CITY CRACKER

“ออกไปมองฟ้าและน้ำที่กว้างใหญ่” : พื้นที่สีฟ้ากับการเยียวยาจิตใจ

เวลาอยากเยียวยาจิตใจ ใครๆ ก็ไปทะเล

 

จริงๆ ไม่ใช่แค่ทะเลเนอะ ‘ธรรมชาติ’ โดยภาพรวมแล้วก็ล้วนมีพลังในการดูแลรักษาความรู้สึก รักษาสุขภาพของเรา เรามักพูดถึงพื้นที่สีเขียว พลังของต้นไม้ใบหญ้า จนบางทีเราก็ลืมไปว่าธรรมชาติยังมีพื้นที่สีฟ้าๆ ท้องน้ำที่ไหลเอื่อยๆ นี้แหละก็ดูจะเป็นอีกตัวช่วยสำคัญในการเยียวยาหัวใจ แถมยังเป็นพื้นที่สันทนาการในรูปแบบพิเศษอื่นๆ ได้ด้วย

 

แทบทุกวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับน้ำ เรามักตั้งถิ่นฐาน สร้างบ้านเมืองโดยมีน้ำเป็นที่ตั้ง ด้วยว่าน้ำเป็นทั้งหัวใจสำคัญของการกสิกรรม ไปจนถึงเป็นช่องทางการคมนาคมสำคัญ เรามักมีเมืองใหญ่ๆ ก่อตัวขึ้นตามพื้นที่ลุ่มน้ำ ในเอเชียของเราก็มักมีแม่น้ำทั้งน้อย-ใหญ่ไหลผ่านเมืองไปจนถึงเมืองท่าต่างๆ

ดังนั้น เมื่อเมืองเรามีสายน้ำ มีพื้นที่สีฟ้าๆ เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว จริงๆ แทบไม่ต้องอธิบายอะไรเยอะเนอะ เวลาเราไปยืนริมน้ำ นั่งเรือทอดอารมณ์ ผืนน้ำที่ไหลเอื่อยๆ สายลมอ่อนๆ ที่พันปะทะผิวเนื้อ การเคลื่อนไหวของน้ำส่งผลเชิงบวกทั้งกับอารมณ์และร่างกายของเรา นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มสนใจเหล่าพื้นที่สีฟ้าๆ พร้อมๆ กับเมืองใหญ่หลายแห่งเองก็เล็งเห็นคุณค่าของสายน้ำและคูคลอง มีการปรับปรุงดูแลให้ผืนน้ำกลับมามีชีวิตอย่างได้เรื่องได้ราว มีการใส่ใจประวัติศาสตร์พร้อมกับรับฟังเสียงของประชาชนคนใช้งาน

 

ผืนน้ำ ดินแดนแห่งการเยียวยา

ในระดับความเชื่อ หรือเวลาเราคิดถึงความหมายของธาตุต่างๆ ธาตุน้ำ ดูจะเป็นธาตุหลักที่เรามักโยงเข้ากับการบำบัดรักษา น้ำหมายถึงการชำระ การฟื้นฟูดูแล และแน่นอนว่าความหมายเหล่านี้ก็ล้วนมาจากปฏิสัมพันธ์และประสบการณ์ที่มนุษ์เรามีต่อสายน้ำ

มีงานศึกษาในปี 2010 ไปศึกษาผลกระทบของพื้นที่สีฟ้าที่มีต่อความรู้สึกว่ามันมีนัยสำคัญขาดไหน โดยให้กลุ่มตัวอย่างดูรูป ที่มีสัดส่วนระหว่างพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นน้ำ เช่น ลำธาร ชายฝั่ง แม่น้ำ และพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆ โดยมีการจัดสัดส่วนระหว่างพื้นที่ธรรมชาติกับพื้นที่ปลูกสร้างอื่นๆ พูดง่ายๆ คือให้เราดูภาพอาคารที่ปนกับทิวทัศน์ธรรมชาติในหลายๆ สัดส่วนโดยที่ครึ่งหนึ่งมีสัดส่วนของพื้นที่สีฟ้าเยอะหน่อย

ผลก็ตามคาด คือภาพที่มีสัดส่วนพื้นที่ธรรมชาติ โดยเฉพาะภาพที่มีองค์ประกอบพื้นที่สีฟ้า จะได้รับคะแนน หรือคนมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีความรู้สึก ‘เยียวยา’ คือคงจะรู้สึกว่าเอ้อ อยากไป ยินดีที่จะจ่ายเพราะรู้สึกว่าที่ๆ นั้นมันช่วยฟื้นฟูเยียวยาร่างกายจิตใจโดยภาพที่มีน้ำอยู่ในทิวทัศน์จะถูกมองว่ามีคุณสมบัติรักษาเยียวยามากกว่าภาพที่ไม่มีน้ำ

 

พื้นที่สีฟ้า พื้นที่ของความเคลื่อนไหว

เจ้าสายน้ำหรือพื้นที่สีฟ้านอกจากจะมีพลังช่วยผ่อนคลายรักษา ที่ก็ฟังดูคล้ายๆ พื้นที่สีเขียวแล้ว แต่เจ้าสายน้ำยังมีฟีเจอร์พิเศษที่ต่างออกไปจากต้นไม้ใบหญ้า คือมันมีความเคลื่อนไหวในตัวเอง นอกจากความเคลื่อนไหวของสายน้ำและผิวน้ำแล้ว พื้นที่ทางน้ำยังอาจส่งเสริมกิจกรรมทางกายภาพใหม่ๆ บ้านเราที่ชัดๆ ก็มีการถีบเรือเป็ด ชิคๆ หน่อยก็มีการเล่นเรือ ว่ายน้ำ ไปจนถึงกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ

ในแง่ของพลังเยียวยาพิเศษของสายน้ำ Michael Alcee นักจิตวิทยาคลินิกที่นิวยอร์ก ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ชีวิตริมแม่น้ำ Hudson อธิบายว่า การได้อยู่ริมน้ำ ได้เห็นผิวน้ำสะท้อนไปมาถือเป็นการกระตุ้นความโรแมนติกพิเศษอย่างหนึ่ง การได้เห็นผิวน้ำเป็นการเชื่อมโยงตัวตนของเราเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกภายใน ขณะเดียวกันก็เหมือนกับเราได้เผชิญหน้ากับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง

 

การอยู่ใกล้พื้นที่น้ำส่งผลดีกับจิตใจก็ค่อนข้างได้ข้อสรุปพอสมควร แต่ข้อเสนอที่ว่าการมีพื้นน้ำนำไปสู่กิจกรรมทางร่างกายที่เยอะขึ้นก็ยังไม่ค่อยมีหลักฐานชัดเจนนัก- แน่ล่ะ การจะไปเล่นเรือ เล่นเซิร์ฟก็ดูจะเป็นกิจกรรมค่อนข้างเฉพาะ จริงๆ ตัวพื้นที่สีฟ้า ด้วยความเคลื่อนไหวของมันก็อาจส่งปัญหาบ้าง เช่น เสียงดังจากการสัญจร ก็เป็นเรื่องที่ว่ากันไป- แต่ก็ดีกว่ามีแต่พื้นที่เมือง

 

ในที่สุด ก็กลับมาที่ประโยคว่า จริงๆ ก็ไม่ต้องพูดอะไรเยอะ การมีแม่น้ำ มีคลอง มีลำธาร มีสระ มีบ่อน้ำ ที่ดี ย่อมต้องดีกว่าไม่มี หรือมีแต่ก็ประหลาดพิกล การที่เรามีคูคลอง มีหนอง และยิ่งแม่น้ำสายสำคัญ การจะเป็นเมืองที่ดีงาม จะดูแลหรือทำอะไร ก็ควรจะทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลงเนอะ

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

psychologytoday.com

sciencedirect.com

blog.allpsych.com

sciencedirect.com

 

cover photo: La Grenouillère, Nationalmuseum, Sweden

 

Share :