ดูเรียบง่าย แต่ก็ซับซ้อนจากสีที่ค่อยๆ กระจายตัว ทั้งยังเก็บงำเรื่องราวของเมืองใหญ่เอาไว้ ทาง The Toronto Ink ยังมีกิจกรรมการพาผู้คนไปทัวร์เมือง และไปเก็บเกี่ยวข้าวของเพื่อมาทำหมึกเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเสริมด้วย

แน่นอนว่า การที่เรารู้ว่าสิ่งของ วัสดุ หรือธรรมชาติรอบๆ ตัวเราสามารถเอามาทำเป็นหมึกได้ ก็ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น และสนใจจะไปมองหาเรื่องราวข้าวของจากที่เราเคยแค่เดินผ่านไปธรรมดาๆ ในทำนองเดียวกันทางคุณโลแกนเองก็พูดถึงประสบการณ์การเก็บข้าวของเหล่านั้นว่า เฮ้ย มันทำให้แกเห็นอะไรเยอะขึ้นมาก จริงๆ แค่ก้นกรองบุหรี่ กำแพงสีขาว หรือกระทั่งเมื่อครั้งแกเดินไปเก็บของกับทาง The New Yorker ที่เซนทรัลปาร์ก ตามประสาคนนิวยอร์ก แกก็บอกว่าแกได้เห็นตัวตนพิเศษ ได้สีหมึกพิเศษ เช่นหมึกจากเหรียญนิกเกิล ที่ทางแคนาดาไม่มีแล้วเป็นต้น

นอกจากนี้ แกยังออกหนังสือชวนคนมาปรุงหมึกชื่อ Make Ink: A Forager’s Guide to Natural Ink Making เป็นหนักสือแนว DIY ที่ชวนคนกลับมาเชื่อมโยงกับวัตถุดิบและวัสดุอีกครั้ง พร้อมทั้งมีสูตรหมึก ที่ทำให้เราเหลียวกลับไปมองสิ่งของในเมืองด้วยเฉดสีต่างๆ จากกิจกรรมการเก็บและทำหมึก

 

Jason Logan by Claire Harbage/NPR

 

วิธีการทำหมึก ก็ไม่นับว่ายากเท่าไหร่ หลักๆ คือการต้ม เราก็เอาของที่คิดว่าจะได้สีนั้นๆ มาลงต้มในน้ำ ใส่เกลือสักหยิบมือ น้ำส้มสายชูวิเนก้าสักช้อนชา (ไม่ต้องชิมรส) ต้มไปสักชั่วโมงหนึ่ง พอได้สี เอากระดาษจุ่มดูว่าสีเข้มพอใจรึยัง ได้ที่แล้วก็กรอกใส่ขวดแก้วที่กรองผ่านกระดาษากาแฟให้ใส หลังจากนั้นเติม gum arabic วัตถุดิบที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ผลิตจากยางไม้ชนิดหนี่ง ใส่ในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 (มีขายที่ร้านอุปกรณ์เบเกอรี่) ก่อนปิดฝาใส่กานพลูลงไปด้วยเพื่อกันเสีย เท่านี้ เราก็จะได้หมึกมาใช้เรียบร้อย ดังนั้น การทำหมึก ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนุกเนอะ ไม่ได้ยากจนเกินไป ได้ไปผจญภัย ไปมองหาข้าวของรอบๆ ตัว หรือของบางอย่างที่คนที่เรารักชอบ หรือมองให้เราเช่นดอกไม้ ใบหญ้า เราก็อาจจะเอามาต้น กวน เป็นสีหมึกส่วนตัวแล้วหยด วาด ผสม

 

หรือลองนึกภาพ ส่วนสักแห่งที่เรามีความหลัง เราเก็บของสองสามอย่าง กระทั่งมื้ออาหารพิเศษบางมื้อ เราเอาเปลือกหอมเก่าๆ เอากาแฟแก่ๆ ที่หลงเหลือ ผลไม้บางลูก ทำเป็นหมึก แล้วหยดรวมกันกลายเป็นภาพบันทึกพิเศษ ที่มีแต่เราเท่านั้นเมื่อมองหยดหมึกไร้รูปร่างเหล่านั้น ก็จะเข้าใจความหมาย นึกภาพความทรงจำบางอย่างขึ้นมาได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

newyorker.com

citylab.com

amazon.com

npr.org

thoughtco.com

marthastewart.com/

torontoinkcompany.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :