ทุกวันนี้คุณประสบปัญหาและความท้าทายในการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองบ้างไหม ไม่ว่าจะเรื่องทางเท้าที่ไม่เอื้อต่อการเดินทาง ระบบขนส่งมวลชนที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ พื้นที่สีเขียวที่มีน้อย อยู่ไกล และเข้าถึงยาก ปัญหาน้ำท่วมขังหลังฝนตก หรือจะเป็นสถานการณ์ปัจจุบันอย่างการปรับวิถีการดำเนินชีวิตตามมาตรการต่างๆ ของเมือง
เสียงของผู้คนที่ประสบปัญหานั้นมีพลังในการขับเคลื่อนสังคม และคงไม่มีใครจะเข้าใจปัญหาที่แต่ละคนกำลังประสบได้ดีเท่าตัวคนๆ นั้นเอง หลายๆ เมืองทั่วโลกจึงพยายามสร้างกลไกการพัฒนาเมืองให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาและความท้ายทายที่หลากหลายในเมืองอย่างครอบคลุม ซึ่งคำว่าประชาชนทุกคนในที่นี้ก็รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ของเมืองด้วย
สิทธิเยาวชนกับการพัฒนาเมือง
ในโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เด็กๆ นั้นเติบโตมากับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากพ่อแม่อย่างมาก ทั้งด้านเทคโนโลยีและสภาพสังคม ทำให้เด็กและผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีทักษะ การปรับตัว และวิธีการมองโลกและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน การมีส่วนร่วมของเยาวชนที่มีความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายนี่เองที่เป็นส่วนสำคัญในกลไกการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ โดยนอกจากจะได้ประโยชน์จากความรู้ความเชี่ยวชาญของพวกเขาแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเชิงบุคคลและให้ความรู้ทางทฤษฎีและทักษะในการปฏิบัติแก่เยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตอีกด้วย
การพัฒนากลไกเพื่อให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิญญาสิทธิฉบับแรกพัฒนาโดยสหภาพช่วยเหลือเด็กสากลในเมืองเจนีวา ปี พ.ศ. 2466 และได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสันนิบาตชาติในปีต่อมาภายใต้ช่ือ ‘กฎบัตรสวัสดิภาพเด็กโลก’ และได้รับการประกาศเป็น ‘ปฏิญญาด้านสิทธิเด็ก’ โดยองค์การสหประชาชาติใน พ.ศ. 2502 และเป็นพื้นฐานของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองในปี พ.ศ. 2532 และมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น
ข้อ 12 ของอนุสัญญาฯ ระบุว่า เด็กมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องท่ีเก่ียวข้องและมีอิทธิพลต่อชีวิตของตนเอง และสามารถสร้างอิทธิผลต่อการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะในโรงเรียนหรือชุมชน สิทธิข้อน้ีมองว่า เด็กเป็นบุคคลซึ่งมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในทุกประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา และกําหนดให้ความคิดเห็นดังกล่าวต้องได้รับการรับฟังและให้น้ำหนักอย่างเหมาะสม โดยเด็กควรได้รับข้อมูลท่ีจําเป็นเกี่ยวกับตัวเลือกท่ีมีอยู่และผลกระทบของตัวเลือกนั้นๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถตัดสินใจบนฐานของการมีข้อมูลเพียงพอและเป็นอิสระ
ข้อ 15 ยังระบุว่า เด็กมีสิทธิในการจัดต้ังและเข้าร่วมสมาคมตลอดจนสามารถรวมกลุ่มอย่างสันติ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เข้าร่วมกับกระบวนการทางการเมือง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งสองส่ิงนี้มีความสําาคัญต่อการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของเด็กในการใช้สิทธิของตน
แม้จะมีการประกาศปฏิญญาสิทธิฉบับแรกมาเกือบๆ จะ 100 ปีแล้ว แต่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของเด็กนั้นก็ยังมีอุปสรรคมากมาย เพราะหลายครั้งเด็กและเยาวชนก็ถูกนำมาพูดถึงแค่ในฐานะเป้าหมายของการแก้ปัญหา แต่พวกเขาเองนั้นยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ โดยตัวอย่างการพัฒนาที่เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมและเป็นผู้ขับเคลื่อนอย่างแท้จริงนั้นพึ่งจะเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง
นักออกแบบเมืองรุ่นเยาว์
ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีกรณีศึกษาที่สำคัญในการพัฒนากลไกและโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของเด็กและเยาวชน เช่นประเทศเยอรมนี ปี พ.ศ. 2548 ได้มีการก่อตั้งองค์กรเยาวชน YOUTH ARCHITECTURE CITY (ภาษาเยอรมัน: Jugend Architektur Stadt e.V.) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกําไร มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่านกระบวนการวางแผนและการสร้าง รวมถึงการสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมสรรค์สร้างในหมู่เด็กและเยาวชน โดยการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนเข้าใจสถาปัตยกรรม การออกแบบ ชุมชน พื้นที่สาธารณะ ภูมิทัศน์ เมือง และภูมิภาคของตนมากขึ้น เพื่อให้เด็กสามารถเข้าไปมีบทบาทในการออกแบบพื้นที่นั้น โดยโครงการที่ได้รับการพูดถึงไปทั่วโลก คือโครงการปรับปรุงสนามเด็กเล่นในกรุงเบอร์ลิน ในปี 2557 ซึ่งเหล่านักออกแบบเมืองรุ่นเยาว์เห็นว่าเป็นสถานที่ที่สำคัญกับเด็กๆ ในชุมชน เนื่องจากตั้งอยู่ระหว่างศูนย์สันทนาการสําหรับเด็กและชมรมเยาวชนของเมือง แต่สนามเด็กเล่นดังกล่าวกลับมีสภาพเสื่อมโทรม ไม่เหมาะกับการเข้าไปใช้งาน
การปรับปรุงสนามเด็กเล่นเริ่มต้นขึ้นด้วยการสำรวจพื้นที่ เยาวชนเข้าไปยังสถานที่จริงเพื่อประเมินสภาพปัจจุบันและมีการถ่ายคลิปสัมภาษณ์ สอบถามความคิดเห็นจากผู้คนทุกกลุ่มที่อาศัยในละแวกใกล้เคียงเกี่ยวกับความคาดหวังต่อสนามเด็กเล่น โดยพวกเขาได้จำแนกความคาดหวังและความต้องการออกเป็นกลุ่มต่างๆ และแจกของเล่นตัวต่อให้ทุกคนในจำนวนที่เท่าๆ กัน เพื่อโหวตทิศทางและจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนา ในปีต่อมา YOUTH ARCHITECTURE CITY ก็ช่วยเหลือในการเจรจากับภูมิสถาปนิกที่รับผิดชอบ และสนามเด็กเล่นที่เด็กๆ ช่วยกันคิดและออกแบบก็ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างจริง
RTUS โครงการพัฒนาเมืองผ่านการมีส่วนร่วมของเยาวชน
ที่ผ่านมาในบริบทของประเทศไทย เยาวชนไทยไม่ได้มีช่องทางในการมีส่วนร่วมกับกระบวนการพัฒนาเมืองมากนัก ล่าสุดจึงได้ประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมจากหลากหลายภาคส่วนที่มีประสบการณ์ด้านวัฒนธรรม เยาวชน พลเมืองและการพัฒนาเมือง ได้แก่ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย Goethe-Institut Thailand มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย Thai Civic Education และมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน Child and Youth Media Institute โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป European Union in Thailand ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างการพัฒนาเมืองที่เยาวชนมีส่วนร่วม เกิดเป็นโครงการ ริทัศน์ หรือ RTUS ซึ่งย่อมาจาก ReThink Urban Spaces – การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาชุมชนเมือง เป็นโครงการต่อเนื่อง 18 เดือนที่มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนไทยในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาพื้นที่เมือง รวมถึงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการร่วมมือกันระหว่างเยาวชนจากประเทศไทยและเยาวชนในสหภาพยุโรปในฐานะพลเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพื้นที่และชุมชนเมือง
โครงการริทัศน์จะมีพื้นที่ทำงานใน 5 เมืองของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี หาดใหญ่ และกรุงเทพมหานคร โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น กิจกรรมวงอภิปราย ณ เมืองหาดใหญ่ เมื่อวันพฤหัสที่ 8 เมษายน 2564 ที่เปิดวงสนทนาให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง และเยาวชนในเมืองหาดใหญ่ได้มาพูดคุย แลกเปลี่ยน สะท้อนปัญหาของเมืองกัน เพื่อหาความเป็นไปได้และโอกาสในการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาเมืองหาดใหญ่
และล่าสุดคือกิจกรรม Orientation Weekend ในวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีเยาวชนมากกว่า 80 คน จาก 5 เมือง มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด เพื่อร่วมออกแบบเมืองในฝัน ตลอดจนรวมกลุ่มเพื่อวางแผนทำโปรเจ็กต์การพัฒนาเมืองร่วมกับเยาวชนคนอื่นๆ ในเมืองเดียวกันต่อไปในอนาคต
RTUS จะเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของเยาวชนในประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยตลอดระยะเวลา 18 เดือนของโครงการ น้องๆ เยาวชนจากทั้ง 5 เมืองจะร่วมกันขับเคลื่อนเมืองไปอย่างไรบ้าง พวกเรา City Cracker ขอเชิญชวนให้ทุกท่านติดตามไปพร้อมกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.goethe.de/prj/tus/th/abo/rur.html
https://www.goethe.de/resources/files/pdf229/checkoway_2011_what_is_youth_participation_th.pdf
https://www.goethe.de/resources/files/pdf224/01_heinrich_young_urban_designers_th.pdf
https://web.facebook.com/ReThinkUrbanSpaces/posts/123646916410579