กลายเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่อยู่ๆ แทบจะทั่วประเทศก็เกิดทิวเสาไฟประติมากรรมวิจิตรขึ้น เรื่องความคุ้มค่าก็เรื่องหนึ่ง ความสวยก็อีกเรื่อง คือไม่คุ้มและไม่สวยแหละ ที่แปลกประหลาดอีกอย่างคือเรากลับเจอภาพเสาไฟเหล่านี้ไปปรากฏอยู่ในพื้นที่รกร้าง คือรกร้างในทำนองเป็นพื้นที่ธรรมชาติ ถนนทางเดินมีดงพงหญ้า มีพื้นที่กึ่งป่ารายล้อม กลายเป็นภาพที่เหมือนกับหลุดมาจากหนังมหัศจรรย์สักเรื่อง ผิดที่ผิดทางได้อย่างน่าประหลาดใจ
การกระจายตัวของเสาไฟนี้ เลยนำมาด้วยประเด็นเกี่ยวเนื่องที่น่าวิตกไม่แพ้กับเรื่องอรรถประโยชน์และสุนทรียภาพของพวกมัน คือการที่แนว ‘เสาไฟ’ กระจายตัวเข้าไปในพื้นที่กึ่งธรรมชาติ แสงไฟประดิษฐ์แรงสูงเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ต่อธรรมชาติได้อย่างแน่นอน
ทุกวันนี้เราอาจจะมองภาพของเมืองที่ค่อยๆ ขยายตัวขึ้น และแสงไฟที่สว่างไสวของเมืองที่เคยดับอาจเป็นความงดงาม แต่ทว่าด้วยเมืองที่คืบคลานไปเรื่อยๆ รวมถึงถนนหนทางนั้น เราเองกำลังนำแสงไฟกระจายตัวกินพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่าเหล่าสรรพสัตว์และพืชพรรณในพื้นที่ธรรมชาตินั้น ต่างใช้ชีวิตโดยมีแสงและความมืดตามคาบกลางวันกลางคืนเป็นอิทธิพลสำคัญหนึ่ง แสงไฟของมนุษย์จึงนำไปสู่ความวิตกและผลกระทบที่เรากำลังสร้าง ‘มลภาวะทางแสง’ หรือ Light Pollution ให้กับระบบนิเวศและโลกใบนี้
เอาง่ายๆ ขนาดเราเองก็ยังต้องการพื้นที่มืดๆ ในแง่ของสุนทรียภาพเราคงเคยหลีกลี้หนีเที่ยวไปยังที่ไกลๆ ไกลจากแสงไฟของเมือง เป็นที่ๆ เราสามารถหงายหน้ามองฟ้าและดูดวงดาวได้ กระแสสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติคือการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดมิดเอาไว้ เป็นการอนุรักษ์พื้นที่ที่ห่างไกลจากแสงไฟของมนุษย์เราและรักษาระบบตามธรรมชาติเอาไว้ แม้แต่หลอดไฟ LED เองก็มีความกังวลต่อแสงสีฟ้าจากตัวหลอดด้วย
ความกังวลและผลกระทบของแสงไฟ- ไฟถนนต่อระบบนิเวศ
ภาพของเมือง ถนนหนทาง และทิวเสาไฟที่กระจายตัวไปทุกภูมิภาคของประเทศ ของเมือง และของทวีป จริงๆ นักวิทยาศาสตร์กังวลถึงผลกระทบจากความเจริญที่กำลังแผ่ไพศาลโดยมีความสว่างรุ่งโรจน์เป็นสัญลักษณ์มาตั้งแต่ยุคที่เมืองและถนนหนทางเริ่มขยายตัวใหม่ๆ การศึกษาแรกๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1950 โดยนักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์ที่ศึกษาถึงผลกระทบของแสงไฟที่มีต่อสัตว์ หลังจากนั้นนักชีววิทยาในภูมิภาคอื่นๆ ก็เริ่มศึกษาเรื่องราวในทำนองเดียวกัน นำไปสู่การประชุมจากนักวิจัยทั่วโลกในปี 2002 และกลายเป็นหนังสือว่าด้วยผลกระทบของแสงประดิษฐ์ที่มีต่อระบบนิเวศ และกลายเป็นหนังสือวิชาการในปี 2006 ในชื่อ Ecological Consequences of Artificial Night Lighting เน้นย้ำถึงอาณาเขตและผลกระทบของแสงไฟของเราที่มีต่อโลกใบนี้
ช่วงแรกที่เมืองเกิดขึ้น สรรพสัตว์ยังปรับตัวไม่ทัน และเมืองก็ยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากกิจกรรมของเรามากนัก ผลของแสงไฟจากไฟฟ้าของเราในช่วงแรกส่งผลกระทบต่อสัตว์ในระดับโศกนาฏกรรม ตัวอย่างเช่น ย้อนไปในปี 1990 ที่โตรอนโต แคนาดา ในค่ำคืนหนึ่งคุณ Michael Mesure ผู้สนใจเรื่องตึกสูงและผลกระทบต่อนก รายงานว่าเขาพบซากนกจำนวนมากเกลื่อนถนน และระบุว่าแสงไฟจากอาคารนั้นทำให้นกในเมืองตกลงมาตาย
ปรากฏการณ์นกหลงท่ามกลางตึกสูงเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก แสงไฟของเมืองทำให้นกหลงทิศ และบินชนเข้ากระจกก่อนจะตกลงสู่พื้นถนน หลังจากนั้น Michael Mesure ก็ก่อตั้งองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวเรื่องผลกระทบจากแสงไฟว่าแสงที่เรารู้สึกปลอดภัยนี้ เป็นภัยถึงชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่น ในชื่อว่า Fatal Light Awareness Program (FLAP) องค์กรประเมินว่าตึกสูงของโตรอนโตเป็นผลให้นกตายหลายหมื่นตัวต่อปี โดยมีนกนางแอ่น นกกระจิบ นกโอเวนเบิร์ด นกคิงเล็ต ได้รับผลกระทบมากที่สุด
วิทยาศาสตร์ของแสง และผลกระทบของเราต่อสิ่งมีชีวิต
แน่นอนว่าแสงส่งผลกับคาบและวงจรการใช้ชีวิต ในงานศึกษาชื่อ When Nights Are No Longer Dark: Effects of Artificial Light at Night on Agroecosystems ในวารสาร LED Professional ตีพิมพ์ในปี 2019 ทำการศึกษาผลกระทบของแสงไฟโดยเฉพาะพวกไฟถนนต่อระบบนิเวศที่แม้จะเป็นหลอด LED ก็ตาม งานศึกษาชี้ให้เห็นว่าแสงไฟทั้งในพื้นที่เมืองและใกล้เมืองส่งผลกับสิ่งมีชีวิต ต่อกระบวนการต่างๆ และต่อระบบนิเวศ มีผลต่อทั้งมนุษย์ ต่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ต่อพืช ต่อสัตว์ และต่อเรา ตั้งแต่การออกดอกของต้นไม้ การอพยพของนกและของปลา การล่าเหยื่อของค้างคาวและของผีเสื้อกลางคืน แสงไฟเหล่านี้ส่งผลต่อทุกระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในงานศึกษายกตัวอย่างว่าไฟถนนส่งผลต่อระบบนิเวศได้อย่างมีนัยสำคัญ แสงไฟมีผลทั้งต่อระบบนิเวศของมนุษย์เอง เช่นมีผลต่อพืชผลทางการเกษตร งานศึกษายกตัวอย่างผลต่อแมลง แมลงเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากแสงมากที่สุด การมีอยู่ของไฟเช่นไฟถนน ทำให้อาหารของแมลงบางประเภทลดลง ส่งผลต่อการล่าเหยื่อของแมลงนักล่าทำให้แมลงนักล่าลดจำนวนลง และทำให้การควบคุมประชากรแมลงที่เป็นสัตว์รบกวนเช่นเพลี้ยเป็นไปได้ยากขึ้น เกิดพยาธิและโรคที่เพิ่มขึ้นตามรบกวนสัตว์เหล่านั้น และส่งผลต่อมนุษย์และพืชพรรณในท้ายที่สุด
นึกภาพว่าโคมไฟถนนในที่สุดตัวโคมส่งผลกับลักษณะตามธรรมชาติของระบบนิเวศ ของลักษณะการใช้ชีวิตของแมลง สิ่งมีชีวิตที่ไวต่อแสงก็อาจจะหลบหนีจากโคมไฟถนนในขณะที่แมลงบางจำพวกก็จะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้นในเวลากลางคืน นอกจากนี้มีงานศึกษาที่พบว่าไฟถนนส่งผลต่อพฤติกรรมของแมลงและสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่ผสมเกสร โดยพบว่าแสงจากไฟถนนนั้นทำให้พฤติกรรมการผสมเกสรของมันเปลี่ยนไปทั้งกลางวันและกลางคืน
ไม่นานมานี้ก็มีงานศึกษาตีพิมพ์ในปี 2020 จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ (University of Exeter) สหราชอาณาจักรรวบรวมงานวิจัยว่าด้วยผลกระทบเป็นจำนวนกว่า 100 ชิ้น และยืนยันการศึกษาที่สอดคล้องกันว่า แสงสว่างของเราส่งผลอย่างมีนัยสำคัญกับพืชและสัตว์ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและพฤติกรรม ส่งผลต่อการนอนและเส้นทางของสัตว์ แสงมีผลต่อระดับเมลาโทนินที่ควบคุมพฤติกรรมการนอน ทั้งยังพบว่าแสงไฟแม้ว่ามีระดับต่ำๆ ไม่ต้องจ้าหรือเข้มข้นมากก็ส่งผลกับสิ่งมีชีวิตอยู่ดี
ผู้วิจัยระบุว่าแสงสว่างของเรานั้นส่งผลกับสัตว์ และยกตัวอย่างผลกระทบที่แตกต่างกันต่อสัตว์กลางวันและกลางคืน สัตว์ฟันแทะที่มักเป็นสัตว์กลางคืนก็มีกิจกรรมน้อยลงในช่วงกลางคืน นกที่หากินกลางวันก็ใช้เวลาหากินและทำกิจกรรมยาวนานขึ้น ส่วนแมลงนั้นแสงทำให้กิจกรรมการผสมเกสรลดลง หรือมีรายงานว่าต้นไม้ผลิใบเร็วขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
แน่นอนว่ากิจกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์เรานั้นย่อมส่งผลต่อสิ่งต่างๆ และไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องอยู่กันอย่างมืดมิด ทว่าความตระหนักและความเข้าใจ ตลอดจนการเลือกใช้ เลือกสร้างบนฐานของความเข้าใจของผลกระทบจากการลงมือทำหรือไม่ทำย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาต่อไป
กรณีของเสาไฟอันแปลกประหลาดที่ปรากฏตัวอยู่กลางทุ่ง รายทางถนนดินและคูน้ำอาจมีความจำเป็นต่อชุมชนต่อพื้นที่ก็ได้ แต่ควรต้องแน่ใจว่าผลกระทบของมันมีทั้งที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น กระทบต่อการลงทุน ใช้งบประมาณการพัฒนา ต่อความการมองเห็น ต่อเมือง ต่อชุมชน ทั้งยังส่งผลต่อระบบนิเวศที่เราควรจะต้องมองให้เห็น ต่อสรรพสัตว์ พืช และแมลงที่ในที่สุด คำว่าระบบนิเวศก็คือห่วงโซ่ที่ส่งผลต่อเนื่องกันเป็นวงจรใหญ่
อ้างอิงข้อมูลจาก
besjournals.onlinelibrary.wiley.com
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer