บางครั้งพื้นที่เมืองที่หนาแน่นเกินไปทำให้เราลืมพื้นที่เล็กๆ ที่ขาดการใช้งานเป็นเวลานานและแอบซ่อนอยู่ภายในเมือง ทั้งที่ความจริงแล้วพื้นที่เหล่านั้นสามารถสร้างประโยชน์และสร้างการใช้งานในรูปแบบอื่นๆ ได้ และ SOMSED Temporary Cultural Center เป็นหนึ่งตัวอย่างโปรเจกต์ที่ดึงศักยภาพและความเป็นไปได้ของพื้นที่ร้างให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง
SOMSED Temporary Cultural Center ตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนพันล้าน เมืองโคราช คือหนึ่งในงานจัดแสดงของงาน Thailand Biennale Korat 2022 ที่จังหวัดนครราชสีมา ตัวบ้านหลังสองชั้นสีเขียวอมฟ้าหลังนี้เคยเป็นบ้านพักสาธารณสุขเก่าที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ก่อนศิลปินชาวอิตาลี Giacomo Zaganelli ผู้สนใจในด้านงานศิลป์และสถาปัตยกรรมจะปรับปรุงพื้นที่ใหม่ คือเปลี่ยนจากบ้านที่บริเวณรอบๆ รกครึ้ม มาเป็นสนามหญ้าสีเขียวน่านั่งเล่น พร้อมเพิ่มเก้าอี้ม้านั่งตลอดจนแสงไฟส่องสว่างและไวไฟทั่วบริเวณบ้าน ภายในบ้านถูกทำความสะอาดเตรียมพร้อมใช้งานเพื่อสร้างพื้นที่ร้างให้กลับมามีคุณค่า และใช้งานได้อีกครั้ง
จุดประสงค์หลักของตัวศิลปินนั้น คือการปรับเปลี่ยนพื้นที่ร้างให้กลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมชั่วคราวที่เปิดใช้งานสาธารณะสำหรับผู้คนทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดจนให้พื้นที่เป็นทั้งพื้นที่เวิร์กช็อป ห้องสมุด ติวหนังสือ มากกไปกว่านั้นเด็กๆ และเยาวชนก็สามารถเข้ามาแสดงดนตรีได้โดยไม่จำกัดข้อห้ามโปรเจกต์นี้ทางศิลปินไม่ได้ทำเพียงคนเดียวแต่ได้รับความร่วมมือและอาสาสมัครจากผู้คนในละแวก ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ และนอกจากงานนี้ยังได้รับความร่วมมือจากทาง Italian Council ที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้โปรเจ็กต์นี้เป็นจริงขึ้นมาอีกด้วย
นอกจากการเปลี่ยนบ้านพักที่เคยร้างเก่ามาเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่เป็นทั้งพื้นที่สาธารณะ ครั้งที่ Giacomo อาศัยอยู่ที่อิตาลี เขาเองเคยเกิดไอเดียและเปลี่ยนพื้นที่ธรรมดาๆ บริเวณหน้าบ้านให้กลายเป็นสนามหญ้าที่ผู้คนสามารถแวะเวียนเข้ามาใช้พื้นที่ได้ จนสนามหญ้าหน้าบ้านนั้นกลายเป็นพื้นที่สาธาณะ จากการที่ตัวศิลปินโดดเด่นด้านการนำพื้นที่เก่า พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานมาปรับให้เกิดการใช้ประโยชน์มากขึ้น เพื่อเข้าใจศูนย์วัฒนธรรมชั่วคราวกับพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ City Cracker ชวนคุยกับ Giacomo Zaganelli ศิลปินอิตาลี เจ้าของผลงาน SOMSED Temporary Cultural Center หรือศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ ถึงแนวคิด ที่มาที่ไป ความสนใจในพื้นที่ทิ้งร้าง ตลอดจนความตั้งใจของการเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้เพื่อให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
City Cracker: อะไรคือแรงบันดาลใจหลักของการทำงานในฐานะศิลปิน
Giacomo Zaganelli: ผมเป็นศิลปินชาวอิตาลี สโคปงานที่ทำมาตลอดจะอยู่ในขอบเขตระหว่างงานศิลป์และสถาปัตยกรรม แต่ละงานที่ทำเหมือนการนำสองสิ่งนี้มาทับซ้อนกัน ผสมผสานเข้าด้วยกัน สตูดิโอของผมคือเเมือง ทุกๆ ครั้งที่มีการพัฒนาโปรเจกต์ เราจะมองบริบทเป็นหลักสำคัญ แล้วค่อยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น นอกจากการมองว่าเมืองคือสตูดิโอ ก็มีเรื่องของผู้คนที่พบเจอ ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่จริงๆ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ จนนำมาสู่โปรเจกต์ต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้น รวมถึง SOMSED Temporary Cultural Center แห่งนี้ด้วย โปรเจกต์นี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาประเทศไทย และคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่นี่อีกด้วย
City Cracker: อะไรที่ทำให้อยากการปรับเปลี่ยนบ้านหรือพื้นที่ร้างในเมืองให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
Giacomo Zaganelli: เริ่มมาจากการสำรวจและทำแมพของพื้นที่และบ้านร้างที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี เมืองบ้านเกิดของตัวเอง จากนั้นความสนใจก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นว่าเราจะทำยังไงให้พื้นที่ร้างพวกนี้กลับมามีประโยชน์ได้อีกครั้ง เพราะเรารู้สึกว่าผู้คนไม่ได้ต้องการพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในเมือง แต่สิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเด็ก คนแก่ หรือใครในเมือง คือการนำพื้นที่เดิมที่เคยมีอยู่มาปรับและวิธีการใช้ใหม่เท่านั้นเอง และจากตัวผลงานที่ประเทศอิตาลีได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี สร้างความแปลกใจให้กับทั้งผู้คนและรัฐบาลถึงความเป็นไปได้ และศักยภาพของพื้นที่ร้างที่ถูกปล่อยทิ้งไว้
City Cracker: ทำไมถึงสนใจและเลือกใช้บ้านพักสาธารณสุขเก่าหลังนี้มาเป็นพื้นที่หลักสำหรับโปรเจกต์นี้
Giacomo Zaganelli: ปกติในการทำงานของทุกๆ โปรเจกต์ เราจะเริ่มต้นผ่านการหยิบเอาข้อมูลทั้งหมดที่สามารถหาได้ ทั้งจากการลงพื้นที่และการรีเสิร์ช หลังจากการรีเสิร์ชข้อมูล พบว่าพื้นที่ตรงนี้มีความน่าสนใจมาก ด้วยขนาดอาคารที่ไม่ใหญ่และไม่เล็กเกินไป มีโรงเก็บของ หลังคา รวมถึงสวนและต้นไม้ขนาดใหญ่ และเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งทำให้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น เพราะโลเคชั่นของบ้านตั้งใกล้ตลาดนัดกลางคืน บ้านเรือน ชุมชน รวมถึงโรงเรียน และมหาวิทยาลัยใกล้เคียง ทำให้พื้นที่นี้เหมาะสมมากๆ แก่การสร้างพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่นี้ขึ้นมา
City Cracker: ทำไมถึงตั้งชื่อโปรเจกต์และบ้านหลังนี้ว่า ‘สมเสร็จ’ ความหมายที่แฝงอยู่ของมันคืออะไร
Giacomo Zaganelli : จริงๆ แล้วเป็นความบังเอิญที่เกิดจากพ่อผมครับ เขาเคยเขียนบทความสั้นๆ เกี่ยวกับการค้นพบสมเสร็จ และความเชื่อที่ว่าสมเสร็จเป็นสัตว์ที่เกิดจากพระเจ้าหยิบเอาสัตว์หลายพันธุ์ หลายชนิด มาผสมกันจนเกิดเป็นสมเสร็จขึ้นมา และพอเขารู้เรื่องโปรเจกต์นี้ที่เราพยายามปรับพื้นที่ เพิ่มศักยภาพใหม่ๆ รวมถึงสร้างกิจกรรมและโปรแกรมต่างๆ เขาก็บอกว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่เหมาะสมกับบ้านหลังนี้ และเราคิดว่าตัวสมเสร็จก็เป็นภาพแทนของงานที่เราทำอยู่ได้อย่างลงตัว
City Cracker : อยากให้อธิบายถึงวัตถุประสงค์หลักและสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปผ่านบ้านหลังนี้และพื้นที่ตรงนี้หน่อย
Giacomo Zaganelli: ผมไม่ค่อยเชื่อในการสร้างพื้นที่ใหม่ที่สวยงาม แต่ไม่มีบริบทและชีวิตของผู้คนอยู่ในนั้น ดังนั้นแล้วผมต้องการสร้างพื้นที่ที่ผู้คนเป็นส่วนหนึ่ง และใช้ชีวิตร่วมไปกับมันในบริบทเมืองของพวกเขาเอง วัตถุประสงค์ของโปรเจกต์นี้คือ ‘เก็บการเรียนรู้จากอดีตส่งต่อมาถึงปัจจุบัน และสื่อสารต่อออกไปยังอนาคต’ ผ่านการสร้างพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเข้ามาใช้งาน เล่น นั่งคุยหรือแชร์ไอเดียต่างๆ ร่วมกันได้ สิ่งสำคัญของงานชิ้นนี้เลยเป็นการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่แต่แสดงถึงพลังและศักยภาพที่เพิ่มขึ้นมากกว่านั้น
เพราะอีกหนึ่งคติประจำใจที่เราถือตลอดการทำงานคือคำว่า ‘ช้าๆ’ เราต้องการให้ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีละขั้นตอน ไปอย่างช้าๆ เล็กน้อยตามระยะเวลาที่เหมาะสม เช่นเดียวกับบ้านสมเสร็จหลังนี้ครับ
City Cracker: สำหรับโปรเจกต์นี้ได้มีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงส่วนไหนยังไงบ้าง เพื่อเพื่อคืนชีวิตใหม่ให้กับพื้นที่ร้างแห่งนี้
Giacomo Zaganelli: ไอเดียหลักของเราคือการนำของหรือสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้งานแบบส่วนตัวมาทำให้เป็นสาธารณะ ที่ใครผ่านไปผ่านมาก็สามารถเข้ามาใช้ได้ หนึ่งในความสำคัญที่เราให้กับทุกๆ งานคือความเคารพต่อพื้นที่และสถานที่นั้นๆ เพราะประวัติศาสตร์ เรื่องราวของพื้นที่ยังคงมีคุณค่าอยู่ตลอด นอกจากนี้ตัวผมเองไม่ชอบการสร้างอะไรที่เข้าใจยาก เพราะจะทำให้ผู้คนกับศิลปะห่างไกลกันออกไป เลยชอบสร้างสรรค์งานง่ายๆ แต่ผู้คนสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้
สำหรับบ้านหลังนี้เราแทบไม่เปลี่ยนมันเท่าไร นอกจากการจัดการเรื่องสวน หรือพื้นที่รอบบ้านให้กลายเป็นพื้นที่ที่ใช้งานได้มากขึ้น ส่วนตัวอาคารเราปล่อยให้มันคงความเก่าของอาคารเดิม ทำความสะอาดพื้นที่ แต่ยังคงทิ้งให้เห็นร่องรอยของการใช้งานที่ผ่านมา บางส่วนที่มีการทำลายลงคือกำแพงด้านหลัง เพื่อเปิดช่องลมและเห็นภาพทิวทัศน์ด้านหลังแทน มีสร้างใหม่บางอย่างคือเก้าอี้ม้านั่ง เพื่อเอามาตั้งที่สวนล้อมรอบต้นไม้ใหญ่ คือให้กลายเป็นพื้นที่ที่เชิญชวนให้คนเข้ามาใช้งานมากขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างขยะก็ถือเป็นประเด็นสำคัญ จากที่เคยเห็นจากงานเบียนนาเล่ ผมพบว่าส่วนใหญ่เวลางานจบลง ศิลปะพวกนั้นมักก่อให้เกิดขยะจำนวนมากตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เลยพยายามรักษาพื้นที่และใช้ของเก่าที่เคยมีนำมารียูสและใช้ใหม่แทน เช่นการขอยืมโต๊ะและเก้าอี้มาจากหน่วยงานต่างๆ
City Cracker: เห็นว่ามีการทำงานร่วมกับหน่วยงานและอาสาสมัครด้วย เลยอยากรู้ว่าขั้นตอนการทำงานและมีส่วนร่วมนั้น เป็นอย่างไร ตลอดจนสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงานส่วนนี้คืออะไร
Giacomo Zaganelli: หลังจากเราเสนอไอเดียที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นี้ออกไปก็มีหน่วยงานและผู้คนอาสาเข้ามาช่วยเหลือเราเยอะมาก เริ่มมีการติดต่อกับคนในย่าน ชุมชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่ยินดีเข้ามาช่วยเหลือและเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ และดีมากที่โปรเจกต์นี้สามารถกระตุ้นให้ผู้คนออกมาช่วยเหลือกัน เพราะการมีส่วนร่วมของทุกคนก็ถือว่าเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของงานด้วย ตัวงานนี้เริ่มจากการที่เราอยากได้พื้นที่ physical space ของเมืองที่จับต้องได้ เป็นพื้นที่รวมตัวของคนในชุมชน ได้พบปะสังสรรค์กันจริงๆ ไม่ได้ผ่านโซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์ บ้านหลังนี้จึงเหมือนเป็นความพยายามเปลี่ยนมุมมองของผู้คนที่มีต่อโลกในปัจจุบัน
City Cracker: การทำงานเบียนนาเล่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ เกิดเป็นความยากง่ายในการทำงานอย่างไร
Giacomo Zaganelli: แน่นอนว่าหนึ่งในความยากของงานคือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่หนึ่งในสิ่งที่รู้สึกขอบคุณมากสำหรับงานนี้คือการร่วมมือกันระหว่างผมในฐานะศิลปิน ผู้คนในย่าน และรัฐบาลที่อาสาเข้ามาช่วยเหลือในโปรเจกต์นี้ แม้กระทั่งคนจากสถานีดับเพลิงก็เข้ามาช่วยเราทำความสะอาด และเคลียร์พื้นที่ในช่วงวันแรกๆ ถึงแม้ตอนแรกพวกเขาจะยังไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร แต่เมื่อเราทำให้เขาเห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เราได้หลายๆ คนอาสาเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งทางรู้สึกประทับใจและขอบคุณมาก
City Cracker: ท้ายที่สุดแล้วหลังจากงานรีโนเวตบ้านและพื้นที่นี้เสร็จเรียบร้อย มองภาพพื้นที่ตรงนี้หรือกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นไว้ยังไงในอนาคต
Giacomo Zaganelli: โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากการที่เราให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนพื้นที่ทดลอง เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เลยคิดว่าพื้นที่ที่จะปรับเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ และแน่นอนว่าผมไม่ได้อยู่ที่โคราชตลอดไป ดังนั้นเราไม่รู้หรอกว่าพื้นที่นี้จะเป็นอะไรต่อไปหลังจากเรากลับประเทศแล้ว แต่สิ่งที่อยู่คือตัวพื้นที่และบ้านสมเสร็จหลังนี้ ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับคนในย่าน ขึ้นอยู่กับสมาคม ขึ้นอยู่กับเด็กๆ จากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ตัวโปรแกรมและกิจกรรมต่างๆ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามแต่ผู้คนในพื้นที่จะเลือกใช้มัน อาจจะเป็นพื้นที่เวิร์กช็อป สอนโยคะ ติวหนังสือ ฉายหนังหรือห้องสมุด ส่วนตัวผมนั้นผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นว่าพื้นที่นี้จะเป็นอะไรต่อไปในอนาคต
- Pharin Opasserepadung
Writer