CITY CRACKER

ความกลมเกลียวระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ อ่านเมืองและผังเมืองในงานของสตูดิโอจิบลิ

ในช่วงเวลาแห่งการแยกตัว และด้วยความพอเหมาะพอเจาะที่เน็ตฟลิกซ์ได้มีการนำเอาอนิเมขั่นของสตูดิโอจิบลิ ผลงานชั้นแนวหน้าโดยฮายาโอะ มิยาซากิ ถือเป็นความโชคดีหนึ่งที่ช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดนี้ เรามีโลกและเรื่องราวแสนงดงามให้หลบลี้หนีไปดู เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มไล่ดูงานชิ้นสำคัญๆ เช่น Spirited Away ไปจนถึง Howl’s Moving Castle ที่เพิ่งติดสิบอันดับเน็ตฟลิกซ์ไทยและยังไม่หลุดโผจนวันนี้

 

แน่นอนว่างานของมิยาซากิอุดมไปด้วยความสวยงามทั้งภาพ เรื่องราว กระทั่งเสียงเพลง งานดีไซน์แทบจะทุกจุดประณีตละเมียดละไมและเปี่ยมไปด้วยความหมาย โดยนอกจากคาแรคเตอร์แล้ว ความสุขใจเมื่อนั่งดูงานจิบลิก็คือฉากที่งดงาม นอกจากภาพธรรมชาติที่แสนนุ่มนวลแล้วนั้น ฉากเมืองที่ปรากฏอยู่ในเรื่องต่างๆ นั้นก็ต่างเป็นภาพเมืองที่สวยงาม กลมกลืนและกลมเกลียว ถ้าเราพูดแบบร่วมสมัย เมืองที่ปรากฏในการ์ตูนของมิยาซากินั้นย่อมเป็นภาพเมืองในฝันที่ดูจะตอบโจทย์คำว่า ‘ชีวิตที่ดี’ ได้ไม่ยาก

โดยรวมแล้วเราอาจนิยามงานของมิยาซากิคร่าวๆ ได้ว่างานของมิยาซิเป็นงานที่ค่อนไปทางความเป็นอุดมคติ มิยาซากิพาเราไปยังโลกอันอุดมสมบูรณ์ พาเรากลับไปสู่เรื่องราวน่าพิศวงที่สังคมญี่ปุ่นหลังสงครามโลกถวิลหา อันเป็นความปรารถนาดุจเดียวกันกับผู้คนทั่วโลก ภาพของเมืองอันงดงามเปี่ยมไปด้วยจังหวะและความสอด ความกลมเกลียวกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

ถ้าเรามองบริบททั้งของยุคสมัยของญี่ปุ่นและของมิยาซากิเอง โดยเฉพาะความบอบช้ำจากภาวะสงคราม อนิเมชั่นของจิบลิ ที่พยายามสร้างสไตล์ออกจากการ์ตูนแบบดิสนีย์และอนิเมะแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม และเริ่มออกฉายในราวปลายทศวรรษ 1980 นั้น งานของจิบลิจึงเป็นเสมือนการวาดภาพโลกหรือภาวะที่ควรจะเป็น เป็นภาพความฝันที่ผู้คนพึงเป็นหลังภาวะวิกฤติ เป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ทั้งกลมเกลียวและกอปรขึ้นบนความหลากหลาย เป็นพื้นที่เยียวยาจิตใจและสร้างภาพความฝันใหม่ๆ ของชีวิตสมัยใหม่

 

ภูมิหลังของสงครามโลก

ความรู้สึกบาดลึกของญี่ปุ่นจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นบาดแผลที่ฝังรากลึก ตัวฮายาโอะเองเมื่อสมัยเด็ก ตอนอายุได้เพียงสามขวบก็ต้องอพยพลี้ภัยสงคราม ภายในเวลาไม่กี่เดือนเมืองที่เขาลี้ไปก็โดนระเบิดจนต้องระหกระเหินย้ายถิ่นอีกถึง 2 คราต่อเนื่องกัน การเผชิญหน้าการทิ้งระเบิดดูจะสร้างความรู้สึกต่อสงครามให้กับตัวมิยาซากิจนมาปรากฏเป็นประเด็นในงานแทบทุกชิ้น

พูดเรื่องสงคราม สุสานหิ่งห้อยย่อมเป็นหนึ่งในงานชิ้นโบว์แดงที่พูดเรื่องผลกระทบของสงครามโดยตรง ในขณะที่งานชิ้นแรกๆ เช่น Nausicaä  และ Laputa มิยาซากิก็ให้ภาพของเหล่าเครื่องจักร อากาศยาน และกองทัพทหารอันเป็นตัวแทนของวิทยาการมนุษย์ที่รุกล้ำเข้าทำลายธรรมชาติ

เมื่อความเป็นอุดมคติถูกคุกคาม

และแน่นอนว่า การที่มิยาซากิวาดภาพความน่าหวาดหวั่นของสงคราม ดังนั้นเมืองและชีวิตความเป็นไปของเมือง ย่อมต้องมีความกลมเกลียว ซึ่งด้านหนึ่งด้วยความที่โลกของจิบลิมักเป็นดินแดนในจินตนาการ แต่ในความฝันของโลกเสมือนนั้น ก็ดูเหมือนว่าเราจะมีภาพ ‘ความเป็นอุดมคติ’ บางอย่างร่วมกันเสมอ เช่นเราเห็นภาพเมืองที่สงบร่มเย็น มีความพลุกพล่านแต่มีจังหวะของตัวเอง มีระบบขนส่งที่ดี กระทั่งมีผังเมือง มีผู้คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ใช้ชีวิตของตัวเองไปตามครรลอง และเมื่อเริ่มมีภาวะสงครามเข้ามากล้ำกลาย เราเองในฐานะผู้ชม ก็จะเริ่มประหวั่นปนเสียดาย ไม่อยากให้เมืองและชีวิตที่ดีนั้นต้องพังทลายไป

ตัวอย่างเช่นใน Howl’s Moving Castle ที่ประเด็นหลักของเรื่องนอกจากการคลายคำสาปแล้ว ตัวเรื่องยังว่าด้วยสงครามอย่างชัดเจน ในฮาวล์นั้นเราได้เห็นภาพชีวิตความเป็นไปของเมือง ที่มีพ่อมดเป็นส่วนหนึ่งในจังหวะของเมืองแบบจิบลิ ความสนุกหนึ่งของตัวเรื่องคือการที่ร้านของฮาวน์ไปโผล่อยู่ทุกเมืองสำคัญ และเราก็ได้เห็นภูมิทัศน์เมืองอันงดงามที่แตกต่างกันออกไป

ในความสวยงามของภูมิทัศน์เมืองเช่นในฮาวล์ เราเองก็พอจะสัมผัสได้ถึงตัวตนพิเศษของเมืองในแต่ละเมือง เราเห็นการวางผังเมืองที่มีระบบ เห็นโซนต่างๆ ร้านค้า ผู้คนที่ใช้ชีวิตไปมา เป็นความงามของเมืองใหญ่ที่ดูทุกคนจะพึ่งพาขนส่งสาธารณะ สัญจรด้วยการเดินเป็นหลัก และแน่นอนว่าเป็นเมืองที่ร่มรื่น ผู้คนออกมาเดินทอดน่องในเมืองได้อย่างสบาย ก่อนที่เราจะเห็นว่าสงครามกำลังเข้าคุกคามภาพฝันนี้อยู่ตั้งแต่ต้นเรื่อง

เมืองสีเขียว ธรรมชาติที่ไม่แยกจากมหานคร

ภาพเมืองของมิยาซากิ- จริงๆ คือโทนของทั้งเรื่องและทุกเรื่อง งานของจิบลินั้นดูจะถูกย้อมและค่อนไปทางสีโทนเขียวและฟ้าเป็นหลัก เมืองที่สวยงามทั้งหลาย- ที่แน่ละว่าเหมือนเราทุกคนก็รับรู้ว่าเมืองที่ดีนั้นต้องมีธรรมชาติประกอบอยู่ในเมืองด้วยเสมอ

มิยาซากิเป็นผู้สร้างที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติที่มีมิติ เต็มไปด้วยความเคารพต่ออำนาจของสรรพสิ่ง และชี้ให้เห็นว่ามนุษย์และธรรมชาตินั้นแยกขาดออกจากกันไม่ได้ และสำคัญยิ่งคือทั้งมนุษย์และธรรมชาติต่างปรากฏอยู่ร่วมกัน อย่างเคารพและยำเกรงซึ่งกันและกัน

รากฐานความคิดเรื่องความเชื่อมโยงของมนุษย์ ของธรรมชาติ ของสรรพสิ่งไม่ว่าจะมีชีวิตจิตใจหรือไม่มี เป็นสรรพสิ่งของโลกนี้หรือโลกที่ซ้อนทับนั้น ก็มาจากรากฐานความคิดแบบชินโต ที่ว่าด้วยความสอดประสาน และความกลมเกลียวสานทออย่างต่อเนื่องกันไม่สิ้นสุด

ในช่วงเวลาที่ชีวิตเราหน่วงๆ ตึงๆ ช่วงนี้จึงดูไม่ต่างกับภาวะหลังสงคราม จากการทำสงครามกันเองของมนุษย์มาสู่สงครามกับเหล่าเชื้อไวรัสที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ภาพเมืองและโลกในจินตนาการของมิยาซากิ

 

นอกจากจะเป็นพื้นที่แห่งการหลบลี้จากโลกแห่งความจริงแล้ว มิยาซากิยังได้ชวนให้เรานึกภาพถึงความเป็นไปที่ควรจะเป็น อันเป็นภาพที่มิยาซากิวาดให้ชาวญี่ปุ่นยุคหลังสงครามชม และดูเหมือนว่าความสำเร็จของสตูดิโอนั้นก็อาจช่วยยืนยันได้ว่า ภาพความฝันหลังซากปรักหักพัง เป็นสิ่งที่ผู้คนอยากจะร่วมกันฝันอีกครั้ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

nippon.com

researchgate.net

 

Share :