CITY CRACKER

เกาะร้างห่างโรค ‘Lazzaretto Vecchio’ โรงพยาบาลกักกันโรคระบาดแห่งแรกของโลก

หลังจากที่เราพบกับวิทยาการทั้งวิทยาศาสตร์ จุลชีววิทยาและการแพทย์ โรคระบาดจึงกลายมาเป็นเรื่องน่าตกใจ การมาของโคโรน่าไวรัสก็ทำให้ระบบกระบวนของโลกสมัยใหม่รวนเรกันไปหมด แต่คำว่าโรคระบาด ดูจะเป็นสิ่งที่ชาวโลกคุ้นเคยกันมาอย่างเนิ่นนาน เราเผชิญการระบาดกันอย่างสาหัสกันมานักต่อนัก และมหานครในยุคราวศตวรรษที่ 15-16 ก็พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อรักษาอาณาจักรอันเกรียงไกรของตนเองไว้

 

conoscerevenezia.it

เวนิส ดินแดนที่ทุกวันนี้ก็เผชิญกับโควิด 19 อย่างหนักหน่วงเท่าๆ กับพื้นที่อื่นๆ ของอิตาลี แต่เวนิส ดินแดนแห่งลำคลองและเกาะน้อยใหญ่แสนศิวิไลซ์ ในช่วงกลางๆ ของศตวรรษที่ 15 ตอนนั้นเวนิสก็เป็นนครเมืองท่าที่มั่งคั่งและเป็นหนึ่งในประเทศแถบยุโรปที่เจอกับการระบาดใหญ่ของกาฬโรค อาจด้วยความที่เวนิสเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเกาะ สัญจรไปมาด้วยเรือ และแน่นอนว่าเวนิสเองเป็นเมืองท่าที่หันหน้าสู่ทะเลเปิด ในตอนนั้นโรคระบาดรุนแรงขนาดคร่าชีวิตเจ้าครองนครไป กรุงเวนิสเองจึงได้จัดการสร้าง Lazzaretto อันเป็นโรงพยาบาลกลางเกาะ เป็นพื้นที่ที่ใช้แยกโรคและรักษาผู้ป่วยจากโรคระบาด และเจ้า Lazzaretto ต่อมาก็เป็นพื้นที่สำคัญ ที่เจ้านครเวนิสมีบัญชาให้เรือทุกลำมีการจอดพักกักกัน สังเกตอาการโรคเป็นระยะเวลา 40 วันหรือ quaranta giorni อันเป็นที่มาของคำว่าการกักกันโรค- quarantine ในปัจจุบัน

พอเราพูดว่าเป็นโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคระบาดแห่งแรก ฟังดูก็น่าน่าจะน่ารักอบอุ่นใจดี แต่อันที่จริง เจ้า Lazzaretto นี้ ถึงจะเรียกว่าโรงพยาบาล แต่สภาพของสถานที่ก็ไม่เชิงว่าจะเน้นสุขอนามัยขนาดนั้น สภาพโดยรวมค่อนข้างย่ำแย่ เป็นเหมือนพื้นที่เอาคนป่วยไปวัดดวง กองรวมกันไว้ ใครใคร่ตายก็ตาย ใครรอดก็รอด แต่โมเดลกันกักกันแยกคนป่วยนั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเฝ้าระวังและรับมือการระบาดที่มีประสิทธิภาพยิ่ง

agcult.it

Lazzaretto Vecchio เกาะกักโรคแห่งดินแดนสันติสุข

โรคระบาดมาพร้อมกับมหานคร ยุโรปเองเผชิญกับกาฬโรคมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 14 อาณาจักรและเมืองท่าอันเกรียงไกรมั่งคั่งเช่นเวนิสเองก็หนีไม่พ้นจากกาฬโรค โรคอันเกิดจากสัตว์ฟันแทะที่ติดต่อผ่านหมัดของพวกมัน มีหลักฐานระบุไว้หลายช่วงปีว่าเกาะและโรงพยาบาลเกิดขึ้นในช่วงไหน ตั้งแต่ราวปี 1423 และราวปี 1485 แต่ช่วงช่วงกลางศตวรรษที่ 15 เวนิสเจอการระบาดหนักมากมีผู้คนล้มตายและระบาดไปจนถึงระดับเจ้าครองนครที่ต้องสังเวยชีวิตไป

กาฬโรคที่ระบาดในตอนนั้นคือกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (bubonic plague) เป็นโรคระบาดร้ายแรงและมีอัตราการตายที่ค่อนข้างสูง ระยะการดำเนินโรคค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรง การดำเนินโรคในช่วงนั้นตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงตายลงกินเวลาเฉลี่ยที่ 38 วัน ดังนั้นแนวคิดเรื่องการแยกตัวและโดดเดี่ยวผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจึงเริ่มเกิดขึ้น

อันที่จริง เวนิสเองไม่ใช่ที่แรกที่สร้างพื้นที่กักกันโรคขึ้น พื้นที่กักกันโรคแห่งแรกเกิดขึ้นที่โครเอเชีย ในเมืองท่าชื่อ Dubrovnik แต่ด้วยความที่เวนิสเองเป็นเมืองเกาะ การลงมือทดลองและจัดการกักกันโรคนั้นสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม เวนิสสามารถปิดและโดดเดี่ยวผู้ป่วยได้ด้วยการปิดสะพาน ตัดและควบคุมการเดินทางอย่างเป็นระบบ

by venice in Italy

จุดนี้เองที่ Lazzaretto อันหมายถึงโรงพยาบาลแยกโรคแห่งแรกจึงเกิดขึ้น ในตอนนั้นเวนิสมีสถานะเป็นสาธารณะรัฐ เป็นกลุ่มการปกครองที่ได้ชื่อว่านครรัฐอันสงบสุข(Serenissima Republic) โดยทางสภานครรัฐนั้นทำการเลือกเกาะขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใกล้กับลิโด้อันเป็นลากูนสำคัญศูนย์กลาง และสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่เกะแห่งนั้นเพื่อใช้แยกโรค เมื่อแรกนั้นก็เรียกว่า Nazaretum ตามชื่อแหลมนักบุญแมรี่แห่งนาซาเร็ธหรือพระแม่มารีนั่นเอง แต่ด้วยความที่ตัวเกาะใกล้กับเกาะอีกเกาะ คือ island of St. Lazarus จากชื่อ Nazaretum จึงค่อยๆ กลายเป็นที่รู้จักในนาม Lazzaretto และคำว่า Lazzaret จึงกลายเป็นคำที่หมายถึงพื้นที่กักกันคัดแยกโรคในยุคต่อๆ มา

จากโรงพยาบาลฉุกเฉิน หลังจากนั้นทางเจ้านครก็มีบัญชาให้เปิดเกาะใหม่ ที่ทำหน้าที่พักและสังเกตอาการของโรคขึ้นอีกเกาะหนึ่ง คือเป็นเกาะที่ไม่ทันป่วย แต่เหล่าเรือที่จะเข้าเวนิสได้นั้นต้องแวะจอดอยู่ที่เกาะแห่งนี้เป็นเวลา 40 วันก่อนถึงจะผ่านการสังเกตโรคและเข้ามาค้าขายได้ ด้วยเหตุนั้นเองก็เลยต้องมีการเรียกชื่อ Lazzaret เพิ่มเติมลงไป คือเกาะเดิมที่เป็นโรงพยาบาลก็เรียกว่า Lazzaretto Vecchio ในขณะที่เกาะใหม่ก็คือ Lazzaretto Nuovo อันแปลตามตัวว่าเป็นเกาะเดิมและเกาะใหม่กันไปตรงๆ

ด้วยความที่เราเรียกว่าเกาะเดิมคือโรงพยาบาล เกาะใหม่คือที่พักดูอาการ ฟังดูน่ารักทั้งคู่ แต่อันที่จริง โรงพยาบาลที่ว่าเป็นเหมือนดินแดนสนธยาที่น้อยคนนักจะรอด ได้มีโอกาสหายจากความเจ็บป่วยและได้ย้ายมาพักรออาการใกล้ๆ เกาะใหม่นั้น

idealista.com

ประชาธิปไตยของความเจ็บไข้

การกักกันโรค- การส่งตัวผู้ติดเชื้อในตอนนั้น ถือว่าทำอย่างเคร่งครัด และไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ผู้ที่ติดกาฬโรค หรือแสดงอาการเป็นที่สงสัยว่าติดแล้ว ไม่ว่าจะยากดีมีจนล้วนต้องถูกส่งไปยังโรงพยาบาลบนเกาะทั้งหมด แต่อนิจจา โรงพยาบาลที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาโรคอันแสนร้ายแรง ก็ดูจะไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรักษาให้หายเป็นสำคัญ แต่คือการแยะแยะและเฝ้าดูอาการ โดยที่ปลายทางของผู้มาเยือนมีแค่ว่าจะดีขึ้นหรือตายไปเอง และส่วนใหญ่จะเป็นอย่างหลัง ภายหลังมีขุดค้นและพบโครงกระดูกจำนวนมหาศาล พร้อมกับวัตถุโบราณที่ถูกฝังพร้อมกับผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก ทั้งเครื่องประดับ หม้อไห ของใช้ส่วนตัว

Rocco Benedetti ผู้บันทึกจดหมายเหตุชาวเวนิสในศตวรรษที่ 16 ระบุถึงเกาะราซาเร็ตเดิมว่ามีสภาพไม่ต่างกับนรก คนป่วย 3-4 คนนอนแผ่อยู่บนเตียงเดียวกัน ในทุกๆ นาทีจะมีการขนร่างผู้ตายออกโยนสู่สุสานอย่างไม่รู้จบ มีรายงานว่าบางวันมีผู้เสียชีวิตในสถานพยาบาลนี้ถึง 500 ศพในหนึ่งวัน

lauramorelli.com

จากการขุดค้นพบศพที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุอยู่ในช่วงราวศตวรรษที่ 15 ศพของโรงพยาบาลช่วงแรกๆ นั้นมีการห่อผ้าลินินและวางเรียงอย่างประณีตเรียบร้อย แต่คงด้วยความจำเป็นและการตายที่ล้นทะลัก ภายหลังสุสานของเกาะจึงมีลักษณะเป็นหลุมขนาดใหญ่ และเปิดพื้นที่ให้รถลำเลียงสามารถลำเข็งลำเลียงศพมาถมลงในหลุมได้ทันกับการตายที่มากเท่าใบไม้ร่วง

จากหลักฐานโครงกระดูกพบว่า ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามที่ป่วยด้วยโรคระบาดล้วนถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาล และสุดท้ายไม่ว่าจะผู้ดีหรือข้าทาส หากตายลงก็จะถูกฝังลงดินในลักษณาการเดียวกัน นักโบราณคดีเองยังพบโครงกระดูกที่หลากหลาย ทั้งในเชิงอายุและเชื้อชาติ ทั้งเอเชียและแอฟริกัน ทำให้เห็นภาพมหานครเวนิสในฐานะเมืองท่าที่คับคั่งไปด้วยผู้คนหลายสถานะ และหลายชาติหลายภาษา

 

อนึ่ง ปัจจุบันนี้ เกาะแห่งความทรงจำ ที่ว่าครั้งหนึ่งดินแดนแสนโรแมนติกเคยพบกับโรคระบาด และพยายามรับมืออย่างทันสมัย และส่งผลให้การระบาดที่เวนิสนั้นบรรเทาเบาบางลง เป็นวิธีต้นแบบของการกักกันโรคที่มีประสิทธิภาพในยุคต่อๆ มา ปัจจุบัน จากตัวเกาะที่ถูกทิ้งร้าง อาคารหนาทึบทั้งหลาย ก็เริ่มมีการขุดค้น ศึกษา และเตรียมสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อบันทึกเรื่องราวและเรียนรู้การรับมือกับโรคระบาดที่เข้าคร่าชีวิตผู้คนเกือบร้อยปี

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

architectmagazine.com

lazzarettovecchio.it

atlasobscura.com

abandonedspaces.com

nationalgeographic.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :