CITY CRACKER

คอร์ตแบด โรงแรม พิพิธภัณฑ์ โรงหนังเก่าเปลี่ยนไปเป็นอะไรบ้าง

ยุคหนึ่งโรงหนังถือเป็นความบันเทิงสำคัญ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราไปเดทกันก็ไปโรงหนัง วันหยุดก็จูงลูก-หลานไป ในยุคนั้นกรุงเทพฯ และเมืองสำคัญ จึงเกิดโรงหนังสแตนอโลนปรากฏตัวขึ้นมากมาย ตัวโรงหนังในย่านชุมชนมักมีอาคารปูนหน้าตาคุ้นเคย เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มีโรงหนังมัลติเพล็กซ์ไปจนถึงความบันเทิงอื่นๆ เข้ามาแทนที่ อีกทั้งการเจริญเติบโตของเมืองที่ทำให้มูลค่าที่ดินสูงขึ้น ตัวกิจการการฉายหนังก็เลยต้องปิดตัวลง

ตึกอาคารคลาสิกถ้าไม่ถูกทิ้งร้าง ก็ถูกรื้อทิ้ง เลยมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น จากตัวอาคารที่มีลักษณะเด่น เช่นโถงและห้องโล่งๆ กว้างๆ พร้อมเพดานสูง จึงมีการใช้ประโยชน์จากตึกเก่าเหล่านี้ไปในหลายรูปแบบ

City Cracker ชวนไปดูว่าเหล่าโรงหนังเก่าที่เคยเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ ปัจจุบันได้ถูกนำไปใช้งาน เปลี่ยนแปลงฟังก์ชั่นไปสู่อะไรกันบ้าง จากโรงหนังพงษ์เพชรกลายเป็นคอร์ตแบดมินตัน โรงหนังแคปิตอลกลายเป็นตลาดคลองถม โรงหนังปรินซ์ถูกปรับให้กลายเป็นบูทีคโฮเทล และโรงหนังเฉลิมธานีได้รับการอนุรักษ์ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ บางที่ก็ปรับฟังก์ชั่นการใช้ บางที่ก็เลือกที่จะเก็บรักษาอดีตและความทรงจำของโรงหนังเก่าให้กลายเป็นจุดเด่นของสถานที่ใหม่

 

งามวงศ์วานรามา- คอร์ตแบดย้อนยุค

งามวงศ์วานรามาถือเป็นอีกหนึ่งโรงหนังชั้นนำของย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ตัวโรงหนังตั้งอยู่ใกล้แยกพงษ์เพชร ตัวโรงหนังมีขนาดใหญ่ถึง 1,000 ที่นั่ง ในอดีตเป็นที่รองรับผู้ชมทั้งจากกรุงเทพฯ และบางคนถึงขนาดมาจากต่างจังหวัด หลังจากหมดยุคโรงหนังโรงเดี่ยวแล้วไปสู่ยุค SF และเมเจอร์งามวงศ์วานแล้ว โรงหนังแห่งนี้ได้กลายร่างเป็นคอร์ตแบดมินตัน ที่เจ้าของยังคงเก็บบรรยากาศคลาสสิก เช่นโถงด้านหน้า ผนังและเพดานไว้จนกลายเป็นจุดเด่น และกิจกรรมออกกำลังกายก็สอดคล้องกับความนิยมร่วมสมัย คอร์ทแบด NG งามวงศ์วาน นี้เลยมีผู้เข้าใช้บริการอย่างเนืองแน่นเป็นประจำทุกวั

 

โรงหนังตลาดสะพาน 2- สนาม BB GUN

จัดจ้านในย่านลาดพร้าว สำหรับชาวลาดพร้าวในยุคหนึ่งต้องรู้จักตลาดสะพานสอง และที่ตลาดสะพานสองนี้ก็มีโรงหนังแสตนอโลนชื่อดังที่ใครๆ ก็ต้องมา ตัวโรงหนังตลาดสะพาน2 ดูจะเป็นพื้นที่ที่สะท้อนถึงความนิยมของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ราว 10 ปีก่อน วัยรุ่นฮิตเล่นบีบีกัน ตัวโรงหนังร้างในย่านโชคชัยสี่นี้เลยถูกเปลี่ยนเป็นสนามบีบีกัน โดยใช้โอกาสจากตัวโรงหนังเก่านี้เป็นสนามรบเท่ๆ กึ่งหลอนหน่อยๆ ถือเป็นการใช้พื้นที่ที่ไม่ต้องทำอะไรมาก เอาของเก่าๆ มาทำเป็นบังเกอร์ แต่ล่าสุดความนิยมของบีบีกันก็ลดน้อยลง บวกกับราคาที่ดินย่านลาดพร้าว โชคชัยสี่โดยเฉพาะบริเวณชุมชนกำลังเพิ่มขึ้น ตัวสนามนี้ก็ได้ปิดบริการไปแล้วเรียบร้อย

 

โรงหนังปารีส- พื่นที่ให้เช่า

โรงหนังปารีสเป็นอีกหนึ่งโรงหนังในตำนาน มียุครุ่งเรืองเคียงคู่มากับศาลาเฉลิมไทยและโรงหนังแอมบาสเดอร์ ช่วงนั้นโรงหนังปารีสฉายหนัง 70 มิล เรื่อยมาจนต้องรับตัวฉายหนังควบ 2 เรื่อง 40 บาท ล่าสุดตัวโรงหนังได้เลิกกิจการฉายหนังไปนานแล้ว ส่วนพื้นที่ด้านล่างก็ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เช่าค้าขาย มีหน้าตาเหมือนตึกแถวให้เช่า กลายเป็นโรงน้ำแข็ง ของชำและร้านผลไม้

 

โรงหนังคาเธ่ย์- พื้นที่การค้า

โรงหนังคาเธย์เป็นหนึ่งในโรงหนังชั้นนำชื่อดังย่านเยาวราช ด้วยความที่เยาวราชยังคงเป็นย่านการค้า ดังนั้นเมื่อโรงหนังปิดกิจการลง ตัวอาคารก็ยังคงมีมูลค่า โรงหนังคาเธ่ย์ปัจจุบันได้กลายสภาพเป็นตึกธนาคาร ICBC บางส่วนของตึกกลายเป็นโลตัสเอ็กเพรสและใช้ประโยชน์เป็นอาคารจอดรถ

 

โรงหนังแคปปิตอล-แหล่งอุปกรณ์มือถือกลางเสือป่า

 


ตัวโรงหนังแคปปิตอลตั้งอยู่กลางย่านคลองถมเสือป่า พอพูดถึงคลองถมเรานึกถึงย่านการค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อหมดยุคโรงหนังเฟื่องฟู ตัวโรงหนังแคปปิตอลค่อยๆ เปลี่ยนการใช้งานไป จนกระทั่งล่าสุด อาคารที่มีพื้นที่กว้างและลานโล่งๆ แห่งนี้จึงปรับตัวไปสู่การเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์มือถือครบวงจร

ปรินซ์ รามา -Prince Theatre Heritage Stay Bangkok

เรารู้จักโจ๊กปรินซ์ และแถวๆ เจริญกรุงถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ ปรินซ์รามาเป็นอีกหนึ่งโรงหนังชื่อดัง ที่แม้จะขึ้นชื่อในหมู่หนุ่มๆ ว่าเป็นโรงหนังเรต X แต่ล่าสุดด้วยบริบททางวัฒนธรรม และการปรับย่านแถวๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นย่านสร้างสรรค์ ตัวโรงหนังปรินซ์จึงถูกปรับปรุงเปลี่ยนโฉมเป็น Prince Theatre Heritage Stay Bangkok บูทีคโฮเทลที่นำเอาเรื่องราว และสถาปัตยกรรมเก่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพักผ่อนในย่านเก่าแก่ เช่นเก็บจอภาพยนตร์เก่าไว้ หรือรักษาเสาไม้โบราณ ไปจนถึงการออกแบบตกแต่งที่สอดคล้องกับศิลปะแบบอาร์ต เดโคดั้งเดิม

ลิโด- Co-cultural Space

ลิโดเป็นโรงหนังแสตนอโลนในพื้นที่กลางเมืองที่ดิ้นรนมาจนในที่สุด ลิโดก็ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงไปสู่การใช้พื้นที่ที่ไม่ใช่แสตนอโลนอีกต่อไป ภายใต้การนำของ Loveis ค่ายเพลงรักแนวหน้าของเมืองไทยลิโดกำลังจะกลายเป็นลิโด้ เป็นพื้นที่ที่ปรับปรุงไปสู่พื้นที่ของการเชื่อมต่อ เป็นชุมชนที่ให้วัยรุ่นได้มาปล่อยของ มีการปรับปรุงพื้นที่ทั้งตัวพื้นที่เปิดโล่ง และโรงหนังให้กลายเป็นโรงละครหรือฮอลล์คอนเสิร์ตขนาดเล็ก ตัวสถาปัตยกรรมจะได้รับการออกแบบโดยอิงกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของลิโด้ตั้งแต่ยุค 70s เรื่อยมาจนถึงยุค 90s

เฉลิมธานี- พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

โรงหนังเฉลิมธานีเป็นโรงหนังเก่าแก่คู่ตลาดนางเลิ้ง ตัวอาคารเป็นตึกไม้โบราณสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ตัวโรงหนังนี้จึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ พื้นที่โรงหนัง กิจกรรมฉาย-ชมภาพยนตร์มีคุณค่าและความหมายในทางศิลปะในตัวเอง โรงหนังเฉลิมธานีจึงกลายเป็นต้นแบบที่น่าสนใจ มีการพัฒนาปรับปรุงให้ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและเป็นโบราณสถาน ทำหน้าที่เสนอเรื่องราวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในยุคร้อยปีก่อน

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :