CITY CRACKER

Kiminoto City องค์ประกอบของเมืองที่จะช่วยเราตกหลุมรักกันและกัน

ว่ากันว่า ‘ความรัก’ คือการตกหลุมรักซ้ำๆ

ไอ้การตกหลุมรัก ส่วนหนึ่งมันก็เกิดจากการมีโมเมนต์หวานๆ ชนิดที่เรามักเห็นในสตอรี่ประกอบเพลง ‘คิมิโนโต๊ะ’ (ชื่อจริงคือ Summer Time) ไอ้เจ้าโมเมนต์คิมิโนโต๊ะอันที่จริงมันก็คือโมเมนต์หวานๆ ที่ทำให้เกิดรังสีแห่งความรักฉายออกมา คือเราก็พอเข้าใจเนอะว่าการหาความรักมันมีหลายองค์ประกอบและค่อนข้างเป็นเรื่องยาก หลายครั้ง ‘บรรยากาศ’ อันหมายถึงเมืองที่ดี ที่เอื้อให้เราตกหลุมรักกันและกันก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน

นึกภาพง่ายๆ คือเราจะมีเมืองที่บอกว่า เมืองนั้นเมืองนี้เป็นเมืองแห่งความโรแมนติก เป็นเมืองหรือช่วงเวลาที่เหมาะจะตกหลุมรักซึ่งกันและกัน เรามักพูดถึงปารีส เวนิส ญี่ปุ่นก็พอใช้ได้ การจะตกหลุมรักบางครั้งเราต้องอาศัยโมเมนต์สบตากันหลายนาที การเดินข้างๆ กันแล้วมือก็แตะกันโดยไม่เจตนา การชมต้นไม้เปลี่ยนสีสวยๆ ด้วยกัน การเดินไปส่งและเดินทางหากันได้โดยง่าย ดังนั้นเองแปลว่า การจะเลิกโสดและมองหาใครซักคน แน่นอนว่าพื้นที่เมืองและสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องเอื้อให้เราได้เจอกับคนแปลกหน้า และความสวยงามโรแมนติกของเมืองก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้เราตกหลุมรักได้ง่ายมากขึ้น เกิดคิมิโนโตะโมเมนต์กันได้บ่อยๆ นั่นเอง

ในช่วงปลายฝนต้นหนาว บรรยากาศหอมหวานของพญาสัตบรรณเริ่มลอยมา หน้าห้างก็เริ่มตั้งต้นคริสมาสต์ มันถึงเวลาแห่งการสร้างโมเมนต์สีชมพูลงสตอรี่ให้เพื่อนๆ ได้อิจฉาและเดินหน้าสละโสดต่อ โอกาสนี้ City Cracker จึงชวนไปสำรวจองค์ประกอบของเมืองที่ ‘โรแมนติก’ ในฐานะพื้นที่ที่จะช่วยให้เราตกหลุมรักกันได้มากและง่ายขึ้น เป็นเมืองที่ช่วยลดทอนความเหงา และเป็นเมืองที่เจือไปด้วยสีชมพูเพื่อช่วยให้เราพบรักได้ดีขึ้น

 

Preserved History ร่อยรอยของอดีต คือสักขีพยานของความรัก

ลักษณะของเมืองที่เรานิยามว่าเป็นเมืองโรแมนติก ไม่ว่าจะเป็นปารีส เวนิส หรือโรม เกือบทั้งหมดของเมืองที่อบอวลไปด้วยความรักนั้นมักจะเป็นเมืองประเภท ‘เมืองเก่า’ คือเป็นเมืองที่มีอดีตอันยาวนาน หรือไม่ยาวนานมากก็จะเน้นไปที่การรักษาความเก่า เช่นตึกอาคารโบราณไว้เคียงคู่กับความทันสมัยสะดวกสบายของเมืองแบบใหม่ ถ้าเป็นบ้านเราอาจจะนึกถึงย่านเจริญกรุง คิดถึงย่านกรุงรัตนโกสินทร์ การมีตึกเก่าแก่ มีแลนด์มาร์ก มีร่องรอยของอิฐ ของรอยแตก ไปจนถึงร่องรอยของตะไคร่น้ำที่ดำรงอยู่มาเท่าๆ กับอายุของพื้นที่นั้นๆ ข้อสังเกตหนึ่งเรื่องความเก่าที่ทำให้รู้สึกว่าเมืองนั้นสวยงามคือในข้อเขียนของสตูดิโอ WHA สตูดิโอสถาปัตยกรรม ผังเมืองและงานวิจัยจากลอสแอนเจลิส อธิบายในร่องรอยความเก่าแก่หรืออดีตของเมืองนั้น การรักษาความทรงจำเอาไว้ก็เป็นเหมือนตัวแทนของความรักไม่ว่าจะผู้คนหรือของเมืองนั้นๆ ต่อเรื่องราว ต่อพื้นที่เมืองของตัวเองที่ตกทอดต่อเนื่องกันมา

 

Walking and Sparking วันนี้เราเดินไปส่งนะ

กลับมาที่พื้นฐานที่ดีของเมือง การที่เมืองๆ หนึ่งจะโรแมนติกได้ แน่นอนว่าการ ‘เดินได้’ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่เมืองจะช่วยส่งเสริมทั้งกิจกรรมและบรรยากาศให้กับคนในเมือง นึกภาพว่าถ้าเป็นกรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ค่อยโรแมนติกเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งนั้นก็เพราะเราแทบจะเดินในกรุงเทพฯ ไม่ได้ การเดตกับใครซักคน หรือมีโมเมนต์หวานๆ มักเกิดขึ้นขณะที่เราเดินเคียงคู่ไปกับใครอีกคน ความหวานคงไม่เกิดขึ้นเราต้องไประวังรถไป ระวังท่อไป หลบมอเตอร์ไซค์ หรือเหยียบน้ำจนเลอะเทอะหมดบรรยากาศ ในขณะที่เมืองหวานๆ ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่เดินได้และใช้การเดินเป็นการสัญจรหลัก ซีรีส์เกาหลีเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญ ไม่ว่าตัวละครจะมีฐานะอย่างไร เราก็มักจะเห็นฉากออกมาใช้เวลาเดินในสวน เดินริมแม่น้ำฮัน กินฮอตดอกทอด และเกิดฉากที่ช่วยส่งเสริมความรัก แอบจับมือกันตอนช่วยเดินข้ามถนน หรือซีนหวานๆ เช่นกินขนมด้วยกันพร้อมสบตากันซักหลายวินาที

 

ต้นไม้ ดอกไม้ สีชมพู และความหวานของธรรมชาติที่ซึมเข้าหัวใจ

นอกจากอดีตแล้ว ธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของการสร้างบรรยากาศแห่งความโรแมนติกขึ้นภายในพื้นที่ แน่นอนว่าธรรมชาติเป็นตัวแทนของความเงียบสงบ การได้ปลีกวิเวกตามลำพังกับใครสักคน รายล้อมด้วยเงาไม้และเสียงนกร้อง แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อใจ- สร้างเมจิกโมเมนต์ได้มากกว่าเมืองอันวุ่นวาย นึกภาพการเดินไปท่ามกลายต้นแปะก๊วยที่ทิ้งใบสีเหลืองสะพรั่ง การพบปะกับพุ่มดอกไม้เล็กๆ ที่อยู่ริมทาง ถ้าเราตกอยู่ในหวานฉ่ำในนิยายรักหลายเรื่อง เช่นข้างหลักภาพถึงขนาดเก็บดอกไม้จากภูเขามิตาเกะ และดอกไม้นั้นก็เลยเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำอันแสนหวานของการเดินข้ามแม่น้ำขึ้นภูเขาที่เราจะนึกถึงทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาชม

 

 

Public and Open Space Matter พื้นที่สาธารณะที่หลากหลาย และโอกาสในการพบเจอผู้คน

เมืองที่เราอยู่สัมพันธ์กับโอกาสในการหาคู่ มีงานศึกษาจากเว็บไซต์ movinga เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐาน โดยวิเคราะห์เมืองต่างๆ ว่าแต่ละเมืองนั้นมีโอกาสที่คนโสดจะพบรักได้มากน้อยต่างๆ กัน เกณฑ์ของการวิเคราะห์ก็มาจากหลายเช่น สัดส่วนเพศชายหญิง จำนวนประชากรที่โสด โดยนอกจากสถิติด้านผู้อยู่อาศัยแล้วในข้อมูลยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ทางกายภาพ เช่นการมี ‘โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure)’ ซึ่งก็คือสาธารณูปโภคของเมือง ว่าเมืองๆ นั้นมีพื้นที่ให้คนออกไปพบเจอกับคนแปลกหน้า ไปสร้างความสัมพัน์ทางสงคมกับคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ยิ่งมากก็ยิ่งมีโอกาสได้เจอรักมาก ซึ่งหนี่งในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่สัมพันธ์กับมิติเชิงสังคม ก็คือการที่เมืองมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมที่หลากหลาย และบางครั้งสัมพันธ์กับเรื่องราคาในการออกไปทำกิจกรรม นึกภาพเมืองที่มีสวนเยอะๆ มีหอศิลป์ให้เราไปเดินเล่น มีพิพิธภัณฑ์ที่เข้าถึงได้ฟรี การมีสาธารณูปโภคเหล่านั้นก็ทำให้เรามีโอกาสออกไปเดตได้มากขึ้น บ่อยขึ้น และหลากลายขึ้น

แน่นอนว่าเมืองที่มีหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ มีสวน มีพื้นที่ริมน้ำย่อมเป็นเมืองที่เราทั้งพบปะคนอื่นได้มากขึ้นและมีโอกาสสร้างโมเมนต์ดีๆ ได้ง่ายขึ้น

 

Cost of Living Matter ค่าครองชีพสำคัญ ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา

เวลามีงานสถิติและข้อมูลที่พูดถึงเมืองว่าเมืองไหนเรามีโอกาสเจอคู่ครองมากขึ้น หนึ่งในปัจจัยการพิจารณาสำคัญคือค่าครองชีพ ว่าค่าครองชีพของพื้นที่นั้นๆ เป็นอย่างไรบ้าง การออกไปเข้าสังคม ไปสังสรรค์ ไปสันทนาการไม่ว่าจะกับเพื่อนหรือกับคนที่เราชื่นชอบมีราคาสูงมั้ย ถ้าเราอยู่ในย่านหรือเมืองที่ทุกอย่างแพงหมด การจ่ายราคาให้กับความโรแมนติกก็เป็นไปได้ยาก เพราะความรักนั้นหลายครั้งคือการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเวลา มื้ออาหารดีๆ ไปจนถึงตั๋วเข้าสวนสนุกสักที่ ดังนั้นมิติพื้นฐานทั้งค่าครองชีพ รายได้ ไปจนสวัสดิการต่างๆ ในที่สุดก็จะย้อนกลับมาที่กิจกรรมคือการแสวงหาความรักของเราต่อไป

Dine with Stranger ร่วมโต๊ะกับคนแปลกหน้า

นอกจากการที่เมืองพยายามวางผัง วางสาธารณูปโภค เช่น ลาน พื้นที่สาธารณะ หรือกลยุทธ์ทางเท้า ที่ทำให้คนเดินสวนกันมากขึ้น นอกจากการเดินแล้ว ความเหงาหลักของคนเมืองคือการรับประทานอาหาร การกินข้าวคนเดียวเป็นเรื่องแสนเศร้า หมายถึงในช่วงเวลาปกติที่ไม่มีโรคระบาดเนอะ ในหลายที่ก็เลยออกโปรเจกต์ที่ดึงคนเมืองเข้าหากันโดยใช้กิจกรรมทั้งการรับประทานอาหารและการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทั้งคนเมืองห่างหายและเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่แต่ก่อนเชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าหากัน ตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ออสเตรเลีย มีโครงการน่ารักๆ คือมหาวิทยาลัยจะมีร้านอาหารที่นักศึกษาเป็นผู้ดูแล

ตัวร้านอาหารนี้จะเปิดรับนักศึกษาคนอื่นๆ ให้ไปทำงานในฟาร์มผักที่ปลูกในน้ำแล้วก็จะได้เป็นเครดิตสำหรับซื้ออาหาร นอกจากเครดิตอาหารแล้วหัวใจของโครงการคือการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เจอและสานสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าผ่านการทำงานด้วยกัน แถมตัวร้านอาหารจะมีโปรเจกต์ว่าถ้าเรานั่งทานอาหารกับคนอื่น เราก็จะได้ส่วนลด นึกภาพการนั่งข้างๆ คนแปลกหน้าหลายครั้งภาวะร้านเต็มอาจทำให้เราได้เผลอสบตากับคนแปลกหน้าและนำไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ๆ ดังนั้นการมีโปรเจกต์ชุมชนต่างๆ ในเมืองที่ส่งเสริมให้คนมาเจอกัน ทำงานร่วมกันไม่ว่าฟาร์มหรือความสนใจอื่นๆ ก็จะส่งเสริมการพบปะคนอื่นแล้วก็อาจนำไปสู่โมเมนต์บางอย่างได้

 

Organized Residential Area การตกหลุมรักขึ้นอยู่กับที่อยู่อาศัยและย่าน

จริงๆ จุดนี้กลับมาที่การมีผังเมืองที่ดี การจัดการพื้นที่เมืองที่ทำให้เราใช้ชีวิตและเวลาได้อย่างคุ้มค่า ความสัมพันธ์ที่ดีมักเกิดขึ้นจากการใช้เวลาร่วมกัน ดังนั้นเราจะเห็นความสัมพันธ์และคู่รักจำนวนไม่น้อยที่เกิดจากการบังเอิญพบปะกันในย่านเดียวกัน การที่คนสองคนอยู่ใกล้กันก็หมายความว่าคนสองนั้นมีโอกาสที่จะใช้เวลาร่วมกัน ดังนั้นแล้วเมืองที่มีย่านพักอาศัยที่ดี ที่เป็นกลุ่มก้อน มีความเป็นย่านที่ช่วยให้ผู้คนได้ใช้เวลาไปกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้ถูกจำกัดเวลาไว้บนท้องถนน ไปกับการเดินทาง แน่นอนว่าเรามีตำนานเรื่องเล่าการนั่งรถจากฝั่งเมืองหนึ่งไปสู่อีกฟากเพื่อใช้เวลาร่วมกัน แต่ในความเป็นจริงยิ่งความสัมพันธ์ในวัยผู้ใหญ่ เวลาเป็นของมีค่า การนั่งรถหรือขับรถเป็นชั่วโมงย่อมส่งผลดีน้อยกว่าเมืองที่เราใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ให้เราได้เดินไปส่งกัน นัดออกมาเดินเล่น กินข้าว ดูหนังด้วยกันบ่อยๆ ก็ทำให้เราได้เดตบ่อยขึ้น หรืออาจได้ไปเดตกับความที่หลากหลายมากขึ้น ไม่งั้นทุกวันนี้แค่เรานั่งรถไปหนึ่งชั่วโมงก็หมดแรงจะคิมิโนโต๊ะ หวานไม่ไหวแล้ว

Quite Area to Look in Your Eyes มุมเงียบๆ ให้ได้มองตา

ฉากคิมิโนโต๊ะสำคัญเช่นที่เราเห็นในหนังในละครก็คือฉากการผสานสายตากัน อันที่จริงถ้าเราเคยไปเดตมาบ้าง การมองตากันก็เป็นเหตุการณ์คิมิโนโต๊ะที่เกิดขึ้นได้จริง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีงานศึกษาด้านจิตวิทยาและความสัมพันธ์เช่นงานคลาสสิกในปี 1970 ศึกษาการมองตากันของคู่รักและก็พบว่าคู่รักที่มองตากันบ่อยๆ และนานๆ มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น บางตำราพูดถึงการมองตากันยาวนานเป็นหลักนาทีก็ส่งผลกับความรู้สึกผูกพันธ์และการตกหลุมรักได้ ดังนั้นแล้วในเมืองที่อึกทึก หนึ่งในสิ่งที่หลายเมืองเริ่มสนใจคือการสร้าง ‘พื้นที่เงียบสงบ (quiet area)’ ขึ้นในภายในเมือง ส่วนหนึ่งเป็นการให้สิทธิที่จะเข้าถึงความเงียบ ดังนั้นการมีพื้นที่เงียบนั้นจึงสัมพันธ์กับการสร้างบรรยากาศและสร้างโอกาสที่คนสองคนจะได้มองเข้าไปในดวงตาของอีกฝ่ายและเรียนรู้ซึ่งกันและกันนั่นเอง

 

Pet Friendly is Warm City สุนัขและสัตว์เลี้ยง เพิ่มความรู้สึกอบอุ่น

สัตว์เลี้ยงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่เมืองจะใช้ร่วมรับมือกับความเหงา อันที่จริงค่อนข้างเป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่เราเริ่มเห็นการเลี้ยงสุนัขและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ไว้เป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัว ระยะหลังเราจะเริ่มเห็นเมืองที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง มีสาธารณูปโภคที่สอดคล้องกับการเลี้ยงสัตว์ เราเริ่มเห็นถนนหนทาง เห็นสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง เห็นระบบขนส่งมวลชนที่เปิดและคิดเผื่อการนำสัตว์เลี้ยงร่วมเดินทางสัญจรในเมืองด้วย นอกจากสัตว์เลี้ยงจะเป็นเพื่อนช่วยคลายเหงาแล้ว ในแง่ของความโรแมนติกเราก็มีงานศึกษาเล็กๆ หลายชิ้นที่บอกว่า เรามักจะมองคนที่มากับสัตว์เลี้ยงหรือมีภาพกับสัตว์เลี้ยงในแง่บวก รู้สึกว่าน่าคบหาและน่ารัก ในปี 2014 มีงานศึกษาที่ผู้หญิงจะให้คะแนนภาพของผู้ชายที่มีสุนัขประกอบอยู่ โดยให้คำนิยามและมีความรู้สึกว่าผู้ชายคนนั้นดูผ่อนคลาย เข้าถึงได้และมีความสุข หรือการทดลองในปี 2008 ที่ให้หนุ่มอายุ 20 ไปขอเบอร์สาวๆ และพบว่าหนุ่มที่จูงสุนัขไปด้วยมีโอกาสขอเบอร์ได้มากกว่า

 

Big Data can help  บิ๊กดาต้า กับการลงทุนระดับประเทศเพื่อช่วยหาคู่

นอกจากการจัดการพื้นที่เมืองในฐานะพื้นที่กายภาพแล้ว การให้ข้อมูลในระดับบิ๊กดาต้า คือการที่เมืองหรือรัฐนั้นลงทุนสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดที่จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในเมือง ก็ถือเป็นวิธีหนึ่งที่เมืองจะช่วยให้ผู้คนตามหารักในพื้นที่อันวกวนนี้ได้ ตัวอย่างการบิ๊กตาด้าจากญี่ปุ่น ประเทศที่ประสบปัญหาทั้งความเหงา การครองโสดและจำนวนประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่เขตจังหวัดเอฮิเมะ (Ehime) ในภูมิภาคชิโกกุ ที่เขตจังหวัดเอฮิเมะนั้นมีการพัฒนาหน่วยงานช่วยหาคู่โดยการพัฒนาฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าของประชากรขึ้น โดยมีระบบการคัดกรอง จับคู่ และนำไปสู่นัดเดตแบบพบปะที่หน่วยงานของเมืองเป็นผู้ช่วยจัดการให้ ประเด็นที่น่าสนใจคือการที่เมืองร่วมใช้เทคโนโลยีและเข้ามาเปิดศูนย์ช่วยเหลือในการมองหาที่เหมาะสมโดยมีบิ๊กดาต้าและบริการของรัฐเข้ามาร่วมค้นหาคนรักให้คนเมือง

สำหรับการใช้บิ๊กดาตาของจังหวัดเอฮิเมะนั้นถือว่าทำให้การช่วยจับคู่มีประสิทธิภาพมากขึ้นคือจากการตั้งศูนย์หาคู่ในช่วงแรก สี่ปีแรกมีการแต่งงานเกิดขึ้นเพียง 177 คู่ แต่เมื่อนำบิ๊กดาต้ามาช่วยเก็บและประมวลข้อมูลแล้วในสามปีแรกมีการแต่งงานเพิ่มขึ้นเป็น 258 คู่ ผลที่ก้าวกระโดดนี้ทำให้ทั่วญี่ปุ่นสนใจการนำบิ๊กดาต้ามาช่วยส่งเสริมการแต่งงานและการหาคู่จนเรียกว่าเป็น ‘วิธีการแบบเอฮิเมะ’

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.strongtowns.org/journal/2020/2/14/places-to-fall-in-love-with-or-in-perspectives-on-lovability

https://www.businessinsider.com/why-do-people-fall-in-love-2015-5

https://www.fastcompany.com/90276423/how-to-redesign-cities-to-fight-loneliness

https://ambiancematchmaking.com/blog-articles/top-10-cities-in-the-world-to-find-love/

https://www.cnbc.com/2017/02/14/the-13-best-cities-for-single-people-looking-for-love.html

https://www.businessinsider.com/how-to-fall-in-love-using-science-2017-2#make-eye-contact-4

https://www.businessinsider.com/psychological-reasons-people-fall-in-love-2017-2#12-if-you-take-care-ofa-dog-12

https://www.nippon.com/en/features/c04603/

 

Illustration by Montree Sommut
Share :