พื้นที่สีเขียวที่ฮอตฮิตในตอนนี้ที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘สวนป่าเบญจกิติ’ สวนสาธารณะที่ดึงความเป็นป่าเข้ามาไว้ในเมืองบนพื้นที่กว่า 300 ไร่ และพร้อมเปิดให้บริการทั้งเฟส 1 และ 2 เป็นที่เรียบร้อยในเดือนที่ผ่านมา นอกจากความสวยงามแล้ว ตัวพื้นที่ที่กว้างขวาง อากาศเย็นสบาย สะพานลอยฟ้าเดินสะดวกรอบสวน รวมถึงพืชพรรณหลากหลายขนิด ทำให้หลายคนเพิ่มลิสต์สวนป่าเบญจกิติเข้าไปในพื้นที่สาธารณะโปรดแห่งใหม่ทันที
สวนป่าใจกลางเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ช่วงถนนรัชดาภิเษก ต่อเนื่องมาจากสวนเบญจกิติที่อยู่ข้างกัน ออกแบบโดยทีมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ ผ่านแนวความคิดหลักเรื่องการเป็นสวนป่า รวมเอาระบบนิเวศที่มนุษย์ สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สามารถเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกันได้อีกครั้ง โดยตัวพื้นที่นี้เดิมเคยเป็นโรงงานยาสูบ ก่อนจะเปลี่ยนพื้นที่รอบๆ และอาคารเดิมให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนเมืองแทน ภายในสวนประกอบไปด้วยฟังก์ชันต่างๆ ที่ทับซ้อนกันเพื่อประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน และเป็นพื้นที่พักผ่อน รวมถึงระบบนิเวศภายในของสวน ความเป็นป่าและน้ำ ที่มาพร้อมกับความหลากหลายทางชีวภาพที่จะเกิดขึ้นในสวนป่าแห่งนี้
ในเมืองไทยพื้นที่สาธารณะรูปแบบสวนป่าอาจเป็นพื้นที่ใหม่และยังไม่คุ้นเคยสำหรับเรา แต่หลายๆ ที่ในต่างประเทศเริ่มสร้างพื้นที่สีเขียวรูปแบบนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Hongkong wetland park จากฮ่องกง Floating Garden จากประเทศจีน London Wetland Centre จากลอนดอน ทั้งหมดมีคอนเซปต์และแนวทางการออกแบบที่คล้ายคลึงกัน คือดึงความเป็นป่ากลับเข้าไปในเมือง เพิ่มความหลากหลายทางชีวิภาพและระบบนิเวศ สร้างเป็นพื้นที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ตลอดจนเกิดพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ย้อนกลับมาให้ประโยชน์แก่ชาวเมืองทุกคน
เพื่อทำความเข้าใจพื้นที่ป่าสีเขียวใจกลางเมืองที่จะกลายมาเป็นแหล่งพักผ่อนและแหล่งการเรียนรู้ใหม่ของเมืองให้มากขึ้น City Cracker ชวนรู้จักและศึกษาระบบนิเวศของ ‘สวนป่า’ หรือ Forest park ผ่านตัวอย่างจากสวนป่าเบญจกิติ ทั้งคอนเซปต์ของการเปลี่ยนพื้นที่เป็นสวนป่าของคนเมือง ระบบนิเวศ และการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนและธรรมชาติ พรรณไม้นานาชนิดกว่า 300 พันธุ์ บนพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กว่า 300 ไร่แห่งนี้กัน
สวนที่ดึงป่าเข้ามาในเมือง
คอนเซปต์ ‘ป่าในเมือง’ คือการนำเอาธรรมชาติเข้ามาอยู่ในเมือง หรือพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ให้มากขึ้น ตัวพื้นที่จะเป็น biodiversity มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืช สรรพสัตว์ใหญ่เล็ก เกิดเป็นระบบนิเวศมากกว่าสวนสาธารณะรูปแบบปกติ และทั้งหมดสามารถเติบโตและดูแลรักษาตัวเองได้ด้วยจากระบบนิเวศที่เกิดขึ้นภายในอย่างยั่งยืน
สำหรับพื้นที่สวนป่าเบญจกิติ เดิมเคยเป็นอาคารและโกดังโรงงานยาสูบที่เป็นพื้นที่ดาดแข็ง ถูกรื้อและปรับปรุงสภาพดินผ่านการขุดและถมตามภูมิปัญญาของเกษตรกรไทยสมัยก่อน นอกจากจะช่วยให้เปลี่ยนสภาพหน้าดินให้กลับมาเหมาะกับการปลูกต้นไม้ ยังช่วยในส่วนของการดูแลรักษาพื้นที่ด้วยตัวของระบบเองทั้งในหน้าแล้งและหน้าฝนอีกด้วย
มีการนำดินเดิมในพื้นที่กลับมาใช้งาน ไม่มีการขนย้ายดินเดิมออกหรือนำดินจากพื้นที่ข้างนอกเข้ามาใส่ใหม่ นอกจากนี้ทางทีมสถาปนิกยังได้ดึงเอาน้ำจากคลองไผ่สิงโตที่อยู่ด้านทิศเหนือเข้ามาบำบัดภายในสวน เพื่อช่วยให้ละแวกทั้งในและนอกสวนนั้นสะอาด สวยงาม เป็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบไปพร้อมๆ กัน
นอกจากความหลากหลายทางชีวภาพ สวนป่ายังให้ความสำคัญกับการเกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยกันและกันระหว่างต้นไม้ น้ำ มนุษย์ และสรรพสัตว์ที่เข้ามาอาศัย ภายในพื้นที่นอกจากพื้นที่พักผ่อนของมนุษย์ ยังมีส่วนของป่าที่ตั้งใจเก็บรักษาไว้เพื่อให้นกและสัตว์อื่นๆ เข้ามาอยู่อาศัย และกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้กับผู้คนในเมือง และเมื่อระบบนิเวศดั้งเดิมกลับมาคืนสู่เมืองมากขึ้น ประโยชน์อื่นๆ ที่คนกรุงจะได้รับคือเรื่องสภาพแวดล้อมที่ดี ฝุ่น มลพิษที่ลดลง และการรับมือกับน้ำท่วมและภัยทางธรรมชาติ
พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อรอรับน้ำในหน้าฝน
นอกจากความเป็นป่า อีกพื้นที่สำคัญคือน้ำ ด้วยกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่อยู่กับน้ำมาอย่างยาวนาน การดึงเอาสวนป่าเข้ามาในเมือง น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถขาดได้ และเมื่อผ่านกระบวนการปรับปรุงพื้นที่ ปลูกต้นไม้ที่เหมาะสม และระบบการจัดการน้ำที่ดี พื้นที่ตรงนี้ก็สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่ wetland สำหรับหน่วงน้ำในกรณีที่เกิดน้ำท่วมได้อีกด้วย
พื้นที่ wetland หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ คือพื้นที่ระหว่างพื้นดินและน้ำ เป็นพื้นที่ที่มีระบบชีวนิเวศสมดุลและเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตอย่างพืชและสัตว์ และสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ เช่น อากาศ แสงแดด หิน พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้สามารถรองรับน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กลายเป็นแอ่งน้ำในหน้าฝน และกลับมาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในหน้าแล้งได้อีกครั้ง
เช่นเดียวกับการออกแบบสวนป่าเบญจกิติ เมื่อเดินเข้าไปจะพบกับพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ตัวสวนล้อมรอบไปด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยที่เกิดจากการขุดและถมดินในช่วงของการปรับพื้นที่ และต้นไม้หลากหลายชนิดที่รายล้อมอยู่ ประโยชน์สำคัญหลักๆ ของพื้นที่ตรงนี้คือการเป็น Urban Reservoir หรือ อ่างเก็บน้ำในเมือง ที่ใช้สำหรับการหน่วงน้ำได้ คือเมื่อมีฝนตกหนัก หรือเกิดน้ำท่วม พื้นที่ตรงนี้สามารถรองรับน้ำไว้ให้ได้ เพื่อชะลอน้ำที่อาจเข้าท่วมเสียหาย และลดระยะการท่วมขังพื้นที่บ้านเรือนในชุมชนละแวกใกล้เคียง
ความหลากหลายของพันธุ์ไม้พื้นเมืองกรุงเทพฯ
แม้ว่าในเนื้อที่กว่า 300 ไร่ จะมีจำนวนต้นไม้เดิมกว่า 1,000 ต้น แต่ทางทีมสถาปนิกยังเลือกปลูกต้นไม้เพิ่มเข้าไปอีก 3,000 กว่าต้น จาก 300 สายพันธุ์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับพื้นที่ ความพิเศษอยู่ที่ต้นไม้เหล่านั้นเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของกรุงเทพมหานคร แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์และรากเหง้าและสะท้อนกลับมาผ่านการออกแบบสวนป่าแบบกรุงเทพฯ
ต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ล้วนแต่เป็นไม้พื้นถิ่นเดิม ตั้งกระจายอยู่บนเกาะหลักทั้ง 4 เกาะของพื้นที่ เช่น มะกอกน้ำ ตามชื่อของกรุงเทพฯ หรือบางกอก ต้นลำพู ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร่ และต้นกร่าง รวมถึงต้นไม้ที่ได้ชื่อตามริมคลองของกรุงเทพฯ เช่น คลองต้นไทร แม้กระทั่งนาข้าว
ต้นไม้ทั้งหมดจะถูกนำมาปลูกและจัดวางให้เหมาะสมตามลักษณะและสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้เหล่านั้นต้องการ และอิงไปกับพื้นที่ภายในสวน เช่น เนินริมน้ำ พื้นที่ชายน้ำ พื้นที่ที่น้ำท่วมถึงและไม่ถึง เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างเต็มที่และเกิดภาพของสวนป่าที่มีการรักษาพื้นที่และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เกินกว่าครึ่งของต้นไม้ทั้งหมดคือไม้กล้าคัดเมล็ดที่มีความสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร เพื่อรอโอกาสที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้การปลูกต้นไม้ตามแต่ละพื้นที่ยังชวนให้นึกถึงความเป็นป่าที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่ชุมชนมากขึ้นผ่านการจัดพื้นที่ส่วนนาข้าว ต้นไม้เพาะแปลงเล็กไว้ใกล้กับส่วนของพื้นที่อาคาร และมีพื้นที่ป่าที่โอบล้อมอยู่ด้านนอกแทน นอกจากจะเป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อน สวนป่าเบญจิกิติยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ไม้พื้นถิ่นดั้งเดิมให้แก่ชาวกรุงที่สนใจได้อีกด้วย
สะพานลอยฟ้าทางเดินและพื้นที่การเรียนรู้
แม้จะเป็นการดึงสวนป่าเข้ามาไว้ใจกลางกรุง แต่พื้นที่และฟังก์ชันเดิมของการเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของผู้คนเองยังต้องคงอยู่ สวนป่าแห่งนี้จึงประกอบไปด้วยพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ออกกกำลังกาย เทรลเดิน วิ่ง และปั่นจักรยาน ตลอดจนพื้นที่สังสรรค์และพักผ่อนเช่นเดียวกับสวนทั่วๆ ไป พื้นที่แห่งนี้จึงประกอบไปด้วยเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เทรลเดิน วิ่ง และปั่นจักรยาน กิจกรรมเดิน boardwalk ริมน้ำ ศาลาพักริมทาง ตลอดจนพื้นที่สังสรรค์และทำกิจกรรม โดยพื้นที่กิจกรรมนี้จะถูกล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ธรรมชาติที่เก็บรักษาไว้
นอกจากนี้ยังมีการเก็บพื้นที่อาคารบางส่วนของโรงงานยาสูบเดิมไว้ และปรับเปลี่ยนการใช้งานให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้สวนป่า และธรรมชาติเพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้งานแทน ผ่านการจำลองพื้นที่สวนป่าเข้าไว้ข้างในอาคาร เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้ เปิดพื้นที่ open space สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและพักผ่อนได้สะดวกขึ้น เปลี่ยนโกดังเก็บใบยาเป็นพื้นที่ออกกิจกรรมสุขภาพสำหรับคนเมือง เป็นพื้นที่กีฬาและนันทนาการโดยมีคอนเซปต์คือ bicycle hub เพื่อเกิดการเชื่อมต่อไปสวนลุมพินีด้วยการปั่นจักรยาน
มากไปกว่านั้น พื้นที่ทั้งหมดนั้นจะเป็นการออกแบบโดยยึดแนวความคิด universal design เป็นหลัก เพื่อเป็นการเปิดการเข้าถึงสวนให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน นอกจากนี้ยังเปิดการเข้าถึงสวนได้ง่ายขึ้นผ่านการเชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่นอกสวนและข้างใน และสวนอื่นๆ อย่างสวนลุมพินีผ่านตัวสะพานเขียวเป็นหลักอีกด้วย
เรียบเรียงจากข้อมูลจากการสัมภาษณ์ตัวแทนสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ ชัชนิล ซัง Landscape Studio Director และ พรหมมนัส อมาตยกุล Project Architect เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563
Illustration by Montree Sommut
- Pharin Opasserepadung
Writer