การอนุรักษ์อาคารเก่าหรือปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน ให้กลายเป็นสถานที่ที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เพิ่มชีวิตชีวาให้กับเมืองและย่าน เพื่อทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้เข้ามาพักผ่อน คือหนึ่งในเอกลักษณ์การพัฒนาเมืองแบบ Urban Regeneration ที่ไต้หวันถนัด ตัวอย่างการพัฒนาที่คนไทยหลายคนรู้จักกันดีก็เช่น Huashan 1914 Creative Park และ Songshan Cultural and Creative Park ที่พัฒนาโรงงานเก่า แปรสภาพเป็นพื้นที่สนับสนุนกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์กลางเมืองไทเป
ย่านต้าเต้าเฉิง (Dadaocheng -大稻埕) คือย่านค้าขายใจกลางเมืองไทเปที่เป็นอีกตัวอย่างของการพัฒนาย่านเก่าแก่ให้กลายเป็นถนนสายท่องเที่ยว ผสมผสานธุรกิจดั้งเดิมของคนเก่าแก่เข้ากับธุรกิจของคนรุ่นใหม่ได้อย่างเหมาะเจาะพอดี จนสามารถดึงดูดทั้งชาวไต้หวันและนักท่องเที่ยวชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (รวมไปถึงคนไทย) ให้หลงเสน่ห์ของย่านตึกเก่าโบราณนี้ได้แม้จะเพิ่งเริ่มต้นฟื้นฟูย่านแค่ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
เกริ่นสั้นถึงประวัติความเป็นมาของย่าน เดิมพื้นที่ริมแม่น้ำตั้นสุ่ยตรงนี้มีชื่อตามภาษาฮกเกี้ยนว่า Twatutia เป็นลานโล่งๆ สำหรับใช้ตากข้าวเปลือกในสมัยราชวงศ์ชิง จนช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อไต้หวันเริ่มค้าขายทางเรือกับชาติตะวันตก พื้นที่ Twatutia จึงกลายเป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ที่คึกคักคอยรับส่งสินค้าตั้งแต่ยุคนั้น หมุดหมายสำคัญคือสถานีรถไฟแห่งแรกในไทเปก็สร้างขึ้นในปี 1891 ในย่านนี้นั่นเอง จนมาถึงยุคที่ไต้หวันถูกปกครองโดยญี่ปุ่น (ค.ศ.1895-1945) ย่านนี้ก็เริ่มถูกปรับเปลี่ยนเป็นย่านอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ และถูกเรียกว่า Dadaocheng เมื่อไต้หวันปกครองโดยพรรคก๊กมินตั๋งในที่สุด โดยมี Dihua Street เป็นถนนสายหลักของย่าน ศูนย์กลางการค้าส่งยาจีน เครื่องเทศ สมุนไพร ใบชา เสื้อผ้า ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนมาอย่างยาวนาน
สิ่งน่าสนใจคือไอเดียการปรับปรุงย่านต้าเต้าเฉิง เกิดขึ้นจากภาคเอกชนอย่าง Jou Yi-Cheng ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง SEDAI Group ที่เล็งเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นย่านท่องเที่ยวได้ ทั้งด้วยเอกลักษณ์ของอาคารเก่าที่ยังคงมีเสน่ห์ ประกอบกับช่วงปี 2008 ย่านต้าเต้าเฉิงก็เงียบเหงาลงด้วยผลกระทบของเศรษฐกิจโลก และภาพจำของคนรุ่นใหม่ที่มองว่าย่านนี้เป็นย่านเก่าที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ โปรเจกต์ ‘SmallArtYard (小藝埕)’ เลยเกิดขึ้นในปี 2011 จากความตั้งใจของ Jou ที่ดึงเอาธุรกิจสร้างสรรค์ ผู้ประการรุ่นใหม่ และศิลปินที่ทำงานด้านวัฒนธรรมมาแบ่งสรรปันส่วนเช่าพื้นที่ของตึกเก่าในย่านต้าเต้าเฉิงร่วมกัน ปัจจุบันโปรเจกต์ ArtYard ก็กระจายตัวไปทั่วทุกจุดของย่านนี้
ความสนุกทุกครั้งที่ได้มาเยือนต้าเต้าเฉิงจึงเป็นการเดินทะลุเข้าตึกนั้นออกตึกนี้ เพราะบางทีที่เราเห็นด้านหน้าตึกเป็นร้านรองเท้าหรือร้านยาจีนธรรมดา แต่ถ้าเดินทะลุลานโล่งตรงกลางตึกก็อาจจะเจอกับร้านที่ขายงานคราฟต์ฝีมือคนท้องถิ่น ที่ขึ้นไปชั้นบนก็เป็นร้านหนังสือบรรยากาศสงบเงียบซ่อนตัวอยู่
ตัวอย่างธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่ SEDAI Group ดึงเข้ามาเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวคือ inBloom แบรนด์ผ้าพิมพ์ลายชื่อดังที่สามารถสะท้อนและต่อยอดเอกลักษณ์ของย่านต้าเต้าเฉิงที่มีตลาดผ้าหย่งเลอ (Yongle Fabric Market) ตลาดค้าผ้าเก่าแก่ในไทเปได้ หรือแต่ก่อนที่ย่านนี้ไม่มีโรงน้ำชาเลยทั้งที่เป็นย่านส่งออกชาแหล่งสำคัญ ก็มีโรงน้ำชาเกิดขึ้นมากมายให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิมลองดื่ม (ที่ไม่ควรพลาดคือ ASW Teahouse ร้านต้นตำรับ) รูปแบบการใช้พื้นที่อาคารเก่ายังประยุกต์เป็นได้ทั้งโรงละคร ร้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะหรือกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ บางตึกเจ้าของก็ปล่อยไว้โล่งๆ ให้ศิลปินมาใช้ซ้อมการแสดงก็มี แถมในเดือนตุลาคมของทุกปี ยังมีเทศกาลศิลปะ Tua-Tiu-Tiann International Festival of Arts (TTTIFA) ที่เนรมิตรย่านนี้ให้กลับมามีกลิ่นอายของอดีตอย่างเต็มเปี่ยม นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ย่านต้าเต้าเฉิงที่เคยเงียบเหงากลับมาคึกคักอีกครั้งในทุกวันนี้
ความคึกคักและน่าตื่นเต้นของคลื่นลูกใหม่เหล่านี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของคนในท้องที่ที่รวมตัวกันในนาม Tao Tiu Tia Creative Urban Blocks Development Association คอยเลือกสรรธุรกิจที่จะไม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงเสน่ห์ของย่านให้สูญหาย (มีหลายธุรกิจที่อยากย้ายมาปักหลักในย่านนี้หลังการฟื้นฟูย่านประสบความสำเร็จ) พร้อมๆ กับที่ทายาทรุ่นสองรุ่นสามผู้สืบทอดกิจการเก่าแก่ของครอบครัวก็ยังคงตั้งมั่นปักหลักอยู่ในย่าน บ้างยืนหยัดสานต่อในธุรกิจเดิมแต่ก็พร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ บางส่วนก็ปรับตัว ขยายตลาดสินค้าไปมากกว่าแค่คนท้องถิ่น
ไม่แปลกใจที่เมื่อเราสำรวจย่านต้าเต้าเฉิงด้วยสายตา จะมองเห็นการผสมผสานของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ได้อย่างแนบเนียน ย่านนี้จึงเป็นตัวอย่างของวิธีคิดพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ โดยไม่ปล่อยให้เอกลักษณ์และความมีชีวิตชีวาของย่านในอดีตสูญหายไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Phanuphan Veeravaphusit
นักศึกษาปริญญาโทด้าน Urban Governance ที่ประเทศไต้หวัน สนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะและการออกแบบเมืองเพื่อสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรม