CITY CRACKER

ฉลามชอบงับคุณ คุณชอบฉลามมั้ยงับ ว่าด้วยอควาเรียม ในฐานะพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางวิทยาศาสตร์

ฉลามนั้นชอบงับคุณ ฟังบ่อยๆ ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิดรำคาญ ในเมื่อเป็นกระแสมาก เราเองก็อาจจะคิดถึงน้องฉลามตัวจริงๆ ขึ้นมา ด้วยความที่ร้องเพลงนี้กันทั่วบ้านทั่วเมือง ประกอบกับเดือนนี้ทางผู้ว่าฯ กรุงเทพฯบอกว่าจะเป็นเดือนของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ City Cracker เลยอยากชวนไปดูฉลาม และที่ที่เราทุกคนพอจะไปดูฉลามกันได้ง่ายที่สุดก็คือ ‘อควาเรียม’ หรือ ‘พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (Public Aquarium)’

ด้านหนึ่งอควาเรียมนับเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเมือง เป็นพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั้งการเรียนรู้ของผู้คนและเป็นพื้นที่การศึกษาวิจัย หลายเมืองใหญ่ลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำด้วยหลายเหตุผล ทั้งเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นจุดดึงดูดผู้คนของเมือง เช่น โอซาก้า สิงคโปร์ รวมไปถึงเมืองใหญ่ในยุโรปและอเมริกาก็ล้วนออกแบบและลงทุนสร้างอควาเรียมของตัวเองไว้อย่างยิ่งใหญ่และจริงจัง ทำให้หลายครั้งที่อควาเรียมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ เกิดโครงข่ายขนส่งมวลชน และสร้างความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ

นอกจากส่งผลทางเชิงเศรษฐกิจและการศึกษาแล้ว เราคงพอนึกภาพการไปเยี่ยมชม ไปยืนดูตู้ปลาสูงใหญ่ ชมแมงกะพรุนล่องลอยไป อควาเรียมจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกอันพิเศษและแปลกประหลาด เป็นอาคารที่ยกเอาท้องทะเลมาไว้ต่อหน้าและความรู้สึกพิเศษนี้ก็ส่งผลต่อผู้คนด้วย

ในวันที่ฉลามงับคุณกันทั่วบ้านทั่วเมือง เราจึงชวนไปดูอควาเรียมในฐานะอีกพื้นที่ทางวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้หนึ่งของเมือง จากยุคที่วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเฟื่องฟู การเป็นพื้นที่ของการฟื้นฟูย่าน เป็นแหล่งเรียนรู้ และเราจะชวนไปรู้จัก 5 อควาเรียมที่มีความภูมิใจเป็นฉลามวาฬ ราชาแห่งท้องทะเล ฉลามที่อาจจะไม่งับคุณ

 

Georgia Aquarium

 

ผลผลิตศตวรรษที่ 19 จากสัตวศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม

มนุษย์เรามีความหลงใหลในความงามของสิ่งมีชีวิตจากท้องทะเลมาตั้งแต่ยุคโบราณ มีหลักฐานการเลี้ยงปลาเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมทั้งเพื่อการสันทนาการ เพื่อการค้าไปจนถึงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม แต่การเกิดขึ้นของอควาเรียมสาธารณะน่าจะวางหมุดหมายที่ยุคสมัยใหม่ คือราวศตวรรษที่ 19 อันเป็นส่วนผสมของทั้งความหลงใหลทางวิทยาศาสตร์ ผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมรวมถึงการเกิดขึ้นของพื้นที่สาธารณะ

จุดเริ่มสำคัญคือการเกิดขึ้นของตู้กระจกที่ต่อเนื่องกับความเฟื่องฟูของแขนงวิชาสัตววิทยา ในช่วงปลายศตวรรษทื่ 18 – ต้นศตวรรษที่ 19 เราคงคุ้นกับกิจกรรมสำคัญของโลกตะวันตกคือการเดินทางไปทั่วโลกโดยนอกจากเรื่องอาณานิคมแล้ว แรงขับอีกส่วนคือการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การรวบรวมและนำสัตว์ต่างๆ มาศึกษา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มีนักสัตววิทยาทางทะเลชื่อ Philip H. Gosse ประดิษฐ์ตู้กระจกใสทรงสี่เหลี่ยมออกมาและได้รับความนิยมไปทั่ววงวิชาการและวงการอื่นๆ ตู้กระจกนี้จึงสัมพันธ์ทั้งกับตัวแขนงวิชาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น กระจกและเหล็ก รวมไปถึงความรู้ทางชีววิทยาและสัตววิทยาที่ทำให้มนุษย์สามารถจำลองสิ่งแวดล้อมเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์ได้

 

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสาธารณะ ปี 1905 (reefbuilders.com)

 

ตู้ปลากระจกจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความนิยมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งเพื่อการศึกษาวิจัยและในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ในบ้านของชนชั้นสูง แต่ในแง่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ยุคที่เมืองเริ่มก่อตัว ความรู้ทางวิทยาศาสต์นับเป็นความภูมิใจหนึ่ง และมีการนำพืชพรรณรวมถึงสัตว์ต่างๆ มาจัดแสดงจนกลายเป็นสวนสัตว์ 

ที่อังกฤษเองในฐานะผู้นำด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการรวมรวมศึกษาทางชีววิทยาก็จัดแสดงสัตว์น้ำ ตั้งแต่การจัดแสดงในขวดโหล และที่สำคัญคือการจัดแสดงสัตว์นี้ในการแสดงนวัตกรรมกระจก และเหล็กใน Crystal Palace Complex ส่วนหนึ่งของ London’s Great Exhibition ในปี 1851 การแสดงนวัตกรรมที่ทำให้ผู้คนตื่นตาตื่นตื่นใจกับกระจกใสและการออกแบบโครงสร้างเหล็ก จนในปี 1853 ที่สวนสัตว์ Regent’s Park Zoological Gardens ก็มีการจัดแสดงสัตว์น้ำในชื่อว่า The London Fish House เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมและพื้นที่ที่คนเมืองจะเข้าไปชมสัตว์และพักผ่อนหย่อนใจได้

 

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสาธารณะแห่งแรกในปี 1853 (zsl.org)

 

หน้าตาของเมือง และการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่

นึกภาพว่าขนาดวันที่เราผ่านศตวรรษที่ 19 มาหลายร้อยปีแล้ว การได้เห็นสิ่งมีชีวิตใต้น้ำผ่านกระจกยังนับเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง ย้อนกลับไปหลังจากการจัดแสดงที่ลอนดอน การสร้างและจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำก็เลยเป็นอีกหนึ่งความนิยม หลายเมืองใหญ่เริ่มสร้างอควาเรียมเป็นของตัวเอง อควาเรียมนี้มีนัยหลายอย่างทั้งการเป็นพื้นที่ของความภูมิใจ เป็นพื้นที่รวบรวมความรู้และจัดแสดงความหลากหลายทางชีวภาพ บางส่วนสัมพันธ์กับนวัตกรรมการออกแบบและวิศวกรรมในการมีตู้ มีอุโมงค์ ไปจนถึงความารถในการเลี้ยงปลาในแทงค์ขนาดใหญ่ได้

 

nycgovparks.org

 

ทุกวันนี้เชื่อว่าหลายคนที่มีโอกาสไปที่เมืองใหญ่ ถ้าเมืองนั้นมีอควาเรียมที่โดดเด่น เราเองก็มักจะใส่อควาเรียมเข้าไปในแผนการเดินทางด้วย หลายครั้งที่อควาเรียมเองก็ไปสัมพันธ์กับพัฒนาพื้นที่ การมีอควาเรียมที่ดีมักนำไปสู่การจัดการระบบขนส่งมวลชน กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความเฉพาะตัว ส่วนใหญ่อควาเรียมมักจะสร้างขึ้นบริเวณชานเมืองหรือบริเวณเมืองท่า พื้นที่ใกล้ทะเลเพื่อการบริหารจัดการเรื่องการดูแลสัตว์น้ำ เช่นไคยูคังในโอซาก้า พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมยามว่าง เป็นพื้นที่ทัศนศึกษาในวันธรรมดา และเป็นปลายทางหนึ่งในระดับโลก พื้นที่รอบๆ ไคยูคังก็จะประกอบไปด้วยกิจกรรมสันทนาการ ร้านค้าและกิจการอื่นๆ อีกมากมาย

 

Photo: Courtesy of Georgia Aquarium

 

พื้นที่วิจัยและเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

อควาเรียมในแง่หนึ่งถูกวิจารณ์ในมุมเดียวกับสวนสัตว์ คือนำสัตว์มาไว้ในนอกพื้นที่ธรรมชาติ แต่ส่วนของวิทยาศาสตร์โต้แย้งว่าพื้นที่ เช่น อควาเรียมไม่ใช่แค่การจัดแสดงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ส่วนใหญ่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมักทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย ทั้งวิจัยเรื่องสัตว์น้ำทั่วไปและเป็นพื้นที่รวบรวมศึกษาสัตว์น้ำท้องถิ่น บางอควาเรียมทำหน้าที่เป็นที่พักพิงและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์น้ำ คือมีสาธารณูปโภคและมีผู้เชี่ยวชาญประจำการอยู่

ถ้าเรามองถึงการเป็นพื้นที่วิทยาศาสตร์ อควาเรียมนับเป็นพื้นที่สื่อสารความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ค่อนข้างชัดเจน เป็นพื้นที่ที่เราได้ไปเห็น ไปอ่าน ไปเข้าใจ ตั้งแต่เรื่องสรรพสัตว์ไปจนถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำและมหาสมุทร เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม ทั้งยังผสมผสานระหว่างที่พักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่ทางการศึกษา

 

Image
Churaumi Aquarium (befreetour.com)

 

พื้นที่สีฟ้ากับปลามีชีวิต ธรรมชาติกับการเยียวยาจิตใจ

นอกจากการเป็นพื้นที่วิทยาศาสตร์ พื้นที่เพื่อการเรียนรู้แล้ว การไปยืนอยู่หน้าที่ผืนน้ำแนวตั้ง ดูปลาแหวกว่ายและเหล่าสาหร่ายที่พริ้วไปตามจังหวะ พื้นที่อควาเรียมที่พาเราดำดึ่งลงไปในห้วงมหาสมุทรและฝูงปลาจึงมีผลพิเศษต่ออารมณ์ความรู้สึก เป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อนหัวใจ มีงานศึกษาในปี 2019 ทดลองผลของการชมฝูงปลาที่มีชีวิตโดยทดลองเก็บข้อมูลความรู้สึกผ่านการวัดการเต้นของหัวใจ

ผลการศึกษาพบว่าการดูสัตว์น้ำที่มีชีวิตส่งผลเชิงบวกต่ออารมณ์ผ่านการเต้นของหัวใจที่ช้าลง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย โดยความเข้าใจของงานศึกษานี้เน้นผลกระทบของสิ่งมีชีวิตเช่นฝูงปลาและพืชน้ำที่ส่งผลกับมนุษย์ ยิ่งการชมนั้นมีความหลากหลายและความชีวิตชีวาก็ยิ่งส่งผลดีต่ออารมณ์ ในงานศึกษาพูดถึงโมเดลที่เรียกว่า biopsychosocial model คือองค์ประกอบที่เรารู้สึกผ่อนคลายจากการสัมผัสกับความหลากหลายทางชีวภาพหรือพื้นที่ธรรมชาติ คำอธิบายที่น่าสนใจคือการดูปลาที่ว่ายไปมาเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเชิงสังคม เรารู้สึกว่าไม่เดียวดาย คำอธิบายส่งเสริมความเข้าใจว่าการมีพื้นที่ธรรมชาติจะช่วยดูแลผู้คนในสังคมเชิงอารมณ์ได้ ลดเครียด ลดความเหงา

 

Georgia Aquarium (d298ibdccqcijg.cloudfront.net)

 

 

อควาเรียมที่มีฉลามวาฬให้ชม

สุดท้ายกลับมาที่คนรักฉลาม อันที่จริงฉลามบางประเภทหาชมได้ตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทั่วไป แต่โลกของการเพาะเลี้ยง ฉลามขาวยังถือเป็นความท้าทายสำคัญที่มนุษย์ยังทำไม่สำเร็จ ในระดับของความพิเศษ ฉลามวาฬจึงนับเป็นอีกหนึ่งการจัดแสดงที่หายาก ด้วยขนาดของแทงค์และตัวฉลามที่มีไม่มาก ฉลามวาฬจึงเป็นสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่อควาเรียมไม่กี่ที่บนโลกสามารถจัดแสดงราชาผู้ใจดีแห่งท้องทะเลให้เราได้ชมกัน ในหลายที่ฉลามวาฬจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของพื้นที่ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เราไปเยี่ยมชมเหมือนเป็นเพื่อน เป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ทำให้เราตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของท้องทะเลและสรรพสัตว์อื่นๆ

อควาเรียมสำคัญที่มีฉลามวาฬ ได้แก่ Georgia Aquarium แอดแลนต้า สหรัฐอเมริกา โดยจัดแสดงในส่วนที่เรียกว่า Ocean Voyager แทงค์จัดแสดงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่นี่มีการถ่ายทอดสดภาพจากแทงค์หลักนี้ให้ชมออนไลน์ สำหรับคนไทยอีก 4 พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ไม่ไกลเรามาก เพราะที่ญี่ปุ่นก็มีฉลามวาฬในสามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในสามเมืองใหญ่ คือ Kaiyukan โอซาก้า Kagoshima City Aquarium คาโกชิม่า และ Churaumi Aquarium โอกินาวา และสุดท้ายคือไต้หวัน Kenting National Museum of Biology and Aquarium พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งชาติ ทั้งหมดมีฉลามวาฬเป็นจุดเด่นของอควาเรียม ส่วนใหญ่เน้นให้เห็นนวัตกรรมการออกแบบของแทงค์ที่ใหญ่เพียงพอ และการใช้องค์ความรู้ในการดูแลสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดมหึมาที่สุดประเภทหนึ่งบนโลก

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

horniman.ac.uk

advanced-aquariums.com

ncbi.nlm.nih.gov

georgiaaquarium.org

nmmba.gov.tw

 

Graphic Design by Supatsorn Boontumma 
Share :