ในทุกการ ‘เสีย’ มีการ ‘ได้’ หากเรามองเห็นและทำมันให้ดีที่สุด โรคระบาด covid 19 กำลังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรา แต่ในด้านหนึ่งมันกำลังชี้ช่องทางการอยู่อาศัยและออกแบบเมืองในรูปแบบใหม่เพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นและใกล้กันมากขึ้น
รถติดกับกรุงเทพมหานครเป็นของคู่กัน
64 ชั่วโมง คือเวลาต่อปีที่คนกรุงเทพใช้ไปบนท้องถนน หรือเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมงในช่วงเวลาเร่งด่วน จากการประเมินสภาพจราจรทั่วโลก global traffic scorecard ประจำปี 2017 โดย INRIX พบว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่รถติดอันดับที่ 11 ของโลก สิ่งที่เราเสียไปแน่ๆ คือ เวลา แต่การจราจรที่ติดขัดยังส่งผลโดยตรงต่อปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควัน pm2.5ในเมือง จากการประเมินขององค์การสหประชาชาติ พบว่าการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์ ส่งผลให้ 9 ใน 10 คนทั่วโลกต้องเผชิญกับอากาศเสียและส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง
2 ชั่วโมง คือค่าเฉลี่ยที่คนกรุงเทพเสียไปบนท้องถนน เพื่อเคลื่อนที่จากบ้านไปที่ทำงาน ไปจับจ่ายหรือ ประกอบกิจธุระ แทนที่เราจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลากับตัวเองหรือใช้ไปกับผู้คนและสิ่งรอบข้าง เวลาที่เสียไปนี้ได้ลดทอนความสัมพันธ์ทางสังคมที่เราควรมีต่อกันในฐานะสมาชิกของครอบครัว ย่าน และเมืองเดียวกัน
ภัยคุกคามของโรคระบาดนี้ได้เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของคนในเมืองอย่างฉับพลันและมันได้แก้ปัญหาการจราจรที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนหรือผู้ว่าฯ คนไหนทำได้มาก่อน เวลานี้เราไปที่ไหนก็ไม่เจอรถติดอีกแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ต้องปรับวิถีชีวิตให้มีระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อลดการแพร่เชื้อ โดยหันมาทำงานที่บ้าน (work from home) ผ่านระบบเทคโนโลยีสื่อสาร online และพึ่งพาระบบ delivery แทนการออกจากบ้านในช่วงนี้
วิถี work from home และการใช้เทคโนโลยีนี้ได้ย่นเวลาการใช้ชีวิตให้สั้นลง และการใช้พื้นที่ของเราให้กระชับขึ้น ให้เราอยู่กับบ้านและละแวกบ้าน ที่เรายังสามารถดำเนินชีวิตในการอยู่อาศัย พักผ่อน ทำงาน และจับจ่าย แม้บางเรื่องมันอาจไม่สะดวกเหมือนเดิม แต่บางเรื่องก็ดีกว่าเดิม
จาก 2 ชั่วโมงที่เราเคยใช้บนท้องถนน เหลือเวลาเพียงแค่ 15 นาที ที่เราใช้เพื่อเดินทางไปที่ต่างๆ ในละแวกบ้านเพื่อไปออกกำลังกาย จ่ายตลาด ซื้อกาแฟ และยังมีเวลาพบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้านและคนในครอบครัวมากขึ้น เพราะเราได้เวลา 2 ชั่วโมงบนท้องถนนที่เคยเสียไปกลับคืนมา
เมืองทุกวันนี้ออกแบบมาให้เราต้องเสียเวลาชีวิตบนท้องถนน จากการใช้รถยนต์และถนนขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามแบบอย่างเมืองในตะวันตก เช่นลอสแองเจลิสที่ผู้คนใช้เวลาบนท้องถนนมากที่สุดในโลก เฉลี่ยที่ 3.5 – 4 ชั่วโมง อันเกิดจากการขยายเมืองออกไปยังชานเมืองสุดลูกหูลูกตา เพื่อตอบสนองความต้องการที่ทุกคนอยากมีบ้านเพื่ออยู่อาศัยและเก็งกำไร บ้านอยู่ทาง ห้างสรรพสินค้าอยู่อีกทาง และที่ทำงานอยู่ไปอีกทาง และทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยระบบโครงข่ายถนนที่ผู้คนต้องพึ่งพาในการใช้ชีวิต ซึ่งกรุงเทพมหานคร มีชะตากรรมที่เดินตามการพัฒนาแบบเมืองใหญ่เหล่านี้ไปทุกขณะ และยิ่งเมืองขยายใหญ่ขึ้นนั่นหมายถึงทรัพยากรที่ต้องพึ่งพาจากภายนอก ทั้งพลังงาน อาหาร แรงงาน เพื่อทำให้เมืองและภาระกิจในเมืองนั้นดำเนินต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายได้ แต่เป้าหมายส่วนใหญ่ของการมีเมืองมักเป็นเรื่องความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากกว่าการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข
Micro Neigborhood
การกักตัวเพื่อลดการแพร่ ไวรัสcovid-19 ทำให้เราได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ต่อการมีชีวิตกับเมือง ขนาดเล็ก (Micro Neigborhood) ที่มันทำให้เรามีเวลาใช้ชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น Micro Neigborhood คือเมืองขนาดเล็กหรือระแวกบ้านที่มีรัศมีบริการในระยะ 15 -20 นาทีที่เชื่อมโยงด้วยการเดินเท้า จักรยานหรือ บริการรถสาธารณะ มีบริการสาธารณูปโภค เพื่ออาศัย รักษา อาหาร เรียน ทำงาน พักผ่อน สำหรับทุกคนในย่าน พึ่งพาตนเองได้ทางพลังงานและการจัดการขยะ มีพื้นที่สีเขียวทุกๆ 400 เมตรเป็นพื้นที่สุขภาวะและเพื่อสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิต และที่สำคัญผู้คนในย่านสามารถสื่อสารมีส่วนร่วมต่อการบริหารจัดการได้
ด้วยความเล็กและกระชับของเมืองขนาดเล็กที่อยู่ได้ด้วยตัวเองเหล่านี้ จะช่วยให้เกิดการลดการพึ่งพาทรัพยากรภายนอกทั้งในยามปกติและยามวิกฤติ ที่สำคัญมันทำให้เกิดความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการบริหารจัดการทันสถานการณ์ ที่เมืองขนาดใหญ่โครงสร้างเทอะทะทำไม่ได้ นอกจากนี้ขนาดของเมืองที่เล็กยังช่วยสร้างความสัมพันธ์เชิงสังคมให้เกิดในละแวกบ้านเพื่อเป็นเกราะคุ้มภัยทางสังคมในการช่วยสอดส่องดูแลกันและกันในยามวิกฤติ
ปัจจุบันแนวคิดของเมืองขนาดเล็กในรัศมีบริการ15-20 นาทีนี้กำลังได้รับการนำไปปรับใช้กับหลายเมืองทั่วโลก อย่างเมือง Ottawa ที่ประเทศแคนนาดา Melbourne ที่ประเทศออสเตรเลีย และ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ในความสูญเสียจากวิกฤตนี้มีโอกาสที่เราจะได้ในการหันกลับมามองการออกแบบเมืองยุคใหม่ ให้ดีพอต่อการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน และมีประสิทธิภาพ กระชับ ยืดหยุ่น พอต่อการรับมือกับทุกวิกฤิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
Graphic designed by Thanaphum Thongprasert
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker