เชื้อไวรัส Covid-19 เป็นอะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และพยายามหามาตรการป้องกันและแก้ไข รัฐบาลแต่ละประเทศเองก็ง่วนกับการควบคุมไวรัสไม่ให้แพร่ระบาด ทั้งการเร่งตรวจเชื้อ กักกัน รวมไปถึงการออกมาตรการป้องกันไม่ให้ไปประเทศเสี่ยง หรือไม่รับนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยง มาตรการของไทยเราเองก็ห้ามไม่ให้คนไทยไป 11 ประเทศเสี่ยงแล้ว แต่เราก็ยังคงรับนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ดี การกระทำที่ไม่สอดคล้องกันนี้ไม่ได้ปรากฏแค่กับกรณีเชื้อไวรัส แต่ยังมีกรณีของปัญหาขยะ ที่เรารณรงค์ให้ช่วยกันลดพลาสติก แต่กลับนำเข้าขยะเป็นแสนตันต่อปี
ก่อนหน้านี้จีนเป็นประเทศที่นำเข้าขยะมากที่สุดในโลก แต่หลังจากที่จีน ประกาศเปลี่ยนนโยบาย เร่งแก้ปัญหามลพิษ ควบคุมอุตสาหกรรม กิจการรีไซเคิลภายในประเทศ เพื่อคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายประเทศที่นำเข้าขยะ เพื่อมาคัดแยกและรีไซเคิล เพราะหากกำจัดที่ประเทศต้นทางก็จะมีต้นทุนสูงกว่าการส่งออก
ในปี 2560-2562 เรามีสถิติการนำเข้าเศษพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 2,000- 7,000 % มีรายงานสถิตินำเข้าเศษพลาสติกย้อนหลัง 5 ปี พบว่าในปี 2557-2561 เรามีการนำเข้าเศษพลาสติกสูงขึ้นมากในกลุ่มพลาสติกอื่น ๆ โดยปี 2561 เพิ่มขึ้น 850% หรือ 383,862 ตัน จากปี 2017 ที่มีเพียง 134,142 ตัน
แม้ประเทศไทยจะอนุญาตให้นำเข้าพลาสติก แต่ก็ต้องเป็นเศษพลาสติกต้องสะอาดไม่ปนเปื้อนมีขนาดไม่เกิน2.0เซนติเมตรมีการตรวจพบว่าเรามีการลักลอบนำเข้าพลาสติกปนเปื้อนเข้ามาด้วย ซึ่งพลาสติกเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษตามมาได้ในภายหลัง
ปัจจุบันมีโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะกว่า 6, 000 แห่ง เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ได้ลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือ ร.ง.4 ที่จะต้องตรวจสอบและพิจารณาถึงความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ ทำให้มีโรงงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ขยะประเทศไทยก็มีถมไป เหตุใดยังต้องนำเข้า
กรมควบคุมมลพิษได้รายงานสถานการณ์ปริมาณขยะะมูลฝอย พบว่าในปี พ.ศ. 2561 เรามีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 27.93 ล้านตัน หรือประมาณ 76.529 ตันต่อวัน หรือปีก่อนหน้า27.37 ล้านตัน สถิติย้อนหลัง 3 ปี อยู่ 27 ล้านตัน อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงคิดในใจว่าประเทศเราก็ดูมีขยะตั้งเยอะตั้งเยอะ ทำไมถึงต้องนำเข้าขยะ
ประเด็นนี้ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้ว่า “ข้อเท็จจริงก็คือขยะพลาสติกในประเทศไทยมีจำนวนมากจริง แต่เป็นขยะที่ไม่ได้ถูกคัดแยกอย่างมีประสิทธิภาพทั้งจากประชาชนและรัฐบาล จึงมีการปนเปื้อนสูง ดังนั้นโรงงานอุตสาหกรรมจึงซื้อขยะพลาสติกจากต่างประเทศ (โดยเป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้าของรัฐบาลคือเศษพลาสติกต้องสะอาดไม่ปนเปื้อนมีขนาดไม่เกิน2.0เซนติเมตร) นำมารีไซเคิลและผลิตสินค้าพลาสติกราคาถูกขาย ซึ่งจะมีต้นทุนถูกกว่าการนำขยะพลาสติกในประเทศไทยมาคัดแยกและนำมารีไซเคิลผลิตเป็นสินค้าใหม่ ทำให้ขยะพลาสติกในประเทศตกค้างจำนวนมาก และถูกกองทิ้งไว้ในหลุมขยะเทศบาลและไหลลงทะเลในที่สุด”
กันยายน 2563 สิ้นสุดใบอนุญาตการนำเข้าเศษพลาสติก
หลังจากมีความเป็นห่วงในเรื่องการนำเข้าขยะพลาสติก ทางด้านรมว.อุตสาหกรรม ก็ได้คุมเข้มตรวจสอบผู้ประกอบการที่ได้รับโควตาการนำเข้าเศษพลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และ ป้องกันไม่ให้เศษพลาสติกนำเข้าเหล่านี้ไปสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้การนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อเป็นวัตถุดิบซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน โดยผู้ประกอบการยังมีโควต้าเหลือประมาณ 2.2 แสนล้านตัน ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ได้อนุญาตให้มีโควตาการนำเข้าใหม่
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษและโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2561 ว่าประเทศไทยจะหยุดการเป็นถังขยะโลกที่รองรับขยะจากต่างประเทศต่อไปในอีก 2 ปี ซึ่งสิ้นปีนี้ก็ครบ 2 ปีพอดี เราในฐานะประชาชนก็รอดูและเอาใจช่วยอย่างใจจดใจจ่อ หากทำได้ก็อาจช่วยให้ประชาชนหันมาสนใจช่วยลดและแยกขยะกันมากขึ้น และก้าวข้ามคำว่าบ่อขยะของโลกไปด้วยกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
Illustration by Napon Jaturapuchapornpong
- CITY CRACKER
Little crack, hack city.