CITY CRACKER

เมืองในฝันและปัญหาของโลกปัจจุบัน อ่านประเด็นเรื่องเมืองจาก 6 หนัง Pixar

ว่ากันว่าเรื่องเล่านั้นคือกระจกสะท้อนโลกแห่งความจริง พาคนดูอย่างเราๆ สวมบทบาทเป็นตัวละครเอกในเวลาอันสั้นเพื่อย้อนกลับมาสำรวจชีวิตตัวเอง อีกทั้งหลายครั้งการ์ตูน ซีรีส์ และภาพยนตร์ก็นำเสนอภาพของโลกและเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต อย่างที่ Pixar สตูดิโออนิเมชั่นระดับโลกบอกเล่าจินตนาการร่วมสมัย ที่ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่สัมผัสได้ แต่ดึงอารมณ์ร่วมผู้ใหญ่อย่างเราๆ เสียอยู่หมัด ดังผลงานภาพยนตร์กว่า 23 เรื่องตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

นอกจากความสนุกครบรสแล้ว หนังมักนำเสนอความขัดแย้งในแง่มุมต่างๆ โดยมีกิจกรรมมนุษย์-เมืองเป็นส่วนหนึ่งของสภาวะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่คาร์ลที่เป็นเหมือนผู้ถูกลืมจากการพัฒนาเมืองใน Up ระบบสาธารณูปโภคที่อาจมีปัญหาเบื้องหลังฉากหน้าความโรแมนติกใน Ratatouille หรือประเด็นการมีพื้นที่แสดงออกและพื้นที่พบปะสาธารณะใน Coco
ในโอกาสที่ Soul อนิเมชั่นผลงานล่าสุดของ Pixar เพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไม่นาน City Cracker ขอพาไปสำรวจประเด็นเรื่องเมืองในทั้ง 6 เรื่องที่เราหยิบยกมา ว่าสิ่งที่หนังพยายามสื่อนั้นสัมพันธ์ เป็นคำเตือน รวมถึงแสดงความปรารถนาต่อการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันอย่างไรบ้าง

Toy Story

เชื่อว่าหากพูดถึง Pixar ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงต้องหนีไม่พ้นทอยสตอรี่ (Toy Story) เพราะเป็นอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของสตูดิโอที่ออกฉายในปี 1995 นำเสนอเรื่องราวการผจญภัยของเหล่าของเล่น นำโดยพระเอกคาวบอยสุดหล่อ วูดดี้ หนุ่มนักท่องอวกาศ บัซ ไลท์เยียร์ และผองเพื่อน อาจด้วยเรื่องราวแสนพิเศษของพวกเขาที่เกิดขึ้น แม้จะอยู่ท่ามกลางฉาก บริบทชีวิตประจำวันธรรมดาของครอบครัวชาวอเมริกันนี่แหละ ตัวหนังเรื่องนี้จึงได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจนกระทั่งได้รับการสร้างมาแล้วกว่า 4 ภาค ปิดฉากความเป็นของเล่นที่มีเจ้าของลง ก่อนสู่การเป็นบุคคลที่มีเจตจำนงและอิสรภาพอย่างสวยงามกลับมาที่ตัวเซตติ้งของเรื่อง แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องราวแสนวุ่นวายของพวกวูดดี้ แต่เรื่องราวทั้งหมดก็เกิดขึ้นในย่านสมมติเล็กๆ ในเขต San Francisco Bay Area เป็นชานเมืองแบบอเมริกัน (American Suburb) หรือชุมชนอยู่อาศัยที่ห่างไกลจากมหานครเมืองใหญ่ มีโรงเรียน ซูเปอร์มาร์เก็ต สาธารณูปโภคในการใช้ชีวิตครบครัน การเดินทางไปไหนมาไหนภายในย่านได้ด้วยรถยนต์ บ้านเรือนเป็นบ้านเดี่ยวตั้งอยู่ห่างจากกันเป็นแนว แต่ละหลังมีสนามหญ้ากว้างขวาง มีโรงรถ มีห้องแยกตามฟังก์ชั่นการใช้งาน มีห้องส่วนตัวแสดงตัวตนและความชอบ รวมถึงห้องใต้หลังคาที่เปรียบเสมือนดินแดนลึกลับของบ้าน

นอกจากวัฒนธรรมและภูมิทัศน์แบบชานเมืองอเมริกันแล้ว เรายังได้เรื่องราวของความสัมพันธ์หลักเล่าผ่านพวกของเล่น มิตรภาพ การคบหสมาคมของของเล่นหลากชนิดอย่างไม่แบ่งแยก เห็นชุดคุณค่าบางอย่าง เช่น เกียรติ ความกล้าหาญ และการเสียสละ แม้หลายครั้ง Toy Story จะเผยให้เห็นเบื้องหลังเมืองที่มีการทิ้งขยะ มีมุมมือและความอันตรายปรากฏอยู่ สุดท้ายความสัมพันธ์ของเด็กที่มีต่อของเล่น การมี daycare หรือสวนหน้าบ้านดังฉากที่แอนดี้ในวัยหนุ่มนักศึกษานำของเล่นทั้งหมดมาให้บอนนี่เรียกน้ำตาผู้ชมเอามากๆ ล้วนผูกพันกับชีวิตประจำวันอเมริกัน จนสะท้อนสภาวะของเด็กๆ ที่มีของเล่นเป็นเพื่อนคลายเหงาพร้อมเติบโตไปด้วยกันในย่านชานเมืองอันสวยงาม

Ratatouille

ปารีส สถานที่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่โรแมนติกที่สุดในโลก ปรากฏตัวบนหน้ากระดาษของนักเขียนชื่อดังและจอเงินมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่นเดียวกับใน Ratatouille อนิเมชั่นขึ้นอีกเรื่องของค่าย Pixar ด้วยเนื้อเรื่องของเจ้าหนูจรจัด เรมี่ ที่มีพรสวรรค์ด้านการทำอาหาร และการจับคู่กับลินกวีนี่ เชฟหนุ่มฝึกหัดเพื่อกู้ชื่อเสียงของภัตตาคารอาหารฝรั่งเศส Gusteau’s เราได้เห็นชาวปารีเซียงรับประทานอาหารฟูลคอร์สสุดหรู การออกเดตของลินกวีนี่และคอลเลตต์เชฟสาวที่ริมแม่น้ำแซนด์ พร้อมมหาวิหารรอตเทอร์ดามสุดคลาสสิกเป็นฉากหลัง รวมถึงอีกหลายซีนที่เจ้าหนูเรมี่ยืนชมหอไอเฟล แม้จากสถานที่สุดคับแคบอย่างอพาร์ตเมนต์ของลินกวีนี่ แต่ก็บ่งบอกได้ว่าปารีสนั้นเต็มไปด้วยความรื่นรมย์
.
ในความสัมพันธ์ที่ดูน่ารักของหนูกับคน แต่ตัวหนังก็ถ่ายทอดอีกแง่มุมของปารีส ด้วยความที่หนูยังคงเป็นสัตว์รบกวนในเมือง เป็นสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ในชีวิตจริง อย่างที่ฉากแรกๆ เปิดตัวด้วยพ่อของเรมี่พาเราไปดูร้านกำจัดสัตว์รบกวนอย่าง Destruction des Animaux Nuisibles มีซากศพหนูสตัฟฟ์แขวนกับกับดักอยู่หน้าร้านขู่เรมี่อยู่กลายๆ และร้านแบบนี้มีตัวตนอยู่จริงๆ ในปารีสอย่างร้าน Julien Aurouze and Co. แสนโด่งดังที่มีลูกค้าเป็นร้านภัตตาคารทั่วเมือง ด้วยกฎหมายที่ว่าทุกห้องใต้ดินในเมืองจำเป็นต้องมีการวางยาเบื่อหนู

นอกจากนี้ท่อระบายน้ำยักษ์อันเป็นบ้านของเรมี่และครอบครัวก็เป็นสถานที่สำคัญของเมืองเช่นกันด้วยการเป็นระบบสาธารณูปโภคอายุยาวนานกว่า 600 ปี เบื้องหลังของ Ratatouille จึงว่าด้วยภูมิทัศน์เมืองที่มีปัญหาอยู่เบื้องหลัง มีระบบน้ำเสีย มีการจัดการกองขยะที่หนูท่อพัวพันอยู่ภายใต้ฉากหน้าของวัฒนธรรมคุนซีนอันเลื่องลือ และที่สำคัญด้วยความฝันอยากเป็นเชฟอันน่ารักของเรมี่ก็ทำให้เรามองเห็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นภายในเมือง ดังที่ Pixar พยายามชี้ให้เราเห็นสิ่งมีชีวิตอื่นนอกจากมนุษย์

3 Up

ก่อนจะเกิดเป็นการผจญภัยสุดป่วนของคุณปู่คาร์ลและเจ้าหนูลูกเสือรัสเซล เดินทางไปยังดินแดนลี้ลับในอเมริกาใต้ด้วยบ้านลอยฟ้าติดลูกโป่ง Up หรือปู่ซ่าบ้าพลังในชื่อภาษาไทย เริ่มต้นด้วยเรื่องราวชีวิตคู่ของคุณปู่และภรรยา คุณย่าเอลลี่ ตั้งแต่พบกันเมื่อเยาว์วัย แต่งงาน ปลูกบ้าน ทำงานเก็บหอมรอมริม โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะไปพิชิตน้ำตกสรวงสวรรค์เหมือนนักสำรวจในดวงใจของพวกเขา ก่อนจะตัดภาพไปที่คุณย่าล้มป่วยและจากไป เหลือเพียงคุณปู่ที่ใช้ชีวิตอย่างเดียวดายยามชรา ตัวหนังยังตอกย้ำโชคชะตานี้อีกขั้นด้วยภาพบ้านเดี่ยวแสนสวยของคุณปู่ตั้งเหลืออยู่เพียงหลังเดียว ท่ามกลางการก่อสร้างแปลงเปล่าโดยรอบ และตึกสูงขนาบสองข้าง กลายเป็น Holdout หรือที่ดินแปลงเดียวที่ไม่ยอมขายให้แก่บริษัทผู้พัฒนา

นอกจากการบอกเล่าเรื่องการหลบหนี การมูฟออนจากความทรงจำเก่าดังที่คุณปู่ได้ปล่อยบ้านของตัวเองให้ลอยหายไปเพื่อช่วยชีวิตพรรคพวกทุกคน หลังจากภารกิจเดินทางเสร็จสิ้นแล้ว ฉากการคืบคลานของเมืองใหญ่ในต้นเรื่องก็สะท้อนไอเดียว่าด้วยการยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากผลพวงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดตึกสูงและโครงการใหญ่มากๆ มายเช่นกัน อย่างไรก็ดีแง่หนึ่งบ้านแสนรักของคุณปู่ก็ประสบสภาวะที่ไม่ต่างอะไรจาก Gentrification หรือการเปลี่ยนแปลงย่านให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อผู้อยู่อาศัยเดิมที่ส่วนใหญ่มีรายได้น้อย หรือราคาที่ดินและค่าครองชีพที่สูงขึ้นกลายเป็นการบีบรัดให้พวกเขาต้องออกไป ทั้งที่บางครั้งรัฐกลับละเลยคุณค่าด้านอัตลักษณ์เดิมของพื้นที่เสีย นำมาซึ่งคำถามเรื่องความเหมาะสมของการพัฒนาย่านและกฏหมายการคุ้มครองเจ้าของที่ดินอย่างที่ควรจะเป็น การหลุดลอยของบ้านคุณปู่ออกไปจากเมืองใหญ่จึงอาจหมายถึงการหลุดพ้นจากความเป็นอื่น การหมดประโยชน์และการไม่ฟังก์ชั่นในเมืองใหญ่อีกต่อไป ทั้งยังแฝงประเด็นเรื่องผู้สูงวัยและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม บ่งบอกว่าหลายครั้งการพัฒนาเมืองอาจทำให้ชีวิตผู้คนสูญหาย และพร้อมจะถูกเขี่ยทิ้งได้ทุกเมื่อ

 

WALL-E

ในวันที่โลกประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภาพขยะล้นโลกแบบใน WALL-E อาจไม่ใช่เรื่องไกลจินตนาการของมนุษย์เราอีกต่อไป แม้ผู้กำกับกำกับแอนดริว สแตนตัน (Andrew Stanton) จะออกมาปฏิเสธเรื่องการนำเสนอแง่มุมที่ว่าพร้อมบอกว่าตัวหนังเกิดจากไอเดียที่ว่า “จะเป็นอย่างไรหากเหลือหุ่นยนต์เพียงตัวเดียวบนพื้นโลกเท่านั้น” Wall-E เป็นหนังน่ารัก แต่ในขณะเดียวกันก็วิพากษ์และยั่วล้อมนุษย์ร่วมสมัยได้อย่างแสบสัน ในเรื่องที่จินตนาการถึงเหล่ามนุษย์ในยุคอวกาศและเทคโนโลยีที่ใช้ทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง จนตัวเองตัวกลมปุ๊ก กินดื่มวนเวียนจนแทบ ‘สูญเสียความเป็นมนุษย์’ ไป และตัดขาดออกจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหลือก็แต่ WALL-E หุ่นยนต์ตัวน้อยที่ยังคงทำหน้าที่เก็บกวาดขยะแม้ไม่มีมนุษย์หลงเหลือบนพื้นโลกแล้ว ภาพสีซีเปียหม่นๆ บรรยากาศฝุ่นควัน และเศษขยะกองพะเนินสูงเท่าตึกระฟ้าจึงเป็นเหมือนคำพยากรณ์ผสมคำเตือนของเส้นทางการพัฒนาที่เรากำลังดำเนินไป โลกที่จมไปด้วยขยะ ผู้คนบนยานอพยพที่ยังคงโหยหาวัฒนธรรมการเสพและซื้อเป็นคำถามให้กับผู้คนว่าเราจะพัฒนาเมือง จะใช้ชีวิต นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปเช่นนั้น ปลายของมวลมนุษย์ชาติจะวิ่นวนไปกับการบริโภคอย่างไม่สิ้นสุด หลงเหลือเป็นหุ่นยนต์ตัวน้อยที่ยังคงรักษาโลกแทนเราเท่านั้นหรือไม่

Coco

Coco เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดง เป็นเรื่องที่ทำให้เราได้กลับมาซึมซับความหมายของความตายและการมีชีวิต การดำรงอยู่ในความทรงจำของกันและกัน เมืองในโคโค่คือเม็กซิโกซิตี้ (mexico city) และเมืองกวานาคัวโต (Guanajuato) ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมอันฉูดฉาดแบบเม็กซิกัน ในระดับเบื้องต้นเราจะเห็นภาพของเมืองในฐานะพื้นที่ของโอกาส เป็นที่ๆ มิเกลได้ออกจากกฎเกณฑ์ของครอบครัวช่างทำรองเท้าและออกแสดงตัวตนและความสามารถด้านดนตรีในพื้นที่สาธารณะอย่างงานเทศกาล

นอกจากเมืองเม็กซิโกที่เป็นพื้นที่กายภาพแล้ว เกือบทั้งหมดของเรื่องเล่าโดยมีโลกหลังความตายเป็นฉากสำคัญ ประเด็นสำคัญและภาพสำคัญของโลกหลังความตายสีสัน ซึ่งตรงข้ามกับลักษณะโดยทั่วไปของเมืองสีเทาที่เรารู้จัก เมืองที่มักจะหมายถึงความโดดเดี่ยว ป่าคอนกรีตที่แห้งแล้ง ผู้คนที่ไร้ราก ใช้ชีวิตอย่างแปลกแยกไปคนละทิศทาง แต่เมืองหลังความตายของ Coco กลับเต็มไปด้วยสีสันอันฉูดฉาด ทั้งมหานครถูกปูลาดไปด้วยกลีบดอกดาวเรืองสว่างสดใส ในโลกแห่งความตายนั้นคือที่ที่มิเกลได้กลับไปเรียนรู้อดีต กลับไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ทั้งของครอบครัว และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมผ่านการพบเจอบุคคลสำคัญทั้งหลาย โลกหลังความตายด้านหนึ่งจึงเต็มไปด้วยความอบอุ่น สุกสกาวด้วยธรรมชาติ และผู้คนถูกเชื่อมต่อเข้าหากันผ่านความทรงจำ ทำให้เราขบคิดว่าโลกหลังความตายที่เคยซีดจางอาจอุดมไปด้วยชีวิตมากกว่าเมืองสีเทาที่เรายังหายใจอยู่

Soul

มาถึง Soul อนิเมชั่นใหม่แกะกล่องล่าสุดของ Pixar กันบ้าง Soul เป็นเรื่องราวของโจ การ์ดเนอร์ ครูสอนดนตรีหนุ่มผู้หลงรักในเสียงเพลงแจ๊ส และใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเปียโนแจ๊สอาชีพสักวัน แต่แล้วเมื่อความฝันใกล้จะเป็นจริง เขากลับพลาดเดินตกท่อระบายน้ำในมหานครนิวยอร์กจนจิตวิญญาณหลุดออกมาอยู่ในดินแดนก่อนเกิด (The Great Before) กลายเป็นความวุ่นวายแบบในหนังที่เขาพยายามหาทางกลับไปยังโลกให้ได้ด้วยความช่วยเหลือของหมายเลข 22 วิญญาณตัวน้อยที่ไม่ได้ไปเกิดใหม่ที่โลกเสียที

แม้เรื่องราวจะดำเนินไปทั้งในโลกวิญญาณและโลกแห่งความจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นนิวยอร์กซิตี้ เมืองแห่งความหลากหลายและสวรรค์ของดนตรีแจ๊สเป็นอีกบทบาทสำคัญ เพราะว่ากันว่าในโลกแห่งดนตรีแจ๊ส ที่นี่เป็นหมุดหมายระดับโลกที่ศิลปินทุกคนใฝ่ฝันถึง หลังจากในยุคเริ่มต้นช่วงทศวรรษ 1920-1930 หลายวงดนตรีได้เข้ามาอัดเพลงในสตูดิโอ เซ็นต์สัญญากับค่ายเพลง พร้อมกับการเติบโตของสถานที่แสดงเพลงตอนกลางคืน ต่อจากเมืองหลักของแจ๊สอย่างชิคาโก และนิวออร์ลีนส์

แน่นอน อีกทั้งด้วยความที่ใจความหลักของ Soul คือการสื่อสารเรื่องการมีชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม ในแง่นี้มหานครนิวยอร์กก็ตอบรับประเด็นนี้เช่นกัน เพราะมีธุรกิจชั้นแนวหน้าระดับโลก เป็นเมืองของทั้งพลเมืองโลก (Global Citizen) และเมืองที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นเฉพาะตัว เราได้เห็นภาพโจเดินฝ่ารถราและผู้คนคับคั่ง มีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นบนพื้นที่สาธารณะอย่างทางเท้าอย่างที่พนักงานถือป้ายโปรโมชั่นแบบมูนวินด์ออกมายืนเต้น และเข้าฌาณไปโลกวิญญาณซะอย่างนั้น รวมถึงร้านค้าธุรกิจน้อยใหญ่อย่างร้านตัดสูทของแม่ ร้านตัดผมเจ้าประจำที่เป็นเหมือนที่พบปะคนในย่าน หรือแม้แต่คลับแจ๊ส Half Note ที่วงดนตรีไอดอลของโจทำการแสดง แม้รถไฟใต้ดินจะดูน่าหม่นหมองไปเสียหน่อย แต่ชีวิตก็มีทั้งแย่และดีเหมือนคำพูดของ 22 เมื่อได้มาเยือนโลกนั่นแหละ ถึงอย่างนั้นนิวยอร์กก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาที่พร้อมให้ผู้คนและโจใช้เอนจอยไลฟ์ในทุกมิติเลยก็ว่าได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

fanbyte.com

oxfordbibliographies.com

hollywoodreporter.com

hollywoodreporter.com

seattletimes.com

attractiontickets.com

animationartconservation.com

pixar.com

atlasobscura.com

planningtank.com

pixar.com

vox.com

patheos.com

pixar.com

archdaily.com

lonelyplanet.com

pixar.com

nytimes.com

cntraveler.com

timeout.com

pixar.com

 

Share :