CITY CRACKER

ธรรมชาติกลางป่าคอนกรีต 5 พื้นที่สีเขียวแปลงยักษ์สำคัญกลางเมือง

เวลาเรานึกถึงเมือง เรามักนึกถึงคำว่า ‘ป่าคอนกรีต’ เมืองใหญ่ยุคหนึ่งคือพื้นที่แห่งการพัฒนา มีการหักร้างถางพงและสร้างความเจริญขึ้นด้วยตึก อาคาร ถนนหนทางของมนุษย์ แต่แน่นอนว่าก่อนที่จะมีเมือง เราเคยอยู่ร่วม หรือตัวพื้นที่เองต่างเป็นพื้นที่ธรรมชาติมาก่อน ด้วยบริบทประวัติศาสตร์และลักษณะอันหลากหลายของพื้นที่เมือง เมืองใหญ่หลายแห่งจึงมักจะมีพื้นที่ธรรมชาติ หรือพื้นที่รกร้างขนาดใหญ่หลงเหลืออยู่ และด้วยความที่เมืองเป็นพื้นที่สำคัญ พื้นที่ของเมืองทุกตารางนิ้วมีความหมายที่ไม่ใช่เพียงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความหมายในการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ที่กระทบต่อผู้คน คุณภาพชีวิต และกระทบกับภาพใหญ่ของเมืองเอง

ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่สีเขียวแปลงใหญ่ๆ ในเมืองมักสัมพันธ์บริบททางประวัติศาสตร์ เป็นการครอบครองและใช้พื้นที่ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างยุคก่อนหน้าและยุคปัจจุบัน สวนขนาดใหญ่หลายแห่งสัมพันธ์กับการเป็นพื้นที่ล่าสัตว์ของชนชั้นสูง จากสวนป่าที่เป็นพื้นที่สันทนาการก็ถูกนำออกมาใช้เป็นสาธารณประโยชน์ เช่นที่มอสโกที่ได้เลือกเปลี่ยนพื้นที่ของโรงแรมเก่าข้างจัตุรัสแดงเป็นสวนที่แสดงตัวตนของรัสเซียผ่านงานออกแบบภูมิทัศน์ หรือบางแห่งเช่นสิงคโปร์ก็ได้ปรับพื้นที่เสื่อมโทรมเป็นคลองระบายน้ำ ที่เป็นสวนสันทนาการและพื้นที่ที่ส่งผลเชิงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมให้กับเมือง

Central Park, NY

ว่าด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ก็ต้องพูดถึงเซ็นทรัลพาร์ก สวนที่กลายเป็นเหมือนหัวใจของแมนฮัตตันและเป็นหน้าเป็นตาของนิวยอร์ก ตัวเซ็นทรัลพาร์กนอกจากจะเป็นที่หลบจากความวุ่นวายของชาวนิวยอร์กแล้ว ยังเป็นเป้าหมายระดับโลกที่ผู้คนเดินทางมาเพื่อสัมผัสส่วนหนึ่งของมหานครและลองมาเป็นนิวยอร์กเกอร์เซ็นทรัลพาร์กเป็นสวนที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ และถือเป็นหนึ่งในทัศนะของนิวยอร์กที่ตัดสินใจปรับเมืองให้ดีกับผู้คน ในทศวรรษ 1850 ตอนนั้นเมืองนิวยอร์กเริ่มมีผู้อพยพมากขึ้น แออัดขึ้น และความเละเทะของเมืองทำให้ทางการเห็นว่าเมืองที่กำลังเฟื่องฟูอาจอยู่อาศัยไม่ได้ ในปี 1853 ทางการจึงออกกฎหมายเวนคืนที่ดินขนานใหญ่เพื่อปฏิรูปเมือง สร้างเมืองที่เป็นระบบ เกิดระบบผังเมืองแบบกริดอันโด่งดัง และที่สำคัญของแผนคือการเวนคืนที่ดินขนาด 775 เอเคอร์ในแมนฮัตตัน

เซ็นทรัลพาร์กของนิวยอร์กในฐานะสวนที่มีอายุกว่า 160 ปี จึงมีประวัติอันยาวนานพอๆ กับความรู้เรื่องการออกแบบภูมิทัศน์ และการพัฒนาเมือง ภาพของเซ็นทรัลพาร์กในยุคเวนคืน ตอนนั้นที่ดินในแมนฮัตตันเป็นที่กึ่งรกร้าง เต็มไปด้วยดินโคลนและพื้นที่ลุ่มๆ ดอนๆ เต็มไปด้วยหิน มีฟาร์มเล็กๆ และบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ การพัฒนาแรกคือปรับสภาพพื้นที่ หลังจากนั้นเซ็นทรัลพาร์กก็เจอกับปัญหาการวางผัง การปรับปรุง ภาวะขาดงบ และการทิ้งร้าง จนมาถึงปัจจุบันในสวนนี้ประกอบด้วยสนามหญ้าและทุ่ง พื้นที่รักษาธรรมชาติ สนามเด็กเล่น ทะเลสาบและน้องห่านที่โด่งดัง ทั้งหมดนั้นทางเมืองได้ลงทุนไปกับปอดยักษ์แห่งนี้กว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อปรับปรุงและรักษาหัวใจสีเขียวของนิวยอร์กไว้

Hyde Park, London

ไฮด์ปาร์กเป็นอีกสวนขนาดใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 350 เอเคอร์ เป็นสวนหย่อนใจ และเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับการเมือง เป็นพื้นที่ของการประท้วงและการปราศรัย สวนสาธารณะไฮด์ปาร์กถือเป็นสวนที่เก่าแก่ และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในยุคกลางราวศตวรรษที่ 15 อังกฤษในตอนนั้นเป็นระบบศักดินา มีระบบขุนนางและอัศวิน มีการครอบครองที่ดินและการเข้าสวามิภักดิ์เป็นระบบสำคัญ ถ้าเรานึกภาพออก อังกฤษหรือยุโรปตอนนั้นจะเต็มไปด้วยคฤหาสน์ ปราสาท และโบสถ์ แต่ละที่จะมีพื้นที่จำนวนมาก พื้นที่ไฮด์ปาร์กในยุคแรกเป็นทรัพย์สินของวิหารเวสต์มินสเตอร์ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับล่าสัตว์และเป็นแหล่งฟืน ชื่อสวนเชื่อว่ามาจากภาษาแซกซันโบราณ คำว่า Hide หมายถึงขนาดพื้นที่สำหรับการครอบครองประมาณที่ 1 ไร่ช่วงศตวรรษที่ 16 เมื่อศาสนจักรเริ่มเสื่อมอำนาจ ในปี 1536 พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เรียกคืนสิทธิ์ครอบครองพื้นที่สวนไฮด์ปาร์ก และปรับให้กลายเป็นสวนปิดสำหรับเลี้ยงกวาง เอาไว้ใช้เป็นพื้นที่สำหรับล่าสัตว์ส่วนพระองค์ หลังจากยุคพระเจ้าเฮนรี่ตัวสวนแห่งนี้ค่อยๆ ได้รับการปรับปรุงและเปิดสู่สาธารณะ ในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ที่ทรงเริ่มเปิดสวนให้สุภาพบุรุษเข้าใช้งาน เริ่มทรงสร้างถนนวงกลมไว้ในสวนสำหรับรถม้าเรียกว่า the ring จนในปี 1637 ก็ได้ทรงเปิดเป็นสวนสาธารณะให้กับคนทั่วไปโดยสมบูรณ์

ตัวสวนแห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับความเป็นอังกฤษ ตั้งแต่สวนล่าสัตว์ สวนหย่อนใจ เป็นพื้นที่สำหรับการกีฬาของชาวเมือง เป็นที่ขี่ม้า และที่เก๋คือมีการเข้ามาประลองดาบกันจนเกิดการเสียชีวิตขึ้นหลักร้อยรายในสวน จนถึงปัจจุบันตัวสวนแห่งนี้กลายเป็นทั้งพื้นที่สำหรับหนีจากความวุ่นวาย เป็นพื้นที่สำหรับการกีฬา ทั้งพายเรือ ขี่ม้า เล่นเทนนิส และเป็นพื้นสำคัญทั้งในการจัดนิทรรศการและคอนเสิร์ตระดับโลก เช่นพื้นที่หน้าเซอเพนไทน์ที่เป็นพื้นที่จัดแสดงงานออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมที่ทั่วโลกจับตา และแน่นอนว่าเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่สำคัญของโลก

Zaryadye Park, Moscow

สำหรับสวน Zaryadye Park ของรัสเซีย เป็นสวนที่เพิ่งสร้างเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา แม้จะสร้างได้ไม่นาน แต่สวน Zaryadye Park ก็ถือเป็นสวนที่มีประวัติศาสตร์ของพื้นที่ยาวนาน และเป็นการตัดสินใจจัดการพื้นที่ขนาดใหญ่ข้างจัตุรัสแดงกลางมอสโกที่เคยเป็นของเอกชน ปรับเป็นสวนสาธารณะ ตัวสวนใหม่แห่งนี้ของรัสเซียจึงดูจะเป็นการตัดสินใจที่สะท้อนวิธีคิด และการให้ความสำคัญที่มหาอำนาจของโลกเลือกลงทุนและสร้างสวน เพื่อแสดงตัวตนและความยิ่งใหญ่ของประเทศผ่านงานออกแบบสวนสวน Zaryadye Park ตั้งอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์และสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มอสโก ตัวพื้นที่ตั้งอยู่ติดกับจัตุรัสแดงและพระราชวังเครมลิน มีขนาดประมาณ 35 เอเคอร์ แรกเริ่มเป็นที่อยู่ของชาวยิวและค่อยๆ กลายเป็นหัวใจทางการค้า เคยเป็นพื้นที่ที่จะสร้างตึกระฟ้ายุคสตาลิน ต่อมาได้กลายเป็นโรงแรม Rossiya โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ตัวโรงแรมเลิกกิจการและถูกทุบลงในปี 2007 หลังจากนั้นก็เป็นพื้นที่ไม่ได้ใช้งาน มีแผนการพัฒนาหลากหลายด้วยการวางให้เป็นคอมมูนิตี้มอล

กระทั่งในปี 2012 ทางเทศบาลเมืองมอสโกตัดสินใจปรับแผนการใช้พื้นที่ยักษ์ใหญ่เดิมจากห้างมาเป็นพื้นที่เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะแทน มีการจัดประกวดแบบในระดับนานาชาติและสตูดิโอ Diller Scofidio + Renfro (DS+R) ก็ชนะและได้งานไป จุดเด่นของสวน Zaryadye Park อยู่ที่การดึงเอามรดกของรัสเซียและมอสโกเข้ากับเทคนิคการก่อสร้างร่วมสมัย ตัวสวนแห่งนี้ถือเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกที่สร้างขึ้นใหม่ในรอบ 70 ปีของกรุงมอสโก

ตัวสวนเน้นการออกแบบให้เป็นกึ่งป่า เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ทางสังคมของคนเมือง เป็นลานของเมือง ด้วยความที่สวนตั้งอยู่ในหัวใจของมอสโกและตั้งอยู่ริมน้ำ จุดเด่นของสวนจึงอยู่ที่การผสานบริบทของเมืองและชาติเข้าไว้ในสวน มีการใช้อิฐของจัตุรัสแดงเข้าผสานกับงานออกแบบ มีสะพานล้ำสมัยไร้เสาที่ทอดเหนือแม่น้ำมอสโก และที่สำคัญคือการออกแบบป่าขนาดย่อมที่แบ่งเป็น 4 ส่วน อันเป็นเหมือนการย่อภูมิประเทศของรัสเซียไว้ คือมีโซนทุนดรา ทุ่งหญ้าสเตปป์ ป่า และที่ชุ่มน้ำ และด้วยความที่รัสเซียเป็นดินแดนแห่งความหนาวเหน็บก็เลยสร้างถ้ำน้ำแข็งที่ไม่มีวันละลายไว้

Bishan-Ang Mo Kio Park, Singapore

Bishan-Ang Mo Kio Park หรือที่รู้จักสั้นๆ ในนาม Bishan Park เป็นสวนสำคัญขนาดใหญ่อีกสวนหนึ่งของสิงคโปร์ ตัวสวนตั้งอยู่ในเขต Bishan และเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับย่านพักอาศัยสำคัญ 3 ย่านคือ Bishan, Yishun และ Ang Mo Kio แน่นอนว่าสิงคโปร์เป็นเมืองที่ตั้งใจสร้างมหานครสมัยใหม่ขึ้นบนสวน และวางให้พื้นที่สีเขียวเป็นองค์ประกอบสำคัญของประเทศ วิถีชีวิต และผู้คน ความพิเศษของสวน Bishan คือการปรับปรุงคลองระบายน้ำเดิมที่เป็นคลองดาดแข็ง (ปูด้วยซีเมนต์) ใช้วิธีคิดใหม่เข้ามาร่วมออกแบบคือโปรเจ็กต์ ABC Waters อันหมายถึงการเปลี่ยนโครงข่ายสีฟ้า หรือเส้นทางน้ำของประเทศให้มีฟังก์ชั่นที่ซับซ้อนขึ้น พร้อมความสวยงาม ตามตัวย่อ ABC ที่ย่อมาจาก Active, Beautiful และ Clean Watersก่อนหน้าการปรับปรุง บริเวณพื้นที่สวนแต่เดิมมีต้นไม้ เป็นพื้นที่สีเขียวกึ่งป่า และมีคลองซีเมนต์ตัดผ่าน ซึ่งคลองนี้ได้ทำหน้าที่ระบายน้ำ จึงคล้ายๆ คลองในหมู่บ้านที่มีต้นไม้ แต่จะมีอุปสรรคคือเดินไปใช้ได้ไม่สะดวก แถมการทำคลองไว้ระบายน้ำอย่างเดียวก็เสี่ยงน้ำเสียและรับน้ำไม่พอจนเอ่อล้น ดังนั้น ด้วยแนวคิดใหม่ก็เลยทำการเปลี่ยนพื้นที่ที่สีเขียวสีฟ้าแยกจากกัน ทั้งยังรักษาฟังก์ชั่นระบบระบายน้ำแบบดั้งเดิม ฟอกทำความสะอากน้ำเสียให้กับเมือง และเนรมิตจนกลายเป็นสวน Bishan ในปัจจุบัน

การผสมผสานทุกอย่างเข้าด้วยจึงเป็นหัวใจสำคัญของสวน ตัวสวนออกแบบให้ผู้คนกลืนเข้ากับธรรมชาติ คลองแข็งๆ ถูกปรับเป็นลำธาร มีการออกแบบเส้นทางเดินให้ผู้คนข้ามและลงไปในน้ำลำธารได้ และที่สำคัญคือการใช้งานออกแบบเพื่อควบคุมเส้นทางน้ำ มีการปล่อยขึ้นลงตามวงจร ทั้งยังเน้นออกแบบและใช้ความรู้เพื่อให้สวนร่วมซับน้ำและฟอกทำความสะอาดน้ำไปพร้อมๆ กัน ด้วยเงินลงทุน 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และแนวคิดการออกแบบอย่างรอบด้าน ทำให้สวนแห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชาวเมืองในย่าน

สวน Bishan Park แห่งนี้ได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย และกลายเป็นสวนต้นแบบ ทั้งยังสะท้อนถึงนโยบายของสิงคโปร์ที่ไม่เพียงสร้างสวนเท่านั้น แต่ยังเน้นการทำให้สวนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในใจของผู้คน ทำให้คนรักต้นไม้และธรรมชาติจากการสร้างพื้นที่ทางกายภาพและการออกแนวนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมและรอบด้าน

Shenzhen Bay Culture Park, Shenzhen

อีกครั้งที่จีนจะเป็นแนวหน้าบุกเบิกและสร้างพื้นที่ใหม่ๆ คราวนี้เป็นที่เซินเจิ้น เมืองเศรษฐกิจที่จีนวางแผนและเผยแบบ ‘สวนวัฒนธรรม’ ที่บริเวณอ่าวในย่าน Houhai area เขต Nanshan เขตที่เป็นเสมือนซิลิคอนวัลเลย์ของจีน สิ่งที่ทางเมืองทำคือสร้างสวนขนาดใหญ่ไว้รองรับ สวนที่ทำหน้าที่ทั้งเชื่อมเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันและไฟของคนรุ่นใหม่ เชื่อมต่อเข้ากับผืนน้ำของมหาสมุทรที่สงบนิ่ง และสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และร่วมฟูมฟักธุรกิจใหม่ๆ ต่อไปShenzhen Bay Culture Park จึงเป็นอีกหนึ่งงานออกแบบที่ล้ำยุค และเป็นลักษณะสวนสาธารณะที่น่าจับตา เสนอแบบและดำเนินการโดย MAD Architects สตูดิโอระดับโลกที่ฝากผลงานที่เหมือนมาจากหนังไซไฟไว้ ด้วยความที่โจทย์คือการสร้างพื้นที่สาธารณะให้กับซิลิคอนวัลเลย์ของจีน ตัวสวนแห่งใหม่ที่วางว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้านี้ จึงเป็นการผสานพื้นที่สีเขียว ทะเลสาบ และสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่อันเป็นตึกขนาดมหึมา มีพื้นที่ปลูกสร้างใช้สอยราวสองแสนตารางเมตร ตัวอาคารที่จะถูกออกแบบขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมสร้างสรรค์และส่งเสริมกิจการใหม่ๆ อันจะขับเคลื่อนธุรกิจจีนในอนาคต

ความเท่ของตัวอาคารแน่นอนว่าตัวตึกทรงโค้งสีเงินนี้ ด้วยตัวมันเองก็เป็นงานศิลปะ มีการออกแบบที่ชวนฉงนสงสัย ตัวอาคารจะจมผสานลงกับพื้น มีส่วนใช้งานทั้งที่อยู่เหนือผิวดินและอยู่ใต้ดิน หลักๆ แล้วสวนแห่งนี้ก็เป็นตามชื่อคือเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ในอาคารจะประกอบด้วยพื้นที่รับรอง ส่วนจัดนิทรรศการ พื้นที่เรียนรู้สาธารณะ ห้องสมุด โรงละคร คาเฟ่ และมีส่วนสนับสนุนธุรกิจกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่

.
Share :