เดือนกันยายนเป็นเดือนเกิดโดราเอมอน หนึ่งในการ์ตูนที่ไม่ได้มีผลแค่กับญี่ปุ่น แต่คือโลกใบนี้ทั้งใบ ทำไมโดราเอมอนถึงสำคัญ? มีงานศึกษาหนึ่งจัดให้โดราเอมอนเป็นงานเขียนประเภทไซไฟ และตัวฟูจิฟูจิโอะเองก็กล่าวว่าหัวใจหนึ่งของโดราเอมอนคือความปรารถนาที่จะควบคุมเวลาของโนบิตะ และแนวคิดว่าด้วยเวลานี้ก็เป็นแกนอันสำคัญของโดราเอมอน แก็ตเจ็ตแทบจะทุกอย่างของเรื่องมักจะเกี่ยวข้องกับเวลาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้นั้นมี ‘โลกอนาคต’ เป็นพื้นที่ในจิตนาการอันสำคัญที่ปรากฏอยู่โดยตลอดเรื่อง
ดังนั้นแล้ว บริบทการเกิดขึ้นของโดราเอมอนนั้นเกิดขึ้นในยุคหลังสงคราม เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นฟูขึ้นจากภาวะผู้แพ้สงครามและก้าวเข้าสู่ความเป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่ ภาพของเมืองที่ถูกนำเสนอในโดราเอมอนรวมถึงโลกอนาคตนั้น จึงเป็นพื้นที่ที่งานประเภทไซไฟจะวาดไว้โดยมีนัยบางอย่างอันตอบสนองต่อความปรารถนาของสังคมในห้วงเวลานั้น ‘เมือง’ ที่โนบิตะใช้ชีวิตอยู่ คือโตเกียวในทศวรรษ 1950 และโลกที่โดราเอมอนจากมาในศตวรรษที่ 22 นั้น จึงเป็นพื้นที่ที่ทั้งจริงและมีมิติเชิงจินตนาการที่ผู้เขียนวาดและวางโตเกียวในยุคหลังสงครามไว้ให้กับเด็กๆ และผู้อ่าน
จากบทความว่าด้วยสถาปัตยกรรมบ้านโนบิจากเดอะดลาวด์และงานศึกษาที่นิยามว่าโดราเอมอนเป็นวรรณกรรมไซไฟรูปแบบหนึ่งที่วางรากฐานให้ญี่ปุ่นเปิดรับเทคโนโลยีและเป็นดินแดนที่รักหุ่นยนต์ในเวลาต่อมา City Cracker จึงอยากชวนไปดูประเด็นของเมืองจากโดราเอมอนว่างานจากยุค 90s นี้กำลังวาดภาพของเมืองที่ดี และอนาคตที่ดีของโลกสมัยใหม่ไว้อย่างไร ตั้งแต่ภาพเมืองที่เด็กๆ ออกไปใช้ชีวิต จนถึงโลกอนาคตที่คนกลมเกลียวกับเครื่องจักร
การเกิดขึ้นของครอบครัวเดี่ยว
บริบทสำคัญที่เราเห็นได้ในโดราเอมอนคือ โนบิตะและเพื่อนๆ นั้นเกือบทั้งหมดเป็นครอบครัวเดี่ยว ชีวิตครอบครัวในย่านชานเมืองของโตเกียวได้ถูกนำเสนอในโดราเอมอนนั้นเป็นภาพของครอบครัวเล็กๆ ที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูก มีแค่ไจแอนเท่านั้นที่มีน้องสาว ลักษณะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของโครงสร้างครอบครัวญี่ปุ่นในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม มีรายงานตัวเลขจำนวนสมาชิกในหนึ่งครัวเรือนในพื้นที่เมืองจากช่วงปี 1920, 1930 และ 1950 ว่าจำนวนสมาชิกในหนึ่งครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 2-5 คนต่อครัวเรือน ในช่วงหลังสงครามระยะแรกนั้นครอบครัวญี่ปุ่นยังมีลักษณะเฉพาะคืออาจประกอบด้วยคนรุ่นปู่ย่าที่ยังอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ในช่วงปี 1955 เป็นต้นมา ขนาดครัวเรือนของญี่ปุ่นมีขนาดเล็กลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเกิดจากการสูญเสียสมาชิกรุ่นก่อนของครอบครัวและการมีบุตรที่ลดจำนวนลงเหลือเพียงหนึ่งหรือสองคน
จากภูมิหลังด้านประชากรและบริบทสังคมช่วงหลังสงคราม เราก็จะเห็นร่องรอยในเรื่องราวเช่น ครอบครัวของตัวละครหลักที่เป็นครอบครัวเดี่ยว การสูญเสียคุณย่าของโนบิตะ และการส่งโดราเอมอนที่กลับมามีหน้าที่เป็นสมาชิกในครอบครัวที่นอกจากจะแก้ปัญหาต่างๆ แล้ว หลายครั้งยังสัมพันธ์กับความปรารถนาที่จะมีเพื่อน และความเหงาของเด็กๆ ในครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง
โตเกียวแห่งความหวัง และจุดเริ่มฝันร้ายของโนบิตะ
การฟื้นฟูเมืองหลังสงครามเป็นทั้งพรและคำสาป เบื้องต้นผู้คนในยุคเบบี้บูมเมอร์ก็ค่อนข้างมีความหวังในการสร้างบ้าน สร้างครอบครัวขึ้นใหม่ แต่ผลจากสงครามซึ่งกลายเป็นค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นอย่างสำคัญคือความปรารถนาในการสร้างความมั่นคงและปลอดภัย ส่วนหนึ่งคือคนที่ผ่านภาวะสงครามยังกังวลและไม่อยากให้ครอบครัวกลับไปเจอกับภาวะอดอยากอีกต่อไป เมื่อเมืองและผู้คนเริ่มยืนหยัดได้ ครอบครัวจึงมักถ่ายทอดค่านิยมเรื่องความมั่นคงในชีวิตให้กับลูกหลานผ่านค่านิยมเรื่องการศึกษา ลูกหลานรุ่นต่อมาจะถูกปลูกฝังเรื่องการสร้างตัวผ่านการศึกษาระดับสูงเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จและความมั่นคงในชีวิต
ตรงนี้เองที่เราเห็นความหวังของผู้ใหญ่ และการกำกับให้ลูกหลานของตัวเองต้องขยันขันแข็ง ตั้งใจและประสบความสำเร็จในการศึกษา ในระบบการศึกษาของญี่ปุ่นนั้นมีความเข้มงวด และมีทิศทางแนวโน้มที่มากำหนดอนาคตของเด็กตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัย ดังนั้นสิ่งที่โนบิตะทำคือการเผยตัวตนและความปรารถนาลึกๆ ที่อยากเป็นแค่เด็กที่ขี้เกียจ ไม่ได้ขยันขันแข็ง ประสบความสำเร็จในการเรียนหรือมีแววที่จะเติบโตเป็นอะไรในโลกสมัยใหม่ต่อไป ความฝันของโนบิตะจึงขัดแย้งกับความฝันของคนรุ่นก่อนที่ฝันไปถึงอนาคต แต่โนบิตะฝันถึงความสบายและการไม่ทำอะไร
ชานเมืองอันสงบงาม และเมืองที่ปลอดภัยของเด็กๆ
ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกว่าด้วยภาพของเมืองและเวลาจากภาพยนตร์สำหรับเด็กของญี่ปุ่น พูดถึงโดราเอมอนว่าตัวเรื่องเองมีอุดมคติทั้งในแง่การให้ภาพของเมืองสมัยใหม่ของญี่ปุ่นที่เป็นตัวแทนของเอเชีย และในโดราเอมอนให้ภาพที่ค่อนข้างเป็นอดีตที่หอมหวานของการมีชีวิตชานเมืองในหยุคหนึ่ง เป็นภาพอดีตอันใกล้ที่เราฝันถึงโลกยุคอนาล็อกที่เมืองยังไม่เจริญนัก ย่านชานเมืองใหม่มีความเป็นอุดมคติในแบบของเอเชีย เราเห็นชีวิตที่สงบงาม เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนในบริบทแบบเอเชีย เห็นความขัดแย้งจากสายตาของเด็ก
หนึ่งในนัยที่สำคัญของเมืองในโดราเอมอนคือเราจะเริ่มเห็นภาพของพื้นที่เมืองที่เด็กๆ ออกไปใช้ชีวิต ไปทำกิจกรรมและผจญภัยในเมืองได้อย่างอิสระและปลอดภัย เห็นภาพเมืองที่มีระบบนิเวศเล็กๆ ไม่ได้มีความเป็นเมือง เช่น ตึกสูงหรือได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี หรือมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากนัก นอกจากนี้เมืองที่ยังอยู่ในระหว่างคือมีความเป็นธรรมชาติ มีความเป็นหมู่บ้านคือเป็นสังคมเล็กๆ อยู่บ้าง ชานเมืองของโนบิตะนั้นจึงยังมีมิติพิเศษบางอย่างซ้อนทับอยู่ เช่น มีเรื่องมหัศจรรย์ มีมรดกจากอดีต เช่น ไดโนเสาร์ ตำนานเก่าแก่ที่ยังหลงเหลือหรือมีมิติอื่นๆ ให้เด็กๆ ได้ไปสำรวจและผจญภัยได้ ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นไม่ว่าจะเป็นเมืองทางกายภาพหรือเมืองในจินตนาการก็ล้วนเป็นเมืองที่ปลอดภัยและเชื้อเชิญให้เด็กๆ ออกไปวิ่งเล่น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่บ้าน ของวิเศษหลายอย่างก็เน้นให้พื้นที่ปลอดภัยกับเด็กๆ เช่น คอนโดแคปซูล ที่ให้บ้านพักขนาดกระทัดรัดพร้อมด้วยเตียงและสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือของวิเศษที่มอบอาหารให้ตามความต้องการ กล้องถ่ายภาพเสื้อผ้า ทั้งหมดนี้คือนัยที่เรื่องกำลังพยายามให้พื้นที่ปลอดภัยกับเด็กๆ
ลานเล่น พื้นที่เมืองที่กำลังถูกพัฒนาและการก่อตัวของพื้นที่สาธารณะ
ถ้าอ้างอิงจากโดราเอมอนที่ค่อนข้างถือได้ว่าเป็นภาพเมืองในยุคแรกๆ ของญี่ปุ่น เมืองที่พวกโนบิตะใช้ชีวิตนั้นเราจะเห็นความคาบเกี่ยวของเมืองที่กำลังจะถูกพัฒนา ฉากสำคัญคือสนามร้างที่โนบิตะมักจะมาถูกไจแอนท์เล่นงาน ลานสนามที่พวกโนบิตะมาใช้ชีวิตวิ่งเล่นกัน ตัวลานน่าจะอนุมานได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ก่อสร้าง เป็นพื้นที่ว่างที่ถูกใช้เพื่อเก็บอุปกรณ์ในการก่อสร้างอันเป็นส่วนหนึ่งของภาพเมืองที่กำลังถูกพัฒนาต่อไป นอกจากที่ว่างแล้วก็คือที่รกร้างอื่นๆ เช่น พื้นที่ภูเขาหรือป่าที่ยังหลงเหลือให้เด็กๆ ไปใช้เวลาว่างกับพื้นที่ธรรมชาติ
สิ่งที่น่าสนใจคือภาพเมืองของโดราเอมอนยังไม่ค่อยมีภาพของพื้นที่สาธารณะเท่าไหร่นัก ถ้าเราย้อนดูก่อนที่โตเกียวและเมืองอื่นๆ จะกลายเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวกระจายตัวอยู่ ถ้าเราดูจากการ์ตูนในยุคหลัง เช่น ชินจังที่เราจะเห็นสนามเด็กเล่นจำนวนมากนั้น สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวในเมืองของญี่ปุ่นเป็นผลพวงของการพัฒนาเมืองหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในเขตคันโตเมื่อปี 1923 และการฟื้นฟูเมืองจากสงครามโลกครั้งที่สอง
จากภัยสำคัญทำให้นักผังเมืองสามารถวางการพัฒนาเมืองได้เหมือนกับวาดขึ้นใหม่จากกระดาษเปล่า ในช่วงหลังสงครามเองสวนสำคัญของโตเกียวคือสวนอูเอโนะ สวนที่ถือว่าเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของโตเกียวกลายเป็นที่พักใจทั้งจากความยากลำบากจากสงครามและเสียงอึกทึกของเมืองในเวลาต่อมา นักผังเมืองจึงมองเห็นความสำคัญของสวน มีการสร้างสวนขนาดเล็กกระจายไปทั่วเมืองโดยเน้นเป็นพื้นที่สำหรับเด็กๆ สร้างไว้ใกล้กับพื้นที่โรงเรียนเป็นสนามเด็กเล่น ในช่วงแรกมีรายการสร้างสวนสนามเด็กเล่นถึง 99 แห่งทั่วกรุงโตเกียว ซึ่งถ้าเราดูบางตอนที่โนบิตะไปเยี่ยมเมืองในอนาคตเราก็จะเห็นภาพเมืองโปร่งๆ ค่อนข้างเต็มไปด้วยสวนและต้นไม้
ประตู ไทม์แมชชีนและคอปเตอร์ไม้ไผ่ ความฝันของเมืองที่ไม่ถูกกำกับด้วยเวลา
การเกิดขึ้นของเมืองส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของข้อจำกัด เช่น เมืองสัมพันธ์กับระยะทาง กับเงื่อนไขเรื่องการจัดการเวลาผ่านการเดินทางทั้งภายในเมืองเองและระหว่างเมือง ดังกล่าวว่าโดราเอมอนนั้นมีแกนเรื่องความปรารถนาของเวลาเป็นหัวใจที่โนบิตะและอาจจะเป็นสิ่งที่คนสมัยใหม่ปรารถนา ข้าวของจากอนาคต ของวิเศษหลักๆ ที่ปรากฏบ่อยๆ นั้นจึงอาจพิจารณาได้ว่าเป็นของที่มาจัดการกับเงื่อนไขของเมืองและชีวิตสมัยใหม่
ของสำคัญสามชิ้น ได้แก่ ประตูไปที่ไหนก็ได้ คอปเตอร์ไม้ไผ่และไทม์แมชชีนนั้น ถ้าเรามองในมิติของเมือง อุปกรณ์ทั้งสามอย่างนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ย่นระยะทั้งในแง่ของเวลาและสถานที่ ทั้งนี้อุปกรณ์ ของวิเศษของโดราเอมอนนั้นยังสัมพันธ์กับการเชื่อมโยงวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นเข้ากับเทคโนโลยี และการเป็นเจ้าแห่งอุปกรณ์หรือแก็ตเจ็ตต่างๆ ซึ่งเจ้าอุปกรณ์ทั้งหลายที่คนญี่ปุ่นและโลกของเราใช้กันอย่างยิบย่อยนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นการย่นระยะเวลาหรือเพิ่มความสะดวกสบายในการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วย
เพื่อนจากอนาคต เมืองอันกลมเกลียวของคนและเครื่องจักร
ประเด็นสำคัญของการวางให้โดราเอมอนเป็นวรรณกรรมไซไฟ คือทำให้เราเห็นว่าทิศทางของญี่ปุ่นที่มีต่ออนาคต ต่อวิทยาศาสตร์ ต่อเทคโนโลยีและต่อหุ่นยนต์นั้น มีความสัมพันธ์กับการมองอนาคตสมัยใหม่ของบริบทญี่ปุ่นร่วมสมัยที่มองเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในแง่ดี คือถ้าเรานึกภาพวรรณกรรมไซไฟอื่นๆ เรามักเห็นภาพอนาคตที่มืดมน เห็นภาพโลกวิทยาศาสตร์ที่ผุๆ พังๆ ทำลายโลก เห็นภาพหุ่นยนต์ที่กลายเป็นศัตรู เห็นความวิตกกังวลของมนุษย์ที่มีต่อปัญญาประดิษฐ์ แต่ในทางกลับกันโดราเอมอนเป็นงานที่พาเราจินตนาการโลกอนาคตอย่างมีความหวัง มองเห็นว่าหลังจากนี้เทคโนโลยีจะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น
การกลับมาสู่อดีตของโดราเอมอนจึงถือเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมญี่ปุ่น และสังคมโลกมองอนาคตที่มนุษย์เราอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ได้อย่างกลมเกลียว อนาคตที่ฟูจิฟูจิโอะพาเรามองไปเป็นโลกที่ประกอบขึ้นด้วยความกลมเกลียว นอกจากคนกับหุ่นยนต์และเทคโนโลยีแล้ว เราจะเห็นภาพของการอยู่ร่วมกันในมิติต่างๆ อนาคตเป็นสิ่งที่เราค่อนข้างตั้งตารอว่าวิทยาการจะพาให้อารยธรรมของเราดีขึ้นแค่ไหน เห็นภาพคน สัตว์ มนุษย์ต่างดาวอยู่ร่วมกันได้ในท้ายที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://readthecloud.co/architecture-in-doraemon/
https://www.ide.go.jp/library/English/Publish/Periodicals/De/pdf/69_04_06.pdf
https://etheses.whiterose.ac.uk/4391/
https://apjjf.org/2021/6/Moore-Atherton.html
https://www.jstor.org/stable/1576597
https://ueno-bunka.jp/en/about/history/
Graphic Design by Prapawit Intun
- Vanat Putnark
Writer