หลังจากที่ผู้คนเสียใจกับความเสียหายของอาสนวิหารนอเทรอดามกันเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาก้าวต่อไป เมื่อทางรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศจัดแข่งขันประกวดแบบ เปิดโอกาสให้สถาปนิกและสตูดิโอชั้นนำทั่วโลกได้เข้ามาร่วมนิยามอาสนวิหารนี้กันใหม่ ความสูญเสียนี้จึงดูจะกลายเป็นโอกาสที่มหานครปารีสได้นิยามความหมายและรูปลักษณ์ของวิหารสำคัญนี้ใหม่ เพลิงไหม้ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนและความทรงจำสำคัญ
หลังจากไฟไหม้ ทางประธานาธิบดี Emmanuel Macron ประกาศกร้าวว่าทางการจะจัดการซ่อมอาสนวิหารนี้ให้เสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี นอเทรอดามจะกลับมาเปิดให้บริการทันโอลิมปิกที่ปารีสในปี 2024 หลังจากประกาศจุดยืนอันแข็งแกร่ง ประธานาธิบดี Édouard Philippe นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศว่าจะมีการประกวดแบบเพื่อสร้างหลังคาและยอดให้กับมหาวิหารใหม่ หัวใจสำคัญของการประกวดแบบนี้คือการเปิดโอกาสให้กับเทคนิคการออกแบบและเป็นความท้าทายสำคัญของยุคสมัย ตัวยอดเก่าแก่พังแล้วใช่ไหม ก็ถือโอกาสสร้างหมุดหมายใหม่ขึ้นมาซะเลย
สตูดิโอสำคัญทั่วโลกก็ตอบสนองด้วยการพากันเสนอแนวทางและจินตนาการยอดของอาสนวิหารขึ้นมาใหม่ ทุกชิ้นก็ดูจะมีประเด็นที่นักออกแบบต้องการใส่แนวคิด ประเด็นสำคัญร่วมสมัย ไปจนถึงการรักษาประวัติศาสตร์ของตัวสถานที่เอาไว้ เช่นบางสตูดิโอเลือกหยิบจุดเล็กๆ อย่างผึ้งที่ยังเหลือรอดและสร้างส่วนบนของตัววิหารให้เป็นเรือนกระจกทำหน้าที่ผลิตอาหาร บางที่ก็บอกว่าไฟไหม้ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญหนึ่ง เราก็ออกแบบเปลวไฟขึ้นไปประกอบ เป็นส่วหนึ่งของสถาปัตยกรรมซะเลย
Foster+Partners, United Kingdom
Foster + Partners สตูดิโอยักษ์ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปรับปรุงอาคารโบราณสำคัญระดับโลกเป็นหนึ่งในเจ้าแรกๆ ที่ออกมาให้ความเห็นและวางแนวออกแบบซ่อมแซมหลังคาและยอดใหม่(ยังไม่เชิงว่าเป็นแบบที่เสนออย่างเป็นทางการ) Norman Fosterให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้วัสดุกระจกและเหล็กอันเป็นวัสดุร่วมสมัยเพื่อใช้ซ่อมแซมโดยให้เหตุผลว่า ในทุกๆ การซ่อมแซมของมหาวิหารก็จะมีการใช้วัสดุและเทคโนโลยีของยุคที่เกิดการซ่อมแซมขึ้น เช่น แต่เดิมโครงสร้างหลังคาเป็นไม้ พอเกิดการซ่อมแซมในศตรรษที่ 19 ก็เปลี่ยนจากไม้โอ๊ก ที่เคยเป็นไอคอนของวิหารให้กลายเป็นโครงสร้างเหล็กและทองแดง ดังนั้นการออกแบบนอเทรอดามใหม่นี้ทางสตูดิโอเสนอแนวทางที่ ‘โปร่งและเบา’ (light and airy) โดยการใช้วัสดุร่วมสมัย อย่างกระจกใสและโครงสร้างเหล็กน้ำหนักเบาเข้ามาช่วย
Studio NAB, France
อีกหนึ่งไอเดียออกแบบน่ารักๆ ที่เริ่มจากแนวคิดว่านี่ไงบนตัววิหารมีผึ้งอาศัยอยู่แถมรอดจากไฟด้วย ทาง Studio NAB เลยเสนอสร้างพื้นที่ด้านบนของตัววิหารให้เป็นเรือนกระจกขนาดยักษ์ซะเลย หลักๆ แล้วแนวคิดนี้นำอาสนวิหารไปสู่พื้นที่ของการเรียนรู้ว่าด้วยพืชพรรณ เป็นพื้นที่การผลิตอาหารและว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตัวยอดของวิหารจะเป็นที่เลี้ยงและเรียนรู้เรื่องผึ้ง งานออกแบบนี้ดูเป็นการตีความวิหารใหม่จากจุดเล็กๆ แถมยังให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องธรรมชาติอันเป็นประเด็นสำคัญร่วมสมัย
Mathieu Lehanneur, France
ไฟไหม้ดูจะเป็นจุดสำคัญอีกจุดทางประวัติศาสตร์ Mathieu Lehanneur นักออกแบบชาวฝรั่งเศสเลยเสนอว่าเราก็เอาไฟนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบใหม่ซะเลย ถือว่าเป็นวิธีคิดที่ดีโดยออกแบบตัวยอดเป็นโลหะทรงไฟที่ดูแล้วเหมือนงานศิลปะร่วมสมัยเท่ๆ อนึ่งถ้าเราไปดูงานออกแบบก่อนหน้าของคุณ Lehanneur ก็มีการทำประติมากรรมเปลวไฟที่สร้างจากโลหะไว้ก่อนแล้ว ในโอกาสนี้เลยถือโอกาสเอามารวมกับหลังคานอเทรอดามซะเลย
Vizumatelier, Slovakia
Vizumatelier เป็นสตูดิโอออกแบบจากสโลวาเกีย หน้าตาของนอเทรอดามใหม่ดูเหนือจริงด้วยยอดที่พุ่งสูงเสียดฟ้าส่องแสงตรงขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ ทางสตูดิโอบอกว่าด้วยความที่สถาปัตยกรรมแบบกอธิคในยุคกลางเป็นการลงทุนลงแรงและทุ่มเทคโนโลยีเพื่อแสดงถึงศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ส่วนยอดของวิหารเป็นส่วนที่ชี้ขึ้นบนฟ้าก็เพื่อความใกล้ชิดต่อสรวงสวรรค์ อย่ากระนั้นเลย ด้วยเทคโนโลยีทั้งการก่อสร้างและนวัตกรรม เราก็สร้างยอดที่พุ่งสูงเสียดฟ้าที่สามารถส่องลำแสงตรงขึ้นสู่สรวงสวรรค์รับกับความเชื่อเดิมซะเลย
AJ6 Studio, Brazil
อีกหนึ่งแนวทางการออกแบบที่ดึงเอาจุดเด่นบริบทของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของยุคกลางมาใช้ ในยุคกลางเรามักเรียกว่ายุคมืดคือการที่ศิลปวิทยาการต่างๆ ถูกครอบงำโดยศาสนจักรและมักบอกว่าเป็นยุคที่ไม่ค่อยนวัตกรรมเท่าไหร่ แต่กระจกสีถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่เกิดขึ้นและเฟื่องฟูในยุคกลางนี้ และเป็นองค์ประกอบสำคัญในสถาปัตยกรรมของคริสต์ ทาง AJ6 Studio จากเซาเปาโล ประเทศบราซิล อีกหนึ่งประเทศที่มีความใกล้ชิดกับคริสต์ศาสนาจึงเสนองานออกแบบที่ดึงเอางานกระจกสีขึ้นมาเป็นจุดเด่นของวิหาร ถือเป็นนวัตกรรมและสถาปัตยกรรมที่แปลกตาจากแต่เดิมที่กระจกสีมักอยู่ที่ช่องหน้าต่าง กลับกลายมาเป็นหลังคาทั้งหมด
Kiss The Architect, Cyprus
Kiss เป็นสตูดิโอออกแบบจากอังกฤษที่ค่อนข้างไฮคอนเซ็ปต์ และออกจะอาร์ตๆ มันๆ นำสมัย งานออกแบบหลังคาวิหารของค่ายนี้จึงดูล้ำอนาคต มีความแปลกประหลาดเหมือนหลุดออกมาจากเกม ตัวยอดของวิหารถูกวางให้เป็นลานที่มีบันไดวนลอยขึ้นไป รายล้อมด้วยลูกบอลสีทอง จริงๆ ลักษณะของยอดนี้อ้างอิงจากงานออกแบบเดิมของทางสตูดิโอชื่อ A foolish Folly
Studio Drift, Netherlands
บางสตูดิโอก็ถือโอกาสสร้างแรงกระเพื่อมหรือใช้พื้นที่การประกวดแบบเพื่อเสนอความคิดของตัวเอง เช่น หลังคาสีฟ้าหน้าตาประหลาดนี้เป็นแบบจากทาง Studio Drift กลุ่มศิลปินนักออกแบบที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางสตูดิโอเสนอว่าให้ใช้วัสดุหลังคาที่รีไซเคิลจากขยะในท้องทะเล อย่ากระนั้นเลยการใช้วัสดุรีไซเคิลนี้นอกจากจะช่วยลดและสร้างความสนใจเรื่องขยะในทะเลแล้วยังทำให้วิหารกลายเป็นตัวแทนของการรีไซเคิลอย่างจริงจัง สำหรับสีฟ้าผู้ออกแบบบอกว่าล้อกับสีของท้องฟ้าด้านบน แถมยังบอกอีกว่าตัววัสดุนี้นอกจากจะพูดเรื่องลดขยะแล้วยังทนไฟและช่วยทดแทนไม้ในการซ่อมแซมใหญ่นี้ได้ แต่ก็มีคอมเมนต์ว่ากรีนก็จริง แต่หน้าตาเหมือนปูหลังคาแบบนี้ก็อาจจะเกินไปหน่อย
Alexander Nerovnya, Russia
ทางรัสเซียเองบอกว่าตื่นตัวและเสียใจกับความเสียหายของนอเทรอดามเป็นอย่างยิ่ง ทางการรัสเซียบอกว่าได้เสนอตัวช่วยเหลือฝรั่งเศสในการซ่อมแซมและเร็วๆ นี้จะมีการรวมตัวของนักออกแบบที่มอสโควเพื่อระดมความคิดในการซ่อมแซมนอเทรอดามต่อไป Alexander Nerovnya เป็นสถาปนิกชาวรัสเซียที่เสนอแนวงานออกแบบใหม่อย่างรวดเร็ว โดยรวมแล้วนักออกแบบเสนอการผสานเทคนิคแบบสมัยใหม่ด้วยการใช้หลังคากระจกแต่รักษาตัวยอดแบบดั้งเดิมไว้ ผู้ออกแบบบอกว่าเมื่อผู้ชมเดินเข้าสู่พื้นก็จะรับรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างโลกโบราณและโลกสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจน
Fuksas, Italy
ทาง Fuksas สตูดิโอออกแบบจากอิตาลีเสนอภาพนอเทรอดามใหม่ที่ดูจะล้ำสมัย แต่แนวคิดจากทางอิตาลีนี้ดูจะให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุและงานฝีมือพิเศษ ทาง Massimiliano และ Doriana Fuksas เสนอการสร้างโครงสร้างที่ดูร่วมสมัยเข้ากับงานสถาปัตยกรรมด้านล่าง แต่จุดพิเศษอยู่ตัวยอดของวิหารที่ทางนักออกแบบเสนอให้ใช้วัสดุคุณภาพสูงเครื่องแก้วเจียระไนชั้นสูงที่เรียกว่า Baccarat crystal เครื่องแก้วชั้นสูงของทางฝรั่งเศส ถือเป็นอีกหนึ่งสตูดิโอที่ดูจะเน้นเรื่องวัสดุเชื่อมโยงกับมรดกทางการช่างและงานฝีมือของชาติเข้ากับตัวสถาปัตยกรรม
อ้างอิงข้อมูลจาก
independent.co.uk
fuksas.com
Illustration by Maytissa Inharit
- Vanat Putnark
Writer