เราได้ยินคำว่าเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City กันอยู่บ่อยๆ แล้วจริงๆ สมาร์ตซิตี้คืออะไรกันแน่ World Economic Forum ได้จำกัดความ ‘สมาร์ตซิตี้’ ไว้ว่าเป็นคำสำหรับกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เศรษฐกิจและพัฒนาการทางสังคม ถือเป็นแนวคิดหนึ่งสำหรับการพัฒนาเมืองในอนาคตอันใกล้
มีคำนิยามเมืองอัจฉริยะว่าเป็น “เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน”
การพัฒนาเมืองแบบอัจฉริยะ
มีการตั้งเกณฑ์ชี้วัดการประเมินคุณค่าของการตั้งเป้าหมายแต่ละด้านเพื่อการพัฒนา โดยต้องทำความเข้าใจ ทบทวน บทบาทหน้าที่ของแต่ละเมืองที่แตกต่างและสัมพันธ์กันให้ดีเสียก่อน ในช่วงปีที่ผ่านมามีกระแสตื่นตัวเรื่องการพัฒนาเมืองไปสู่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคการศึกษา ซึ่งเป็นสัญญาณตอบรับของยุคการพัฒนาเมืองอย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ภาครัฐได้ร่วมกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกันหลายกระทรวง เพื่อกำกับดูแล แนวทางการพัฒนา และการดำเนินการจริงไปสู่การลงทุนในอนาคต โดยได้กำหนดแนวทางอัจฉริยะสำหรับการพัฒนาเมืองไว้ 7 ด้านคือ
1. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
เมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
2. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (universal design) ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต
3. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
เมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหาร จัดการของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
4. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
เมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง (transport infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (digital infrastructure)
5. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
เมืองที่สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ส่งเสริมการสร้างโครงข่ายไฟฟ้าชนิดใหม่ (smart grid) รวมทั้งการใช้พลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน
6. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
เมืองที่ใช้นวัตกรรม ระบบดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เมืองวัฒนธรรม การส่งเสริม start-up และ SMEs เป็นต้น
7. การบริหารจัดการอัจฉริยะ (Smart Governance)
เมืองที่พัฒนาระบบบริการภาครัฐ เช่น ระบบ IoT (Internet of Things) เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้น ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ เช่น การสร้างฐานข้อมูลเมือง (City Data) การสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม (Open Data Platform) การส่งเสริมให้มีการใช้ระบบการสร้างระบบข้อมูลกายภาพเมือง ระบบข้อมูลแบบจำลองอาคารสารสนเทศ (Building Information Modeling: BIM) เป็นต้น
องค์ประกอบแนวคิดทั้ง 7 ด้านนี้ มีรายละเอียดตัวชี้วัด ด้วยการทำข้อมูลในระบบดิจิทัลสนับสนุนเป็นฐานข้อมูลเมือง ให้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้เป็นตามบทบาทหน้าที่ โดยการพัฒนาเมืองนั้นจะต้องประกอบไปด้วย ภาครัฐ เอกชน ประชาชน และภาคการศึกษา เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเปิดรับข้อเสนอแผนการพัฒนาเมือง การลงทุน เพื่อรับการพิจารณาส่งเสริมการลงทุนสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งในพื้นที่เมืองเดิมทั่วประเทศ (Brown Field) และเมืองใหม่ (Green Field) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
เมืองน่าอยู่ (Livable City)
นอกเหนือจากแนวคิดการพัฒนา ‘เมืองอัจฉริยะ’ แล้ว ความเป็น ‘เมืองน่าอยู่’ ควรถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหลักของแนวคิดการพัฒนาเมืองด้วยเช่นกัน เพราะนอกเหนือจากการพัฒนาระบบอัจฉริยะ ต่างๆแล้ว การพัฒนาด้านกายภาพ ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดไว้ในข้อ 11 จากทั้งหมด 17 ข้อ ว่าด้วย การสร้างเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
ความเป็นเมืองน่าอยู่ มีตัวชี้วัดการพัฒนาจากหลายสำนักทั่วโลก สามารถหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ ความปลอดภัย สาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
นอกจากนี้แนวโน้มการพัฒนาเมือง การวางแผน ออกแบบแผนผังที่ชาญฉลาดและยืดหยุ่น (Resilience) จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิกาพของเมือง เช่น การทำให้เป็นเมืองกระชับ หมายถึง การมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่ามากขึ้น อย่างผสมผสานประโยชน์ใช้สอยทั้งพื้นที่และอาคาร (Mixed-Use) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Transit Oriented Development: TOD) การส่งเสริมให้มีแหล่งเศรษฐกิจ แหล่งงาน ตำแหน่งงานสำหรับผู้คน การมีระบบขนส่งสาธารณะเป็นองค์ประกอบหลัก ทางสัญจรทางเลือก ทางจักรยาน การมีพื้นที่โล่ง พื้นที่สีเขียว การจัดการระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ระยะมาตรฐานองค์ประกอบของเมือง ถนน ทางเท้า ต้นไม้ ตามมาตรฐานสากล โดยที่วิชาชีพแต่ละด้าน สามรถช่วยกันได้ ทั้งนักวางแผนนโยบาย นักวางแผนผังเมือง นักออกแบบ สถาปนิก วิศวกร นักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักธุรกิจการเงิน และที่สำคัญคือประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมืองที่ดีนั้นจะต้องเกิดจากการร่วมมือกัน บูรณาการกันของศาสตร์หลายแขนงเป็น Transdisciplinary
องค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การจัดรูปที่ดิน การแก้ไขกฎหมาย การปฏิรูปประสิทธิภาพองค์กรภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การจัดทำแผน และงบประมาณ กองทุนพัฒนาเมือง การระดมทุน รูปแบบธุรกิจและการลงทุนของกิจการอัจฉริยะแต่ละด้าน เป็นต้น
ในต่างประเทศได้มีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่บ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น
ประเทศญี่ปุ่น เมืองคาชิวะ-โน-ฮา (Kashiwa-No-Ha) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างไป 25 กิโลเมตร จากกรุงโตเกียว เน้นการเป็นเมืองประหยัดพลังงาน จนได้รับรางวัล Leed Platinum
ประเทศฝรั่งเศส เมืองเกรอโนเบิ้ล (Grenoble) ทางตอนกลางของประเทศ เน้นเป็นเมืองวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R+D) รวมทั้งเป็นเมืองสีเขียวที่พลิกโฉมเมืองอุตสาหกรรมในอดีต ก็มีความน่าอยู่ติดอันดับโลก
ประเทศออสเตรีย กรุงเวียนนา (Vienna) ถูกจัดอันดับเป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 1 ของโลกหลายปีติดต่อกัน เน้นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ การบูรณาการแผนการพัฒนาของหน่วยงานรัฐหลายส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างที่อยู่อาศัยที่ราคาเหมาะสมสำหรับประชาชน (Affordable Housing) การสนับสนุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และนโยบายราคาค่าโดยสาร 365 ยูโร (ตั๋วปี) ตกเฉลี่ยค่าเดินทาง 1 ยูโร ต่อวัน เท่านั้น รวมทั้งสภาเมืองมีโครงการพัฒนาเมืองใหม่รองรับการขยายตัวของเมืองเดิม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงเวียนนา ชื่อว่า อัสแพร์น เซชตัทท์ (Aspern Seestadt) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเมืองใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในปัจจุบัน
ประเทศสิงคโปร์ ด้วยนโยบาย Smart Nation และการวางแผนพัฒนาเมืองของหน่วยงาน Urban Redevelopment Authority (URA) ภายใต้กระทรวงพัฒนาชาติ ทำให้สิงคโปร์เป็นชาติที่ประสบความสำเร็จของการพัฒนาเมืองแห่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ที่ได้ดำเนินการทั้งการสร้างที่อยู่อาศัยในราคาที่เหมาะสมมาอย่างยาวนาน การสร้างพื้นที่โล่ง และพื้นที่สีเขียว การสร้างพื้นที่รับน้ำ ที่เหมาะสมกับประเทศที่ตั้งอยู่ในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น (Tropical Climate) เป็นต้น
คำว่าเมืองอัจฉริยะ แท้จริงในเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรมขั้นสูง อาจเป็นเพียงส่วนสนับสนุนสำหรับการผสมผสานกับการพัฒนาด้านกายภาพให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาและจัดการ ที่ตอบสนองโจทย์ของการพัฒนาคุณภาพชีวิต และกลไกการพัฒนาใหม่นี้จะช่วยสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนได้ประโยชน์จากการพัฒนาอย่างครบวงจร
ความชาญฉลาด (อัจฉริยะ) ของเมืองนั้น แท้จริงเกิดได้จากการพัฒนาคนในเมืองนั้น เป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสังคม และประเทศ การลงทุนในด้านคุณภาพชีวิต การศึกษา สังคม วัฒนธรรม และการมีสาธารณูปโภค สาธารณูปการพื้นฐาน ครอบคลุมทั่วถึงแต่ละพื้นที่เขตในเมืองตามระยะการบริการที่ได้มาตรฐาน ครบถ้วนและเพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชากร เป็นสิทธิ สวัสดิการ สู่ความเป็นเมืองน่าอยู่ โดยมีเทคโนโลยีเป็นส่วนตาม ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม น่าจะส่งผลไปสู่การต่อยอดของการพัฒนาเมืองในประเทศไทย สู่การปฏิบัติจริง สำหรับอนาคตต่อไปได้อย่างยั่งยืน