หนังหลายเรื่องมักหยิบเอาเทพเจ้าจากตำนานต่างๆ มาใช้เป็นทั้งคาแรคเตอร์หลัก เป็นเมือง และเป็นแรงบันดาลใจ จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล (Marvel Cinematic Universe) เองก็ไม่พลาด ที่จะหยิบเทพเจ้าจากทางเทพนิยายนอร์สมาออกแบบเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอย่างธอร์ (Thor) เทพแห่งสายฟ้า รวมถึงน้องชายตัวแสบอย่างโลกิ (Loki) เทพแห่งการหลอกลวง
ตามเนื้อเรื่องของหนังบ้านที่ทั้งคู่อาศัยและเติบโตมาคือเมืองแอสการ์ด (Asgard) หนึ่งในเก้าเมืองของดาวที่โอดิน บิดาของทั้งคู่ปกครองไว้ แม้แอสการ์ดมีเทคโนโลยีกว้างไกลกว่ามิดการ์ด (Midgard) หรือโลกของเรา แต่แอสการ์ดนั้นเปรียบเสมือนสรวงสววรค์ของเหล่าเทพ ที่ตัวเมืองและพระราชวังของโอดินสร้างให้เกิดความรู้สึกถึงความโอ่อ่าและยิ่งใหญ่ ราวกับเป็นเมืองที่มีเทพเจ้าอาศัยอยู่จริง
แม้โอดินจะเคยพูดกับธอร์ไว้ว่า ‘แอสการ์ดไม่ใช่สถานที่แต่คือผู้คน’ แต่กระนั้นครั้งหนึ่งแอสการ์ดก็เคยเป็นเมืองมาก่อน City Cracker ขอเกาะกระแสซีรีส์โลกิที่เพิ่งจบไปด้วยชวนทุกคนย้อนกลับไปยันเมื่อครั้นที่แอสการ์ดเคยเป็นเมืองอีกครั้ง ดูความหมายและกิมมิกที่นักออกแบบซ่อนไว้ ทั้งสะพานไบฟอร์ส พระราชวังของโอดิน รวมถึงเมือง Sakaar
ตำนานนอร์สและการวางผังเมืองของเมืองแอสการ์ด
ตามตำนานนอร์ส ต้นไม้โลก หรือ Yggdrasill คือสถานที่ตั้งของเมืองทั้ง 9 ที่แอสการ์ดปกครอง โดยจะมีแอสการ์ดอยู่ด้านบนสุด และมิดการ์ดหรือโลกอยู่ตรงกลางลำต้น แอสการ์ดเป็นดาวเคราะห์น้อยในมิติอื่นซึ่งมีธรรมชาติและฟิสิกส์แตกต่างจากมิติของทางโลก นอกจากนี้เมืองแห่งนี้ยังเป็นดินแดนที่แบนและลอยอยู่ในอวกาศ แอสการ์ดไม่หมุนรอบแกน และไม่หมุนรอบดาว แต่ยังคงมีช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ดังนั้นวัตถุหรือแรงบางอย่างจึงทำหน้าที่เป็นดาวของมัน และไม่มีหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ทำให้บางส่วนของแอสการ์ดอยู่ในฤดูหนาวตลอดกาล ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ก็จะอยู่ในช่วงฤดูร้อนตลอดกาลเช่นกัน
ทางทีมจึงได้ออกแบบและตีความแอสการ์ดออกมาตามที่เราเห็นกันในหนัง โดยรูปแบบผังเมืองของแอสการ์ดไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับเมืองอื่นๆ ในโลกมนุษย์ เนื่องจากเมืองเทพเจ้าแห่งนี้มีมิติที่แบนทำให้มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว รวมถึงเห็นได้เพียงแค่ด้านเดียวคือจากตัวเมืองด้านหน้าเท่านั้น และยังได้แรงบันดาลใจในการวางผังเมืองมาจากสามเหลี่ยม Triquetra จากวัฒนธรรมทางยุโรปเหนือ โดยสามเหลี่ยมนี้จะเริ่มจากหอคอยของสะพานก่อนจะเป็นแนวตรงเข้ามาที่ใจกลางเมืองด้วยสะพานไบฟอร์ส (Biforst) อย่างที่เราเห็นกันในหนัง
นอกจากพระราชวังของโอดินแล้ว เมืองแอสการ์ดก็ยังประกอบไปด้วยพื้นที่อื่นๆ เช่น สวน พื้นที่สาธารณะสำหรับผู้คนอย่าง Hall of Asgard ที่ไว้ใช้แจ้งข่าวสารหรือประกาศสำคัญ นอกจากนี้ทีมนักออกแบบยังเล่นกับรูปทรงเรขาคณิตผ่านงานดีไซน์เมือง เช่น ยอดแหลมสีทอง อาคารทรงกลมและสี่เหลี่ยม รวมถึงความสมมาตรต่างๆ ภายในเมืองอีกด้วย
สะพานไบฟอร์สพุ่งเข้าใจกลางเมือง
สะพานไบฟอร์ส หรือ Biforst brigde คือสะพานสายรุ้งที่ใช้เชื่อมระหว่างโลกและแอสการ์ด เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของเมืองแอสการ์ด เป็นเสมือนทางหลักของการเดินทางจากประตูเมืองหรือหอสังเกตการณ์ สู่ใจกลางเมืองอย่างพระราชวัง
นอกจากที่สะพานแห่งนี้เป็นทางเดินหลักและทางเดินเดียวที่พุ่งตรงเข้าไปสู่เมือง ตัวสะพานนี้ยังทำให้เมืองแอสการ์ดถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ที่เท่ากันอย่างสมมาตรและขนานไปกับแกนเส้นขอบฟ้าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการออกแบบเมืองโดยแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่งอย่างสมมาตรนี้ทำให้เกิดความรู้สึกสมดุลของตัวเมือง
ความหรูหราและยิ่งใหญ่ของพระราชวังโอดิน
จากความสูงของ Odin’s tower หรือพระราชวังของโอดินอันเป็นอาคารหลักของเมืองทำให้เห็นได้ชัดจากระยะไกล อาคารมีลักษณะคล้ายท่อไปป์สีทองขนาดใหญ่ เรียงลำดับความสูงต่ำ อันที่สูงที่สุดจะอยู่ตรงกลางก่อนไล่ขนาดลงมาตามลำดับ เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพลังที่มาจากศูนย์กลางเมือง
ความสูงของตัวอาคารและสเกลขนาดใหญ่นี้ ทางนักออกแบบต้องการให้รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อทางคริสเตียนที่ต้องการให้เทพเจ้านั้นดูสูงใหญ่และน่าเกรงขามกว่ามนุษย์ทั้งหลาย พระราชวังของโอดินจึงมีความคล้ายคลึงกับซากราดาฟามิลิอา หรือ sagrada familia ที่เมืองบาเซโลน่า ที่มีออกแบบอาคารให้มีลักษณะเป็นหอคอยสูงแหลมขึ้นไปบนฟ้า และใช้เสารับน้ำหนักอาคารทำให้ตัวอาคารสามารถเปิดพื้นที่กว้างและรับแสดงจากธรรมชาติได้ดี เช่นเดียวกับพระราชวังที่มีหน้าต่างระบายอากาศขนาดใหญ่ สามารถมองออกไปเห็นเมืองได้ทั้งเมือง
นอกจากนี้เพื่อขับเน้นความเป็นเมืองของเทพเจ้าที่มีพลังอันยิ่งใหญ่ หรือการเป็นสรวงสวรรค์ของเทพเจ้า ตัวอาคารและเมืองแอสการ์ดเกือบทั้งหมดจึงเน้นไปที่สีและวัสดุที่เป็นโลหะสีทองอร่ามเป็นส่วนใหญ่
สถาปัตยกรรมภายในของพระราชวัง
อีกหนึ่งฉากที่เรามักเห็นเสมอในหนัง Thor ทั้ง 3 ภาค คือฉากสถาปัตยกรรมด้านใน ที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาวิหารทางยุโรป หรือ cathedrals โดยมีที่นั่งหรืออาสนะสำหรับผู้นำพิธีเป็นศูนย์กลางของพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ตัวอาคารภายในยังประกอบไปด้วยเสาสูงขนาดใหญ่หลายต้นรับกันกับเพดานสูง มีการเปิดช่องให้ลมและอากาศไหลผ่าน รวมถึงสามารถมองเห็นเมืองทั้งหมดได้ในมุมกว้างจากด้านในของตัวพระราชวัง ซึ่งมุมนี้เองแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ปกครองที่ต้องรับผิดชอบเมืองทั้งเมืองไว้
อีกหนึ่งกิมมิกที่ทางนักออกแบบได้ใส่ไว้อย่างชัดเจน คือการแสดงถึงสัญญะของความเป็นเทพเจ้าที่อยู่สูงเหนือกว่ามนุษย์ ทีมจึงนำเรื่องของสเกลและสัดส่วนต่างๆ เข้ามาใช้ค่อนข้างเยอะในเมืองแอสการ์ด ทั้งขนาดและความสูงของเสาหรืออาคารพระราชวัง แม้กระทั่งการออกแบบบังลัก์ของโอดินให้อยู่สูงกว่าผู้เข้าเฝ้า ซึ่งไอเดียนี้ได้รับอิทธิพลมาอย่างมากจากโบสถ์และวิหารเก่าโบราณจากฝั่งยุโรปนั่นเอง
เมืองคู่ตรงข้ามอย่าง Sakaar City ของ The grandmaster
ถ้าให้แอสการ์ดเป็นเมืองที่หรูหราเปรียบเหมือนสรวงสวรรค์องค์เหล่าเทพและมนุษย์ เมืองที่เรียกว่าเป็นด้านตรงข้าม หรือ distopia ของตัวหนังเรื่องนี้ก็ต้องเป็นเมืองซาการ์ หรือ Sakaar City ของ The grandmaster ที่โผล่ออกมาในหนัง Thor ภาค 3
ตัวเมืองเป็นเพียงที่ทิ้งขยะ หรือ junkspace ของอวกาศ ขยะทุกชิ้นจากทั่วทุกมุมจักรวาล ถูกกองทิ้งไว้จนกลายเป็นเหมือนโครงสร้างของเมือง ตัวอาคารหลักของ grandmaster ที่ใจกลางเมืองเองก็ไม่ได้มีความสมมมาตรหรือโครงสร้างที่เห็นว่าวางตั้งอยู่ได้อย่างไร เปรียบเสมือนกับพื้นที่ที่ไม่มีใครสนใจ ไม่ว่าจะขยะจากที่ไหน หรือแม้กระทั่งผู้คนที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองนั้นสำคัญหรือมีคุณค่ากับที่ไหน ก็จะถูกนำมาทิ้งหรืออาศัยอยู่บนดาวดวงนี้ ทำให้ผังเมืองของ Sakaar นั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายและไม่เป็นระเบียบ
แต่บนความวุ่นวายเหล่านี้ก็ยังแสดงออกให้เห็นถึงความพยายามที่จะทำให้ตัวเองมีคุณค่าอีกครั้ง ทั้งขยะที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่เป็นโครงสร้างอาคาร และผู้คนที่พยายามจะหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับตัวเอง ปรับกันไปตามพื้นที่ที่มีอยู่ นอกจากนี้มีการจัดวางสีสันมากมาย ปะปนกัน แตกต่างจากการคุมโทนสีทองของเมืองแอสการ์ดด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
marvelcinematicuniverse.fandom.com
marvelcinematicuniverse.fandom.com
- Pharin Opasserepadung
Writer