ยังจำวิชาปลูกผักสมัยเรียนได้ไหม เราอาจมีความทรงจำที่หลากหลายกับวิชาพืชผักสวนครัว บ้างก็เรียนอย่างจริงจัง ได้ปลูก ได้เอาวัตถุดิบที่เราปลูกเองกลับไปกินที่บ้านอย่างภูมิใจ บ้างก็ถือเป็นช่วงเวลาสนุกๆ ที่ได้ออกนอกห้องเรียน บ้างก็อาจจะรู้สึกว่าเละเทะ ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่โดยรวมแล้ว ในฐานะเด็กคนหนึ่ง เราต่างตื่นเต้นกับการได้เพาะปลูก อย่างน้อยๆ เราต่างประทับใจกับการเพาะถั่วงอกที่เติบโตขึ้นด้วยมือและความตั้งใจของเรา
การทำสวนถือเป็นกิจกรรมอันสำคัญของมนุษย์ การเพาะปลูกเป็นหมุดหมายหนึ่งของอารยธรรม มีความสำคัญทั้งในระดับปากท้อง และพร้อมกันนั้นก็เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงเราเข้ากับธรรมชาติ การดูแลรักษา และการเฝ้ามองการเติบโต แน่นอนว่า การได้บริโภคสิ่งที่เราปลูกขึ้นจากผืนดินที่เราหยัดยืนอยู่ล้วนคือความประทับใจ ทุกวันนี้มีข้อสังเกตหนึ่งว่า โลกสมัยใหม่ทำให้เราแปลกแยกออกจากสิ่งที่เรารับประทาน คือเราไม่ได้ใกล้ชิดกับวัตถุดิบ ไม่ได้มองเห็นกระบวนการของสิ่งที่เรากิน นอกจากการอยู่ในแพ็คอันแสนสะอาดที่เรียงรายอยู่อย่างเงียบงัน
กลับมาที่โรงเรียน และพวกเราทุกคน ลึกๆ เราต่างสัมพันธ์และปรารถนาที่จะยึดโยงตัวเองกลับสู่ธรรมชาติ การเพาะปลูก ขุดพรวน ทำสวน ก็เป็นกระบวนการที่ขาดหายจากชีวิต สำหรับโรงเรียนแล้ว การเพาะปลูก วิชาสวนครัวล้วนอยู่ในหลักสูตรการศึกษา รวมไปถึงพื้นที่แปลงผัก แปลงเพาะที่มักปรากฏเป็นพื้นที่เรียนรู้ของโรงเรียน
แน่นอนว่าพื้นที่เพาะปลูกและวิชาเพาะปลูก คหกรรมที่ดูเป็นวิชารองจากวิชาอื่นๆ (รวมถึงวิชาที่ไม่เป็นวิชาการอื่นๆ) นั้นเริ่มได้รับการทบทวนว่า วิชาที่ดูเป็นไม้ประดับเหล่านี้อาจจะสำคัญกับตัวของเด็กๆ ไม่แพ้ความสามารถในเชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือทักษะทางภาษา เป็นทักษะวิชาที่ส่งผลกับตัวตน กับความฉลาดทางอารมณ์อันเป็นสิ่งที่จะส่งผลกับการดำเนินชีวิต มุมมองต่อโลก กระทั่งทักษะการทำงานในทำนอง soft skill อันจะส่งผลกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและความเจริญก้าวหน้า แถมยังช่วยให้เด็กๆ แข็งแรงด้วยการปลูกฝังให้รักการกินผักแถมเข้าไปอีก เป็นวิชาที่ส่งเสริมเติบโตอย่างแข็งแรงเหมือนกับผักที่เด็กๆ ได้ดูแลกันต่อไป
แปลงผักในโรงเรียน ชุมชนเล็กๆ และความสำคัญของพื้นที่กลางแจ้ง
ในระยะหลัง นอกจากด้านวิชาการแล้ว คำว่า ‘การเรียนรู้นอกห้องเรียน’ และการทบทวนวิชาทักษะต่างๆ ค่อนข้างถูกทำอย่างจริงจังขึ้น อย่างทักษะการเพาะปลูกเพื่อผลิตอาหาร ก็เป็นกิจกรรมสำคัญหนึ่งที่ทางนักการศึกษา และครูที่มีความคิดก้าวหน้าบอกว่าการเพาะปลูกเป็นพื้นที่ที่สำคัญ โรงเรียนควรให้ความสำคัญกับการออกแบบตัวสวนและกิจกรรมในพื้นที่สวน รวมถึงออกแบบวิชาการทำสวนครัว ที่จะนำประโยชน์มาให้กับนักเรียน
แน่นอนว่าวิชาที่เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกจากจะเป็นโอกาสที่เด็กๆ ได้ไปอยู่กลางแจ้ง ได้จับดิน และอยู่กับพืชผักเมล็ดพรรณแล้ว วิชาทำสวนไม่เพียงแต่สอนความรู้ภาคปฏิบัติของวิชาพฤกศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ แต่ยังสอนเรื่องการรับผิดชอบให้กับผู้เรียน นอกจากนี้ ชั่วโมงทำสวนยังเป็นคาบวิชาที่เปิดโอกาสเด็กๆ ได้เล่น ทดลอง สำรวจ และเรียนรู้ความผิดพลาดไปในกิจกรรมการเพาะปลูกอีกด้วย
วิธีการอกแบบวิชาทำสวนอย่างหนึ่ง คือการเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ในวิธีของตัวเอง นึกภาพว่าในวิชาทำสวน เราจะได้อุปกรณ์ บัวรดน้ำ ช้อนปลูก ส้อมพรวน ดิน และปุ๋ย ได้มีแปลงเพาะ และมีเป้าหมายว่าต้องปลูกผักสักอย่างหนึ่ง สิ่งที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้คือการจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้มีเป้าหมายว่าจะใช้อุปกรณ์เหล่านั้นอย่างไร จะนัดแนะแบ่งหน้าที่ เฝ้าดู ติดตาม รวมไปถึงแก้ปัญหาหน้างานอย่างไร เหล่านี้ล้วนได้เรียนรู้ฝึกทำโดยมีครูประจำคอยให้คำแนะนำตลอดการปฏิบัติจริง
ดังนั้น วิชาปลูกผักในแปลงเพาะจึงไม่ได้เป็นเพียงวิชาที่เด็กๆ จะได้อยู่แต่กับตัวเอง ยิ่งเมื่อแปลงผักเป็นแปลงส่วนกลาง เป็นงานที่ทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันในกลุ่ม และหลายครั้งก็เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ และบุคลากรอื่นๆ ในโรงเรียนได้เข้ามาร่วมรับผิดชอบ มามีปฏิสัมพันธ์ในสิ่งที่ได้รับมอบหมายดูแล วิชาปลูกผัก หรือการทำสวนจึงกลายพื้นที่ของเล็กๆ เป็นชุมชนขนาดย่อมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน แถมยังเป็นพื้นที่ของวัตถุดิบและอาหาร ที่คนทั้งโรงเรียนมีส่วนร่วมกับสิ่งที่ตัวเองกินเข้าไป
ปลูกฝังการกินผัก ถึงอกหักก็แข็งแรง
นอกจากทักษะความรับผิดชอบแล้ว ผลพลอยได้หนึ่งจากการปลูกผัก โดยเฉพาะถ้าได้ปลูกอย่างหลากหลาย ก็คือเด็กๆ ตื่นเต้นกับผักและผลผลิตของตัวเอง ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขารักผักผลไม้ที่ตัวเองปลูก และอีกหนึ่งเครื่องมือที่พ่อแม่และคุณครูจะช่วยชี้ชวนให้เด็กๆ กินและรักผักมากขึ้นด้วย
การปลูกฝังพฤติกรรมเพื่อสุขภาพผ่านการทำสวนและเพาะปลูก มีตัวอย่างให้เห็นหลากหลาย เช่นสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องปัญหาโรคอ้วน เด็กอ้วน โรคทางหลอดเลือดอันเกิดจากทั้งพฤติกรรมขาดการเคลื่อนไหว และการบริโภคอาหารสำเร็จรูปนั้น ทางอเมริกาจึงมีข้อตกลงชื่อ Farm to School Census คือเป็นการดึงแปลงผักและการเพาะปลูกเข้าสู่พื้นที่และการเรียนรู้ของโรงเรียน จากโครงการนั้น ที่นอกจากการเรียนด้านวิชาการ และการอ่านออกเขียนได้แล้ว เด็กๆ ยังได้รับการสอนให้เพาะปลูกผักประเภทต่างๆ รวมถึงให้การความรู้เรื่องโภชนาการ ตั้งแต่ชนิด ประเภท การลงมือเพาะปลูก การเตรียมผัก การปรุงผัก ไปจนถึงการเลือกกินอาหารต่างๆ โดยตัวโครงการดังกล่าวมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 7000 แห่ง ถือเป็นหนึ่งในหนทางการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพและโภชนาการของเด็กๆ อเมริกันได้เป็นอย่างดี
นักโภชนาการประจำโครงการสวนครัวที่โรงเรียน Folwell Elementary ในเมืองมินนิโซต้า (Minnesota) ให้สัมภาษณ์กับ Washington Post ว่าโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง คือเด็กๆ รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับพืชผักที่ตัวเองปลูก ผักที่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนยังเป็นแค่เมล็ดเล็กๆ และที่สำคัญคือเขาบอกว่าการมีแปลงผักและกิจกรรมปลูกผัก ทำให้เด็กๆ มีแนวโน้มจะลองกินผักที่หลากหลายขึ้น และมีโอกาสที่จะชอบกินผักมากขึ้น
สำหรับบ้านเราเอง แน่นอนว่าหลายโรงเรียนก็ให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับวิชาปลูกผักทำสวน หลายโรงเรียนใช้พื้นที่และให้ทักษะการเพาะปลูกกับเด็กๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่เป็นหนึ่งในทักษะและความรู้ ที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านความรู้ทางโภชนาการและการผลิตอาหารด้วยตนเอง
ในที่สุดเราก็ลับมาคำว่า ‘การเรียนรู้นอกห้องเรียน’ ทั้งในแง่ของคอนเซ็ปต์ของการเรียนรู้ ไปจนถึงพื้นที่และการออกแบบวิธีการให้การเรียนรู้และการศึกษาของพื้นที่โรงเรียน วิชาทำสวนและแปลงผักจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับการทบทวนและออกแบบใหม่ด้วยความเข้าใจที่มากขึ้น โดยเฉพาะความเข้าใจว่าการเรียนรู้นั้นมีความสำคัญ และสามารถทำได้ด้วยวิธีการอันหลากหลาย และไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม หรือตำราเรียนเพียงอย่างเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer