นอกจากข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิแล้ว คนไทยที่แม้จะไม่ใช่คอดนตรีก็อาจจะได้ยินชื่อของโคเชลล่า (Coachella) ในฐานะเทศกาลดนตรีระดับโลกอันเป็นเทศกาลยักษ์ใหญ่ที่มิลลิขึ้นไปร่วมโชว์พร้อมกับทาง 88rising ที่กลายเป็นที่จับตาและเป็นไฮไลต์หนึ่งของเทศกาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
โคเชลล่าเป็นเทศกาลดนตรีขนาดมหึมาที่เป็นหมุดหมายและปลายทางที่คนจากทั่วโลกเดินทางไป และในปีนี้ก็ได้มีการไลฟ์สดที่มียอดผู้ชมหลักสิบล้านคน (รายงานในปี 2019 ยอดผู้ชมออนไลน์อยู่ที่กว่า 80 ล้านการชม) มียอดผู้ชมพร้อมกัน หนึ่งในโชว์ที่มีผู้ชมสดที่ทำลายสถิติการชมออนไลน์พร้อมกันทั่วโลกคือโชว์ของบียอนเซ่ในปี 2018 ที่มีสถิติผู้ชมสดพร้อมกันสูงสุดครึ่งล้าน (ประมาณ 4 แสน 9 หมื่นการรับชม) มีตัวเลขผู้เข้าชมในพื้นที่ราวหนึ่งแสนคน สร้างตัวเลขรายได้หลักล้านเหรียญสหรัฐ
แน่นอนว่าโคเชลล่ากลายเป็นพื้นที่ทางดนตรีที่ใหญ่และสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งของโลก เราได้เห็นรายชื่อศิลปินทั้งยักษ์ใหญ่และหน้าใหม่จากทุกมุมขึ้นแสดงและสร้างปรากฏการณ์ ในปีนี้เราได้เห็นทั้งโชว์ของ 88rising ที่พาศิลปินเอเชียขึ้นผงาดบนเวทีที่ไม่ใช่แค่ข้าวเหนียวมะม่วง แร๊พภาษาไทย ยังพาศิลปินรุ่นใหม่ทั้งจากอินโดเนเซีย ฮ่องกง พร้อมกับพาตำนานเอเชียป็อปทั้งอูทาดะ ฮิคารุ และ 2ne1 เกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีกลับมาสร้างกระแสศิลปินเอเชียอีกครั้ง นอกจากโชว์ของ 88rising แล้วโคเชลล่ายังเป็นเวทีทั้งโชว์สดและเป็นเวที่ที่หลายศิลปินใช้เพื่อเปิดตัวเพลงใหม่ ในปีนี้มีทั้ง Doja Cat, Harry Style และศิลปินระดับโลกอื่นๆ ร่วมแสดงอีกมากมาย
เทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลล่า (Coachella Valley Music and Arts Festival) เป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยสีสัน และเรามักคุ้นกับภาพของเทศกาลที่มีทั้งเวทีและงานศิลปะขนาดใหญ่โดยโอบล้อมไปด้วยแดดและบรรยากาศแบบหุบเขาและทะเลทราย ตัวเทศกาลมีอายุ 20 ปีแล้ว และอันที่จริงก็จัดอยู่บนพื้นที่ที่ทะเลทรายอันแห้งแล้งทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย
ก่อนที่จะเกิดงานโคเชลล่าขึ้น พื้นที่หุบเขาโคเชลล่าในเมืองอินดิโอนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับชนพื้นเมือง การสร้างรางรถไฟและกลายเป็นเมืองตามแนวราง เป็นพื้นที่กสิกรรม เป็นเมืองสมัยใหม่ และกลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในบรรยากาศอันเวิ้งว้างและแสงแดดจ้า จนล่าสุดเทศกาลดนตรีเช่นโคเชลล่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใช้ร่วมพัฒนาเมืองและดึงดูดผู้คนเข้าสู่พื้นที่
Coachella- Indigo เมืองทางรถไฟ และเมืองตากอากาศกลางทะเลทรายในฤดูหนาว
เทศกาลโคเชลล่าจัดขึ้นที่ Empire Polo Club ในเมือง Indio ตัวเมืองอินดิโอตั้งอยู่ในเขตทะเลทรายของพื้นที่ที่เรียกว่า Coachella Valley พื้นที่โดยรวมถือเป็นพื้นที่ค่อนข้างกันดารและใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายโคโรราโด้ อยู่เกือบถึงชายแดนเม็กซิโก แต่ทว่าเมืองอินดิโกสัมพันธ์กับการขยายกิจการรถไฟโดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายทางรถไฟจากลอสเองเจลลิสลงไปสู่พื้นที่ทางตอนใต้ เมืองอินดิโอ (หมายถึงอินเดียน- ที่เราคุ้นในนามอินเดียนแดง) เป็นเมืองที่อยู่ตรงกลางระหว่างแอริโซน่าและลอสแองเจิลลิส ตัวเมืองกลายเป็นพื้นที่จุดพักกึ่งกลางของเส้นทางรถไฟโดยอินดิโอเป็นจุดพักรถไฟและใช้เติมน้ำเข้าสู่รถจักร พื้นที่แห่งนี้จึงมีอีกชื่อว่า บ่อน้ำอินเดียน(Indian Wells) จากการพบแหล่งน้ำบาดาลจำนวนมาก นับจากนั้นเมืองอินดิโอจึงเริ่มเติบโตขึ้นในฐานะเมืองตามแนวรางรถไฟในช่วงปี 1876 การพัฒนาหรือสิ่งปลูกสร้างสำคัญแรกๆ คือสถานีรถไฟและโรงแรมหรู สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตหรูหราด้วยตัวพื้นที่นั้นรกร้างและแร้นแค้น ทางบริษัทรถไฟจึงสร้างสาธารณูปโภคที่รวมร้านอาหารหรูและคลับไว้สร้างความบันเทิงและอำนวยการใช้ชีวิตกับคนทำงานของตน
หลังจากนั้นเมืองอินดิโอก็ค่อยๆ มีการพัฒนาเช่นมีการลงทุนเพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งเก็บน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทำให้เมืองทางรถไฟค่อยๆ ขยายขึ้น บางส่วนเกิดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สัมพันธ์กับภูมิอากาศเช่นฝ้าย หัวหอม องุ่น มะนาวและอินผาลัม มีนักธุรกิจมากมายเข้าสู่พื้นที่จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 20 ที่รถไฟเริ่มหมดบทบาทลง มีการตัดทางหลวงในช่วงทศวรรษ 1920 เมืองอินดิโอก็ค่อยๆ ขยายตัวขึ้นเป็นเมืองสมัยใหม่ นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 บนผืนทะเลทรายและหุบเขาโคเชลล่ากลายเป็นจุดท่องเที่ยวและเมืองตากอากาศสำคัญ คือเป็นที่หลบหนาวและเกิดเป็นกลุ่มบ้านพักตาอากาศที่ใช้ความร้อนและความสวยงามของทะเลทรายเป็นหัวใจสำคัญของธรรมชาติและการพักผ่อน
ก่อนปี 2000 กับโคเชลล่าครั้งแรก
พื้นที่ตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียค่อนข้างสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมดนตรีและการเป็นพื้นที่พักผ่อน ย้อนไปในปี 1999 ปีที่งานโคลเชลล่าครั้งแรกถูกจึดขึ้น ซึ่งก็จัดโดย Goldenvoice บริษัทเดียวกันที่ก่อตั้งโคชเชลล่าครั้งแรกขึ้นและยังคงเป็นผู้จัดงานจนถึงปัจจุบัน ในตอนนั้นที่อเมริกามีงานเทศกาลดนตรีคือ Woodstock โดยโคชเชลล่าต้องการสร้างความแตกต่างคือเน้นเข้าถึงคนจำนวนมาก และในงานครั้งแรกซึ่งจัดเทศกาลดนตรีหนึ่งวันนั้น มีราคาบัตรที่ค่อนข้างถูก
ในงานครั้งแรก นิตยสารโรลลิ่งสโตน นิตยสารดนตรีรีวิวงานไว้ว่าบัตรเข้างานดนตรีโคชเชลล่าครั้งแรกเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ของคนรักคอนเสิร์ต บัตรในตอนนั้นมีราคาเพียง 50 เหรียญสหรัฐ โดยในราคานี้รวมทั้งราคาค่าที่จอดรถและได้น้ำเปล่าคนละขวด งานในปี 1999 ผู้จัดเน้นไลน์อัพศิลปินที่หลากหลายและมีศิลปินแนวหน้าเช่น Beck ไปจนถึง Rage Against The Machine ผู้จัดหวังว่าจะมีผู้ชมราว 70,000 คน แต่ตามรายงานคืองานในปีแรกประสบภาวะขาดทุน คือมีผู้ชมซื้อบัตรเพียง 25,000 ใบ งานในปี 2000 จึงถูกยกเลิกไปและกลับมาจัดใหม่ในปี 2001
หลังจากนั้นเวทีโคชเชลล่าก็ค่อยๆ เติบโตและจัดงานต่อเนื่องกันเรื่อยมา จุดแข็งของงานอยู่ที่การให้ความสำคัญกับดนตรีและความหลากหลายรวมถึงการสร้างประสบการณ์ของงานเทศกาลทั้งงานศิลปะขนาดใหญ่ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นพร้อมๆ กับความแพร่หลายของกล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์มือถือ ในช่วงปีปี 2012 งานโคชเชลล่าขยายเวลาเทศกาลจนกลายเป็นงานสองสัปดาห์ดังในปัจจุบัน หนึ่งในจุดขายสำคัญคือการออกแบบเวทีและการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ในปีนั้นมีโชว์สำคัญคือโชว์ของ Dr. Dre และ Snoop Dogg ที่นำเอาโฮโลแกรมเข้ามาจนทำให้ผู้ชมตื่นตะลึงกับโชว์ในครั้งนั้น
ในทุกวันนี้ ภาพสำคัญของโคชเชลล่าทั้งตัวเวที งานศิลปะและสถาปัตยกรรม บรรยากาศของธรรมชาติ แสงแดดและการปลดปล่อยความรู้สึกจากเมืองใหญ่ ไปจนถึงการเป็นงานโชว์ระดับโลกและไลน์อัพดนตรีที่หลากหลายก็ยังคงเป็นภาพสำคัญของเทศกาลที่กลายเป็นเทศกาลระดับโลกในทุกวันนี้
เทศกาลดนตรีและการพัฒนาเมือง
เทศกาลดนตรี จากตัวเลขที่กล่าวถึงช่วงต้น การเป็นเทศกาลขนาดยักษ์ เป็นพื้นที่ปล่อยของของอุตสาหกรรมเพลงทั้งศิลปินระดับโลกและศิลปินจากทั่วโลก เทศกาลดนตรีไม่ว่าจะเป็น Woodstock หรือ โคชเชลลาเองจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่หลายเมืองในสหรัฐใช้และนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา
โคชเชลล่าเองถือเป็นตัวอย่างสำคัญของเทศกาลขนาดใหญ่ที่ดึงดูดคนจากทั่วโลกและดึงการจับจ่ายเข้าสู่เมืองในทะเลทราย แน่นอนว่าเมืองเล็กๆ กลายเป็นจุดรวมตัวของทั้งศิลปิน คนดัง และสายตาจากทั่วโลก มีคนอย่างน้อยครึ่งล้านเข้าสู่เมืองที่เคยไกลปืนเที่ยงนั้น ในปี 2012 มีรายงานว่าเทศกาลได้ทำรายได้ให้ท้องถิ่นราว 254 ล้านเหรียญสหรัฐ ในงานศึกษาระบุว่าทางเมืองอินดิโอได้รายได้ราว 5 เหรียญสหรัฐจากทุกๆ บัตรหนึ่งใบที่ขายได้ โดยเมืองอินดิโอกลายเป็นอีกเมืองสำคัญในการจัดเทศกาลบันเทิงต่างๆ มีการประเมินว่าทางเมืองจะได้รายได้ราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐจากค่าบัตรของเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับดนตรีที่จัดขึ้นในเมือง ไม่รวมผลกำไรจากภาษีการขายและโรงแรม
แน่นอนว่าเทศกาลดนตรีจึงเป็นอีกฝันของเมืองโดยเฉพาะพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลหน่อยที่จะดึงรายได้เข้าสู่ท้องถิ่น ทว่าการสร้างเทศกาลดนตรีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในอีกด้าน จากความหวังว่าเทศกาลดนตรีจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น ทว่ากิจการและอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่บางครั้งกลายเป็นแค่การย้ายพื้นที่ กล่าวคือในงานเทศกาล กิจการที่จัดและรับเงินที่สะพัดของนักท่องเที่ยวก็กลายเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ หรือมีรายงานว่าพื้นที่ที่จัดเทศกาลสเกลใหญ่ๆ นี้สุดท้ายก็ไม่ได้นำไปสู่การลงทุนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในระยะยาวแต่อย่างใด
โคชเชลล่าเอง- เมืองอินดิโอ ก็มีปัญหาจากการเป็นเมืองของเทศกาล และการเป็นเมืองที่สองสัปดาห์และในช่วงเวลาอื่นๆ กลายเป็นจุดรวมตัวของคนดังและสายตาสื่อ ทางสภาเมืองเองจึงมีการทำความตกลงร่วมที่ผู้จัดเทศกาลจะทั้งจัดเทศกาลในพื้นที่เมืองต่อไป และมีการรับผลประโยชน์ของเมือง รวมไปถึงการกระจายผลกำไรจากรายได้ที่เมืองได้รับไปสู่การพัฒนาพื้นที่เมืองที่เป็นประโยชน์กับชาวเมืองเอง
ในแผนการการเป็นเมืองเทศกาลของอินดิโอแน่นอนว่าการจัดเทศกาลขนาดใหญ่ย่อมนำความขัดแย้งบางอย่างเข้าสู่เมือง ทางเมืองเองก็มีการรับฟังและหาทางให้เมืองอยู่กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการระบุว่าการพัฒนาเมืองใช้การลงทุนพัฒนาของบริษัทผู้จัดงาน มีการออกกฏหมายจากความเห็นชอบของสภาเมืองเช่นการจำกัดจำนวนการจัดงานไม่ให้จัดเกินห้างานใหญ่ต่อปี ไม่จัดงานต่อเนื่องกันเกินสามสัปดาห์และจำกัดจำนวนผู้เข้าชมที่ 125,000 คน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Graphic Design by Warunya Rujeewong
- Vanat Putnark
Writer