สวนเพื่อสุขภาพ คือการใช้องค์ประกอบทางธรรมชาติและการออกแบบมาใช้ในการบรรเทาความเครียด ฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยใช้องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและการรักษาโรค แนวคิดนี้เกิดจากสมมติฐานที่ว่า จิตสำนึกภายในของมนุษย์มีความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ จึงรู้สึกต้องการและโหยหา เมื่อได้สัมผัสหรือมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติจึงเกิดความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย
สวนเพื่อสุขภาพ พัฒนาจากการสร้างสวนเพื่อประดับ ให้มีความสามารถในการฟื้นฟู เยียวยา ด้วยการผนวกกระบวนการรักษาทั้งโรคทางกาย บรรเทาความเครียด ไปจนถึงเสริมประสาทสัมผัสและคุณภาพชีวิต สวนนี้ไม่จำเป็นจะต้องอยู่แค่ในสถานพยาบาล แต่เป็นสวนที่ถก่อให้เกิดกระบวนการเหล่านี้จากการเข้าไปใช้งานพื้นที่สวน สวนเพื่อสุขภาพเน้นการบรรเทา (Heal) ไม่ใช่การรักษา (Cure) ผ่านการใช้กิจกรรมทางกายและพืชพรรณธรรมชาติ ช่วยลดอุณภูมิพื้นที่ภายนอก สร้างบรรยากาศที่ดี ลดความตึงเครียด และช่วยให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น
Healing Garden สวนเพื่อสุขภาพ
ประเด็นสำคัญในการออกแบบสวนเพื่อสุขภาพ คือการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระและสามารถให้ผู้คนเข้าใช้งานได้มากที่สุด เป็นการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) และหากพื้นที่สวนเพื่อสุขภาพถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาล ก็ไม่ควรจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ของผู้ใช้งานทุกประเภท เช่น มีราวจับพยุงตัว พื้นผิวไม่ลื่น มีระยะห่างของที่นั่งที่พอเหมาะ (NParks Board, 2017)
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้งานภายในพื้นที่สวนเพื่อสุขภาพ พบว่าการได้เห็น ได้กลิ่นและได้ยินเสียงพืชพรรณช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสดชื่นขึ้น สวนเพื่อสุขภาพจึงควรออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ เช่น การมอง การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรู้รสชาติ อุณหภูมิ การสัมผัส และเวลา ซึ่งการรับรู้เหล่านี้มีผลต่อประสบการณ์ที่แต่ละคนจะได้รับจากการเข้าใช้งานพื้นที่ โดยภายในสวนสามารถมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้ตามความต้องการได้
ลักษณะแต่ละประเภทของสวน ยึดโยงกับการรับรู้และการสื่อสารกับผู้ใช้งาน ซึ่งทั้ง 8 ประเภทในตาราง เป็นลักษณะที่พบได้มากในงานออกแบบสวน ลักษณะของสวนที่ Serene, Space และ Rich เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่มีอาการเจ็บป่วยค่อนข้างหนัก ซึ่งต้องการความสงบและสมดุลภายในจิตใจ ลักษณะสวนที่ Common และ Pleasure Garden เหมาะสมหรับการพักผ่อนหย่อนใจทั่วไป สังเกตการณ์ผู้ใช้งานอื่น ๆ และลักษณะ Festive เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเครียด ซึ่งลักษณะพื้นที่ทั้งหมดควรต้องประกอบด้วยพืชพรรณที่หลากหลายทั้งความสูงและชนิดพันธุ์ (Stigsdotter & Grahn, 2002)
แต่ในโรงพยาบาลสวนเพื่อสุขภาพมักถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการรักษาผู้ป่วย จึงเกิดเป็นสวนเพื่อการรักษาโรค (Therapeutic garden) ที่สอดแทรกการรักษาในทางปฏิบัติเอาไว้
Therapeutic Garden สวนส่งเสริมทางการแพทย์
สวนส่งเสริมทางการแพทย์ เป็นสวนที่ออกแบบเพื่อรักษาโรค เกี่ยวเนื่องกับอาการโรคและสภาพทางกายของผู้ป่วย ถือเป็นจุดบรรจบของการรักษาทางการแพทย์และการออกแบบ โดยการใช้พืชพรรณเป็นเครื่องมือ บางพื้นที่ใช้สวนลักษณะนี้ฟื้นฟูหรือสวนพักพิงทางจิตใจแก่ผู้ป่วย ด้วยการออกแบบให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสวน ปัจจุบันมีสวนหลายรูปแบบที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา เช่น สวนสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สวนสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม สวนสำหรับผู้สูงอายุ สวนสำหรับเด็ก สวนสำหรับผู้ป่วยทางจิต เป็นต้น
ผู้ป่วยในโรงพยาบาลมักมีความเครียดจากการอยู่ในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน จึงควรมีการออกแบบพื้นที่ภายนอกด้วยหลักการของสวนเพื่อสุขภาพ ตรวจสอบผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอและพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ป่วยแต่ละประเภท ก็จะมีความต้องการและข้อกำจัดทางกายที่แตกต่างกันออกไป เช่น สวนฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือได้รับความเสียหายทางสมอง จะต้องทำการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวร่างกายและรยางค์ต่างๆ เช่น การเดิน ดังนั้นจึงควรออกแบบพื้นที่เพื่อฝึกฝนการเดิน เสริมความมั่นใจ พื้นไม่ลื่น มีการเปลี่ยนความลาดชันและมีเนินสูงต่ำ ใช้พืชพรรณที่มีความสูง มีลักษณะใบและสีสันที่หลากหลาย มีที่นั่งเพื่อเข้าไปสังเกตในระยะใกล้ ฟื้นฟูระบบการรับรู้
สวนเพื่อการฟื้นฟูผู้ป่วยแอลกอฮอล์เรื้อรัง ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของการยอมรับตนเองของ 12 Steps Alcoholics Anonymous model ซึ่งอาจออกแบบพื้นที่ที่ผู้ใช้งานสามารถสะท้อนความรู้สึกนึกคิดได้
สวนสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีความผิดปกติในการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งงานออกแบบมีผลมากที่สุดต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ การใช้งานพื้นที่ควรออกแบบให้เรียบง่าย คือ มีเส้นทางเข้าออกเพียงทางเดียว เส้นทางเดินควรเป็นทางบรรจบกัน การออกแบบพืชพรรณ ใช้พืชพรรณที่สะท้อนถึงความทรงจำในวัยเด็ก เนื่องจากความทรงจำระยะยาวเป็นส่วนที่ไม่ถูกหลงลืม รวมถึงพืชพรรณไม่ควรเป็นพืชที่รับประทานไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีความเป็นไปได้ที่จะนำเอาพืชเข้าปาก วัสดุที่ใช้ไม่ควรเป็นวัสดุลื่น มีแสงสะท้อน
สำหรับอาการทางการรับรู้นี้ สามารถนำไปประยุกต์สำหรับพื้นที่สวนบำบัดเพื่อผู้สูงอายุได้ เช่น โครงการ Jin Wellbeing County ที่มีการออกแบบพื้นที่สำหรับการฟื้นฟู สำหรับผู้สูงอายุและการทำกายภาพบำบัด โดยการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่วน คือ การเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส ใช้พืชพรรณที่มีลักษณะเป็นป่า มีไม้ดอกหอมและให้ดอกที่มีสีสัน เสียงน้ำตก เพื่อกระตุ้นประสาทรับรู้ของผู้สูงอายุ ส่วนกายภาพบำบัดใช้การสัมผัสพื้นที่มีลักษณะพื้นผิวแตกต่างกัน มีการใช้กรวดเพื่อเพิ่มความขรุขระ และออกแบบเส้นทางการเดินเพื่อฝึกฝน คือ ทางเดินพื้นเรียบ ทางเดินลาด และทางเดินชั้นบันได ซึ่งมีระยะที่เหมาะสมที่ผู้ป่วยและผู้ช่วยสามารถเดินไปด้วยกันได้ พร้อมราวจับตลอดทางเดิน
โครงการ TPP Hospital ที่บริเวณพื้นที่สวนชั้นล่างใช้แนวคิดสวนที่เน้นประสาทสัมผัสและบรรยากาศของพืชพรรณที่ปกคลุม รวมถึงพื้นที่นั่งพักผ่อนที่ใช้พืชสมุนไพร สวนบริเวณชั้น 5 ของอาคารเป็นสวนส่งเสริมทางการแพทย์ โดยมีพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูร่างกาย จากการใช้ราวจับเพื่อพยุงตัวเดิน และพักผ่อนหย่อนใจ สวนบริเวณชั้น 10 ของอาคารเป็นสวนเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเช่นกัน โดยเน้นการใช้ไม้ใบที่มีสีสันและไม้ดอกหอม
สวนสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควรออกแบบให้ผู้ป่วยไม่ต้องเผชิญความร้อนหรือแสงแดด เนื่องจากการรักษาด้วยยาและการฉายแสง
นอกจากนี้ข้อคำนึงของผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ข้อปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและการออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นการเกิดโรคและฟื้นฟูความสามารถของร่ายกาย เช่น ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) ที่ไวรัสอาจส่งผลต่อระบบการทำงานของตับ อาจมีอาการตัวหรือตาเหลืองอันเป็นอาการของดีซ่าน ซึ่งผู้ป่วยควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดการใช้พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงต่าง ๆ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการตับอักเสบได้ ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม ควรมีพื้นที่ที่บำบัดด้วยกลิ่น แต่ไม่ควรใช้พืชดอกเนื่องจากอาจกระตุ้นอาการแพ้เกสรของผู้ป่วยบางรายได้ ควรใช้พืชที่ต้นหรือใบมีกลิ่นหอมทดแทน
การออกแบบสวนเพื่อสุขภาพจะต้องพิจารณาการออกแบบเพื่อสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจควบคู่กัน พื้นที่เพื่อส่งเสริมสุขภาพทางกาย คือ ต้องมีพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางกายและกิจกรรมทางสังคม ผู้ใช้งานทุกรูปแบบสามารถเข้าถึงได้สะดวก สุขภาพจิตใจ จะต้องมีพื้นที่ที่มีรูปแบบของการสื่อสารกับผู้ใช้ที่หลากหลาย ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะอยู่ลำพังหรือรวมกลุ่มได้ ทั้งนี้จะต้องพิจารณากลุ่มผู้ใช้และเป้าหมายของการใช้งานพื้นที่ เนื่องจากอาจมีผู้ใช้บางกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะที่สอดคล้องกับอาการโรค ซึ่งอาจต้องการใช้พื้นที่ภายนอกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา
สวนเพื่อสุขภาพอาจใช้สำหรับผู้ที่เกิดอาการโรคแล้วหรือผู้ที่ยังไม่เกิดอาการโรคก็ได้ เพื่อเป็นการชะลอการเกิดโรคทางกาย เช่น โรคที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง (Non-communicable Disease) ได้แก่ โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ รวมถึงเป็นการบรรเทาความเครียดของจิตใจผู้ใช้งานที่อาจมีภาวะทางจิตให้ไม่พัฒนาเป็นโรคทางจิตใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Bengtsson, I., & Grahn, P. (2014). Outdoor Environments in healthcare settings : A quality evaluation tool for use in designing healthcare gardens. Urban Forestry & Urban Greening, 13, 878–891.
Bostock, B. (2020). Those Who Recover From Coronavirus Can Be Left With Reduced Lung Function, Say Doctors. Retrieved April 8, 2020, from https://www.sciencealert.com/even-those-who-recover-from-corona-can-be-left-gasping-for-breath-afterwards
Chaiyapan, M. (2558). Psychology : a Conceptual of Horticultural Therapy. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 17–28.
Detweiler, M. B., Sharma, T., Detweiler, J. G., Murphy, P. F., Lane, S., Carman, J., … Kim, K. Y. (2012). What is the evidence to support the use of therapeutic gardens for the elderly? Psychiatry Investigation, 9(2), 100–110. http://doi.org/10.4306/pi.2012.9.2.100
Kuo, M. (2015). How might contact with nature promote human health? Promising mechanisms and a possible central pathway. Frontiers in Psychology, 6(August), 1–8. http://doi.org/10.3389/fpsyg.2015.01093
Marcus, C. C. (2007). Healing Gardens in Hospitals. Design and Health, I(I), 1–27.
Marcus, C. C., & Barnes, M. (1999). Healing Gardens : Therapeutic Benefits and Design Recommendations. John Wiley & Sons, Inc.
Marcus, C. C., & Sachs, N. A. (2014). Therapeutic Landscapes : An Evidence-Based Approach to Designing Healing Gardens And Restorative Outdoor Spaces. New Jersey: John Wiley & Sons, Inc.
Medina, H. Z. (2012). Healing gardens at the Hospital of Culiacán, 86–89.
NParks Board. (2017). Design Guidelines for Therapeutic Gardens in Singapore Working Committee :
Stigsdotter, U., & Grahn, P. (2002). What makes a garden a healing garden. Journal of Therapeutic Horticulture, 13(2), 60–69.
Ulrich, R. S. (2002). Health Benefits of Gardens in Hospitals. Plants for People.