CITY CRACKER

โรงพยาบาล แอร์พอร์ต โรงถ่ายหนัง  7 งานธีสิสสถาปัตย์ของคนดัง

เจ้าแม่นาคีออกแบบโรงพยาบาล ว่าน รัชชุสนใจเรื่องแม่น้ำ พี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ออกแบบโรงถ่ายหนัง ช่วงนี้เป็นช่วงปิดโปรเจกต์ เป็นโค้งสุดท้ายของเหล่านักเรียนสถาปัตย์ 5 ปีที่เรียนมา นี่คือผลงานที่จะพาเราไปสู่ปลายทางของการเรียนอันยาวนาน ในแปลน ในโมเดล ในทุกตัวอักษรนี่แหละมีเลือดมีเนื้อของเราอยู่

มีคำกล่าวว่าการทำโปรเจกต์จบการศึกษา เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน และแน่นอนว่าโปรเจกต์จบ หรือวิทยานิพนธ์เป็นเรื่องที่เราเลือกที่จะใช้ชีวิตกินนอนฟูมฟักเป็นเดือนๆ หัวข้อที่ทำจึงมักเป็นสิ่งที่สนใจหรือเป็นเรื่องใกล้ตัว วิทยานิพนธ์ทางสายศิลปะรวมถึงทางสถาปัตยกรรมมักเป็นการสร้างชิ้นงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง เรารู้จักว่าเอ้อ ดารานักแสดงและคนดังที่เห็นตามหน้าจอที่เคยเรียนสถาปัตย์ย่อมต้องเคยผ่านประสบการณ์การตัดโม การเสนองานออกแบบเพื่อจบการศึกษาแบบเดียวกันมาแล้ว ตั้งแต่เจ้าแม่นาคี ไปจนถึงผู้กำกับหนังอินดี้อย่างพี่เจ้ย ที่เราสงสัยว่าเอ๊ะ สมัยเป็นนักศึกษาพวกเขาสนใจจะออกแบบอะไรไว้เป็นผลงานทิ้งทวนสำหรับชีวิตเด็กสถาปัตย์กันบ้าง

City Cracker พาไปแอบดูผลงานวิทยานิพนธ์สมัยปริญญาตรีว่าจากโฉมหน้าที่รู้จักกันดี เมื่อคนดังเหล่านี้ต้องรับบทเป็นสถาปนิก ได้ออกแบบ ปรับปรุง หรือสนใจสร้างชิ้นงานทางสถาปัตยกรรมอะไรไว้บ้าง โปรเจกต์บางชิ้นสัมพันธ์กับการงานในช่วงหนึ่งเช่น อาร์ม พิพัฒน์ พิธีกรรายการช่องทรูสปาร์กเลือกออกแบบพัฒนาสตูดิโอ MTV พี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ผู้กำกับที่เลือกออกแบบสตูดิโอถ่ายหนัง นักแสดงหนุ่มหล่อ เช่น ตุล ภากรเลือกออกแบบสนามบิน

 

โรงพยาบาลเอกชนพร้อมศูนย์ผิวพรรณและศัลยกรรมตกแต่งความงาม 250 เตียง

ณฐพร เตมีรักษ์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

แต้ว ณฐพร เจ้าแม่นาคีมักเป็นหนึ่งในชื่อแรกๆ ที่ขึ้นมาเมื่อเวลาพูดถึงคนดังที่จบสถาปัตยกรรม จากลุคที่ดูเรียบร้อย เป็นผู้หญิงนุ่มนวลดูไม่ค่อยเข้ากับภาพของงานทางสถาปัตย์ที่เรามักมีภาพจำว่าต้องเซอร์ๆ ลุยๆ งานวิทยานิพนธ์ของเจ้าแม่ก็ดูจะสัมพันธ์กับตัวตนอย่างไม่ธรรมดา คือเลือกออกแบบโรงพยาบาลที่ว่าด้วยความงามและศัลยกรรม นอกจากการเลือกโรงพยาบาลและศูนย์ผิวพรรณที่เข้ากับสไตล์ของตัวเองแล้ว ในบทคัดย่อได้อธิบายเหตุผลของการทำโรงพยาบาลที่สอดคล้องกับกระแสความต้องการของสังคม ทั้งปริมาณการให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอไปจนถึงกระแสการเป็น medical tourism ที่ประเทศไทยกำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์

 

ท่าอากาศยานนานาชาติ อุดรธานี(Udon Thani International Airport)

ภากร ธนศรีวนิชชัย (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ตุลย์ – ภากร นักแสดงที่กลายมาเป็นกระแสวัยรุ่นจากการรับบทคู่วายจากซีรีส์ Together With Me อกหักมารักกับผม นอกจากการเป็นนักแสดงแล้วตุลย์ยังทำงานเป็นสถาปนิกควบคู่ไปด้วย งานวิทยานิพนธ์ของตุลคือการเลือกออกแบบสนามบินของจังหวัดอุดร หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือสนามบินอุดรกำลังจะมีโครงการขยายและปรับปรุงเป็นโฉมใหม่เร็วๆ นี้ ทั้งตัวอาคารผู้โดยสาร รันเวย์และส่วนอื่นๆ เพื่อรองรับการเป็น ‘สนามบินนานาชาติ (international airport)’ และเตรียมรับผู้โดยสาร 2 ล้านคน

 

MTV STUDIO THAILAND

พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ปัจจุบันเราเห็นภาพอาร์ม พิพัฒน์ในบทบาทของพิธีกร ไปจนถึงผู้ประกอบการ แต่ยุคหนึ่งเด็กๆ จะรู้จักในฐานะพี่อาร์มแห่งช่องทรูสปาร์ก งานวิทยานิพนธ์ของพี่อาร์มก็ดูจะสะท้อนการเกิดขึ้นของสื่อและความนิยมทางดนตรีใหม่ๆ ในช่วงปี 2000 ยุคนั้นใครๆ ก็หันมาดู MTV เริ่มฟังเพลงป๊อป ลักษณะพิเศษของรายการคือการออกอากาศแบบสด มีการเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามานั่งชมและมีปฏิสัมพันธ์กับพิธีกรได้ งานออกแบบ MTV STUDIO THAILAND ของพี่อาร์มจึงเน้นออกแบบพื้นที่เพื่อดึงคนเข้ามาใช้เวลาพักผ่อนและเพิ่มประสบการณ์การชมรายการสด ไปจนถึงออกแบบพื้นที่สตูดิโอเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ

 

การพัฒนาการเชื่อมต่อและการปรับตัวของพื้นที่เปิดโล่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตเทศบาลนครสวรรค์

รัชชุ สุระจรัส (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

ว่าน รัชชุ พิธีกรและนักแสดงวัยรุ่นเป็นอีกหนึ่งวัยรุ่นที่สนใจงานทางสถาปัตยกรรม โดยว่านเองได้รับอิทธิพลจากคุณพ่อที่เป็นสถาปนิกด้วย ความสนใจของว่านดูจะเกี่ยวข้องกับงานภูมิสถาปัตย์ สนใจเรื่องธรรมชาติ เรื่องสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงเข้ากับความยั่งยืนของเมืองและผู้คน วิทยานิพนธ์ของว่านเลือกพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของเมืองนครสวรรค์ เป็นการศึกษาความสัมพันธ์และการใช้พื้นที่รอบๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะทาง 5 กิโลเมตร เป้าหมายของงานคือการวิเคราะห์และหาทางแก้ปัญหาให้การใช้พื้นที่เปิดโล่งดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมตามวงจรของแม่น้ำ

 

ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการเล่น

เป็นเอก การะเกตุ(มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

นอกจากนักแสดงแล้ว เราก็มีคนดังฝั่งนักกีฬา ไอ เป็นเอกนักกีฬาเทควันโดไทยที่เอาชนะนักกีฬาจีนได้ในเอเชียเกม 2010 เป็นเอกจบสถาปัตย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวงานวิทยานิพนธ์ก็ดูจะล้อกับการเป็นนักกีฬา เป็นงานออกแบบว่าด้วยสันทนาการการเล่นของเด็กๆ ตัวโครงการศูนย์ส่งเสริมฯ สอดคล้องกับกระแสสมัยใหม่ที่บอกว่าเด็กต้องเล่น การเล่นนำไปสู่พัฒนาการและการเรียนรู้ด้านต่างๆ ในงานออกแบบอาคารจึงเน้นการสร้างพื้นที่ที่ส่งเสริมการเล่นและพัฒนาการของเด็กในทุกๆ ด้าน ภายในอาคารมีหน้าตาล้ำสมัย

 

โครงการและงานออกแบบศูนย์ปฏิบัติการถ่ายทำภาพยนตร์


อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

ภาพยนตร์เองก็ดูจะมีความเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม ทั้งการสร้างและใช้พื้นที่ภายในหนัง ไปจนถึงความเข้าใจ ‘สถาปัตยกรรม’ โครงสร้างการเล่าเรื่องและศิลปะภาพยนตร์ เจ้ย อภิชาติพงศ์ ผู้กำกับแนวอินดี้ไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกเองก็จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น งานธีสิสของพี่เจ้ยก็เกี่ยวข้องการทำหนังคือเป็นการออกแบบโรงถ่ายทำหนัง

 

ADAPTATION

ญารินดา บุนนาค (Cornell University)

นอกจากภาพนักร้องผมสีแดงที่มาพร้อมเพลง ‘แค่ได้คิดถึง’ แล้ว ญารินดายังเป็นสถาปนิกมืออาชีพระดับอาจารย์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางสถาปัตยกรรมจาก Cornell University และปริญญาโทจาก Graduate School of Design มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยระหว่างการศึกษาญารินดาได้รับรางวัลจากการศึกษามากมาย

ปัจจุบันญารินดาเป็นสถาปนิกและเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธีสิสของญารินดาที่คอร์แนลใช้ชื่อว่า Adaptation เป็นการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เห็นว่าตัวตนของผู้คนถูกกลืนให้เลือนหายไปกับฝูงชน และผู้คนจมอยู่ในความเดียวดาย และงานออกแบบของเธอจึงเป็นการเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เน้นสร้างการกลับมาตระหนักถึงตัวตนในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ใช่เพียงโฉมหน้าเลือนๆ ในฝูงชน

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :