เมื่อเราอยู่ในเมืองที่ไม่ได้ออกแบบและมีสภาพแวดล้อมที่ดี เพราะการพัฒนาเมืองของบ้านเรายังตกอยู่ในวิธีคิดแบบเก่า ที่รัฐคือคนคิด สร้าง ลงทุน และบริหารจัดการ ซึ่งไม่มีทางที่จะทำได้ตรงใจและทันท่วงที ตัวพื้นที่สาธารณะของเราเองก็ขาดทั้งคุณภาพและปริมาณ ขาดมืออาชีพในการบริหารจัดการ ขาดการออกแบบที่ดี ขาดการวางแผนหรือบางทีมีแผนแล้วแต่กลับขาดการขับเคลื่อน แล้วทำไมรัฐไม่เปิดโอกาสให้สังคมมีส่วนในการลงทุนและบริหารจัดการพื้นที่มากมายให้เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างชีวิตให้กับเมืองและผู้คนได้
การเปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วนให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะนี้ ล่าสุดเมืองโตรอนโต ประเทศแคนนาดา ได้พัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนความยาว 1.75 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ที่ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีในการดำเนินการ และใช้งบลงทุนกว่า 49 ล้านเหรียญ ครั้งหนึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นขอบของชายฝั่งก่อนที่จะมีการถมทะเลออกไป ทางด่วนนี้ตัดขาดและสร้างพื้นที่เสื่อมโทรมทั้งๆ ที่ตรงนี้อยู่ใจกลางเมืองสามารถเชื่อมต่อกับสถานที่สำคัญได้ ไม่ว่าจะเป็นย่านประวัติศาสตร์ ย่านธุรกิจ และที่พักอาศัยโดยรอบ
หลังจากสร้างเสร็จพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนแห่งนี้ได้สร้างชีวิตชีวาให้กับย่านโดยรอบ มีคนมาใช้ราว 20,000 คนต่อวัน ไม่ใช่เพราะอยู่ในจุดที่เชื่อมย่านต่างๆ ได้ดีแล้ว แต่ยังมีการออกแบบให้รองรับกิจกรรมที่ตอบสนองวิถีชีวิตยุคใหม่ได้หลากหลายทั้งกิจกรรมทางกีฬาและศิลปะวัฒนธรรมแต่สิ่งสำคัญของความสำเร็จในการสร้างพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนแห่งนี้ คือ การร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และประชาสังคม แล้วทั้งสามส่วนนี้ทำงานร่วมกันอย่างไร
1. มีการระดมทุนของเอกชนเพื่อมาใช้ในการก่อสร้างร่วมกับงบประมาณของรัฐ โดยเอกชนบริจาคเงินกว่าครึ่งหนึ่งของค่าก่อสร้างทั้งหมด
2. มีการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นกับชุมชนโดยรอบและ stakeholders เพื่อให้ได้มาในแบบที่ชุมชนต้องการและตรงกับเป้าหมายการพัฒนา
3. เมื่อแล้วเสร็จมีการจัดตั้งองค์กร non profit มาบริหารโดยเฉพาะ ใช้ทีมงานมืออาชีพในการบริหารจัดการพื้นที่เชิงรุก ให้มีกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดทั้งปี ไม่ทิ้งร้าง และมีการประชาสัมพันธ์สื่อสารอย่างต่อเนื่อง
4. งบประมาณที่ใช้ในการบริหารจัดการและจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ ได้มาจากเงินบริจาคของเอกชนทั้งรายใหญ่ รายเล็กและบุคคลทั่วไป
วิธีการพัฒนาเมืองแบบนี้มันกำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมว่า เราต้องหันมา ‘ลงทุน’ เพื่อพื้นที่สาธารณะของเมืองได้แล้ว เพราะเรื่องนี้ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเราโดยตรง ส่งผลความเป็นอยู่ ซึ่งรัฐเองก็ควรเปิดโอกาส สร้างกลไกกระจายอำนาจในการพัฒนาเมืองให้เราทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างเมือง เพราะการพัฒนาเมืองที่ผ่านมาและที่เห็นอยู่ ณ เวลานี้มันพิสูจน์แล้วว่า รัฐไม่สามรถทำได้เพียงลำพัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Thitapron Waiudomwut
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker