CITY CRACKER

Cat in the City ความสัมพันธ์ที่ไม่เปลี่ยวเหงา ระหว่างเรากับแมวในเมือง

สำหรับทาสแมว หลังจากวันที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า การได้กลับไปจับพุงน้องแมวที่บ้านอาจเป็นช่วงเวลาที่ช่วยให้จิตใจอันห่อเหี่ยวกลับมาฟูฟ่องอีกครั้ง จากงานวิจัยพบว่าแมวเป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยบำบัดจิตใจคนได้อย่างดีเยี่ยม จนแมวหลายตัวได้กลายมาเป็นนักบำบัดมืออาชีพ

ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขในชีวิตและข้อจำกัดต่างๆ ทั้งกลัวไม่มีเวลาดูแล รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ที่พักอาศัยไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ทำให้คนอีกจำนวนมากที่แม้จะอยากมีแมวแต่ก็ไม่สามารถเลี้ยงเองได้ การได้เจอน้องแมวในเมืองจึงเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้บ้าง แล้วแมวในเมืองมาจากไหน เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ อยากชวนไปทำความรู้จักน้องแมวในเมือง ตัวแต่ความเป็นมาเป็นไป

wrtv.com

 

ความเป็นมาของแมวที่มนุษย์รู้จัก

ย้อนกลับไปในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแมวเริ่มต้นที่การได้ประโยชน์ร่วมกันมากกว่าความเสน่ห์หา แมวมักมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวที่อยู่อาศัยของมนุษย์เพราะมีอาหารให้กินได้อย่างเหลือเฟือ และด้วยความที่แมวเป็นสัตว์นักล่า แมวจึงมีบทบาทในการช่วยล่าสัตว์เช่นหนู ที่สร้างความรำคาญหรือเป็นพาหะของโรคระบาดให้แก่มนุษย์ ขณะเดียวกันแมวก็ได้ประโยชน์จากการอยู่ใกล้ชิดคน คือมีอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ โดยแมวจะได้อาหารทั้งจากการล่าสัตว์ที่มีจำนวนมากบริเวณใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และได้อาหารโดยตรงจากมนุษย์

ความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันนี้ทำให้แมวกับคนมีวิวัฒนาการร่วมกันมาเรื่อยๆ แมวที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนก็วิวัฒนาการให้มีความดุร้ายน้อยลง และตัวเล็กลงเนื่องจากไม่ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดเหมือนตอนอยู่ในป่า

แมวป่าแอฟริกา (Felis silvestris lybica) (britannica.com)

 

จากแมวป่าสู่แมวในเมือง: ความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของแมว

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีแมวมากมายหลายชนิด แต่จากการสืบสาวเรื่องราวความเป็นมาของแมวในเมือง หรือ domestic cat (Felis catus) พบว่าแมวที่ปรับตัวมาอยู่อาศัยในเมืองล้วนมีบรรพบุรุษร่วมกันเป็นแมวป่าสายพันธุ์ Felis silvestris lybica ซึ่งเป็นแมวป่าบริเวณอู่อารยธรรมพระจันทร์เสี้ยวในยุคหินใหม่ (Fertile Crescent in the Neolithic period) หรือบริเวณตอนบนของแอฟริกาและทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย

แมวป่าดั้งเดิมมีลายเป็นลายสลิดก้างปลา (Mackerel-tabby pattern) แต่หลังจากเริ่มมาอยู่ร่วมกับมนุษย์ ก็เริ่มเกิดแมวที่มีสีและลายอื่น จากการแปรผันของพันธุกรรม และการอยู่รอดของแมวที่ไม่ต้องพลางตัวให้เนียนไปกับสิ่งแวดล้อมก็สามารถอยู่รอดได้ ประกอบกับการคัดเลือกสีและลายของแมวที่มนุษย์มีการนำแมวมาผสมเพื่อให้ได้สีที่ต้องการจนเกิดเป็นวงการเพาะพันธุ์แมว

สีของแมวควบคุมโดยยีนบนโครโมโซมเพศและโครโมโซมร่างกาย โดยยีนที่ควบคุมสีขาวเป็นยีนบนโครโมโซมร่างกาย ส่วนยีนที่ควบคุมสีส้มและสีดำจะเป็นยีนบนโครโมโซม X ของโครโมโซมเพศ แมวสามสีส่วนใหญ่จึงเป็นแมวเพศเมีย เนื่องจากโครโมโซมเพศของแมวตัวเมียเป็น XX จึงสามารถรับสีมาได้พร้อมกันทั้งสีดำและสีส้ม ในขณะที่โครโมโซมเพศของแมวตัวผู้เป็น XY จึงทำให้รับสีดำหรือสีส้มมาได้เพียงสีเดียว อาจมีบ้างที่จะพบแมวตัวผู้ที่มีสามสีแต่การมีสามสีนี้จะแลกมากับการเป็นหมัน จากการที่มีโครโมโซมเพศเป็น XXY

ไดอะแกรมแสดงความสัมพันธ์ระหว่างแมวป่าแต่ละสายพันธุ์ (https://www.youtube.com/watch?v=CYPJzQppANo)

 

จากการศึกษา DNA ของแมว โดย Claudio Ottoni และทีมพบร่องรอยของ DNA เก่าแก่ในแมวที่อยู่บริเวณเมืองท่า จึงเกิดแนวความคิดว่าแมวแพร่พันธุ์ไปทั่วโลกโดยเดินทางไปกับเรือขนสินค้า โดยมีหน้าที่ปกป้องอาหารบนเรือจากหนูที่แอบขึ้นมาบนเรือ และเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง แมวบางตัวก็ไม่ได้กลับขึ้นเรือ แต่ไปตั้งรกรากสร้างครอบครัวอยู่ที่ประเทศปลายทางแทน การเดินทางมากับเรือนี้เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้บริเวณเมืองท่าที่มีความคึกคักมาตั้งแต่อดีต และเป็นเมืองที่สามารถพบเห็นแมวได้หลากหลายชนิด

 

แมวในเมือง และความสัมพันธุ์ระหว่างคนกับแมว

แมวที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง อิสตันบูลเป็นอีกแห่งที่มีแมวในเมืองเป็นจำนวณมาก และได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวของแมวในเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างแมวกับคนออกมาผ่านสารคดี Kedi จนหนังประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่สะท้อนถึงความเอ็นดูที่คนมีต่อแมว

นอกจากตุรกียังมีสถานที่อื่นอีกที่แมวกลายเป็นไอคอนดึงดูดคนให้เข้าไปเยี่ยมเยียน เช่นเกาะแมวที่ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการพาคนไปสำรวจสถานที่ภายในเมืองผ่านมุมมองของแมว (Cat street view) พร้อมไปกับการแนะนำแมวที่อยู่ในบริเวณต่างๆ ของเมือง ในไทยเราเองก็คงเป็นย่านตลาดน้อย นอกจากจะเป็นที่รู้จักในนามของการเป็นชุมชนเก่าที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่มีแมวอยู่เป็นจำนวนมากจนกลายเป็นอีกจุดเด่นของพื้นที่

แมวจาก cat street view ของเว็บแนะนำเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น (hiroshima-welcome.jp)

 

เนื่องจากชีวิตแมวจรนั้นต้องอยู่บนเส้นทางของการเอาตัวรอดจึงเป็นเรื่องปกติที่แมวจรจะมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นกว่าแมวบ้าน การเอาตัวรอดของแมวจรมีหลายแบบ บางตัวอาจเลือกวิธีการหว่านเสน่ห์แก่ทาสแมวจนได้มีบ้านเป็นของตัวเอง บางตัวแม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปอยู่ในบ้านแต่ก็มีฐานแฟนคลับมากมายที่คอยเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี แมวบางตัวไม่ค่อยถูกกับคนเท่าไหร่มักมองคนด้วยความระแวดระวัง แล้วแอบออกมากินอาหารที่ทาสเอามาให้อย่างกล้าๆ กลัวๆ  ในขณะที่แมวบางตัวมีเลือดของนักสู้สูงเลยไม่พึ่งพาใคร แต่ตระเวนหาอาหารด้วยตัวเอง

ลักษณะนิสัยด้านความคุ้นเคยกับมนุษย์ที่แตกต่างกันนี้ทำให้สามารถจำแนกแมวจรได้เป็น 2 ประเภท คือ stray cat และ Feral cat ซึ่งในภาษาไทยยังไม่มีการแบ่งแยกแมวสองชนิดออกอย่างชัดเจน โดย stray cat หมายถึง แมวจะมีความคุ้นเคยกับคน มักอาศัยอยู่ตัวเดียว ใช้ชีวิตในช่วงกลางวันเป็นส่วนใหญ่ ส่วน Feral cat หมายถึง แมวที่ไม่มีความคุ้นเคยกับคน จะหลบซ่อนตัวไม่ยอมให้คนจับ มักอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ออกหาอาหารในช่วงกลางคืนเป็นหลัก แมวชนิดนี้มักจะพบบริเวณพื้นที่ชนบท หรือพื้นที่ใกล้ป่า ในขณะที่แมวในพื้นที่เมืองส่วนใหญ่จัดเป็นแมวประเภท stray cat

แมวในย่านตลาดน้อย (dek-d.com)

 

แมวจรที่ต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเองมักมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ปี แม้ว่าแมวจรจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยไม่มากนัก แต่แมวเป็นสัตว์ที่สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งปี ในระยะเวลา 1 ปี แมวจึงสามารถคลอดลูกได้ 2 – 4 คอก ใน 1คอก มีลูกได้มากถึง 8 ตัว ทำให้แมวจรแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จากข้อมูลทางสถิติพบว่า ลูกแมวถึงร้อยละ 80 เกิดจากแมวจร แม้ว่าแมวจะเป็นสัตว์ที่น่ารักน่าเอ็นดู แต่การเพิ่มขึ้นของประชากรแมวอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณนั้นในแง่ลบได้ เช่น ทำให้พื้นที่เมืองสกปรกจากการขับถ่ายไม่เป็นที่ การล่าสัตว์ชนิดอื่นภายในพื้นที่ เช่นกรณีที่แมวล่าสัตว์พื้นถิ่นไปเป็นจำนวนมากจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย การวางแผนการจัดการและการควบคุมจำนวนประชากรแมวไม่ให้เยอะจนเกินไปจึงมีความสำคัญอันนำมาสู่แนวทางการจัดการอันเป็นสากล คือการจับทำหมันแล้วปล่อย Trap-Neuter-Return (TNR) ในบางแห่งอาจมีการพ่วงการฉีดวัคซีนให้แมวด้วย โดยแมวที่เข้าสู่กระบวนการนี้แล้วจะถูกตัดปลายหูซ้ายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ทำหมันแล้ว

ตัวอย่างแมวที่เข้าสู่กระบวนการ TNR แล้วโดนทำสัญลักษณ์ที่หูซ้าย (sanmarcostx.gov)

 

ทั้งนี้การจัดการแมว Stray cat และ Feral cat จะมีแนวทางที่แตกต่างกัน เนื่องจาก stray cat เป็นแมวที่มีความคุ้นเคยกับคน และสามารถอยู่ร่วมกับคนได้อย่างไม่มีปัญหา จึงสามารถจัดการโดยการหาบ้านให้แมวอยู่ หรืออาจใช้วิธีการให้คนในชุมชนช่วยกันดูแล โดยการกำหนดจุดให้อาหารและจัดเก็บให้เรียบร้อยเป็นเวลา เพื่อไม่ให้พื้นที่สกปรก ออกแบบจุดขับถ่ายสำหรับแมว โดยเตรียมพื้นที่ทรายแมว และมีการทำความสะอาดพื้นที่ สร้างความเข้าใจ และสร้างความร่วมมือในชุมชนในการช่วยดูแลแมว และรักษาความสะอาดพื้นที่ ในขณะที่การจัดการ Feral cat ทำได้เพียงนำแมวเข้าระบบ TNR แล้วปล่อยคืนให้แมวกลับไปใช้ชีวิตตามเดิม

 

การมีแมวในเมืองเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น ช่วยดึงดูดคนเข้ามาในพื้นที่และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ย่านนั้น ทั้งยังมีส่วนช่วยให้คนในพื้นที่มีสุขภาพจิตที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการวางแผนการอยู่ร่วมกับแมวและมีวิธีการบริหารจัดการแมวให้พื้นที่ไม่เกิดความเสื่อมโทรม และแมวไม่มีจำนวนทีมากเกินจนไปรุกรานสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

จากการที่แมวเป็นสัตว์ที่ทำให้คนหลงใหลได้เป็นจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดเป็นวลีสุดฮิตอย่าง แมวเป็นสัตว์ที่คิดจะครองโลกเกิดขึ้น แม้ว่าแมวเป็นสัตว์ที่เราเห็นเป็นประจำทุกวันจนเคยชินแต่เรื่องราวเกี่ยวกับแมวยังมีอีกหลายมิติที่น่าศึกษาและทำให้เราแปลกใจได้อีกไม่น้อย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

smithsonianmag.com

smartertravel.com

loc.gov

alleycat.org

alleycat.org

humanesociety.org

youtube.com

faunalytics.org

frontiersin.org

city.abiko.chiba.jp

hiroshima-welcome.jp

faunalytics.org

youtube.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :