ช่วงนี้เรากักตัวอยู่บ้านกัน หลายคนก็พยายามตุนข้าวของ ซื้อของแห้งเก็บไว้ บ้างก็ทำกับข้างกินเองทั้งแก้เบื่อ และไม่ต้องออกไปไหนเพื่อเพิ่มความเสี่ยง บางคนก็สั่งอาหารเดลิเวอรี่มากิน อยากซื้ออะไรก็ช้อปปิ้งออนไลน์เอา แต่นอกจากเหล่านี้ที่เราคุ้นเคยกัน ยังมีอีกหนึ่งบริการอย่างรถพุ่มพวง ที่นำของใส่รถกระบะหรือรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปให้บริการกันถึงที่
รถพุ่มพวงคือรถกระบะ หรือรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถที่มีถุงห้อยเป็นพวงๆ ขับเข้าไปให้บริการในตรอกซอกซอย หรือในพื้นที่ที่ไกลจากตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต มีทั้งที่ขายกับข้าวหรือขายพวกผัก ผลไม้ของสด เข้าไปให้บริการกันถึงที่เหมือนเราได้ออกไปเดินตลาด ทั้งที่ความจริงก็ไปแค่รถพุ่มพวงที่มาเร่ขายนี่แหละ ซึ่งบางทีก็มีการสั่งซื้อสินค้าพิเศษที่ปกติไม่มีให้นำมาขายโดยเฉพาะด้วย โดยในสังคมผู้สูงอายุอย่างญี่ปุ่นก็มีการผลักดันรถพุ่มพวงหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเคลื่อนที่นี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเอาใจผู้สูงอายุที่เป็นประชากรหลักของประเทศให้เหล่าผู้สูงอายุสามารถจับจ่ายใช้สอยได้โดยไม่ต้องออกไปไหน
‘ตลาด’ เคลื่อนที่
เมื่อเมืองเริ่มขยาย ความเจริญเริ่มเข้ามาเรื่อยๆ จากที่เคยอยู่แค่ในเมืองก็เริ่มกระจายผู้คนไปอยู่รอบๆ เมือง ประกอบกับเป็นช่วงที่มีร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตเกิดขึ้นมากมาย พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ร้านโชห่วยเริ่มรู้สึกว่าตัวเองอยู่ไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาขายกันแบบให้บริการถึงที่แทน ตระเวนไปขายตามหมู่บ้านจัดสรร หรือพื้นที่ที่ห่างไกล การเดินทางลำบาก ไม่มีรถสาธารณะเข้าถึง เพื่อขายให้กลับกลุ่มคนที่อยู่บ้าน ไม่สามารถออกไปไหนได้ คือในเวลากลางวัน คนที่อยู่บ้านส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้สูงอายุ หรือแม่บ้าน ที่ไม่สะดวกออกไปตลาด หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ก็จะมีรถพุ่มพวงนี่แหละ ที่พอให้ได้เลือกซื้อของ แถมบางครั้งยังมีการฝากซื้อของเข้ามา หรือฝากไปจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ อะไรทำนองนี้ด้วย เป็นความสัมพันธ์แบบขาประจำ เพราะก็มีอยู่ไม่กี่เจ้าที่วนเวียนกันเข้ามาขาย ซึ่งรถพุ่มพวงส่วนใหญ่ก็จะเข้ามาเป็นเวลาประจำ คล้ายกับเวลาไปตลาดแล้วลุ้นว่าร้านประจำจะเปิดไหม
มีงานศึกษาเรื่อง รูปแบบและการให้บริการของ ‘รถพุ่มพวง’ ของต่อพัฒนาการของชุมชนบ้านจัดสรรโดย รศ. ยุวดี ศิริ พบว่ารถพุ่มพวงคือการผสมผสานระหว่างการนำสินค้าจำเป็นที่ขายในตลาดสด มาผสมผสานกับสินค้าที่ถูกขายในร้านโชห่วยแบบดั้ง เดิม และเพิ่มการให้บริการรับชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าไปให้บริการแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐได้อย่างเต็มที่ โดยรถพุ่มพวงเหล่านี้จะเริ่มเข้าไปขายตามหมู่บ้านจัดสรรตั้งแต่ยังก่อสร้างอยู่ ขายให้กับแรงงานในแคมป์ก่อสร้างนั้น พอเมื่อเสร็จเป็นรูปเป็นร่างดีมีคนเข้าอยู่ ก็เปลี่ยนมาให้บริการกับผู้คนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรแทน ตั้งแต่แม่บ้าน คนรับใช้ และกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ โดยจอดให้บริการจุดละ 20 นาที มีการนำเสนอขายสินค้าแบบพ่วงห้อย ไม่ใช่แค่เอกลักษณ์แต่ง่ายต่อการคำนวณทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เรียกได้ว่ารถพุ่มพวงกระชับรัศมีให้เราเข้าถึงแหล่งจับจ่ายใช้สอยได้ง่ายขึ้น
รถพุ่มพวงกับการรองรับสังคมผู้สูงอายุ
บ้านเรารถพุ่มพวง ถือเป็นการดิ้นรนของพ่อค้าแม่ค้าตัวน้อยๆ แต่ในญี่ปุ่นที่เป็นสังคมผู้สูงอายุนั้นตลาดของรถพุ่มพวงเฟื่องฟูมาก เนื่องจากผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่สะดวกทั้งการไปซูเปอร์มาร์เก็ตหรือจะให้หอบหิ้วแบกของหนักๆ กลับบ้านก็คงจะไม่ไหว ดังนั้นการไปขายถึงที่ของรถพุ่มพวงก็ถือเป็นการตลาดเชิงรุก ที่มีตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นไปจนถึงนายทุนรายใหญ่มาให้บริการ เนื่องจากตลาดของผู้สูงอายุนั้นมีมูลค่าถึง 100 ล้านล้านเยน โอเค ถ้าออกมาซื้อไม่ไหว ก็ไปให้บริการถึงหน้าบ้านเลยแล้วกัน
โทกูชิมารุ ซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นของญี่ปุ่น ถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่โดดมาทำรถพุ่มพวง โดยจัดเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเคลื่อนที่บรรทุกสินค้าและอาหารไปยังพื้นที่ห่างไกลในปี 2012 และจนถึงสิ้นปีที่แล้วโทกูชิมารุมีรถพุ่มพวงถึง 470 คัน เคลื่อนที่ให้บริการใน 47 จังหวัด ทั่วญี่่ปุ่น โดยในปี 2017-2019 เพิ่มขึ้นปีละ 100 คัน ปัจจุบัน รถพุ่มพวงของโทกูชิมารุ มีสินค้าให้เลือกสรรกว่า 1,500 รายการ โดยรถพุ่มพวง 1 คัน สามารถให้บริการคนได้ 150 คน นอกจากนี้ เจ้าอื่นๆ เช่น Lawson ก็มีแผนที่จะเพิ่มรถพุ่มพวงในเขตเมืองเช่นกัน ซึ่งการให้บริการของรถพุ่มพวงนี้ ในแง่หนึ่งก็เหมือนช่วยเป็นหูเป็นตา ช่วยดูแล คุณย่า คุณยาย ไปในตัว
ล่าสุด บ้านเราเอง ตลาดไทก็ขยายเครือข่ายรถพุ่มพวง เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากเกษตรกรทั่วประเทศ และอาหารสดอาหารแห้ง แม้ว่าเหตุผลหลักจะมาจากไวรัสระบาด แต่เหล่าผู้สูงอายุ หรือคนที่ไม่สะดวกไปจับจ่ายที่ตลาดนี่แหละคือลูกค้าตัวจริงของรถพุ่มพวง
อ้างอิงข้อมูลจาก