มักกะสันถือเป็นพื้นที่สำคัญทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ และการเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดมหึมาใจกลางกรุงเทพ พื้นที่มักกะสันเรียกกันว่าโรงงานมักกะสัน เป็นโรงงานรถไฟขนาดใหญ่ทำหน้าที่ซ่อมและประกอบรถจักรรถพ่วงได้ทุกชนิดเริ่มกิจการตั้งแต่ปี 2453 ในวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมาเป็นวันสถาปนาโรงงานมักกะสัน มีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์คือการปลูกต้นรวงผึ้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติและให้เป็นร่มเงา รวมถึงมีพิธีบวชต้นไม้ใหญ่เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ต้นไม้ในพื้นที่เก่าแก่แห่งนี้
ย้อนไปในปี 2453 สมัยนั้นกรมรถไฟต้องการพื้นที่สำหรับสร้างโรงงานรถไฟแห่งใหม่แทนสถานีรถไฟกรุงเทพหัวลำโพง ปี 2481 เริ่มมีการเวนคืนที่ดินเพื่อขยายพื้นที่รองรับกิจกรรมทางอุตสาหกรรม มีการสร้างโรงซ่อมเครื่องไฟฟ้าและโรงงานอื่นๆ พร้อมสร้างโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ บ้านพักคนงานและเจ้าหน้าที่ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างเมืองอุตสาหกรรมย่อยๆ ขึ้น พื้นที่มักกะสันเคยเผชิญกับทั้งสงครามและความเจริญรุ่งเรือง เคยถูกระเบิดในสงครามมหาเอเชียบูรพา เคยกลายเป็นนิคมเครื่องจักรที่ใหญ่ที่สุดที่ไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถไฟไทย เป็นแหล่งผลิตที่สามารถผลิตได้แทบทุกอย่าง หลายประเทศเคยสั่งซื้ออุปกรณ์เช่นเครื่องห้ามล้อจากไทยที่ผลิตขึ้นในนิคม
ผ่านไป 109 ปี กิจการรถไฟเริ่มถูกลดทอนความสำคัญลง มักกะสันถูกโอบล้อมด้วยเมืองใหญ่ มักกะสันจึงกลายเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ที่ดูเหมือนถูกตัดขาดจากกาลเวลามาเนิ่นนาน กำลังต้องขยับขยายและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทางการรถไฟฯ เจ้าของพื้นที่กล่าวถึงแผนพัฒนาพื้นที่ขนาด 497 ไร่ ให้สอดคล้องและได้ประโยชน์เหมาะสม ในส่วนการพัฒนาแรกหรือมักกะสันโซน A จะเป็นการตัดพื้นที่ 150 ไร่ รวมกับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ปัจจุบัน CP ชนะการประมูลไป ทางการรถไฟระบุว่าในส่วนแรกจะพัฒนาเป็นส่วนการค้า มี City Air Terminal ร้านค้าปลอดภาษี โรงแรม ศูนย์ประชุมและสำนักงาน ในขณะที่โซนต่อๆ ไปจะขยายไปสู่การพัฒนาอื่นๆ ตั้งแต่ธุรกิจสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้า โรงพยาบาล ไปจนถึงโรงเรียน และพิพิธภัณฑ์
การ ‘พัฒนา’ มักกะสัน ที่เป็นพื้นที่สำคัญในหลายๆ ด้านจึงเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น สุสานรถไฟเก่าและพื้นที่ในโรงงานมักกะสันที่ซบเซาลงกว่าครึ่งทศวรรษได้กลับกลายเป็นเกาะสีเขียวที่เกือบจะเป็นป่า มีประเด็นเรื่องการรักษาพื้นที่สีเขียว ไปจนถึงการเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และมรดกตกทอดจากความรุ่งเรืองของการรถไฟไทย นอกจากตัวอาคารเก่าที่ทางสมาคมสถาปนิกรายงานว่าเป็นอาคารคู่ควรการอนุรักษ์จำนวนมาก เช่น อาคาร 2465 คลังพัสดุโรงงาน บ้านพักไม้ในพื้นที่นิคมรถไฟมักกะสัน และโรงพยาบาลบุรฉัตร–ไชยากร แล้ว ตัวพื้นที่ยังมีความสำคัญในฐานะแหล่งฝึกหัดการช่างและการเป็นพื้นที่ความทรงจำของโลกอุตสาหการไทย
จริงอยู่ว่า โครงการพัฒนาปัจจุบันของทางการรถไฟยังเป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่อย่างน้อยที่สุดแม้ว่าโครงการส่วนแรกสุด 150 ไร่ยังเป็นพื้นที่ส่วนน้อยของมักกะสัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าการเข้าพัฒนาพื้นที่ 150 ไร่นี้จะต้องมีการย้ายรางรถไฟจนอาจต้องมีการตัดต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่
ประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและในเชิงประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ ในงานจึงมีการจัดพิธีบวชต้นไม้ขึ้นเพื่อกระตุ้นการอนุรักษ์รักษาไม้ใหญ่เก่าแก่ที่อยู่ภายในพื้นที่มักกะสันเอาไว้ การบวชต้นไม้หรือบวชป่านี้เป็นวิธีสำคัญที่ชาวบ้านใช้เพื่อรักษาผืนป่าและทำกันมากในป่าแถบภาคเหนือที่ถูกรุกรานหนักทั้งจากชาวบ้านและภาคธุรกิจในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
เชื่อว่าการบวชป่าริเริ่มโดย พระครูมานัสนทีพิทักษ์ โดยผืนป่าสำคัญที่ได้รับการบวชคือป่าแห่งตำบลศรีถ้อย ป่าต้นน้ำห้วยขุนน้ำแม่ใจ โดยตัวท่านเองเห็นว่าลำพังตัวเองไม่สามารถยับยั้งการตัดไม้ป่าต้นน้ำแห่งนี้ได้ จึงอาศัยความเชื่อและพิธีกรรมแบบพุทธคือจัดพิธีห่มผ้าเหลืองและบวชผืนป่าขึ้น การบวชป่านี้ดูจะสอดคล้องและสืบเนื่องกับความเชื่อของไทยและของชาวบ้านที่เชื่อว่าป่าเขาเป็นพื้นที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระครูมานัสนทีพิทักษ์เป็นพระนักอนุรักษ์ ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวในปี 2543 นอกจากการบวชต้นไม้แล้วท่านยังเริ่มพีธีสืบชะตาแม่น้ำ
การกลับมาของการบวชป่าในมักกะสัน ‘ป่า’ กลางเมืองของกรุงเทพจึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามอนุรักษ์และสร้างความสนใจให้ต้นไม้และผืนป่าเก่าแก่แห่งนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Cover by ImagineMakkasan
- CITY CRACKER
Little crack, hack city.