อาคารคางคกยักษ์ ชองเกชอนเมืองไทย ไมอามี่ไทยแลนด์ อาคารพญานาค เสาไฟกินนรี ฯลฯ ภาพสะท้อนภูมิทัศน์แบบไทยๆ ที่โหยหาความเป็นตัวตนของท้องถิ่นผสมกับความเชื่อ อำนาจ การเมือง และการอยากเป็นแบบคนอื่น ซึ่งยากที่จะหาว่าแท้จริงแล้ว ‘เราคือใครกันแน่’ ในสังคมไทยร่วมสมัย
จากเสวนา ‘ภูมิทัศน์แบบไทยๆ’ คืออะไร ตามหาความหมายของความเป็นไทยด้วยงานออกแบบร่วมสมัย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 ที่ผ่านมานั้น ประเด็นเสวนาดังกล่าวก็ทำให้เห็นว่า สิ่งปลูกสร้างนี้เป็นภาพสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างแบบท็อปดาวน์ (top down) ที่ชนชั้นนำไม่ว่าจะเป็นผู้นำทั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ตลอดจนผู้รู้ที่ผูกขาดการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์ในการสร้างภูมิทัศน์เหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงสร้างปัญหาในเชิงการทำลายทรัพยากร ทำลายระบบนิเวศแต่ยังกดทับการทำงานทางความคิดของสังคม ที่พลเมืองสมควรที่จะร่วมคิดเพื่อปลดปล่อยความสร้างสรรค์แบบไทยๆ ที่มีอยู่ในตัวให้เป็นส่วนในการพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมของเราเองได้
เมื่อสังคมถูกกดเราจึงแยกเป็นเสี่ยงๆ ในการต่างคนต่างทำตามช่องทางที่จะหาทำได้ แข่งกันสร้างแข่งกันเด่นโดยไม่มีใครคิดถึงการสร้างเมืองที่ดี ที่มองอย่างองค์รวมอย่างที่ควรจะเป็นร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่ามีโจทย์และความท้าทายมากกว่าเรื่องอัตลักษณ์มาก อาจถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาทบทวนโจทย์ว่าเรายังต้องการแลนด์มาร์กความแปลกใหม่อยู่เหรอ หรือมีโจทย์ที่เราควรพิจารณามากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งอาจต้องหันมาทำความเข้าใจ (emphathy) กับสังคมรวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้างมากขึ้น แม้การท่องเที่ยวนั้นจำเป็นแต่ถ้ามันสร้างเอกลักษณ์ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ หรือแม้กระทั่งในบางกรณีมันอาจถึงจุดที่เราต้องปฏิเสธการพัฒนาบ้าง
เราต้องหยุดโหยหาความเป็นไทยแบบยัดเยียดแบบมีรูปแบบและเปิดโอกาสให้กระบวนการทางความคิดมันทำงานเพื่อให้เอกลักษณ์อันเป็นภาพสะท้อนของท้องถิ่นนั้นๆ ปรากฏตัวขึ้นตามยุคสมัยของมันเอง ซึ่งมันต้องเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมเป็นสำคัญ
สถาปนิกและผู้รู้นั้นจำเป็นต้องเข้ามาเป็นกลไกในการทำให้ความต้องการของสังคมออกมาเป็นกายภาพที่มีความลุ่มลึก และมองไกลสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืน สถาปนิกนั้นต้องรักษาอีโก้ให้มีความสมดุลและใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งสิ่งสำคัญคือการหันมามองเห็นในคุณค่าของแต่ละท้องถิ่นอย่าด้อยค่าความงาม สุนทรียะของใคร เปิดโอกาสให้ความเห็นของทุกคนในสังคมมีที่ยืนอย่างภาคภูมิและเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นนั้นๆ อย่างที่ควรจะเป็น
สังคมทุกวันนี้ตื่นรู้และเริ่มหันมาปฏิเสธมากขึ้นต่อการพัฒนาที่ยัดเยียด ทำลาย หรือขาดการมีส่วนร่วม ที่พร้อมจะลุกขึ้นมาสร้างแรงกดดันให้กลไกของรัฐและผู้มีอำนาจกระจายอำนาจและให้อิสระทางความคิดมากกว่าที่เป็นอยู่
ซึ่งการทำให้สิ่งที่หวังนี้เกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นผ่านการลงมือทำในบทบาทหน้าที่ที่แต่ละคนมี ผ่านการถ่ายทอดความรู้ ปลูกฝังทัศนคติ ผ่านการสร้างงานรูปธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้คือการเก็บแต้มความสำเร็จทีละเล็กละน้อย เพื่อรอวันที่สายลมของการเปลี่ยนแปลงจะมาถึงในเร็ววันนี้ ขออย่าหมดแรงและหมดไฟไปเสียก่อน
ขอขอบคุณผู้ร่วมสนทนาและวิทยากรทุกท่านมากครับ
Graphic Design by Montree Sommut
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker