CITY CRACKER

เดินวัด ถ่ายรูป และปักหมุดต้นไม้ใหญ่ สมบัติล้ำค่าที่หลบซ่อนอยู่ในโรงงานรถไฟมักกะสัน

เคยมาที่นี่หรือเปล่า

 

นี่คือคำถามเมื่อฉันได้เจอกับผู้ร่วมกิจกรรมที่เดินทางมาถึงพร้อมกัน ฉันยืนอยู่บริเวณประตูทางเข้าที่หนึ่งของโรงงานรถไฟมักกะสันพร้อมกับส่ายหน้าเป็นคำตอบสำหรับคำถามเมื่อครู่ นี่เป็นครั้งแรกของการมาเยือนที่นี่ เราเองก็ยังจินตนาการไม่ออกเลยว่าพื้นที่ข้างในมีหน้าตาและความรู้สึกเป็นยังไง

 

“มันเป็นเหมือนวันเดอร์แลนด์นิดนึงนะ” ได้ยินเช่นนั้น ฉันก็ยังคงไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ จนได้ผ่านกำแพงก้าวเท้าเข้ามาเหยียบในดินแดนนี้จริงๆ ถึงพอจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายที่ว่าทีละน้อยพร้อมกับกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น

ช่วงครึ่งวันเช้าของวันที่ 7 กันยายน ฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเดินสำรวจต้นไม้ของที่นี่ ซึ่งจัดขึ้นโดยการร่วมมือกันของกลุ่มเจ้าหน้าที่โรงงานรถไฟมักกะสัน กลุ่ม Big Trees และ ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย
Thailand Data Journalism Network
(TDJ) งานวันนี้ยังได้เชิญชวนผองเพื่อนเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนทางสังคมต่างๆ ภูมิสถาปนิก นักศึกษา อาสาสมัคร รวมถึงช่างภาพเข้ามามีส่วนร่วมไปพร้อมๆกันด้วย

“ถ้าลองมองไปรอบๆ จะเห็นเป็นแท่งคอนกรีตหมดเลย แต่พอผ่านรั้วเข้ามาในนี้เหมือนเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ธรรมชาติสุดๆ เป็นเหมือนป่าใจกลางกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง”

สมบุญ แดงอร่าม อดีตช่างฝีมือของโรงงานรถไฟมักกะสัน ผู้มาเป็นหนึ่งในวิทยากรและเจ้าบ้านกล่าวต้อนรับผู้มาเยือนบริเวณลานดินใต้แสนร่มรื่น พร้อมบอกเล่าถึงความสำคัญของพื้นที่ 500 กว่าไร่แห่งนี้

โรงงานรถไฟมักกะสันกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 110 มีภารกิจหลักในการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนในสภาพเสียหายหนักแห่งเดียวในประเทศไทย ถ้ารถไฟขบวนใดเกิดอุบัติเหตุใหญ่ ไม่ว่าอยู่ส่วนไหนในประเทศจะถูกส่งมาที่นี่ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าแก่การอนุรักษ์อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นโรงกระสวน อาคารซ่อมรถจักร หรืออาคาร 2465 ตามข้อมูลของสมาคมสถาปนิกสยาม

แน่นอนพระเอกของงานคือต้นไม้ใหญ่จำนวนนับไม่ถ้วนที่เติบโตอยู่ในที่แห่งนี้มาเป็นเวลานาน

 

ต้นไม้พวกนี้มีอายุอย่างน้อยกว่าร้อยปี ถ้าตัด ไม่ถึงร้อยนาทีก็คงโค่นลง

 

ปัจจุบัน พื้นที่ประมาณ 150 ไร่ ประกอบด้วยโครงรางรถไฟเสียส่วนใหญ่ที่ต่อมาจากบริเวณตัวโรงงานอีกที จะถูกภาคเอกชนซื้อไปพัฒนาเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้นไม้อายุเก่าแก่จำนวนมากที่อยู่ในการแบ่งเขตนี้อาจได้รับผลกระทบจากความเจริญไปด้วย

“ทางฝ่ายการรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่มีแผนที่ต้นไม้ไว้สำหรับทำงานจริง อาจมองพื้นที่นี้เป็นผืนเปล่า การก่อสร้างโครงการในอนาคตอาจไปทำลายต้นไม้เหล่านี้ได้ เราเลยเริ่มทำแผนที่ต้นไม้เพื่อเอาไว้ต่อรองกับเขา ให้ทำงานโดยยังรักษาต้นไม้เอาไว้ได้”

ปองขวัญ ลาซูส จากกลุ่ม Big Trees ได้ฝากถึงที่มาของกิจกรรมในวันนี้ว่าจะช่วยจุดประกายความเปลี่ยนแปลง ขยายผลต่อในอนาคตอันใกล้ ก่อนเริ่มลงพื้นที่สำรวจกันจริงๆ ฉันและทีมผู้เข้าร่วมเตรียมพร้อม ฉีดสเปรย์กันยุง ทาครีมกันแดด เติมน้ำดื่มใส่ขวด และออกลุยทำความรู้จักเพื่อนต้วสูงสีเขียวไปด้วยกัน

อาจสงสัยว่า แล้วการเก็บข้อมูล (Data) ของต้นไม้ มีประโยชน์อะไรอีกบ้าง นอกจากเพียงได้ทราบรายละเอียดของต้นไม้และพิกัดที่ชัดเจนของมัน ระบบแผนที่ต้นไม้ของเมืองนิวยอร์กซิตี (New York City Street Tree Map) ซึ่งดูแลโดย New York City Department of Parks and Recreation และได้รับความช่วยเหลือในการสำรวจจากอาสาสมัครของเมืองกว่า 2,200 คนในปี 2558-2559 คงเป็นหนึ่งกรณีศึกษาที่เล่าเรื่องการใช้ต้นไม้พัฒนาเมืองได้
ผู้เชี่ยวชาญสามารถตีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของต้นไม้ในพิกัดทั้งหมดที่มีต่อนครนิวยอร์กได้ ผ่านระบบประมวลผลชื่อ I-Tree Streets ซึ่งจะบอกลักษณะ ขนาดของทรงพุ่ม และชีวมวลของแต่ละต้นได้ คุณค่าของมันจะถูกแจกแจงออกมาเป็นปริมาณ 4 ประการได้แก่ ด้านการดูดซับน้ำฝน (แกลลอน) ด้านการประหยัดพลังงาน (วัตต์) ด้านการจำกัดมลพิษ (ปอนด์) ด้านการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (ปอนด์) ผลลัพท์ที่ได้นี้เอง สามารถแปลงเป็นเม็ดเงินที่สร้างประโยชน์รวมได้กว่า 151.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ด้วยแผนที่ที่เป็นแบบอินเตอร์แรคทีฟ ยังเชิญชวนให้ชาวเมืองสามารถใช้งานได้ง่ายๆ เช่นการได้เรียนรู้กับต้นไม้ประเภทต่างๆ การกดแชร์ต้นไม้ที่ชอบและบอกต่อแก่เพื่อน รวมถึงบันทึกกิจกรรมการดูแลต้นไม้ต้นนั้นๆ อีกทั้งยังเปิดข้อมูลให้เป็น open data เพื่อการเข้าถึงของประชาชนและการพัฒนาเมืองต่อในภายภาคหน้าอีกด้วยเช่นกัน

 

การเดินสำรวจของพวกเราในวันนี้มีขั้นตอนและความมุ่งหวังที่คล้ายกัน ผู้เข้าร่วมได้ถูกแบ่งออกเป็นห้ากลุ่ม กลุ่มละประมาณห้าคน คละอาชีพและความเชี่ยวชาญ ภูมิสถาปนิกที่รู้เรื่องการออกแบบและต้นไม้ ก็จะอยู่ร่วมกับช่างภาพ และนักเก็บข้อมูลพัฒนาซอฟต์แวร์จากทีม TDJ เป็นต้น ภายในกลุ่มจะแบ่งหน้าที่เป็นคนถ่ายรูปต้นไม้ คำนวณความสูงและรัศมีทรงพุ่ม วัดเส้นรอบวงลำต้น รวมไปถึงปักหมุดผ่านสมาร์ทโฟนลงบนระบบแผนที่ออนไลน์ยุพิน (Youpin) แพลตฟอร์มสำหรับร้องเรียนปัญหาจุดต่างๆ ของเมืองในไทย หากแต่ในที่นี้เราจะใช้ #bigtree ซึ่งเอาไว้อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่โดยเฉพาะ

ถึงอย่างนั้นการลงมือทำจริงก็มีทั้งความยากปนง่ายในเวลาเดียวกัน การวัดความสูงและรัศมีทรงพุ่มของต้นไม้ต้องใช้การกะระยะเทียบอัตราส่วนกับคน โดยใช้วัตถุที่ผู้วัดนำติดมือมาอย่างไม้ลูกชิ้นหรือปากกาเป็นตัวคูณ ซึ่งใช้เวลาพอสมควร ต้นไม้บางต้นมีลำต้นผอมและสามารถใช้สายวัดเพียงเส้นเดียววัดได้เลย ในขณะที่บางต้นมีขนาดที่อ้วน เส้นรอบวงรวม 500 ซม.เป็นต้น หรือมีการแตกลำตัวเป็นสองหรือสามแฉกทำให้ยากต่อการโอบและวัดขนาด จึงจำเป็นต้องช่วยกันวัดและจับคนละไม้คนละมือ บางต้นก็ต้องอาศัยการกะขนาดด้วยสายตาแทน เพราะไม่สามารถเข้าไปถึงในระยะประชิดได้ด้วยเพิงสิ่งกีดขวางที่มนุษย์สร้างขึ้นล้อมรอบลำต้นเสียเอง

เราพบต้นไม้มากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นยางนา ไทร ตะแบก ตะเคียน ลั่นทม มะม่วง หรือโพธิ์ ที่อาจไม่ค่อยได้เห็นในชีวิตประจำวันของคนเมืองหลวง เราเดินสำรวจประชากรของพวกมันอยู่ร่วมกับโรงงานซ่อมเครื่องจักรตามถนนเส้นหลักบ้าง ในซอกหลบมุมหลังอาคารบ้าง  หรือแม้แต่ข้างๆ ตู้โดยสารรอซ่อมแซมกลางแสงแดด เรียกได้ว่าให้ความรู้สึกธรรมชาติกลืนกินไปในทุกบริเวณจริงๆ

หนึ่งในต้นไม้ไฮไลต์ที่ทำเอาพวกเราตื่นตาตื่นใจกันทุกคนคือ ต้นจามจุรีขนาดยักษ์สูงกว่า 20 เมตรเห็นจะได้ ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณพ่นสีขบวนโบกี้ แผ่กิ่งก้านและให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี ชวนให้จินตนาการได้ว่าคงมีภูตพรายปกปักษ์รักษาอยู่เป็นแน่

เมื่อได้เวลาปิดท้ายภารกิจของวัน ผู้เข้าร่วมได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้สึกที่ได้มา ร่วมถึงช่วยกันออกความเห็นติชมระบบการเก็บบันทึกข้อมูลยุพินที่ได้ใช้งานว่ามีส่วนไหนที่ใช้ยาก และควรได้รับการปรับปรุงบ้างเพื่อทางชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย
Thailand Data Journalism Network
(TDJ) จะได้นำไปพัฒนาต่อยอดในกิจกรรมครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ

ท้ายที่สุด การจัดกิจกรรมเช่นนี้อาจเป็นเพียงการเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็ได้สร้างความตระหนักด้านพื้นที่สีเขียวแก่ผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นคนเมืองอย่างมาก เพราะพื้นที่มักกะสันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และสำคัญผืนหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมาเป็นเวลานาน จึงควรได้รับการจัดการโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อการเติบโตของเมืองและคุณภาพชีวิตของผู้คนต่อไป

 

“เราไม่ได้ปฏิเสธความเจริญ หากแต่สิ่งไหนควรเก็บก็จะอนุรักษ์ไว้ควบคู่กันไป” คือความในใจของสมบุญที่วาดหวังถึงทางออกของการเปลี่ยนแปลงในที่จะเกิดขึ้นบนดินผืนนี้

 

แล้วฉันก็บอกลาวันเดอร์แลนด์ ก้าวเท้าออกจากรั้วกกลับสู่โลกแห่งความจริง พร้อมกับคำถามในใจว่า หากมีการพัฒนาที่ดินเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย เราควรรับมือกับความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างไรดี และคำตอบอาจเริ่มจากอะไรง่ายๆอย่าง การช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ แบบที่กำลังเกิดขึ้นที่โรงงานรถไฟมักกะสันแห่งนี้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

jourd-bigtrees.s3-website-ap-southeast-1.amazonaws.com/

citycracker.co

tree-map.nycgovparks.org/

voicelabour.org

thairath.co.th

 

ขอขอบคุณ

Big Trees
Data Journalist Thailand
สมบุญ แดงอร่าม อดีตช่างฝีมือ โรงงานรถไฟมักกะสัน
อินทร์ แย้มบริบูรณ์ พนักงานเทคนิค โรงงานรถไฟมักกะสัน
สุวิช ศุมานนท์ ผู้ช่วยสารวัตร โรงงานรถไฟมักกะสัน

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :