เราพูดถึงเมืองที่ดี คิดถึงสวน คิดถึงผังเมือง แต่หลายครั้งเราก็ลืมฟังก์ชั่นที่ง่ายที่สุดของเมืองไป คือการที่เมืองไม่ใช่แค่ที่อยู่ที่กินเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของบ้าน ในทางการกลับกัน ด้วยภาวะ ‘ไร้บ้าน’- คือการไม่สามารถมีบ้านได้ตามกำลังทรัพย์ ก็อาจเริ่มทำให้คนเมืองอย่างเราๆ ไม่ค่อยรู้สึกถึงความเป็นบ้าน- เมืองจึงอาจมีสถานะเพียงกายภาพ ไม่ได้มีความหมายทางความรู้สึก เป็นเพียงแค่ house ไม่ใช่ home
การจะซื้อบ้านสักหลังดูจะเคยเป็นความฝันสูงสุดของชีวิต แต่ด้วยความที่มันเป็นความฝัน และทุกวันนี้ ด้วยภาระ ราคา และอะไรหลายอย่าง การมีบ้านเป็นของตัวเองจึงดูเป็นฝันแสนไกล เคยมีบทความที่น่าเศร้า และอาจสะท้อนกลับมาเข้ามาในใจเราด้วยว่าราคาของทุกๆ อย่างและสารพัดภาระ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถฝันถึงชีวิตที่มั่นคง โดยเฉพาะการมีบ้านที่ดีได้อย่างที่ควรจะเป็น คนรุ่นใหม่จึงทำได้แค่หันไปหาความหรูหราเล็กๆ เช่นการกินอะโวคาโด้โทส เพื่อตอบสนองความฝันที่หายไปนี้
แต่ประเด็นสำคัญคือ พื้นที่เช่นบ้าน และใหญ่ขึ้นจนเป็นระดับเมือง พื้นที่พวกนี้ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ทางกายภาพเท่านั้นแต่เป็นพื้นที่ที่ประกอบขึ้นด้วยความรู้สึก ประเด็นเรื่องบ้านและการจัดหาบ้านที่เหมาะสมจึงดูจะเป็นหัวใจพื้นฐานหนึ่งของการสร้างเมืองที่ดี เป็นบ้าน เป็นเมืองที่ผู้คนสามารถลงหลักปักฐาน ทอดรากพร้อมกับความรู้สึกทั้งหลาย ทำให้เมืองใดเมืองหนึ่งพร้อมด้วยคุณภาพชีวิต และความรู้สึกว่าเป็นเมือง เป็นบ้าน มีความรัก และความหวนแหนรักษา
House/Home ความรู้สึกของบ้าน
บ้านเป็นพื้นที่ที่แทบจะสำคัญที่สุดของคนๆ หนึ่งเลยเนอะ เป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อน ตัวมันเองเป็นทั้งสินทรัพย์ เป็นพื้นที่ของความรู้สึก ความอบอุ่น ความทรงจำ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของครอบครัว เต็มไปด้วยเรื่องเล่า เสียงหัวเราะ การเกิด การจากพราก คราบน้ำตา บ้านจึงประกอบขึ้นด้วยทั้งพื้นที่ที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม
ในภาษาอังกฤษ เราจึงมีคำว่า house และ home เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่มีนัยต่างกันอย่างสิ้นเชิง house มักหมายถึงตัวบ้าน ตัวที่ดิน แต่ในขณะเดียวกันคำว่า home หมายถึงความรู้สึกของความเป็นบ้าน บางครั้งการที่เรารู้สึกว่าที่ไหนเป็นบ้านของเรา ที่นั่นจะเป็น house หรือไม่ก็ได้ เช่นคนไร้บ้าน หรือคนพลัดถิ่นอาจจะไม่ได้มีบ้านที่เป็นกายภาพ แต่คนเหล่านั้นพกความรู้สึกของความเป็นบ้านติดตัวมาด้วย
การรู้สึกว่าที่ไหนเป็นบ้านของเราอย่างแท้จริง ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า sense of belonging คือความรู้สึกว่าเรายึดโยงกับพื้นที่นั้นๆ และนอกจากจะเป็นพื้นที่ทางอารมณ์แล้ว ไอ้ความรู้สึกว่าเรา belong to something หรือ somewhere ส่วนสำคัญหนึ่งมันต้องประกอบขึ้นด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในพื้นที่นั้นๆ เราจึงเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนขึ้นได้
ถ้าเป็นภาษาไทยก็มีคำว่าบ้านเกิด- และต่อท้ายด้วยคำว่าเมืองนอน ตรงนี้ก็ถือว่ามีความซับซ้อนเหมือนกัน เช่นการเกิดที่จังหวัดหนึ่งแล้วไปโตอีกจังหวัดหนึ่ง เราจะมีความรู้สึกรักบ้านหรือเมืองใหญ่ที่เราอยู่ตรงนี้ในฐานะบ้านหลังหนึ่งไหม สำหรับบางคนที่เติบโตขึ้นนอกบ้านเกิด อาจจะมีความรู้สึกถึงบ้านในเมืองปัจจุบันมากกว่า แต่ดังกล่าวคือ การที่เราจะรู้สึกว่าเมืองหรือสถานที่ใดเป็นบ้าน เป็นเมืองนอนที่เรารัก เราต้องรู้สึกว่าเป็นเจ้าของด้วย ไม่ได้เป็นแค่ที่กินๆ นอนๆ ทำมาหากิน แล้วก็ทิ้งขว้างไป บ้านและเมืองจึงไม่ควรเป็นเพียงที่เช่าอยู่ แต่เป็นพื้นที่ที่สร้างความหมายให้กับชนทุกชั้น
เมื่อเมืองเองก็อยากเป็นบ้าน
เอาจริง การที่เรารักที่ใดๆ ได้ ยังไงก็ต้องยอมรับว่าการมีพื้นที่ทางกายภาพที่ดีเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญ นึกภาพว่าถ้าเราอยู่ในเมือง ในดินแดนที่เราสามารถมีบ้านที่เหมาะสมตามฐานะ มีสิ่งที่เราพึงมีเพื่อมีชีวิตมีสุขตามที่ควรเป็น มีโรงเรียน ร้านค้าที่เหมาะสม มีเพื่อนบ้าน เท่านี้เราก็จะแสนรักบ้าน รักเมือง และแน่นอนว่าอาจจะรักไปจนถึงประเทศถึงชาติได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงสัญชาติใดใด
ในหลายประเทศเมื่อพูดถึงบ้านถึงเมืองต่างก็เห็นความสำคัญในการสร้างความรู้สึกของความเป็นบ้านว่าเอ๊ะ แล้วทำยังไงเมืองของเรา หรือพื้นที่ของเราจะไม่ใช่ดินแดนที่แห้งแล้ง เป็นทะเลทรายแห่งความรู้สึก บางเมืองใหญ่จึงเริ่มทำการศึกษาและนำไปสู่การออกแบบเมืองที่เน้นเรื่อง sense of belonging ของผู้คนให้เข้มข้นขึ้น
จริงๆ จากการสำรวจศึกษาก็พบปัญหาเดิมๆ จากเมืองดั้งเดิมแหละ เช่นพบว่าพื้นที่พักอาศัยบางครั้งออกแบบโดยโดดเดี่ยว สร้างบ้านออกจากเพื่อนบ้าน การไม่มีลานบ้าน ไม่มีถนนส่วนกลางทำให้ผู้คนขาดความเชื่อมต่อทั้งกับพื้นที่ภายนอกบ้านของตัวเอง และขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนโดยรอบ ยาวไปจนถึงการขาดพื้นที่สาธารณะ ขาดสวน ขาดลานอันเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ผู้คนได้เข้าไปสัมผัสเมือง รับรู้ ทอดรากและสานความทรงจำลงในชุมชนและเมืองนั้นๆ
จากระดับการแก้ไขปัญหาการออกแบบย่านพักอาศัยให้ชาวบ้านเดินได้ ออกแบบทางเดินที่ปลอดภัยจากบ้านส่วนตัว ให้ผ่านพื้นที่หมู่บ้าน การจัดโรงเรียนไว้ใกล้ๆ ให้พ่อแม่ได้จูงลูกหลานไปโรงเรียน ได้พบปะและมีปฏิสัมพันธ์กัน ไปจนถึงการออกแบบเพื่อสร้างความรู้สึกของความเป็นบ้านให้กับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเช่นเนเธอแลนด์ที่พยายามออกแบบจัตุรัสของเมืองเพื่อลดทอนความรู้สึกแปลกแยกของผู้อพยพ การสร้างความรู้สึกเป็นบ้านก็ยังคงเป็นโจทย์ยาก และพันธกิจของการพัฒนาเมืองต่อไป
เมื่อบ้านของคนทุกชั้นเป็นเรื่องของรัฐ?
สำหรับบ้านเราแล้ว ยังไม่ต้องไปถึงการออกแบบความรู้สึกเป็นบ้านให้กับเมือง คือเจ้า sense of belonging ส่วนหนึ่งที่เกิดจากความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ถ้าย้อนดูความเป็นไปได้ของการมีบ้าน ความฝันของคนทำงาน มนุษย์เงินเดือนทุกวันนี้ที่ฝันจะมีบ้าน จะทำให้กรุงเทพกลายเป็นบ้านหลังใหญ่นั้นก็ดูเลือนลางเหลือเกิน การจัดหาบ้านของไทยดูจะเป็นเรื่องการสงเคราะห์ เป็นการจัดสรรบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อยเป็นหลักเท่านั้น
อาจารย์กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคหการณ์ (housing) กล่าวว่าบ้านเป็นหัวใจสำคัญของเมือง ดังนั้นรัฐเองมีบทบาทสำคัญในการสร้างเมืองโดยการวางระบบบ้านไว้อย่างเหมาะสม ในบางประเทศเช่นสหรัฐ มีแนวคิดเรื่อง affordable housing คือการอำนวยให้เกิดบ้านที่คนทุกชั้นสามารถเข้าถึง ครอบครองได้ มีระบบอุดหนุนดูแลเพื่อให้ทุกคนสามารถซื้อและครอบครองบ้านได้ เช่นการมีข้อบังคับให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ จัดระดับราคาบ้านแบบ affordable ร่วมอยู่ในโครงการ มีระบบอุดหนุนให้ประชาชนได้มีบ้าน เช่นมีการให้เช่าอยู่แล้วรัฐค่อยๆ อุดหนุนจนนำไปสู่ความเป็นเจ้าของ ทั้งหมดนี้คือการที่รัฐมองเห็นว่าคือพื้นที่สำคัญ และพื้นที่ที่จะส่งเสริมให้ผู้คนได้มีที่ตั้งหลักหยัดยืน และนำไปสู่การพัฒนาโดยรอบต่อไป
ทุกวันนี้ดูจะมีข้อเรียกร้องว่า ช่วยรักเมืองแห่งนี้กันหน่อยไม่ว่าจะเป็นบ้านเกิดเมืองนอนหรือไม่ ท่ามกลางคอนโด อสังหาริมทรัพย์ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่คนวัยทำงานผู้พเนจรไปตามเงาของทรัพย์สินชิ้นใหญ่เหล่านั้นกลับไม่อาจฝัน รัฐไม่เคยมีการส่งเสริมให้เกิดบ้านหลังแรก ไม่มีการอุดหนุน สนับสนุนให้ผู้คนมีบ้านอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะระดับผู้มีรายได้น้อย จนกระทั่งถึงชนชั้นกลางที่ในที่สุดแล้วกลับกลายเป็นผู้มีความยากจนด้านที่อยู่อาศัยได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer