CITY CRACKER

we!park – We create park!  โครงการที่อยากให้การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวเป็นเรื่องของทุกคน

พื้นที่สีเขียวในเมืองมีน้อย ไม่เพียงพอ เข้าถึงยาก ทุกคนรู้ แต่ในเมืองที่แน่นขนัดขึ้นทุกวันอย่างกรุงเทพมหานคร เรายังสามารถสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ได้อยู่ไหม วันนี้เราอยากชวนทุกคนมารู้จัก We park โครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กในเมือง ที่จะบอกคุณด้วยความมั่นใจว่า เมืองนี้สามารถสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ได้ ถ้าเรามาร่วมด้วยช่วยกัน

สวนสานธารณะ: KLONGSAN POP-UP PARK 2020

ศักยภาพของพื้นที่ทิ้งร้าง 

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครนั้นมีโครงการพัฒนาใหม่ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันการหาที่ดินว่างเปล่าขนาดใหญ่มาสร้างสวนสาธารณะของเมืองแบบสวนลุมพินี สวนรถไฟ หรือสวนจตุจักรนั้นเกิดขึ้นได้ยาก ถึงแม้ว่าเมืองเราจะแน่นขนาดนี้ แต่เมื่อมองดูให้ดีในเมืองกลับมีที่ดินทิ้งร้างที่ไม่ถูกใช้งานจำนวนมาก เป็นพื้นที่ว่างที่ถูกซื้อไว้รอเก็งกำไรบ้าง เป็นพื้นที่เลียบคลองที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจนกลายเป็นที่อโคจรบ้าง เป็นที่ที่โดนล้อมด้วยโครงการก่อสร้างใหม่ๆ จนไม่มีถนนเชื่อมต่อไปถึงบ้าง

พื้นที่ทิ้งร้างเหล่านี้เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนเส้นทางสัญจรจากทางน้ำเป็นทางบก การเกิดขึ้นและปิดตัวลงของเขตอุตสาหกรรมที่เหลือมลพิษทิ้งไว้ในพื้นที่ การขยายโครงข่ายคมนาคมของเมืองอย่างไม่เป็นระบบทำให้ชุมชนเดิมถูกตัดขาดออกจากกัน หรือแม้แต่แนวโน้มการพัฒนาแบบกบกระโดด (Leapfrog) ที่เลือกพัฒนาเฉพาะที่ดินที่มีราคาถูกเพื่อนำมาสร้างกำไรโดยไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาระยะยาวในภาพรวมของเมือง ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เกิดพื้นที่ระหว่างพื้นที่เดิมและพื้นที่พัฒนาใหม่ที่ไม่มีความต่อเนื่องกัน เกิดเป็นที่ดินทิ้งร้างขนาดเล็กจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง ซึ่งยากต่อการเชื่อมต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานและการนําไปพัฒนา จึงทําให้มีสภาพเป็นพื้นที่เหลือที่สูญเปล่า

We!park คือโครงการจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มองว่าพื้นที่ทิ้งร้างเหล่านี้นั้นเป็นพื้นที่โอกาสของเมือง มีศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กในย่านชุมชน หรือที่เรียกว่า Pocket Park เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรมให้กับคนในละแวกใกล้เคียง ควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง โดยการสนับสนุนจาก สสส.

สวนป่าเอกมัย พื้นที่ศักยภาพของ we!park

สวนไม่ร้างด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน

กิจกรรม Green Finder เดินค้นหาพื้นที่สีเขียว ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นที่ย่านทองหล่อ เอกมัย ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวประจำย่านคือ สวนป่าเอกมัย บริเวณริมคลองแสนแสบ แต่พื้นที่สวนแห่งนี้ไม่ติดกับถนนหลัก ต้องเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยไปยังทางเดินเท้าริมคลองเพื่อจะเข้าไปใช้พื้นที่สวน ส่งผลให้สวนป่าเอกมัยเป็นพื้นที่สีเขียวที่ไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้งาน และเมื่อไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้งาน สวนจึงมีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม

คนพัฒนาสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวได้ แต่คนที่จะทำให้พื้นที่อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ไม่กลับไปเป็นพื้นที่ร้างอีกครั้งคือคนที่เข้ามาใช้งาน การนำพื้นที่ทิ้งร้างมาพัฒนาใหม่จึงไม่ใช่การสร้างสวนยังไงก็ได้ แต่ต้องเป็นการพัฒนาที่เข้าใจคนในพื้นที่ เข้าถึงง่าย ตอบโจทย์การใช้งานของชุมชนและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

‘การมีส่วนร่วม’ จึงกลายเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาแบบ We!park โดยการมีกิจกรรมหลากหลายแบบ เพื่อให้เสียงของคนในพื้นที่เข้าไปอยู่ในกระบวนการพัฒนาให้มากที่สุด ตั้งแต่การรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ทั้งผู้สูงอายุในชุมชน เด็กๆ ในโรงเรียนใกล้เคียง คนทำงานในบริเวณนั้น มีการจัด workshop ออกแบบสวนในฝัน ตลอดจนการชวนน้องๆ นักศึกษา และนักออกแบบรุ่นใหม่มาร่วมทำกระบวนการ และพัฒนาแบบแปลนร่วมกัน

Green Finder กิจกรรมชวนคนมาเดินสำรวจพื้นที่ละแวกใกล้เคียงเพื่อตามหาพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิม และตามหาพื้นที่ทิ้งร้างที่เหมาะจะนำมาพัฒนาต่อ

 

Mock-up park สวนจำลอง เพื่อความเข้าใจในการพัฒนา

การมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพนั้นพูดง่าย แต่ทำได้ไม่ง่าย คือสิ่งที่ค้นพบระหว่างการพัฒนาพื้นที่ว่างในซอยข้างวัดหัวลำโพง ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องหลักของ we!park ในขณะนั้น แม้จะเป็นโครงการพัฒนาที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขต เจ้าของที่ดิน คนในชุมชน หรือแม้แต่สถานศึกษาใกล้เคียง มีการทำกระบวนการมีส่วนร่วมหลายครั้งและออกแบบร่วมกันมาตั้งแต่ต้นกับคนในพื้นที่ แต่เมื่อพัฒนาแบบแปลน ไอเดีย และคอนเซปต์ของสวนออกมาแล้วก็พบว่าความคิดเห็นนั้นค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ หลายคนยังลังเลเพราะนึกภาพไม่ออกว่าเมื่อสร้างออกมาจริงๆ พื้นที่ทิ้งร้างผืนเล็กๆ นี้จะเป็นอย่างไร

ทาง We! Park จึงสร้าง Mock up Park หรือสวนจำลองให้ทุกคนได้ลองใช้กันจริงๆ มีการปรับพื้นที่ให้เป็นลานโล่ง ทาง กทม. จัดหาต้นไม้มาลงในพื้นที่ มีการปูพื้นหญ้า จัดหาเก้าอี้มาวาง มีอาสาสมัครและชาวบ้านมาช่วยกันทาสี วางอิฐ เนรมิตพื้นที่ทิ้งร้างให้กลายเป็นสวนขึ้นมาได้จนสำเร็จ

Mock up Park เปิดต้อนรับทุกคนให้เข้ามาใช้งาน ทั้งคนในพื้นที่และคนภายนอกที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียน มีการนำแผนพัฒนาสวนเดิมมานำเสนอใหม่ในพื้นที่จริง ว่าตรงไหนจะเป็นอย่างไร มีการรับฟังเสียงของชุมชนใหม่ ว่าหลังจากเปิดสวนจำลองมาระยะหนึ่ง ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง อยากเพิ่มเติมหรือลดอะไรบ้าง จนได้ออกมาเป็นทิศทางสุดท้ายที่จะนำไปพัฒนาต่อเป็นแปลนก่อสร้างจริงของสวน

Mock up Park หัวลำโพง

 

แพลตฟอร์มเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในทุกรูปแบบ

การมีส่วนร่วมของ we!park นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนในพื้นที่ แต่พยายามให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากที่สุด ในทุกๆ ขั้นตอนเท่าที่จะทำได้ เช่น การประกวดแบบในการพัฒนาสวนป่าเอกมัย ซึ่งเปิดรับทั้งบุคคลทั่วไปและกลุ่มวิชาชีพ เพื่อให้มีไอเดียการพัฒนาสวนที่หลากหลาย ก่อนจะนำไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมสามารถเลือกโหวตให้กับแนวทางที่ตนเองชอบได้ โดยมีการโหวตแบบออนไลน์สำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินทางมาโหวตในสถานที่จริงควบคู่ไปด้วย

เมื่อผ่านกระบวนการประกวดแบบและเข้าสู่ขั้นตอนก่อสร้างจริง we!park ก็จัดกิจกรรมระดมทุนผ่านเทใจดอทคอม เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่อยากสนับสนุนการสร้างสวนแห่งใหม่สามารถเข้ามาร่วมได้ ทั้งในรูปแบบของเม็ดเงิน หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อเติมเต็มสวนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นนอกเหนือจากการก่อสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ กทม. เป็นผู้สนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งการระดมทุนสร้างสวนนี้เกิดขึ้นจริงกับโครงการพัฒนาพื้นที่ว่างซอยข้างวัดหัวลำโพงซึ่งพึ่งจะมีการจัดกิจกรรมประกวดตั้งชื่อสวนไป และมีกำหนดการจะเปิดสวนในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้

การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว หรือสวนสาธารณะโดยภาคประชาชนนั้นไม่ใช่กระบวนการปกติที่ทำกันมาของประเทศไทย แต่สิ่งนี้สามารถเปลี่ยนได้ ถ้าคนดำเนินงานสามารถสร้างช่องทางให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น พยายามทำให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชน กลายเป็นเรื่องปกติ และเป็นมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาเมือง

Mock up Park หัวลำโพง

 

พื้นที่นำร่อง โครงข่ายสีเขียวสู่ Green Bangkok 2030

ในปีที่ผ่านมา ได้มีการตั้งเป้าหมาย Green Bangkok 2030 ซึ่งจะพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองสีเขียวตามมาตรฐานระดับนานาชาติให้ได้ใน 10 ปี ซึ่งยึดหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ว่าเมืองที่ดีนั้นจะต้องมีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 10 ตร.ม./คน และคนในเมืองจะต้องเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในระยะ 400 เมตร ซึ่งในกรณีของกรุงเทพฯ นั่นหมายถึงการสร้างสวนขนาดเล็กกระจายอยู่ในทุกเขต ทุกย่าน ทั่วทั้งเมือง เชื่อมกันเป็นโครงข่าย ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในเมืองสามารถเดินไปพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 5-10 นาที

ในช่วงปีที่ผ่านมา we!park จึงพยายามทำโครงการในพื้นที่และบริบทที่หลากหลาย เพื่อศึกษา ถอดบทเรียน และสร้างเป็นโมเดลการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวของชุมชนที่เข้าใจบริบทแบบไทยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ สามารถนำไปทำซ้ำ ทำใหม่ คนอื่นหรือหน่วยงานอื่นสามารถนำไปสร้าง Pocket แห่งต่อไปในพื้นที่ที่หลากหลายของเมืองได้ ตลอดจนนำไปประยุกต์ ปรับใช้ในเมืองอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพมหานครด้วย

โดยตอนนี้มีพื้นที่นำร่องหลัก 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ว่างซอยข้างวัดหัวลำโพง เขตบางรัก สวนป่าเอกมัย เขตวัฒนา สวนชุมชนโชฎึก เขตสัมพันธวงศ์ และลานใต้ทางพิเศษฉลองรัช ซึ่งสำนักงานเขตวัฒนาทำสัญญาเช่าจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และมีพื้นที่กิจกรรมชั่วคราวอื่นๆ เช่น สวนสานธารณะ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน ซึ่งเคยเป็นที่ทิ้งร้างและถูกใช้เป็นลานทิ้งขยะมาก่อน

สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์

 

สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์

 

ก้าวต่อไปของพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน โดยการส่งมอบพื้นที่แก่ชุมชน

ปัจจุบันโครงการในพื้นที่นำร่องทั้ง 4 ของ we!park นั้นดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว บางแห่งกำลังจะเปิดตัว บางแห่งอยู่ระหว่างรองบประมาณและก่อสร้างจริง ก้าวต่อไปที่จะทำหลังจากนี้จึงเป็นการทดลองไอเดียและพัฒนากระบวนการดูแลสวนร่วมกับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีเงินทุนในการบริหารจัดการและดูแลสภาพสวนด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐฝ่ายเดียวนั่นเอง ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะถอนตัวจากพื้นที่นั้น และไปทำงานพัฒนาที่ทิ้งร้างแห่งต่อไป

we!park นั้นมองตัวเองเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสร้างการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน แต่พวกเขาไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ไม่ใช่ภาครัฐ และไม่ใช่คนในพื้นที่ ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการพัฒนา พวกเขามีเป้าหมายที่จะส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวแก่ชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ใช้งานพื้นที่อย่างแท้จริง

สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ และรู้จักพื้นที่ทิ้งร้างที่น่าจะเหมาะสมในการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งต่อไป ล่าสุด we!park ได้เปิดตัวเว็บไซต์ โดยมี Web application ‘Green Finder’ โปรแกรมสำหรับสำรวจข้อมูลพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทุกท่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวในเมือง และปักหมุดพื้นที่ทิ้งร้างที่คุณอยากให้ we!park เข้าไปพัฒนาได้ สามารถเข้าไปปักหมุดได้ที่ https://wepark.co/finder#11.07/13.7244/100.6332 ไม่แน่ว่าพื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่อาจเป็นพื้นที่ทิ้งร้างใกล้บ้านคุณ

 

ติดตามข่าวสารได้ที่เพจเฟซบุ๊ก We Park และเว็บไซต์ https://wepark.co

 

Share :