ถ้าขี่จักรยานไปไหนมาไหนได้โดยไม่โดนสอยก็ดีเนอะ ในหลายประเทศการออกแบบถนนหนทางนอกจากจะเน้นให้ความสำคัญกับจักรยานแล้ว กระแสปัจจุบันที่สนใจเรื่องมลพิษ เรื่องการจราจรที่หนาแน่นขึ้นทุกวัน จักรยานเลยกลายมาเป็นวิธีการเดินทางที่สำคัญ จนในหลายประเทศเริ่มลงทุนกับเส้นทางจักรยานขนาดที่ว่าสร้างเป็นทางยกระดับลอยฟ้า ลองนึกภาพการขี่จักรยานในเมืองไปบนทางยกระดับเท่ๆ ดูเป็นเมืองจากโลกอนาคต
คำว่าทางด่วนจักรยานเป็นคำที่ใช้ทั่วไปโดยเฉพาะในเมืองเขียวๆ ที่ส่งเสริมเรื่องจักรยาน หลักการคือเป็นการวางเส้นทางหรือเลนเฉพาะให้คนขี่จักรยานสามารถขี่ทะลุไปตามจุดสำคัญๆ ได้โดยไม่มีการกีดขวางจากยานพาหนะอื่นๆ ช่องทางด่วนนี้ก็มีตั้งแต่เป็นเครือข่ายทางพิเศษสำหรับจักรยานในเมือง ไปจนถึงถนนเส้นพิเศษที่เชื่อมระหว่างเมืองใหญ่ ที่เปิดให้แต่จักรยานเท่านั้นที่เข้าใช้ได้
การตัดเลนพิเศษให้จักรยานดูจะเป็นการตัดเอาถนนบางส่วนจากรถยนต์มาอำนวยความสะดวกให้จักรยาน แต่ตอนหลังเหล่านักออกแบบเมืองและภาครัฐก็รู้สึกว่ายังไม่พอ ขอจัด ‘ทางด่วน’ สร้างทางยกระดับขึ้นมาเพื่อรองรับจักรยานโดยเฉพาะ (บางที่มีแผนถึงขนาดเก็บเงินค่าทางด่วน) เป็นการลงทุน ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ (infrastructure) ในการคมนาคมแบบใหม่ แง่หนึ่งนึกภาพว่าถ้าเมืองเรามีเลนจักรยานพิเศษที่ขี่สะดวก ไปได้ไวกว่า แค่นี้ก็น่าจับจักรยานออกไปนอกบ้าน แถมยิ่งถ้ามีทางด่วนพิเศษทรงท่อล้ำสมัย ออกแบบสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ
เจ้าทางพิเศษจักรยานเกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐในยุคที่จักรยานกำลังเฟื่องฟูตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1800s ตอนนั้นที่แคลิฟอเนียมีการสร้างทางพิเศษสำหรับจักรยานและเก็บค่าผ่านทางเป็นทางด่วนแบบในยุคปัจจุบัน หลังจากนั้นเราก็เข้าสู่ยุครถยนต์ก่อนที่จักรยานจะกลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง และการลงทุนในระดับโครงสร้างพื้นฐาน เมกะโปรเจกต์ทั้งหลายก็เริ่มเปิดพื้นที่ให้กับจักรยาน
City Cracker พาไปดูทางด่วนจักรยานล้ำๆ จากทั่วโลก ตั้งแต่ทางยกระดับสวยๆ ในโคเปนเฮเกน วงเวียนสำหรับจักรยานลอยฟ้าในเนอเธอร์แลนด์ ทางหลวงสำหรับจักรยานที่คลุมด้วยโซลาร์เซลในเกาหลีใต้ ทางยกระดับจักรยานในเมืองจีน ไปจนถึงแบบทางด่วนจักรยานล้ำสมัยในลอนดอน
Bike Superhighway, California
ทางด่วนจักรยานในปี 1890 ฟังดูเป็นไอเดียล้ำสมัย แต่ในช่วงนั้นที่สหรัฐใช้การสัญจรด้วยการเดินเท้าเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เหล่าคนมีตังกำลังเห่อกับการขี่จักรยาน ทางเมืองแคลิฟอเนียได้ออกแผนและสร้างทางด่วนสำหรับจักรยาน ตามแผนคือเป็นทางด่วนจักรยานระยะทาง 6 ไมล์ เชื่อมระหว่างเมือง Pasadena กับย่านดาวน์ทาวน์ใน Los Angeles ในตอนนั้นกำหนดค่าทางด่วนไว้ที่ 10 cent หรือราคาปัจจุบันประมาณ 2.50 เหรียญสหรัฐ ผลคือ ตัวทางด่วนสร้างจริงไปแค่ 1.3 ไมล์ เปิดใช้ได้เพียง 10 ปี ก็ถูกถอนทิ้งเพราะว่าทำเงินไม่ได้อย่างที่วางไว้ เหตุผลสำคัญคือในสมัยนั้นการขี่จักรยานเป็นเรื่องของกิจกรรมยามว่าง ไม่ได้ขี่เพื่อเป็นการเดินทางสัญจรจริงๆ ในชีวิตประจำวัน
Velo-City, Toronto
อันนี้ถือเป็นข้อเสนอนำสมัยในยุคนั้น คือในปี 2004 สถาปนิก Chris Hardwicke เสนอโปรเจกต์ Velo-City ที่พยายามเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นสวรรค์ของจักรยานด้วยเครือข่ายทางจักรยานลอยฟ้า ไม่ใช่แค่ถนนเปล่าๆ แต่ออกแบบให้เป็นทางยกระดับทรงท่อ ประมาณว่าขี่ไปได้สบายๆ ไม่ต้องกังวลว่าสภาพอากาศเป็นยังไง ไม่เปียก ไม่เจอหิมะ ไม่ต้องกลัวเรื่องลม ในตอนนั้นโปรเจกต์นี้ได้รับความสนใจจากสื่อ แต่ในแง่ของการลงทุนก็ค่อนข้างเงียบเหงา สุดท้ายเลยเป็นโปรเจกต์ที่คนแค่กล่าวขานถึง แต่ก็ถือว่าในตอนโน้นได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบเมืองเพื่อจักรยาน
Hovenring, Netherlands
เนเธอแลนด์รักจักรยาน และรักมากจนถึงขนาดสร้างวงเวียนลอยฟ้าสวยๆ สำหรับจักรยานไว้และเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2012 เจ้าวงเวียนอลังการและดูล้ำสมัยนี้สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญและการลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ เป็นวงเวียนทรงกลมที่ปกติจะลงทุนสำหรับรถยนต์ แต่คราวนี้เป็นสะพานแขวนสวยงามที่เปิดใช้สำหรับคนเดินและจักรยานเท่านั้น เจ้า Hovenring วงเวียนลอยฟ้านี้ตั้งอยู่ที่ North Brabant เป็นวงเวียนลอยฟ้าแห่งแรกและกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ใครๆ ก็ต้องมาดูงานสถาปัตยกรรมพิเศษๆ นี้
The Bicycle Snake, Copenhagen
เดนมาร์กเป็นอีกหนึ่งดินแดนแห่งจักรยาน ทางเมืองและนักออกแบบ จึงมีการพัฒนาพวกสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งปลูกสร้างเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยให้กับนักปั่นในเมืองใหญ่ ทางด่วนจักรยานในกรุงโคเปนเฮเกนเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้การขับขี่จักรยานในเมืองเป็นไปได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มเส้นทางการเข้าถึงพื้นต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว The Bicycle Snake เป็นอีกหนึ่งสะพานจักรยานสำคัญที่เปิดใช้ในปี 2014 และกลายมาเป็นตัวแทนความเป็นเมืองจักรยานของกรุง Copenhagen เป็นงานออกแบบและงานก่อสร้างที่นอกจากฟังก์ชั่นเพื่อเชื่อมเมืองแล้ว ตัวงานสถาปัตยกรรมความโค้งมน สีสัน ประกอบเข้ากับงานทางวิศวะกรรมทำให้เจ้าสะพานนี้เป็นอีกหนึ่งสะพานที่แค่ดูก็สวยแล้ว ยิ่งถ้าได้ไปขี่จักรยานบนนั้นก็ยิ่งรู้สึกเต็มตื้นในหัวใจ
Xiamen Bicycle Skyway, Xiamen
หลังจากเจอปัญหาฝุ่นควันและมลพิษ จีนก็ผลักดันตัวเองเข้าสู่เมืองไร้มลพิษ จักรยานจึงเป็นการคมนาคมสำคัญที่จีนส่งเสริม เมือง Xiamen เพิ่งเปิดใช้ทางลอยฟ้ายาวกว่า 5 ไมล์ไปเมื่อปี 2017 เป็นทางลอยยาวๆ ที่ตัดผ่านย่านเศรษฐกิจรถติดกลางเมือง นึกภาพว่าเมืองจีนที่รถติดพอๆ กับกรุงเทพ เจ้าทางจักรยานนี้เป็นช่องทางพิเศษที่คนเบื่อรถติดสามารถขี่ข้ามการจราจรหนาแน่นได้ด้วยจักรยาน การมีสะพานนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้คนหันมาใช้จักรยานแทนรถยนต์ ลดรถติดไปในตัว
Solar Bike Highway, South Korea
Solar Bike Highway เป็นทางหลวงที่มีเลนจักรยานพิเศษที่เกาหลีใต้ ตัวเส้นทางเชื่อมระหว่างเมือง Daejeon และ เมืองSejong ความพิเศษของทางหลวงนี้นอกจากจะวางเลนจักรยานสองเลนพร้อมหลังคาแล้ว ตัวหลังคาทางจักรยานนี้ยังคลุมด้วยโซลาร์เซลที่มีความยาวถึง 20 ไมล์ เจ้าทางจักรยานนี้ทำให้คนขับจักรยานสามารถไปถึงปลายทางได้โดยไม่ต้องผ่านแยกไฟแดง แถมเจ้าโซลาร์เซลยาวเหยียดนี้ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเลี้ยงระบบไฟของทางหลวงได้อย่างเพียงพอด้วย
SkyCycle, London
SkyCycle เป็นโครงการในอนาคตที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่อลังการ เสนอแบบโดยเอเจนซี่ยักษ์ใหญ่แนวหน้า Foster+Partner ตัวโครงการพูดถึงการสร้างโครงข่ายทางยกระดับจักรยานยาว 219 กิโลเมตรเหนือทางรถไฟในลอนดอน คือประมาณว่าจะเปลี่ยนลอนดอนเป็นเมืองแห่งโลกอนาคตที่ผู้คนเดินทางกันด้วยจักรยานบนทิวบ์ลอยฟ้าล้ำสมัย แนวคิดคล้ายๆ กับที่โตรอนโต แต่เสนอให้ทำระบบทางจักรยานล้ำๆ นี้ทั่วทั้งลอนดอนไปเลย เจ้าทางจักรยานนี้เป็นทางด่วนที่ไม่ได้ขึ้นฟรีๆ ในเมื่อลงทุนทำขนาดนี้ก็ต้องมีค่าทางด่วนเหมือนทางด่วนรถด้วย สำหรับงบก็ค่อนข้างหนักมีการประเมินไว้ว่าทั้งโครงการอาจใช้งบสูงถึง 7-8 พันล้านปอนด์
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Maytissa Inharit
- CITY CRACKER
Little crack, hack city.