ช่วงนี้เราได้ยินข่าวเรื่องไฟป่าอยู่บ่อยครั้ง หลังจากวิกฤตไฟป่าออสเตรเลียช่วงปีใหม่เริ่มสงบลง เราก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าไฟป่ากลายเป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งกับชีวิตเราและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ แถมล่าสุดยังมีเหตุการณ์ไฟป่าเกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเมื่อต้นสัปดาห์ด้วย แม้จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำแต่ก็ดูเหมือนว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ในทางวิทยาศาสตร์ จะเกิดไฟไหม้ขึ้นได้เมื่อมีความร้อนที่เพียงพอ มีออกซิเจนประมาณ 16-21 % และมีเชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ เลยพอจะเดาได้ว่าไฟป่าตามธรรมชาติเกิดขึ้นในฤดูร้อนหรือแล้ง เช่น ถ้าเป็นป่าเขตหนาวและเขตอบอุ่นในแถบอเมริกาเหนือและยูเรเซีย จะมีไฟป่าในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน แต่ถ้าเป็นของไทยมักจะมาในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม แถมยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้จากฟ้าผ่า และภูเขาไฟระเบิดด้วย ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ไฟป่าจึงเอื้อประโยชน์ให้แก่พืชพรรณและสัตว์บางชนิด เช่นต้นสนที่ต้องใช้ความร้อนหรือไฟเผา (serotinous cone) ให้ลูกสนมีผลแตกอ้า เพื่อปล่อยเมล็ดแพร่พันธุ์ต่อไป หรือป่าทุ่งหญ้าติดไฟง่าย ที่หลังจากถูกเผาก็จะกลายเป็นอาหารให้สัตว์ป่าต่อไป
ในขณะเดียวกัน นอกจากปรากฏธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราเองก็เป็นผู้ก่อไฟป่าขึ้นมาเอง เริ่มตั้งแต่เมื่อหมื่นปีก่อ ในสมัยปฏิวัติเกษตรกรรมยุคแรก (Neolithic Revolution) วิถีชีวิตดั้งเดิมของอารยธรรมโฮโมเซเปียน เราใช้เทคนิคการตัดไม้และเผาป่า (Slash and Burn) เพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร กำจัดวัชพืช ทำให้เรามีดินที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุสารอาหารจากเศษซากพืชต่างๆ จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ก็ยังมีการเผาป่าเกิดขึ้น แต่พฤติกรรมอื่นๆ ของเราเอง ก็กระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อนและส่งผลต่อการเกิดไฟป่าเช่นกัน
ไฟป่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าเราจะได้ยินข่าวไฟป่าบ่อยขึ้น แต่ความจริงแล้ว ไฟป่าที่เราเห็นๆ กันในข่าวมีจำนวนลดลง จากแผนที่โลกแสดงเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ถูกไฟเผาตั้งแต่ปีค.ศ. 1998 -2015 ของ NASA พบว่าไฟป่ามีจำนวนน้อยลงถึง 24 เปอร์เซ็นต์เลย ยิ่งมีจุดเฉดสีฟ้ามากเท่าไหร่ก็หมายความว่ามีเทรนด์ไฟป่าที่น้อยลงมากเท่านั้น โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาตอนกลาง
มีข้อสังเกตว่าไฟไหม้ป่าลดลงมากที่สุดในระบบนิเวศแบบสะวันนาหรือทุ่งหญ้าเปิดของแอฟริกา จากที่ผู้คนเคยอยู่กันเป็นชนเผ่า เลี้ยงชีพด้วยการทำปศุสัตว์ในทุ่ง ต้องอาศัยการเผาเพื่อลดวัชพืชและรักษาธาตุอาหาร ต่อมาวิถีชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไปตามความเจริญและเทคโนโลยี หันมาเพาะปลูกบนแปลงแบบถาวรแทน มีการสร้างบ้าน สร้างถนน อยู่กันเป็นชุมชนสมัยใหม่มากขึ้น มีกฏเกณฑ์ควบคุมการก่อไฟ พื้นที่ทุ่งหญ้าอันติดไฟง่ายแบบเดิมก็ลดจำนวนลง เช่นเดียวกับพื้นที่ป่าเขตร้อนชื้นอื่นๆ ด้วยการมีเครื่องมือ เครื่องจักร ช่วยเคลียร์พื้นที่ทำแปลงเกษตรได้ง่ายๆ รวมถึงนวัตกรรมการเพาะปลูกอย่าง การใช้พืชพันธุ์ที่ช่วยตึงแร่ธาตุและเตรียมดินโดยเฉพาะ จึงไม่จำเป็นต้องจุดไฟเผาอีกต่อไป
ภาวะโลกร้อน ระบบนิเวศเสียสมดุล และไฟป่าที่รุนแรงขึ้น
จำนวนไฟป่าที่ลดลงอาจฟังดูเป็นข่าวดี แต่พื้นที่บางแห่งก็ได้รับผลกระทบนี้ เช่นในป่าสะวันนา เมื่อไฟป่าธรรมชาติลดลง ทำให้ต้นไม้ใหญ่จำนวนมากโตเร็ว ส่งผลต่อทุ่งหญ้ากว้างใหญ่อันเป็นแหล่งที่อยู่ของเหล่าสัตว์ซาฟารีอย่าง ม้าลาย แรด หรือสิงโต ทั้งๆ ที่ไฟป่าในจำนวนที่เหมาะสมเป็นตัวรักษาสมดุลระบบนิเวศแบบนี้เอาไว้
หากรวมกับสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นปีละ 1-2 องศาเซลเซียส การเกิดไฟป่าแต่ละครั้งเลยยิ่งโหมกระหน่ำรุนแรงขึ้น ด้วยฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น และหน้าแล้งที่มีฝนตกน้อยลง เห็นได้จากเคสไฟป่าออสเตรเลียเมื่อต้นปี ที่มีช่วงเวลาวันร้อน (35 องศาเซลเซียส) และวันร้อนจัด (40 องศาเซลเซียส) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีปริมาณฝนตกลดลง 15-25% ในฤดูใบไม้ร่วงที่มีอากาศความชื้นสูง นอกจากนี้ประเทศบ้านเกิดของเหล่าโคอาล่ายังมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในหน้าร้อนปีที่แล้วสูงถึง 41.9 องศาเซลเซียส (ค่าเดี่ยวๆ ร้อนสุดวัดได้ถึง 49.9 องศาในภูมิภาค South Australia)
ศาสตราจารย์ Glenda Wardle นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ไฟป่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีความเกี่ยวข้องกัน แม้จะไม่ใช่เพราะเหตุผลนี้เสมอไปก็ตาม จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิตเราเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งผลไกลถึงการเกิดไฟป่าที่อีกฟากหนึ่งของโลก
ไฟป่าน่าจะเรียกได้ว่าเป็นตัวชี้วัดความเป็นไปของดาวเคราะห์เราเลยก็ได้ จากแต่เดิมที่เป็นตัวรักษาสมดุลธรรมชาติ ค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นระเบิดเวลาทำลายตัวเอง ถึงเวลาที่เราอาจต้องทบทวนพฤติกรรมของตัวเองและทำความเข้าใจธรรมชาติให้ละเอียดมากขึ้น แม้เราจะไม่ได้เป็นคนจุดไฟเผาโดยตรงก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut