การจะพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของมนุษย์ หากทุกคนร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจปัญหาและเข้าใจบริบทต่างๆ ของเมือง พร้อมแนะแนวทางการพัฒนาอย่างถูกต้อง แม้ว่าแต่ละคน แต่ละท้องถิ่นจะมีความหลากหลายหรือมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถเรียนรู้และนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้เข้ากับชุมชนเมืองของตนเองได้
เมื่อวันที่ 27-29 สิงหาคมที่ผ่านมา โครงการริทัศน์ หรือ RTUS (ReThink Urban Spaces – การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาชุมชนเมือง) ได้จัดกิจกรรม RTUS Orientation Workshop ที่รวมเยาวชนคนรุ่นใหม่กว่า 82 ชีวิต จาก 5 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น การญจนบุรี กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ให้มาทำความรู้จักกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมแสดงความคิดเห็นพร้อมทั้งพัฒนาไอเดียร่วมกัน เพื่อเตรียมทำโครงการพัฒนาเมืองของตนเองในประเด็นที่แต่ละคนสนใจ
ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเหล่าเยาวชน ทางโครงการจึงจัด Talk session เชิญผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านมาร่วมพูดคุยให้ความรู้และมุมมองในการทำงานเรื่องเมืองกับน้องๆ ซึ่งพวกเรา City Cracker เอง ก็ได้เข้าไปฟัง ร่วมเรียนรู้ และอยากนำไอเดียสำคัญบางอย่างมาเล่าให้ทุกคนฟัง เพื่อส่งต่อสิ่งที่ได้ไปยังเยาวชนและทุกคนที่อยากลุกขึ้นมาสร้างการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมเช่นกัน
สำรวจเมือง ทำความรู้จักผู้คน
คุณตุ้ม อินทิรา วิทยสมบูรณ์ คือผู้เชี่ยวชาญคนแรกที่จะมาชวนทุกคนไปสำรวจเมืองต่างๆ ให้ลึกซึ้งและเข้าใจบริบทเมืองมากขึ้นผ่านการเที่ยวทิพย์ 3 พื้นที่ ได้แก่ อ. แม่สาย จ. เชียงราย , ย่านนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร และ ชุมชนวัดจันทร์ อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยเราขอยกทริปเที่ยวแม่สายมาเล่าให้ทุกคนฟัง
คุณตุ้มเล่าว่า เมื่อพูดถึงแม่สายทุกคนคงพอจะมีภาพจำเกี่ยวกับตลาดใหญ่ริมพรมแดนไทย-พม่า หรือป้ายเหนือสุดแดนสยามที่เป็นจุดสิ้นสุดของถนนพลโยธินซึ่งเป็นถนนเส้นใหญ่ที่เชื่อมภาคเหนือเข้ากับกรุงเทพฯ แต่ภายใต้ภาพจำเหล่านี้ ยังมีผู้คนที่หลากหลาย มีวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต และเรื่องราวอีกมากมายซ่อนอยู่
คำถามแรกคือ ใครคือคนแม่สาย คุณตุ้มเล่าถึงประสบการณ์การลงไปทำกิจกรรมในพื้นที่ว่าพ่อค้าแม่ขายที่เราพบเจอในตลาดแม่สายนั้นมีความหลากหลายมาก มีกลุ่มคนไท ทั้งไทลื้อ ไทยวน ไทใหญ่ กลุ่มคนจีน คนมุสลิม อยู่ร่วมกันในพื้นที่แม่สาย เมื่อได้ลองเข้าไปอุดหนุนร้านค้าในตลาดแม่สาย เราก็จะเจอกับอาหารท้องถิ่นอย่าง “ข้าวซอยน้อย” หรือเรียกอีกชื่อว่า “พิซซ่าไทใหญ่” ซึ่งเป็นอาหารที่ทำจากแป้งถั่วเหลือง ผลผลิตทางการเกษตรเดิมของพื้นที่นี้ “อาหารคือสิ่งที่ทำให้เข้าใจวิถีชีวิต วัฒนธรรมของผู้คน เข้าใจความเป็นไทใหญ่ ไทลื้อ” คุณตุ้มกล่าวแบบนั้น
เมื่อเราพูดคุยทำความรู้จักชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแม่สายมากขึ้น เราจะพบว่า ความหลากหลายของผู้คน ทำให้ในบริเวณชุมชนริมชายแดน นอกจากจะมีตลาดแล้วยังมีวัด มัสยิด ศาลเจ้า กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ในฐานะพื้นที่ทางวัฒนธรรมและความเชื่อของชุมชน แม้ว่าจะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาก็ยึดโยงกันผ่านเรื่องเล่า ตำนาน ภูตผี บรรพบุรุษ ซึ่งส่งต่อเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบันให้คนรุ่นหลัง ด้วยพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพี่น้องกลุ่มคนไทที่พยายามตั้งตัวเองเป็นรัฐอิสระ ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ยังถูกถ่ายทอดออกมาสืบสานเป็นรูปธรรมในรูปแบบของงานช่าง งานฝีมือของชุมชน มีกลุ่มหัตถกรรมมากมาย ทั้งช่างแกะสลักหยก ช่างทำพระพุทธรูป เทียน ธงตุงต่างๆ
เมื่อมองข้ามฝั่งแม่น้ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เราจะพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์สองฝั่งแม่น้ำสนิทกันมาก พี่ตุ้มเล่าติดตลกว่าแม่น้ำสายนี้จริงๆ แล้วตื้นมาก ชาวบ้านสามารถจีบกันข้ามแม่น้ำได้เลย แน่นอนว่าวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภาษานั้นเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด ผู้คนไปมาหาสู่กันและมีหลายคนที่ถือสองสัญชาติเป็นพลเมือง เป็นชาวเมืองของทั้งสองประเทศพร้อมๆ กัน
เมื่อเราถอยออกมา 1 ก้าว แล้วมองแม่สายใหม่อีกครั้ง แล้วลองตั้งคำถามว่า แม่สายกำลังเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปในทิศทางไหน เพื่อใคร เราจะพบว่า ในเมืองที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมแบบนี้ มีความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่มากมาย เช่น อาหารท้องถิ่นที่เกิดจากเกษตรกรรมถั่วเหลืองของคนในพื้นที่ ทุกวันนี้ที่นาหลายที่ในแม่สายไม่สามารถเพาะปลูกได้แล้วจากนโยบายการเปลี่ยนแม่สายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการกว้านซื้อที่นาและเตรียมเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรม เมื่อการปลูกถั่วเหลืองไม่สามารถทำต่อได้ ชุมชนจึงต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ทั้งสำหรับใช้กินในครัวเรือน ใช้ค้าขายประกอบอาชีพ และใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อยื้อชีวิตวัฒนธรรมอาหารของตน
แม้แม่สายจะเป็นตลาดใหญ่ขายตั้งแต่ขนมขบเคี้ยวไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่มีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าน้อยคนมากที่จะมีพื้นที่ร้านในตลาดเป็นของตัวเอง เกือบทั้งหมดเป็นการเช่าที่ของกลุ่มทุนเพื่อเปิดร้านขายของ หลายคนยังถือบัตรพลเมืองชั่วคราวและไม่ได้ถูกรับรองให้เป็นประชาชนชาวไทยอย่างเป็นทางการ คนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกหลงลืมไปในกระบวนการพัฒนานั้นไม่ได้มีอยู่เฉพาะที่แม่สาย แต่ยังมีในเมืองอื่นๆ อีก เช่น ย่านนางเลิ้ง ย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานครที่ชุมชนกำลังลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ซึ่งจะทำให้เกิดการเวนคืนที่ดินชุมชนหลายสิบครัวเรือน โดยพวกเขากำลังพยายามเรียกร้องให้เกิดการออกแบบและวางแผนโครงการนี้ร่วมกับคนในชุมชน เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่อได้โดยรักษาชุมชนเดิมเอาไว้ด้วย
หรืออย่างชุมชนวัดจันทร์ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ก็เป็นอีกชุมชนที่เด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นมาคัดค้านการพัฒนาพื้นที่การเกษตรที่จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และโครงการสร้างกำแพงกันคลื่น ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ พี่น้องชุมชนวัดจันทร์ชวนกันลุกขึ้นมาทำโครงการสืบสาน เล่าเรื่อง เปิดชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้คนภายนอกได้เข้ามารู้จักชีวิตชาวเล ทำ workshop ผลิตสินค้าจากต้นทุนของพื้นที่ ทั้งการทำเคยกุ้ง หรือการทำงานศิลปะจากใบต้นตาลโตนด
ใครคือคนในพื้นที่ ใครคือคนในเมืองที่เราอยู่อาศัย จึงเป็นคำถามสำคัญที่พี่ตุ้มชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนถามตัวเองอีกครั้ง และชวนทุกคนให้หาโอกาสเข้าไปทำความรู้จักกับคนในเมืองของตนเอง เรียนรู้วิถีชีวิต ความเชื่อของพวกเขา เพื่อให้การพัฒนาหลังจากนี้ไม่เผลอทิ้งใครไว้ข้างหลังเหมือนที่ผ่านมา
มองหาระบบนิเวศของเมือง เรากำลังอยู่ในเมืองแบบไหน
คุณยศพล บุญสม คือผู้เชี่ยวชาญคนที่สองที่จะมาพูดคุยกับน้องๆ เยาวชนในฐานะภูมิสถาปนิกที่ทำงานเรื่องพัฒนาเมืองผ่านการร่วมหาคำตอบว่า ตอนนี้เราอยู่ในเมืองแบบไหน และเมืองแบบไหนที่เราอยากจะอาศัยอยู่
มีเยาวชนหลายคนยกมือขึ้นแลกเปลี่ยนว่าตนมองเมืองของตัวเองอย่างไรบ้าง มีคนหนึ่งตอบว่า ‘เมืองคือระบบนิเวศ’ ซึ่งคุณยศพลบอกว่าเป็นคำตอบที่น่าสนใจมาก และอธิบายขยายความต่อไปว่า ถ้าตามนิยามหลักๆ เมืองคือที่ที่มีผู้คนจำนวนมากมาอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าเมืองนั้นไม่ได้ตั้งอยู่อย่างเป็นเอกเทศจากสิ่งอื่นๆ แต่เมืองทุกเมืองนั้นตั้งอยู่บนโลกใบเดียวกัน โลกเป็นสิ่งแวดล้อมที่รองรับเมืองทั้งหมดอยู่ ธรรมชาติจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงมากที่สุด
เมื่อเราค่อยๆ ย้อนรอยประวัติศาสตร์ของเมืองต่างๆ ทั่วโลก เราจะเห็นว่าเมื่อคนมาอยู่รวมกันเยอะๆ กิจกรรมของผู้คนเหล่านั้นจะทำให้เกิดเงื่อนไขพิเศษบางอย่างขึ้นมา ซึ่งอาจจะกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนภายในเมือง เช่น ลอนดอนเคยเกิดการระบาดของโรคติดต่อครั้งใหญ่ ซึ่งภายหลังกระตุ้นให้เกิดการออกแบบระบบผังเมือง ออกแบบทางระบายน้ำ มีการบำบัดน้ำเสียเพื่อรักษาสุขภาพของผู้คน หรือในปารีสหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อากาศในเมืองมีฝุ่นควันเยอะ เมืองปารีสจึงต้องวางแผนการสร้างสวนสาธารณะ เพื่อบำบัดอากาศเสีย ส่วนกรณีของนิวยอร์ก เมืองมีการสร้างตึกสูงอย่างหนาแน่นทำให้แดดส่องไม่ถึงพื้นด้านล่าง จึงมีการกำหนดกฎหมายระยะร่นของตึก เพื่อเว้นระยะห่างให้มีพื้นที่ระหว่างตึกมากขึ้น เปิดช่องให้แดดส่งลงไปถึงท้องถนน
กระบวนการพัฒนาเมืองเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเพื่อดูแลสภาพความเป็นอยู่ของประชากรเท่านั้น แต่เป็นการรักษาระบบนิเวศ จัดสรรและดูแลองค์ประกอบต่างๆ ในเมืองที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งมนุษย์และธรรมชาติ คุณยศพลยกตัวอย่างเมืองกรุงเทพมหานครที่เขาอาศัยอยู่ ว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าฝนของทุกปีเป็นปกติ น้ำที่เพิ่มขึ้นนำมาซึ่งสารอาหารจากแหล่งต้นน้ำบนภูเขา ทำให้แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เกื้อกูลระบบนิเวศ ทำให้แม่น้ำมีชีวิต คนหรือเมืองที่เข้าใจสิ่งนี้ก็จะอยู่กับน้ำเหมือนเป็นเพื่อนที่เข้าใจกัน เกื้อกูลกัน แต่กรุงเทพมหานครในปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้น กรุงเทพฯ เปลี่ยนพื้นที่รองรับน้ำให้เป็นคอนกรีตที่ไม่ดูดซับน้ำ เมื่อเกิดน้ำท่วมก็เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เอาทรายมาถมกันน้ำเข้าบ้าน เอารถหนีขึ้นไปจอดบนทางยกระดับ สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะการพัฒนาเมืองมองว่าน้ำนั้นไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นภัย
การพัฒนาที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของพื้นที่ ยังส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตของผู้คนด้วย เช่นการปรับพื้นที่ริมตลิ่งใหม่ให้เป็นผนังคอนกรีตสูง ทำให้ผู้คนที่อยู่ริมน้ำถูกตัดขาด พายเรือไปก็ขึ้นเทียบท่าเข้าบ้านตัวเองไม่ได้ จนต้องย้อนกลับมามองว่า ทุกๆ การพัฒนา เราได้ทำลายอะไรไปบ้าง ทำลายระบบนิเวศริมน้ำ วิถีชีวิตผู้คน สัตว์น้ำพรรณพืชต่างๆ
เมื่อเรารู้ว่าแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมานั้นไม่ได้เข้าใจธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศของเมืองสักเท่าไร คำถามต่อมาคือ แล้วหลังจากนี้ควรจะทำอย่างไร คุณยศพลได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจว่า ทุกวันนี้ทุกคน ทุกเมืองมีโจทย์ใหญ่ที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญร่วมกัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบความเป็นในเมืองหลายรูปแบบ เช่น เกาะความร้อน ฝุ่นควันในอากาศ ฝนตก หนัก น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งต้องการการออกแบบที่ยั่งยืนเข้าใจพื้นที่ เข้าใจอัตลักษณ์ของเมืองต่อยอดจากต้นทุนและโอกาสของพื้นที่ มีกระบวนการมีส่วนร่วม และที่สำคัญคือการสร้างทัศนคติที่ดีในการอยู่ร่วมกัน ทั้งการอยู่ร่วมกันของผู้คนอย่างเท่าเทียม และการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนกับธรรมชาตินั่นเอง
วิธีการและความเป็นไปได้ของการพัฒนาเมืองโดยเยาวชน
คุณโต้ โตมร อภิวันทนากร คือผู้เชี่ยวชาญคนสุดท้ายที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในกิจกรรม โดยกระบวนการของคุณโต้นั้นไม่ได้เป็นการบรรยายเหมือนของสองท่านก่อนหน้า แต่เป็นวงบรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของน้องๆ เยาวชน โดยมีคุณโต้รับบทเป็นนักกระบวนกร เมื่อได้ฟังเป้าหมายของน้องๆ แล้ว คุณโต้จึงให้กลไกการทำงานซึ่งน่าจะช่วยให้น้องๆ เยาวชนนำไปปรับใช้กับโปรเจ็กต์สร้างการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมในเมืองของตนเองในอนาคต โดยกลไกที่ว่านั้นแบ่งเป็นสามขั้นตอน คือ
1. พื้นที่ของการปฏิบัติการ หรือการทำ place making ทดลองทำงานในพื้นที่เล็กๆ ในฐานะโปรเจ็กต์ทดลองในประเด็นที่ตนสนใจ
2. พื้นที่ของการสื่อสาร ซึ่งหมายถึงการนำเรื่องราวและผลของโปรเจ็กต์ทดลองที่ทำมาขยายวงให้กว้างขึ้นสู่สังคม สร้างบทสนทนาที่จะเขย่า ขยับ และขับเคลื่อนผู้คน
3. พื้นที่ของการสังเคราะห์ ซึ่งหมายถึงการจัดการความรู้ ถอดบทเรียนที่ได้ จากนั้นเรียบเรียงเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ว่าด้วยการพัฒนาเมืองที่เยาวชนมีส่วนร่วม และส่งต่อข้อเสนอนั้นแก่หน่วยงานหรือภาครัฐของเมืองต่อไป
ขั้นตอนเหล่านี้มีขึ้นเพื่อวางรากฐานกลไกการพัฒนาเมืองในระยะยาว เปลี่ยนแปลงไปถึงระดับนโยบายเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถร่วมริเริ่มโครงการ กำหนดทิศทาง และตัดสินใจในโครงการพัฒนาเมืองมากขึ้นได้อย่างยั่งยืนไม่ปล่อยให้ความพยายามของน้องๆ ในครั้งนี้เกิดขึ้นแล้วจบไปนั่นเอง
โครงการริทัศน์ หรือ RTUS นั้นเป็นโครงการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งหลังจากนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้ง 82 คน จาก 5 เมืองจะนำความรู้ที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้ไปปรับใช้ในเมืองของตนเอง และสร้างการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม โดยมีทีมงานของโครงการคอยให้การสนับสนุน พวกเขาจะรวมกลุ่มกันขับเคลื่อนประเด็นอะไรต่อไป จะร่วมกันพัฒนาเมืองไปในทิศทางไหน ขอเชิญชวนให้ทุกท่านติดตาม และเอาใจช่วยน้องๆ ไปด้วยกันครับ