CITY CRACKER

โปรเจกต์ที่เปลี่ยนเนินเขาขยะให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขั้นบันได จาก Turenscape ‘The Handan Wastewater Purification Terraces’

ปัจจุบันเมืองกำลังพัฒนาและขยายตัว ทั้งในด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่างๆ แต่แลกมาด้วยพื้นที่ธรรมชาติที่เปลี่ยนไป แถมยังมีปัญหาของมลภาวะและน้ำเสียในเมืองตามมาด้วย เมืองจึงเริ่มหันกลับมาคำนึงถึงงานออกแบบที่ฟื้นฟูและมีการจัดการเกี่ยวกับระบบนิเวศในเมืองมากขึ้น

 
เช่นเดียวกับโปรเจกต์ Handan Wastewater Purification Terraces ผลงานการออกแบบจาก Turenscape ที่เพิ่งเข้ารอบ Shortlist WAF 2022 หรือ World Architecture Festival 2022 เทศกาลสำคัญของวงการสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมืองระดับโลก โดยโปรเจกต์นี้ได้เปลี่ยนเนินเขาสูง 120 เมตร และพื้นที่กว่า 325 เฮกตาร์ที่เต็มไปด้วยขยะจากอุตสาหกรรม บ้านเรือน และสารเคมี ในเมือง Handan เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขั้นบันไดขนาดใหญ่พร้อมฟังก์ชั่นจากธรรมชาติที่ช่วยบำบัดน้ำเสียให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ ยกระดับพื้นที่รกร้างสู่การเป็นพื้นที่การเรียนรู้และพักผ่อนแห่งใหม่สำหรับประชาชนในเมือง
 
โปรเจกต์นี้เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาและออกแบบเมืองสำหรับงาน Handan Garden Expo 2020 ที่ผ่านมา โดยตัวโปรเจกต์ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่หลักของ expo ทางฝั่งทิศตะวันออกติดกับทางเข้าหลักของงาน นอกจากนี้ พื้นที่ของโปรเจกต์ Handan Wastewater Purification Terraces ยังนับเป็นโหนดสำคัญของการพัฒนาเมือง เนื่องจากพื้นที่สวนชุ่มน้ำนี้ตั้งอยู่บริเวณ West lake ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ทะเลสาบทีใหญ่ที่สุดของเมือง และเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำ Qin ที่เป็นแม่น้ำสายหลักของเมือง
 
จุดประสงค์หลักของโปรเจกต์ Handan Wastewater Purification Terraces คือการออกแบบแลนด์สเคปขนาดใหญ่เพื่อปรับปรุงและฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยระบบบำบัดน้ำเสียผ่านวิธีธรรมชาติ เนื่องจากบริบทเดิมของเมือง Handan เป็นเมืองอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน จึงทำให้เผชิญกับปัญหาทางมลภาวะต่างๆ และกลายเป็นเนินทิ้งขยะขนาดใหญ่
 
 
หลักการออกแบบเพื่อปรับปรุงน้ำและนำระบบนิเวศกลับมานั้นประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน หนึ่ง คือฟื้นฟูพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางธรรมชาติ สอง คือหยิบเอาหลักการของ sponge city หรือเมืองรับน้ำ เข้ามาผสมผสานกับการสร้างพื้นที่สีเขียวบริเวณภูเขาและต้นไม้ สามและสี่คือกาารปรับปรุงพื้นที่อาศัยเดิมและให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมเก่าแก่ของหมู่บ้าน jingjou และห้า คือการนำป่าตามระบบนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่กลับมาสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
 
งานดีไซน์นี้ไม่ได้มีเพียงแค่แนวคิดที่ต้องการปรับปรุง ecologogy ในเมืองเท่านั้น แต่ยังออกแบบประสบการณ์ที่ผู้เยี่ยมชมจะได้รับ ผ่านการสร้างพื้นที่ที่เชื่อมต่อ เช่น ทางเดิน ศาลา ไปจนถึงพื้นที่แลนด์สเคปขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้คนเข้าใจและเชื่อมต่อกับธรรมชาติได้มากขึ้น รวมถึงตั้งใจสร้างเป็นพื้นที่ living landscape ที่ผู้คนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมและเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่เดิมได้มากขึ้น
 


ผลลัพธ์ของโปรเจกต์นี้ คือสามารถฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำขนาด 50 เอเคอร์ และประหยัดพลังงานได้ถึง 1.0 ล้าน ยูนิตต่อปี พร้อมกันนั้นยังสามารถเป็นพื้นที่พักผ่อนและเรียนรู้ของประชาชนในเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และปรับปรุงระบบนิเวศทางธรรมชาติของพื้นที่แลนด์สเคปให้มากขึ้น ทั้งพื้นที่ป่า หญ้า ทะเลสาบในเมืองให้กลับมาดีขึ้นตามเดิม

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

turenscape.com

gooood.cn

Share :