CITY CRACKER

คุยกับว่าน-รัชชุ และ ป่าน-ระภา เรื่องงานออกแบบและการทำงานร่วมกันในฐานะภูมิสถาปนิกจากสองทวีป

เรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอาการหรือ Climate Change เป็นเรื่องที่ทั่วโลกจริงจัง และเรียกร้องให้ทุกๆ คนร่วมสนใจ ปรับตัว รับมือและรับผิดชอบจากสิ่งที่มนุษย์เราได้ทำลงไป และเป็นเป็นการรักษาโลกใบนี้ไว้ให้ใช้ชีวิตอยู่กันต่อไปได้ แต่บางครั้งเรื่องโลกร้อนก็ดูไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นอนาคตอันไกล

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วทาง Non Architecture องค์กรวิชาชีพจากยุโรปที่สนใจงานออกแบบและการรับมือแก้ปัญหาในมิติต่างๆ ก็ได้ออกโจทย์เรื่องพื้นที่สาธารณะในอนาคต และหนึ่งในผู้คว้ารางวัลชนะเลิศก็คือ ‘Emerging Nocturnal Urbanscape’ ผลงานออกแบบร่วมของว่าน-รัชชุ สุระจรัส และป่าน- ระภา สุระจรัส สองพี่น้องที่เราอาจคุ้นเคยจากผลงานแสดงในฐานะนักแสดงวัยรุ่น ที่คราวนี้ทั้งคู่หลังจากจบการศึกษาทางภูมิสถาปัตยกรรมและทำงานเป็นสถาปนิกอาชีพจากสองทวีปแล้ว ทั้งคู่ก็ได้ลงมือร่วมกันศึกษาภาพของอนาคตและออกแบบพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ขึ้น

ความสนุกของงานออกแบบของทั้งคู่คือการกำหนดว่าถ้าโลกเราร้อนขึ้นจนถึงเกณฑ์ตามกำหนด คือร้อนขึ้น 1.5 องศานั้น เราต้องการพื้นที่สาธารณะแบบไหน จะจัดการอย่างไร และสิ่งที่ทั้งคู่เสนอก็แสนจะเท่และแสนจะเรียบง่ายคือถ้าร้อนขึ้น ก็เลื่อนเวลาการใช้ชีวิตไปสามชั่วโมง พื้นที่สาธารณะและชีวิตประจำวันที่เรามักนึกถึงและออกแบบโดยทั่วไปที่เคยมีเวลากลางวันเป็นที่ตั้งจึงเปลี่ยนรูปแบบและความหมาย ทั้งในด้านการรับรู้ของเวลา และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นของมนุษย์ในเมืองใหญ่

การเลื่อนเวลาและการย้ายชีวิตไปใช้ในตอนกลางคืนในอนาคตนี้นั้นอาจฟังดู ‘ง่ายๆ ’ แต่ในการออกแบบข้อเสนอและพื้นที่สาธารณะใหม่นี้ทั้งคู่ได้ทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วน และออกแบบตัวโปรเจคขึ้นอย่างซับซ้อนและรอบด้าน เป็นพื้นที่กลางเมืองใหม่ที่ผสมผสานหลายมิติทั้งพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่ทางสังคมรวมถึงตัวตนของฮ่องกงอันเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่คั่งคู่เลือก

เราอาจพอได้ข่าวว่าว่านรัชชุว่ากำลังอยู่ในเส้นทางของภูมิสถาปนิกอาชีพที่ทำงานอยู่ที่อเมริกา แต่นอกจากว่านแล้ว จากโปรเจคนี้ทำให้เราคุยกับป่าน- ระภา น้องสาวของว่าน ที่เราพบว่าทั้งคู่ไม่ได้เป็นนักแสดงวัยรุ่นอย่างที่เราเคยรู้จัก แต่เติบโตเข้าสู่การเป็นนักออกแบบอาชีพ เป็นคนรุ่นใหม่ที่เก่งกาจทั้งยังมีความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมจนลงมือทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง การพูดคุยในครั้งนี้เราจึงได้คุยกับทั้งคู่ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ความจริงจังต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ รายละเอียดงานออกแบบ จินตนาการถึงอนาคตอันใกล้ พลังพิเศษของนักออกแบบในการพอผู้คนไปสู่และร่วมรับมือกับอนาคต ไปจนถึงการทำงานร่วมกันของสองพี่น้อง ทั้งในมุมของคนที่เติบโตมาด้วยกัน สถาปนิกที่มีความสนใจต่างกัน และการทำงานจากสองฝั่งของโลกที่อาจมีประโยชน์ต่อกันทำงานพอๆ กับการเป็นข้อจำกัดเรื่องระยะทาง

 

 

อยากให้เล่าถึงการประกวดแบบที่โปรเจคพื้นที่สาธารณะ Emerging Nocturnal Urbanscape ของป่านและว่านที่เพิ่งไปชนะรางวัลมาให้ฟังหน่อย เป็นการประกวดอะไร

ว่าน: จริงๆ โปรเจ็กต์การประกวดแบบอันหนึ่งที่ไปเจอมา มันค่อนข้างที่จะแรนดอมมากๆ เราก็ไม่เคยรู้จักกับองค์กรนี้มาก่อน ชื่อ Non Architecture เป็นของยุโรป ตัวเป็นองค์กรทางวิชาชีพ เขา launch ประเด็นออกมาเป็นซีรีส์ต่างๆ  ในตอนนั้นก็จะมีเรื่อง living together ในบรรดาเรื่องที่เขาประกาศออกมาก็เรื่องหนึ่งเป็นเรื่อง healing เกี่ยวกับโควิด ซึ่งส่วนที่เราสนใจ มันจะเป็นหัวข้อที่ชื่อว่า future public space  ตัว requirement หรือประเด็นของการประกวดค่อนข้างจะกว้างมาก ค่อนข้างเปิดโอกาสให้เราได้ต่อไปอีกเยอะ งานประกวดไม่ได้บอกอะไรมากแค่ถามว่า ‘ถ้าจะ define คำว่า future public space ในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสเกลไหน เราจะนำเสนอมันออกมาในรูปแบบไหน’  ซึ่งโจทย์ ก็คือให้ทำแค่ 2 drawing  อันแรกเป็น presentation อันที่สองคือ function แค่นั้นเลยแล้วก็ส่งไปครับ หลักๆ ก็คือเรียบๆ ง่ายๆ แบบนี้ล่ะครับ

 

 

แล้วเราตีโจทย์อย่างไร

ป่าน: ถ้าพูดถึงว่าไอเดียหลักๆ คืออะไร สิ่งที่รู้สึกว่าน่าสนใจที่สุดก็คือคำว่า future เราสองคนพยายามจะค้นหาคำว่า future ในแบบของเราเพราะว่ามันก็เป็นโจทย์ว่าอนาคตนั้นมันอยู่ตรงไหน ซึ่งเราก็มองว่าเราสนใจในเรื่องของ Climate Clock เรื่องของการที่แบบทุกวันนี้โลกมันร้อนขึ้น และเราก็รู้ว่า Climate มันกำลังเปลี่ยนแปลง แต่พอมาถึงจุดๆ หนึ่งมันจะหยุด เมื่อถึงเวลาที่มันจะหยุด อย่างน้อยทุกๆ ที่องศาจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งนั่นก็เป็นจุดที่เราจะ define ว่านี่คือ future ของเรา เมื่อ Climate Clock มันหยุดแล้ว อันนั้นคือไอเดียหลัก

ว่าน: มีบทความหนึ่งเคยพูดเรื่อง climate clock แต่ว่ารู้สึกว่านาฬิกาที่ตั้งอยู่ที่เขา lecture ทุกอย่าง เป็น installation art หนึ่งอันที่ term climate clock มันไม่ใช่เทอมปกติที่เป็นเวลาของสภาพอากาศ แต่มันคือคาร์บอนเครดิตที่มันอยู่ในอากาศว่ามันเหลือเท่าไหร่ แล้ว climate clock คือนาฬิกาอันหนึ่งที่อนุมานขึ้นมาเพื่อบอกว่าเหลือคาร์บอนเครดิตที่เราใช้ๆ ได้อีกกี่ปี ซึ่งก็ไม่ได้เยอะ จะเห็นได้ว่าหลายๆ ประเทศ เช่นอังกฤษ เขาก็พูดขึ้นว่าเขาอยากจะเป็น zero carbon ภายในสิบปี ทุกๆ อย่างมันก็จะถูกเปลี่ยนแปลงตามอนาคตต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่เรามองเห็นและพยายามจะ define คำว่า future ใหม่ นั่นคือวันที่ climate change ไม่ใช่เรื่องของการออกแบบเพื่อป้องกันอีกต่อไปแล้ว แต่มันถึงวันที่มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งถ้า climate clock มันหมด ตาม report มันคือ 1.5 องศาเซลเซียส กับ 2 องศาเซลเซียส ของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change)มันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล ทั้งแบบ biomes แล้วก็การสูญพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ หรือสิ่งมีชีวิตมากมาย

ว่าน: คุยกับป่านอยู่นานว่าจริงๆ แล้ว scenario ที่เราจะเซ็ตขึ้นมาเพื่อหา design proposal สำหรับงานออกแบบชิ้นนี้ควรจะเซ็ตที่ 1.5 หรือ 2 องศาดี ซึ่งมันเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างกันมากๆ ถ้าสมมติคนทั่วโลกเข้าใจเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในช่วงเวลาสิบปี หรือในช่วงเวลาที่ climate clock ยังไม่หมด แล้วมัน maintain ได้ที่ 1.5 องศา ถึงจะขึ้นที่ 1.5 มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่จะน้อยกว่า 2 องศามากๆ สองมากๆ นี่คือ ทุกอย่างแทบอยู่ไม่ได้ โรคระบาดเกิดกระจุยกระจาย พืชพันธุ์ตายหมด ทุกอย่างกลายเป็นสภาพแห้งแล้ง ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราจะเซ็ตที่ 1.5 ที่ไม่ได้ extreme มาก และสองเราไม่สามารถ predict ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และ IPCC ก็ไม่สามารถทำนายได้เช่นกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 

ต้องยอมรับว่าถึงเวลาที่เราต้องคิดแล้วว่าเราจะอยู่ร่วมกันกับมันยังไงมากกว่า เพราะว่าการชะลอ แน่นอนว่าไม่ได้เป็นการหยุดไม่ให้มันเกิดขึ้น แต่ใช้คำว่า postpone คือเลื่อนให้มันเกิดขึ้นช้าลง

ฟังดูน่าคิดดีว่าเราก็คิดเผื่อไปเลยว่าโลกจะร้อนขึ้นถึงจุดนั้นแน่ๆ แบบนี้แปลว่าเราค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายหน่อย?

ป่าน: น่าจะต้องตอบว่างานวิจัยที่เราเลือกมา อย่างเรื่อง report ที่พี่ว่านพูดถึง ตัวที่เขาทำขึ้นมามันมี argument มากมายที่จะซัพพอร์ตว่า เราต้องยอมรับว่าสักวันหนึ่งมันน่าจะไปถึงจุดๆ นั้น มองโลกในแง่ร้ายไหม คิดว่าเป็นการมองโลกตามความเป็นจริงมากกว่า ต้องยอมรับว่าถึงเวลาที่เราต้องคิดแล้วว่าเราจะอยู่ร่วมกันกับมันยังไงมากกว่า เพราะว่าการชะลอ แน่นอนว่าไม่ได้เป็นการหยุดไม่ให้มันเกิดขึ้น แต่ใช้คำว่า postpone คือเลื่อนให้มันเกิดขึ้นช้าลง

คราวนี้เราก็เลยพูดว่า โอเค เรายอมรับว่ามันเกิดขึ้นแน่ๆ อย่างน้อย 1.5 องศา จะเกิดขึ้น แล้วก็มีรีเสิร์ชมากมายที่มาซัพพอร์ตว่า ที่บอกว่ามันจะเกิดขึ้น อะไรบ้าง เกิดเท่าไหร่ ใครคือคนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งเราก็มองว่ามันคงถึงเวลาแล้วที่จะยอมรับความจริงว่ามันจะเกิดขึ้น แล้วเราจะอยู่ร่วมกับมันยังไง จะทำยังไงให้อยู่ร่วมกันได้ เพื่อไม่ให้ไปถึงจุดที่มันถึง 2 องศา หรืออะไรก็ตาม ซึ่งก็คิดว่าอันนั้นเป็นความท้าทายที่ป่านกับพี่ว่านสนใจ แล้วก็สร้าง frame นี้ขึ้นมา

ว่าน: มันเหมือนจินตนาการนิดนึง ใครจะไปรู้วะว่าสมมติโลกมันร้อนขึ้น 1.5 องศา จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาบ้าง แต่ว่า research back up หรือ IPCC เป็น research แรกที่อ่าน และสุดท้ายมันก็จะถูกไปพัฒนาตามที่เขาพูดว่าเลือกไซต์ที่ไหนก็ได้ หรือบางทีมันอาจจะไม่มีไซต์เลยก็ได้ แต่ด้วยความที่เราเป็นอาชีพนี้ ทำงานไม่มีไซต์มันค่อนข้างยาก พอไม่ใช่ context based มันหาเรื่องที่จะไปผูกเพื่อให้ proposal นี้แข็งแรงยาก ตอนทำไซต์ selection ก็เป็นงานหนักมากๆ อยู่เหมือนกัน เพราะทำอาทิตย์สองอาทิตย์ที่เลือกหา climate change ที่ 1.5 องศามันจะเกิดการเปลี่ยนการอะไรขึ้นบ้าง ประเทศไหนมีอะไรบ้าง จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ก็ทำตารางขึ้นมาเปรียบเทียบเลยว่าอะไรที่เราแตะได้แตะไม่ได้ อย่างเรื่องพาหะจากนกแปลว่าอะไรวะ คือมันไม่รู้เลยว่า นกมันเอาอะไรมาวะ หรือการเปลี่ยนแปลงของพืช หรือไฟไหม้อย่างเนี้ย มันก็เป็น issue เดิมๆ ก็เลยคิดว่าเอา issue ใหม่ๆ ที่มันน่าจะส่งผลกระทบมหาศาลกับคนเมืองดีกว่า เลยเลือกฮ่องกงสุดท้าย

 

สมมติทุกวันนี้เราเข้างาน 9 โมง เราเปลี่ยนไปเข้างานเที่ยงแล้วเลิกงาน 3 ทุ่มได้ไหม นั่นแปลว่า public space ที่เรากำลังจะ design มันจะเป็น public space ที่คนส่วนใหญ่จะใช้มันหลัง 3 ทุ่ม ก็คือตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตีสอง

 

อยากให้อธิบายตัวเนื้องานนิดนึงว่าตัวโปรเจกต์นี้ ในที่สุดแล้วพอเรา imagine 1.5 องศาเป็น scenario ขึ้นมาแล้ว เราทำยังไงต่อหลังจากนี้ ข้อเสนอสำคัญของเรา

ป่าน: ตอนที่เรา frame ตัวปัญหาขึ้นมา เรื่อง climate clock จะเป็นประเด็นหลัก แต่ solution หรือว่าไอเดียในการทำ proposal ของพวกเรามัน simple มากๆ เรารู้แล้วว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยเฉพาะฮ่องกงมันเป็นเกาะ เราก็มองว่าฮ่องกงมีเรื่องของการที่จะเป็นที่ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติหลงเหลืออยู่ขณะนั้น เพราะว่าเขาอยู่เป็นเกาะแล้วน้ำทะเลมันก็ขึ้น น้ำทะเลเค็มขึ้น แถมยังเป็นกรดขึ้น แปลว่าทรัพยากรธรรมชาติที่เขาเคยปลูกเองได้จะไม่มี และที่อยู่ก็น้อยลงเรื่อยๆ

คราวนี้เราก็มองว่า public space จะเป็นที่ที่มีค่ามากๆ สำหรับเขา ในขณะเดียวกันฮ่องกงที่ร้อนอยู่แล้ว สภาวะอากาศของเขากับบ้านเราไม่ได้ต่างกันมาก พอมันขึ้นมา 1.5 องศาก็คือร้อน มันอยู่ลำบากแล้ว เลยเสนอว่าถ้าอยู่ลำบากในตอนเวลากลางวันมันอยู่ไม่ได้ ทำไมเราไม่คิดว่าเราจะ shift เวลาของทุกคนให้มาใช้ชีวิตในเวลากลางคืน เราแค่มองว่ามันแค่เป็นการปรับตัวเพื่อเข้ากับอุณหภูมิที่มัน extreme มากๆ แล้วเราก็พยายามจะมองว่าถ้าอยู่ไม่ได้ในตอนกลางวันก็มาอยู่กลางคืนแทน อาจฟังดูบ้าบอ แต่มันเป็นแค่การแบบบวกขึ้นมา 3 ชม.เอง

สมมติทุกวันนี้เราเข้างาน 9 โมง เราเปลี่ยนไปเข้างานเที่ยงแล้วเลิกงาน 3 ทุ่มได้ไหม นั่นแปลว่า public space ที่เรากำลังจะ design มันจะเป็น public space ที่คนส่วนใหญ่จะใช้มันหลัง 3 ทุ่ม ก็คือตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตีสอง นั่นคือช่วงเวลาที่เขาจะใช้ public space ตรงนี้ แปลว่าโจทย์ก็จะเปลี่ยนไปว่าเขาจะทำอะไรกันตอนกลางคืน คงไม่ได้มานั่งปิกนิกหรือบาร์บีคิว คงจะเป็นฟังก์ชั่นของ public space ที่เปลี่ยนไป ซึ่งตรงนี้ก็คือแกนหลักที่เราเสนอที่เราเรียกว่า time shift คือทุกคนบนฮ่องกงจะเป็นมนุษย์กลางคืน จะแบบใช้เวลาและชีวิตส่วนใหญ่อยู่กลางคืนแทนตอนกลางวันมากกว่า

 

 

ฟังดูน่าสนใจดี อยากให้อธิบายเพิ่มถึงรายละเอียดของการออกแบบตัวพื้นที่ที่เลื่อนเวลาไปใช้งานในตอนกลางคืนหน่อย

 ป่าน: คือ public space ที่เรากำลังจะออกแบบมันจะเป็น public space ที่คนส่วนใหญ่จะใช้มันหลัง 3 ทุ่ม ก็คือตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตีสองอะ นั่นคือช่วงเวลาที่เค้าจะใช้ public space ตรงนี้ แปลว่าโจทย์มันก็จะเปลี่ยนไปว่าแบบเขาจะทำอะไรกันวะตอนกลางคืน เขาก็คงไม่ได้มานั่งปิกนิกหรือบาร์บีคิว สิ่งที่เราคือฟังก์ชั่นของ public space ที่เปลี่ยนไป คือทุกคนบนเกาะฮ่องกงจะเป็นมนุษย์กลางคืน จะแบบใช้เวลา ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กลางคืนแทนตอนกลางวันมากกว่า

ว่าน: ถูก จริงๆ การเลื่อน 3 ชั่วโมงมันฟังดูง่าย แต่เราเองก็ discuss กันนานเหมือนกัน หมายถึงว่ามันแค่เปลี่ยน behavior ของคนแทนที่เราจะรีบๆ ออกมาทำงานตอนเช้าแล้วก็อยู่จนถึงหกโมงเย็น แต่ว่าจริงๆ ใครจะไปรู้ว่าหกโมงเย็นที่มันร้อนขึ้น 1.5 องศา มันไม่ใช่แค่ร้อนขึ้นในตอนกลางวันแต่ตอนกลางคืนมันหนาวขึ้นด้วย เพราะว่าอุณหภูมิของแผ่นดินมันก็เปลี่ยนไปจากการที่มันเก็บของร้อนในช่วงกลางวัน ตรงนี้ก็มีผลต่อลมบกลมทะเล แน่นอนอุณหภูมิทั้งกลางวันกลางคืนมันเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะมาก สิ่งที่เราสนใจก็คือถ้าสมมติเราย้ายเวลาคนเข้างานแล้วตอนกลางวันที่มันร้อนมากๆ  ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่เขาทำงาน อยู่ในอาคารอะไรอย่างมันก็จะไม่มีผลอะไรมากมายนัก และก็มันก็เลยนำพาไปสู่ design solution ที่เรานำเสนอว่าจริงๆ เราจะขอ eliminate ถนนเส้นหลัก primary road ของฮ่องกงออกไปเลย แต่ตรงนั้นจะเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่ทำให้ธรรมชาติมา occupied ในช่วงเวลากลางวัน

ซึ่งการปรับมาสู่การใช้ชีวิตกลางคืนมันก็ส่งผลค่อนข้างเยอะ  เช่นเรื่อง service ทั้งหมดอาจจะย้ายมาอยู่ตอนเช้า หกโมงเช้ารถขยะมาเก็บ มันก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่พฤติกรรมของคนก็จะเปลี่ยนไปเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากรูปแบบกายภาพของ public space ในที่สุดมันก็อาจจะไม่มีแล้วเรื่อง territory คือเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ในอาคารกับพื้นที่นอกอาคารอะไรทำนองนี้ครับครับ

 

 

อยากให้อธิบายเรื่องเส้นแบ่ง เรื่องตัวโปรเจ็กต์ที่ดูจะผสมผสานระหว่างพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ธรรมชาติว่าเราใช้มันรับมือภาวะภัยพิบัติได้ยังไง

ป่าน: จริงๆ ตัว pandemic มันก็เป็นเหมือนเราเราเวลาเราคิดอะค่ะ เราจะพยายาม set up ขึ้นมาว่าแบบถ้า scenario นี้คนจะอยู่ร่วมกับไอ้ public space อันนี้ยังไง เช่น ในช่วงเวลาที่อย่างโควิดเอง  เราก็อ๋อจริงๆ น่าจะต้องเล่าถึงเรื่องของตัวหหน้าตาของ public space ก่อน โจทย์นี้คือให้ทำอนาคตของพื้นที่สาธารณะ- future of public space ใช่ไหมคะ พอเราวางอนาคตของเราขึ้นมาแล้ว เรามองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของ public space คือความ inclusive คือที่แบบคนใครก็ตามจะเป็นคุณป้าคุณลุงคนก็ตามสามารถแบบใช้พื้นที่ public space ได้

คราวนี้เราก็มองว่านอกจากตัวเราเรียกว่า natural style  ที่เป็นน้ำๆ เขียวๆ ตรงกลางพื้นที่ ตรงนั้นคือ public space ที่เป็นตัว interact กันระหว่างคนกับสัตว์ คือสัตว์จะมาอยู่ตรงนั้นได้ คือหน้าที่ของมันเป็น พื้นที่รับน้ำเล็กๆ ยอมให้น้ำท่วมได้ ยอมให้ต้นไม้มันขึ้นมาตามธรรมชาติ ให้สัตว์หรือ ระบบนิเวศอันใหม่ที่เข้ากับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น มา occupied ในขณะที่คนจะไปอยู่ตรงขอบของพื้นที่รับรับน้ำหรือพื้นที่ธรรมชาติ

ตัวกล่องสีชมพูรอบๆ คืองานออกแบบที่เราอยากจะให้มันสนุกให้คนรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในการดีไซน์ public space ตรงนีักล่องสีชมพูหรือสีอะไรก็ตาม มันจะเป็นเหมือนเป็นกล่องที่ยื่นออกมาจาก facade ของอาคาร เพราะว่า เวลาคิดถึงฮ่องกงเราจะคิดถึงป้าย ป้าย LED อะไรก็ตามภาษาจีนที่มันแบบว่ามันพุ่งออกมาจากอาคาร

เราก็มองว่าถ้าเกิดเราเอาจุดเด่นแบบฮ่องกงมา ทำให้ใหญ่ขึ้นแล้วให้คน occupied ตรงนั้นได้ สมมติว่าพรุ่งนี้เรานัดเพื่อนแล้วเราก็ไปจองกันว่าฉันจะใช้กล่องชั้นที่สองของบล็อกที่ห้านะ อะไรแบบนี้ คือทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะไปใช้กล่องพวกนั้นของตัวเอง ซึ่งไอ้กล่องพวกนั้นมันก็จะทำงานต่างกัน ในเวลากลางวันมันอาจเป็นที่ตากผ้าของบ้านข้างๆ มาตากผ้ามาทำไรก็ทำไป แต่ว่าในเวลากลางคืนทุกคนต้องเอาผ้าลงนะ เพราะพื้นที่ตรงนั้นจะเป็นพื้นที่ที่ใครก็ได้สามารถไปใช้ อยากจะไปเล่นโยคบนนั้นก็ได้

เพราะฉะนั้นการนำเสนอของเราในสองแผ่น คือแผ่นแรกโชว์การใช้งานช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาหลักที่จะทำงาน ส่วนแผ่นที่สองจะโชว์ว่าตอนกลางวันล่ะมันจะใช้ทำอะไร แล้วถ้าเกิดเป็นโควิดขึ้นมาอีกล่ะทำยังไง ถ้าเกิดน้ำท่วมมันจะเกิดอะไรขึ้น เป็นการโชว์ scenario ที่ต่างกันของ public space

ว่าน: หลักที่อย่างที่ว่านชอบมาก และป่านก็น่าจะชอบมากเหมือนกัน เราพูดกันว่าจะทำยังไงให้คนอยู่สบายในอนาคต เรามองว่าเราต้องการความชื้นให้คนอยู่สบาย ในช่วงเวลากลางวันและก็ตอนกลางคืนก็จะต้องสร้างอากาศที่มันเย็นและก็อยู่สบาย ก็คิดว่า tools หรือเครื่องมือหลักๆ ในบอร์ดที่สอง ถ้าลองดูจะมีคนโยนใบไม้ลงมา คือใบไม้แห้งเป็นเป็นคีย์หลักของการทำให้พื้นที่สีเขียวตรงกลาง เป็นพื้นที่ส่วนร่วมของคนในชุมชน การเปลี่ยนแปลงในเมือง คือมันโคตรเล็กเลย มีใบอยู่หนึ่งใบแล้วก็บอกว่า สิ่งหนึ่งที่ใบไม้จะทำให้เกิดขึ้นคือการปล่อยไว้และย่อยสลายของพื้นที่ตรงกลาง ก็จะเป็นการบำรุงรักษาตัวเอง self-sustaining  ไม่ต้อง maintain บำรุงรักษาอะไรมาก แล้วก็ปล่อยให้ธรรมชาติครอบครองไปเลยและคนไปอยู่ขอบๆ

 

 

อย่างกรณีงานชิ้นนี้ที่ด้านนึงก็ดูเหมือนว่าเรากำลังจินตนาการอนาคตขึ้นมา อีกด้านเราก็กำลังรับมือออกแบบหรือครุ่นคิดกับมันอย่างจริงจัง มองงานชิ้นนี้ของตัวเองยังไงในฐานะนักออกแบบ มันอยู่ตรงกลางระหว่าง visionary และ practicality รึเปล่า

ป่าน: เป็นคำถามที่ดีค่ะ ถ้าถามว่า visionary ไหม ก็ค่อนข้างนะ ด้านหนึ่งเราทำงานโดย build up จากข้อมูลจริง หมายถึงว่าเราคิดวาดอนาคตจากข้อมูลที่เรามีอยู่ จากงานวิจัยมาสนับสนุน แต่ถ้าถามว่ามันเหนือจินตนาการไหม ฟังดูใหญ่มากไหม คือมันอาจจะฟังว่าทั้งสถานการณ์และพื้นที่มันอนาคตมากๆ แต่จริงๆ แล้วเชื่อว่าอนาคตที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ โคตรใกล้เลยนะ 10 ปีใกล้มากๆ คราวนี้ก็เลยมองว่า อันนี้เป็นเหมือนเป็นการฝึกตัวเองมากกว่า ว่าต้องคุ้นเคยกับการดีลกับปัญหาที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วมองว่าอันนี้คือ new normal คือโควิดมันเป็น new normal อยู่แล้วแหละ เรามองว่า new normal ที่กำลังจะมามันคือเรื่องนี้มากกว่า คือ climate change งานออกแบบนี้มันคือการดีไซน์กับ new normal ในอนาคตของพวกเรา เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ามันคือ visionary หรือมันคือ practical ป่านค่อนข้างมองว่ามันคือ practicality มากกว่า

 

น่าคิดว่าคำว่าอนาคตที่ว่ามันไม่ได้ไกลเท่าไหร่

ว่าน: ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้อยู่นะครับ

ป่าน: ยกตัวอย่างแบบที่เนเธอแลนด์ตอนนี้ไม่มีหิมะตกแล้ว โลกมันร้อนจริงๆ หน้าหนาวแต่ยังมียุงอยู่ คือมันแบบมันไม่ปกติ

ว่าน: โคตรประหลาดเลยจริงๆ ที่นี่เหมือนกัน ด้วยความที่เป็นคนไม่ค่อยสังเกตอะไร ซื่อบื้ออะไรอย่างนี้ วันหนึ่งออกบ้านแต่เช้า พอเดินออกไปข้างนอก ถือกาแฟแก้วนึง แล้วก็เห็นท้องฟ้าสีแดง เออวันนี้ตื่นเช้าได้เห็น sunlight พอดี พระอาทิตย์ขึ้นมั้งอะไรอย่างนี้ อ๋อเปล่า ฝุ่นจากไฟไหม้

 

เขาบอกว่าวิธีการที่จะสื่อสารเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คือการสร้าง awareness ให้เขา ไม่ใช่พูดถึง impact ที่มันจะเกิดขึ้นว่ามันจะเสียหายเท่าไหร่ หรือความฉิบหายต่อชีวิต  หายนะมากมายเท่าไหน การสร้างความกลัวไม่ได้เป็นผลดีต่อการให้การศึกษาต่อเรื่องนี้

 

จริงๆ ก็สนุกดี เพราะตอนนี้เรานั่งคุยจากสามทวีป คิดเรื่องอนาคต เรื่องสิ่งแวดล้อมในภาวะที่รอบๆ ตัวเราไม่ปกติจนเป็นปกติ ด้านหนึ่งทางนี้ก็มีคนจากภูมิสถาปัตย์เหมือนกัน คิดว่าการเป็นภูมิสถาปัตย์ของเรามันเกี่ยวข้องกับครุ่นคิดอะไรพวกนี้ไหม

ป่าน: ป่านว่า จะพูดอย่างนั้นก็ได้นะ  ความพิเศษของวิชาชีพภูมิสถาปนิกคือการที่ทำให้สิ่งที่มันดูลอยอยู่ให้มันไม่ลอยได้

ว่าน: อะไรวะ เครื่องบินเหรอ (หัวเราะ)

ป่าน: เออ ยุงมั้ง ยกตัวอย่างเคสที่เราคุยกันอยู่ เราพูดกันว่า ‘ถ้าอย่างนั้นมันเป็นอะไรได้’  เราก็พูดกันว่าโลกมันร้อนขึ้น ทุกคนรู้แหละ ทุกคนรู้ว่ามันร้อนแต่ที่ไทยตอนนี้หนาว ทุกคนรู้ได้ว่ามันเปลี่ยนแปลงไป

 

 

แต่คราวนี้ทุกคนแค่คิดไม่ออก ยังจินตนาการไม่ออกว่าในอนาคตมันจะยังไง เราจะอยู่ร่วมกับมันยังไง  ไอ้เมืองใต้น้ำหรืออะไรอย่างนี้ที่เราเคยเห็นกันตั้งแต่เด็ก มันยาก คราวนี้เราต้องคิด แทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะหายใจใต้น้ำ ก็เลยถึงเวลาที่เราซึ่งเป็นคนที่เห็นภาพ สิ่งที่พวกดีไซน์เนอร์ทำคือทำให้มัน visualize ให้เห็นภาพ ซึ่งถามว่างานออกแบบหรือพื้นที่กายภาพสำคัญไหม ป่านว่ามันอาจจะสำคัญในการสื่อสารแล้วก็ prepare คนให้คุ้นเคยกับ scenario ในอนาคตมากกว่า

ถามว่าดีไซน์กายภาพมันจะหน้าตาอย่างนี้ไหมก็ไม่หรอก ในอนาคตมันอาจจะ advance กว่านี้ น่าเกลียดกว่านี้ แต่ว่าเราน่าจะสร้าง awareness ให้คนจากการเห็นสิ่งนี้ได้ว่าในอนาคตมันอาจจะเป็นอย่างนี้นะ ทำให้เขาคุ้นเคยกับมัน หรือตั้งคำถามกับมันเท่านั้นก็คิดว่าเพียงพอแล้ว

ว่าน: เห็นด้วยมากๆ ถ้าเราได้อ่านบทความมากมายของ social scientist  ว่าด้วย climate change เขาบอกว่าวิธีการที่จะสื่อสารเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คือการสร้าง awareness ให้เขา ไม่ใช่พูดถึง impact ที่มันจะเกิดขึ้นว่ามันจะเสียหายเท่าไหร่ หรือความฉิบหายต่อชีวิต  หายนะมากมายเท่าไหน การสร้างความกลัวไม่ได้เป็นผลดีต่อการให้การศึกษาต่อเรื่องนี้ จริงๆ มันควรจะทำให้ทุกคนคุ้นเคยกับมัน แล้วเรานักออกแบบก็เหมือนกับเป็นเครื่องมือหนึ่ง เป็นคนๆ หนึ่งที่เหมือนกับว่ามาช่วยกัน มาออกไอเดียเหล่านี้ หรือเล่าไอเดียพวกนี้ให้กับคนหมู่มากเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตมากกว่า

 

ตัวโปรเจ็กต์ฟังดูมีเรื่องต้องคิด มีรายละเอียดเยอะมาก ทั้งหมดใช้เวลานานไหม

ว่าน: สองเดือน หมายถึงทำแค่เสาร์อาทิตย์นะครับ เพราะวันธรรมดาทำไม่ไหว มันเหนื่อยมาก ใช้แค่เสาร์อาทิตย์ แล้วก็เวลาคุยก็ยากมากเหมือนกัน

 

 

จากเนื้องานออกแบบ สนใจว่างานชิ้นนี้เหมือนเป็นงานที่ทั้งคู่ทำร่วมกันในฐานะสถาปนิกอาชีพ เป็นยังไงบ้างของการทำงานร่วมกันของสองพี่น้องหลังจากจบปริญญาโท

ว่าน: ว่านเองทำ landscape architecture  แต่ของป่านจะมีแบบขึ้นๆ ลงๆ นิดนึง เพราะพื้นฐานมาจาก INDA (International Program in Design and Architecture) ค่อนข้างค่อนไปทาง architect แล้วป่านค่อยไปทำ landscape แล้วก็ไปเรียน landscape ส่วนตอนนี้ทำงานที่เป็น urban แต่เป็น urban ที่เป็น research base ป่านไม่ได้สนใจเรื่องงานดีไซน์ หรือว่างาน practice เป็นหลักแต่เน้นเป็นเรื่อง research ที่เป็น strategy หลักๆ  ตรงนี้ว่านว่าเป็นข้อดีมาก เราสองคนเหมือนจะเหมือน แต่จริงๆ ไม่เหมือน ตรงนี้กลายเป็นว่าความเป็นพี่น้องกลายเป็นข้อที่สนุกที่สุดที่ทำให้การทำงานมันราบรื่น พอมันเป็นพี่น้องกันมันพูดกันง่ายมาก มันไม่ต้องพูดเยอะ ทำอะไรก็ทำไปเลย

แล้วพอเราเชื่อใจว่าไอ้นี่จะไม่ทำงานกูเสียแน่ๆ แล้วกูก็จะไม่ทำงานมันเสียเหมือนกัน มันก็เลยเป็นว่าพาร์ทไหนที่คนนี้ทำ คนนี้ทำ มันก็จะปล่อยไปเลย ปล่อยได้เลย ไม่ต้องมา ‘จะได้ไหมวะ จะรอดไหม’ แล้วค่อยเอางานไป combine กันทีหลัง ที่สำคัญคือพอมันว่ากันได้ คอมเมนต์กันได้ตรงไปตรงมา ว่านก็คิดว่างานมันก็เลยไปข้างหน้าเรื่อยๆ ก็สนุกดี

ป่าน: ป่านกับพี่ว่านเราทำงานด้วยกันอยู่แล้ว ต้องบอกว่าหลังจากจบปริญญาตรีมาก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันประมาณ 2-3 ปี เรารู้อยู่แล้วว่าเราทำงานด้วยกันได้ เป็นพี่น้องที่ทำงานด้วยกันได้ เพราะมันก็จะมีบางพี่น้องที่ทำแล้วตีกัน แต่ด้วยความที่อายุเราใกล้กันมาก ก็เหมือนเพื่อน คุยได้ ด่าได้ คุยได้แบบสบายใจ พอมาทำด้วยกัน ป่านว่าความลงตัวมันดีอยู่นะ พี่ว่านเขาจะเป็นสายที่ค่อนข้าง concern เรื่อง ecology มาเป็นหลัก ส่วนของป่าน ด้วยความที่ป่านมากจาก base ที่เป็นสถาปัตย์มาก่อน ป่านก็จะสนใจในเรื่อง human behavior มากกว่า

แต่ด้วยความที่เราเรียนปริญญาโทที่เป็น landscape เหมือนกัน แล้วก็โชคดีที่ตอนนี้ field ของ landscape architecture มันก็จะมีทิศทางไปในทางที่ค่อนข้างจะคล้ายกัน ก็คือในเรื่องของ climate change เรื่องของ resilience การปรับตัวอะไรทำนองนั้น คือเรามี knowledge ที่ค่อนข้างคล้ายกัน พอมันมารวมกันมันก็เลยได้เรื่องของ ecology ด้วย แล้วก็ได้ในเรื่องของ urban ด้วย

ซึ่งเราก็คิดว่าการทำ competition อันนี้ มันก็ทำให้ prove บางอย่างว่าเราสามารถแนะนำกันในเรื่องที่เราถนัดต่างกันได้ ก็เลยรู้สึกว่าตรงนั้นคือสิ่งที่ทำให้มันสนุก คือถ้าเราเหมือนกันมากไปมันก็ไม่สนุก เพราะว่ามันไม่ได้เกิดอะไรใหม่ แต่พอมันมีความต่างกันมันก็เลยทำให้งานมันออกมาสนุกมากขึ้น

 

การทำงานจากสองฟากของโลก หรือทำงานร่วมกันระยะไกลมีอุปสรรคไหม หรือมีข้อดีรึเปล่า

ว่าน: รำคาญการคุยโทรศัพท์ครับ มากๆ เป็นคนที่ไม่ชอบคุยโทรศัพท์นานๆ รำคาญ (หัวเราะ) ไม่ได้รำคาญป่าน แต่เสาร์อาทิตย์มันต้องคุย 4 ชั่วโมงอะไรอย่างนี้ แต่มันต้องสื่อสาร จะให้ไลน์พิมพ์คุยกันก็เสียเวลานิดนึง แต่มันก็ทำงานได้นะ ไม่ได้แย่ เวลาป่านนอนว่านก็ทำ

ป่าน: อันนั้นเป็นประเด็นที่ดีค่ะ ประเด็นที่รู้สึกชอบมากคือเวลาของป่านกับพี่ว่านมันต่างกันมาก ประมาณ 9 ชั่วโมง เราก็จะเริ่มด้วย สมมติป่านเริ่มก่อน ป่านเริ่มขึ้นอะไรสักอย่างมา แล้วก็หมดเวลาของป่านแล้วป่านจะไปนอน ป่านก็ส่งงานไปให้พี่ว่าน พี่ว่านก็ตื่นพอดี ป่านก็พิมพ์ไปว่าทำถึงนี่แล้วนะ แล้วป่านก็ไปนอน ระหว่างที่ป่านไปนอนพี่ว่านก็ทำๆ แล้วพอป่านตื่นมามันก็เหมือนงานมันคืบหน้าไปเรื่อยๆ

ว่าน: สองวันของเราเท่ากับสี่วันนะ เพราะมันคนละหนึ่ง เสาร์ว่านกับเสาร์ป่านไปแล้ว ก็อาทิตย์ว่านอาทิตย์ป่าน มันก็ creative ได้ทันที แล้วก็รู้สึกว่ามึงพลาดแบบนี้นี่หว่า งั้นกูต้องเติมแล้ว มันก็เสร็จ ก็สนุกดีนะพอมันไม่ได้ทำช่วงเวลาเดียวกัน overlap time แบบนี้มันก็ดี แต่มันก็มีช่วงเดียว เราจะคุยกันได้แค่เสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่ 11 โมงถึงบ่ายสอง

 

เหมือนโกงเวลาอะไรทำนองนั้น?

ว่าน: โกงเวลานิดนึง เพราะอันนี้จะไม่ทำงานวันธรรรมดา ทำแต่เสาร์อาทิตย์

 

แล้วคิดจะ work on ต่อไปหลังจากสิ่งนี้ไหม

ว่าน: ขอพักก่อน เหนื่อย

 

Share :