เวลาเราพูดถึงพื้นที่สาธารณะอย่างทางเท้า สวนสาธารณะ กระทั่งแม่น้ำลำคลอง เรามักเข้าใจว่าคือพื้นที่ของหลวง หรือสิ่งที่รัฐสามารถบริหารจัดการได้ตามแต่ที่รัฐกำหนด แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินสาธารณะเหล่านั้นเสียทีเดียว หากแต่สมบัติของเรา ซึ่งรัฐมีหน้าที่เพียงดูแลและบริหารจัดการเพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ให้กับราทุกคน
แต่ ความคุ้นชิน ระบบการบริการจัดการ และวิธีการทำงานของรัฐ จึงเป็นเหมือนข้อจำกัดในการสร้างและพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เพราะเมื่อจะสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้น รัฐไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม และเป็นการทำงานผ่านการตัดสินใจของรัฐเพียงฝ่ายเดียว
จำกัดจินตนาการ
ที่ผ่านมาพื้นที่สาธารณะในบ้านเรานั้นขาดทั้งปริมาณและคุณภาพ พื้นที่สาธารณะบางแห่งเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่จำกัดการใช้ ไม่เอื้อสำหรับคนที่ต้องการใช้เวลาในสวนนานๆ กิจกรรมที่มีก็ไม่หลากหลาย และไม่สอดรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนเมือง ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นตัวจำกัดจินตนาการของผู้ใช้งานนั่นเอง
นอกจากการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยรูปแบบที่คุ้นชินกับการเป็นเจ้าของ รัฐเองก็มักหยิบยืมแนวคิดและค่านิยมมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่การสร้างแลนด์มาร์ก ตลอดจนการสร้างพื้นที่สาธารณะที่เสริมความสวยงามและความเรียบร้อยให้กับเมือง ซึ่งก็แนวคิดและค่านิยมที่รัฐมองว่าดี แต่จะเหมาะหรือไม่ สังคมคิดเห็นอย่างไร (อาจไม่สำคัญ)
ยกตัวอย่างชองเกชอนเมืองไทย ฌ็องเซลิเซ่ สวนดอกไม้ สนามหญ้าเรียบๆ กระทั่งทางเดินริมน้ำ ที่ภาครัฐมักนำแนวคิดและค่านิยมจากต่างประเทศมาประกอบการพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งเหล่านี้คือค่านิยมที่สร้างความชื่นชอบชั่วคราวและคะแนนนิยมได้ หากแต่ไม่ได้ได้เปิดโอกาส หรือทางเลือกอื่นที่เหมาะสมและยั่งยืนว่า และบางครั้งค่านิยมที่ว่ามานั้นก็แลกมาด้วยการต้องรื้อย้ายชุมชน การจัดระแบบ ไปจนถึงวิถีของเมืองที่รุ่มรวยวัฒนธรรม เพื่อให้เข้าร่องเข้ารอยตามที่รัฐเห็นสมควร จนกลายเป็นเมืองที่สวยแต่ขาดเสน่ห์อย่างที่เคยเป็น
จำกัดความร่วมมือ
การพัฒนาพื้นที่สาธารณะของรัฐส่วนใหญ่มีเป้าหมายเป็นไปเพื่อสร้างและจัดระเบียบกายภาพ ซึ่งไม่ใช่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคม และนำไปสู่วิธีการทำงานที่ไม่ชวนสังคมมาร่วมคิดไปด้วยกัน วิธีทำงานที่ไม่เปิดพื้นที่แห่งการทดลอง หรือหากจะพูดอย่างง่ายๆ ก็คือไม่มีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ อาจเพราะกลัวเสียเวลา และเสียการควบคุมนอกเหนือไปจากสิ่งที่รัฐตั้งใจไว้ เมื่อโครงการพัฒนานั้นๆ ตอบโจทย์รัฐ แต่ไม่ตอบโจทย์ชุมชนและสังคม จึงนำมาซึ่งความขัดแย้งและยิ่งสร้างระยะห่างระหว่างภาคประชาสังคมและภาครัฐ ระหว่างคนกับพื้นที่สาธารณะ (ของรัฐ) มากขึ้น จากการพัฒนาที่เราไม่เห็นว่ามันความร่วมมือของทุกๆ คน เมื่อการพัฒนากลายเป็นรัฐทำ ความรู้สึกหวงแหน อยากดูแล หรือการเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเราทุกคนจึงไม่มี สิ่งเดียวที่ประชาชนทำได้คือการเป็นผู้ใช้ ไปถ่ายรูป หรือร่วมกิจกรรมอื่นๆ ตามแต่ที่รัฐจะเอื้อให้เกิด
จำกัดภาวะพลเมือง
วิธีการที่อาจเรียกได้ว่า top down หรือ exclusive เช่นนี้ ได้กดทับภาวะพลเมืองให้อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ จนเราไม่ได้ตระหนักว่า เรามีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็น มีสิทธิ์ที่จะฝัน ขณะเดียวกันรัฐเองก็ต้องรับฟัง และทำหน้าที่เป็นกลไกในการเอื้อให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อตอบสนองสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบโจทย์ทางการเมือง อำนาจ หรือกลุ่มทุน
เวลาพวกคุณได้ผลงานแล้วคุณก็ไป ชาวบ้านไม่ได้อะไร นอกจากสิ่งที่พวกคุณทิ้งไว้
เสียงตัดพ้อจากชุมชนต่อโครงการของรัฐที่ไม่ตอบโจทย์พวกเขาแต่ตอบโจทย์พวกเรา
ขอบคุณนะที่มาถามความคิดเห็น ป้าไม่รู้เลยว่ามีสิทธิ์ที่จะบอกด้วย
คำขอบคุณที่มาพร้อมความรู้สึกตัดพ้อของชุมชนในพื้นที่ เมื่อเราต้องลงไปทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ
จำกัดคุณค่าของเมือง
จะมีประโยชน์หรือมีความสุขได้อย่างไร ถ้าต้องอยู่ในเมืองที่สวยเป็นระเบียบแต่ไร้ความรู้สึกร่วมและความเป็นเจ้าของ อย่างกรณีการไล่รื้อชุมชนเก่าเพื่อสร้างสวนสาธารณะบริเวณป้อมมหากาฬ แนวคิดการสร้างทางเลียบในแม่น้ำเจ้าพระยาที่กระทบต่อวิถีชุมชนริมน้ำ การรื้อย้ายตลาดสะพานเหล็กเพื่อพัฒนาคลองโอ่งอ่าง กระทั่งการจัดระเบียบปากคลองตลาด โครงการเหล่านี้สะท้อนวิธีคิดและกระบวนการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเบียดเบียนวิถีชีวิตของคนในชุมชน และลดคุณค่าของย่านและเมืองลงไป
ทลายข้อจำกัดเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกำหนดแนวทางการพัฒนา
ถ้าเรามองหรือมีทัศนคติต่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เปลี่ยนไป มองพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียม ในฐานะหุ้นส่วนที่ไม่ใช่แค่ผู้ใช้สวนหรือพื้นที่สาธารณะ เราจะมีวิธีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะและเมืองที่ต่างออกไปจากนี้อย่างมาก ซึ่งการทลายข้อจำกัดที่รัฐเคยสร้างมาอาจต้องเริ่มด้วยวิธีเหล่านี้
หนึ่ง จะต้องเป็นการพัฒนาที่ยึดโยงกับฐานทรัพยากรในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่จับต้องได้ (tangible assets) หรือลักษณะพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์ มีคุณค่าของวิถีและภูมิปัญญาที่ตกทอดส่งต่อกันมา (intangible assets)
สอง อาจต้องสร้างเป้าหมายร่วมเพื่อให้เห็นปัญหา หรือความท้าทายที่เมืองเผชิญ ตลอดจนโอกาสในอนาคตเพื่อที่การพัฒนาพื้นที่สาธารณะจะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะนำไปสู่การสร้างเมืองที่ดีและยั่งยืนได้
สาม สร้างกระบวนการสื่อสารกับสังคมผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และความคิดเห็น อันเป็นการสร้างบทสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนและให้การตระหนักรู้ร่วมกัน
สี่ สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงที่พร้อมจะยืดหยุ่นต่อผลลัพธ์เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการพัฒนานั้นตอบโจทย์พื้นที่และปราศจากข้อกำหนดในการทำงาน และทุกขั้นตอนของการพัฒนาจะต้องมีตั้งแต่ชวนคิด ชวนออกแบบ ชวนทำ ชวนลงทุน และชวนบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่สาธารณะไม่เพียงตอบโจทย์แต่สร้างสังคมที่ดีไปพร้อมกันได้
ห้า สร้างพื้นที่สาธารณะมากกว่าสีเขียวและสวนสวย เพื่อให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่โอกาสสำหรับพลเมืองที่วิวัฒน์และเปลี่ยนแปลงได้ ตามโจทย์ และความต้องการของแต่ละพื้นที่ ดังที่เราเห็นตัวอย่างจากการใช้ที่ดินรัฐเป็นพื้นที่อาหาร เป็นสวนสำหรับปลูกผัก เป็นพื้นที่ป่าสร้างระบบนิเวศ เป็นที่รับน้ำท่วม เป็นที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ พื้นที่สะท้อนอัตลักษ์ณและวัฒนธรรม พื้นที่ลานกิจกรรมชุมชนใต้ทางด่วน จนถึงพื้นที่สร้างสรรคของคนรุ่นใหม่
หก เราจะให้เวลาและความสำคัญกับกระบวนการที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน วิชาชีพ วิชาการ และประชาสังคม เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีของการพัฒนา การะบวนการทำงานที่ไม่เร่งรีบ รวบรัด แต่ตอบโจทย์ทางการเมือง หรือเพื่อการใช้งบประมาณเป็นสำคัญ
เจ็ด เราจะลงทุนกับการสร้างกลไก องค์ความรู้ กฎเกณฑ์ กองทุน นโยบาย ที่จะเอื้อและกระตุ้นให้เกิดโครงการดีๆ โครงการที่ผ่านเอกชน ประชาสังคม และท้องถิ่น มากพอๆ กับการลงทุนเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ
แปด เราจะสนับสนุนการสร้างคนและพลเมืองผ่านการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เพื่อใหเเขาเหล่านั้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคต
มาร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะ ที่มีเราทุกคนอยู่ในนั้นเพื่อให้เราจะเป็นผู้ร่วมกำหนดการสร้างพื้นที่สาธารณะ และการสร้างโอกาสให้เมือง อันเป็นการปลุกพลังพลเมืองในตัวเราทุกคนคืนมา เพราะเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝันและทำมันให้เกิดขึ้น
Illustration by Montree Sommut
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker