CITY CRACKER

เมื่อสวนคือการลงทุน แล้วอะไรคือกำไรของพื้นที่สาธารณะ

ถ้าเราอยากมองเห็นอนาคต เราก็อาจลองมองผ่านงานเขียนแนวไซไฟ ยุคหนึ่งโดยเฉพาะยุคอุตสาหกรรม เมืองเต็มไปด้วยมลพิษและการพัฒนาเป็นไปในทางเดียว ภาพของเมืองในอนาคตจึงถูกวาดออกมาเป็นโลกดิสโทเปีย โลกที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันและการแบ่งแยกของผู้คน

 

ดูเหมือนว่าเหล่านักเขียนและผู้กำกับจะเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยเตือนภัยร่วมไปกับนักพัฒนา นักคิด นักอนุรักษ์และอีกหลายๆ นัก ที่ต่างตระหนักว่า เราไม่ควรใช้คำว่า ‘พัฒนา’ ไปสู่ภาพอนาคตที่มืดมนทั้งต่อธรรมชาติ ต่อเมือง และในที่สุดคือต่อมนุษย์ด้วยกันเองแบบนั้น ในหลายประเทศจึงเริ่มยกเลิกการแบ่งแยก ทั้งการแบ่งแยกเมืองออกจากธรรมชาติ และการแบ่งแยกผู้คนด้วยกำแพง

เมืองที่เขียวสดขึ้น พร้อมพื้นที่ ‘สาธารณะ’ จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การพัฒนาที่สำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน แม้ว่าเราจะอยู่ในโลกทุนนิยม เราเองก็เริ่มเห็นคำว่า ‘ไม่ได้หมายถึงเพียงเงินตราหรือตัวเลขกำไรที่ต้องเป็นรูปธรรมเท่านั้น ทุนยังปรากฏอยู่ในหลายรูปแบบ’ การลงทุน และการได้กำไร หลายครั้งจึงซับซ้อนมากกว่าเพียงตัวเงิน แต่ย่อมหมายถึงการสร้างสังคม สร้างความรู้สึก และผลเชิงบวกให้กับพื้นที่โดยรอบด้วย

 

การลงทุนที่เป็นสาธารณะ

เราอยู่ในยุคที่เส้นแบ่งต่างๆ กำลังถูกสลายลง ความเป็นชายความเป็นหญิง สีขาวและสีดำ ในโลกธุรกิจเอง เส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนบุคคล (private) และความเป็นสาธารณะ (public) ก็เริ่มเลือนลงไป ภาคเอกชนเริ่มมองเห็นว่าการลงทุนอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่ตัวเองเท่านั้น แต่แน่ล่ะว่า ภาคเอกชนทั้งหลายต่างอยู่ร่วมอยู่ในสังคม ลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองใหญ่ อยู่ระบบนิเวศที่ซับซ้อนและมหึมาใบนี้

ในปี 2017 ทาง Forbes รายงานว่าตอนนี้นะ การที่ภาคเอกชนหันไปลงทุนพื้นที่สาธารณะกำลังเป็นค่ามาตราฐานสำหรับภาคเอกชน เหตุผลง่ายๆ คือการมีพื้นที่ส่วนกลางให้กับเมือง ให้กับสังคม พื้นที่ตรงกลางตรงนั้นย่อมไปสู่กิจกรรม ไปสู่การรวมตัว แถมการลงทุนสร้างไม่ว่าจะสวนหรือลานกิจกรรม หรือพื้นที่ทางศิลปะย่อมเป็นการจ่ายเงินที่มีความหมาย ในแง่ของนักออกแบบและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอง เมื่อถึงจุดหนึ่ง การออกแบบตึกอาคาร ร้านอาหารทั้งหลายให้สวยงามพร้อมใช้งานได้ดี แล้วงานออกแบบจะช่วยออกแบบชีวิตให้ผู้คนได้ยังไง?

นักออกแบบบอกว่า สิ่งที่ผู้ใช้งานหรือผู้พักอาศัยทั้งหลายต้องการ คือลองนึกภาพเมืองใหญ่อันแสนเคว้งคว้าง เหล่าเจ้าของตั้งแต่ระดับเจ้าของอาคารไปจนถึงรายเล็กๆ เองต่างปรารถนาที่จะเชื่อมต่อเข้าหากัน และสร้างเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายมากกว่าความโดดเดี่ยว

 

ลงทุนร่วมกัน กำไรร่วมกัน

เราเห็นภาพการสร้างสวนสาธารณะ สร้างพื้นที่ร่วมใช้งานกันที่ผลิดอกออกผลกันในหลายประเทศ หนึ่งในตัวอย่างขึ้นหิ้งคือ Millennium Park ในชิคาโก สวนขนาด 24 เอเคอร์ มูลค่า 490 ล้านเหรียญสหรัฐนี้ทางการเมืองชิคาโกลงเงินไป 270 ล้าน พร้อมกับการลงขันจากภาคธุรกิจเช่น บีพีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน และธนาคารเจพีมอร์แกน เชส หลังจากสวนสาธารณะเปิดตัวในปี 2004 หลังจากนั้นในปี 2011 มีการสำรวจมูลค่าและความเคลื่อนไหวหลังจากที่สวนสาธารณะเปิดตัว ผลคือด้วยความที่สวนสร้างบรรยากาศและความคึกคักให้ย่านดาวน์ทาวน์ พื้นที่แถวๆ นั้นจึงมีมูลค่าการลงทุนทั้งจากคอนโดมิเนียมและโรงแรม โดยมีมูลค่ารวมร่วม 2 พันห้าร้อยล้านเหรียญ

การสร้างพื้นที่สาธารณะจึงเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่สำคัญ จากพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ ไปจนถึงสวนขนาดเล็กที่ถูกหยอดลงไปตามพื้นที่ต่างๆ ย่านธุรกิจสำคัญๆ เช่นราชประสงค์บ้านเราเองก็พยายามสร้างแนวคิดการพัฒนาที่แข็งแรง เช่นการจะไปสู่เป้าหมายการเป็นย่านช้อปปิ้งที่เทียบเท่าถนนหรือจัตุรัสสำคัญของโลก แนวคิดที่กำลังดำเนินอยู่ เช่นมีปทุมวนานุรักษ์ ไปจนถึงการใช้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เช่นตำแหน่งแห่งที่ของเทพเจ้าและความเชื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของย่านและไลฟ์สไตล์ของคนเมือง

 

หลังจากนี้เอง จากสวนขนาดใหญ่ไปสู่บริบทพิเศษของย่าน นำไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ในการสร้างและออกแบบย่าน และสร้างพื้นที่สาธารณะที่นอกจากจะสร้างความคึกคักให้กับคนโดยรอบแล้ว ยังนำไปสู่การดึงดูดผู้คน ดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นพื้นที่แห่งความคึกคัก เป็นส่วนหนึ่งของผลกำไรทั้งผู้ประกอบการและของเมืองที่ทั้งนำผู้คนเข้าหากัน และสร้างมูลค่าและกิจกรรมทางเศรษกิจไปด้วยในตัว

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
home.kpmg
forbes.com
marketingoops.com

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :