CITY CRACKER

Wildlife Crossing เมื่อสรรพสัตว์ก็ต้องข้ามสะพานลอย

ไม่ใช่แค่เราหรือในเมืองเท่านั้นที่ต้องการสะพานลอยเพื่อความปลอดภัย แต่เมื่อมนุษย์เราตัดถนนขนาดใหญ่ข้ามป่าเขา สร้างความเดือดร้อนให้กับสรรพสัตว์แล้ว เราเองก็ต้องพยายามรับผิดชอบแก้ไขด้วย ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเองทยอยสร้าง ‘สะพานสัตว์ข้าม’ (wildlife crossing) เป็นสะพานขนาดใหญ่ที่ข้ามถนนสายหลัก ด้านบนปกคลุมด้วยพืชพรรณ เจ้าสะพานนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่ดูจะจำเป็นเมื่อเราไปก่อกวนที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์

 

ในประเทศแถบตะวันตกเจ้าสะพานสัตว์นี้ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความนิยม ถนนทางหลวงจำนวนมากตัดผ่านเส้นป่าเขาไปจนถึงพื้นที่อุทยานที่มีสรรพสัตว์ชุกชุม ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น ถนนก็คือถนน พวกกวาง แรคคูน หมี ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรข้ามกันไปเรื่อยเปื่อยจนเกิดอุบัติเหตุ มีการรายงานความเสียหายจากการที่รถชนเข้ากับสัตว์ป่า ในปี 1996 การประมาณการว่ายุโรปเผชิญกับอุบัติเหตุรถชนสัตว์ปีละ 5 แสนกรณี ในนั้นเป็นผู้เสียชีวิต 300 ราย แถมนักอนุรักษ์ยังพบว่าพวกสิ่งปลูกสร้างของเราที่ไปรบกวนแหล่งอาศัยตามธรรมชาติทำให้จำนวนประชากรของสัตว์ลดลงด้วย

เจ้าสะพานสัตว์ดูน่าตื่นตาตื่นใจด้วยโครงสร้างและพื้นผิวที่คลุมด้วยพืชพรรณ เริ่มต้นสร้างขึ้นราวทศวรรษ 1950s ที่ฝรั่งเศส หลังจากนั้นหลายประเทศในยุโรป เช่นเนเธอแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์และเยอรมันที่ต่างเผชิญกับปัญหาการไปตัดถนนรุกร้ำที่ธรรมชาติและกังวลกับประเด็นเรื่องสัตว์และสิ่งแวดล้อมก็เริ่มสร้างสะพานสัตว์ข้ามจนเป็นสิ่งปลูกสร้างที่พบได้ทั่วไป เช่นในเนเธอแลนด์มีการสร้างสะพานและอุโมงค์น้อยใหญ่เพื่อช่วยดูแลรักษาสัตว์กว่า 600 แห่ง ในขณะที่สหรัฐและแคนาดาเองก็รับเอาสะพานสัตว์ข้ามมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานการตัดถนนหลวงด้วยเช่นกัน ภายหลัง สะพานและอุโมงค์สัตว์ข้ามได้รับความนิยมไปทั่วโลก

มีรายงานว่าการเพิ่มสะพานหรืออุโมงค์สำหรับสัตว์จะไปเพิ่มงบการก่อสร้างโดยรวมประมาณ 7-8 % ในแง่ความคุ้มค่าทั้งเชิงนิเวศวิทยา อุบัติเหตุไปจนถึงการเสียชีวิตและทรัพย์สินทั้งของผู้ขับขี่และสรรพสัตว์ก็ฟังดูเป็นการเติมงบที่น่าสนใจ ในขณะที่ประเด็นเรื่องว่าตกลงแล้วทางสัตว์ข้ามนี้มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ถ้ามองว่าเป้าหมายคือการทำให้สัตว์ข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย ในหลายพื้นที่ เช่น ที่ Arizona มีรายงานว่าหลังจากติดตั้งอุโมงค์และสะพานสำหรับสัตว์ (พร้อมกับทำรั้วกั้น) แล้ว อุบัติเหตุทางรถยนต์จากการชนสัตว์ลดลงไป 90% ในขณะที่หลายพื้นที่ก็สงสัยเหมือนกันจึงพยายามติดตามว่า เอ้อ สร้างแล้วสัตว์มันช้ามจริงไหมนะ ที่ Banff National Park ใน Canada มีการเก็บสถิติว่านับตั้งแต่สร้างสะพานและทางลอดสำหรับสัตว์มาตั้งแต่ปี 1996 ถึงปี 2014 มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มาใช้สะพานถึง 150,000 ตัว เช่น หมีกริซลี่ หมีดำ หมาป่าคาโยตี้ แมวป่า กวางมูส และอีกสารพัดกวาง

 

Wildlife Overpass

khao yai-Tublarn, Thailand

เป็นอีกหนึ่งเรื่องน่าตื่นเต้นของปีนี้ที่บ้านเราก็จะมีสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ เป็นสะพานขนาดยักษ์ที่สร้างเพื่อสรรพสัตว์และผืนป่าเหมือนนานาประเทศ อุโมงค์สัตว์ข้ามแห่งแรกของประเทศไทยสร้างและเปิดใช้ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตัวสะพานตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป้าหมายหลักของทางเชื่อมคือการเชื่อมผืนป่าสำคัญสองแห่งคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลานเข้าด้วยกัน ตัวสะพานก็เหมือนกับในหลายประเทศคือสร้างเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ 2 ช่วง ด้านบนถมดินให้สัตว์ผ่านไป-มาได้ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาถนนหลวงเพื่อให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์พื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ นอกจากอุโมงค์นี้แล้วยังมีการสร้างสะพานยกระดับอีก 3 จุด เป็นสะพานที่รถวิ่งด้านบน ส่วนด้านล่างสัตว์สามารถลอดสะพานข้ามไปสู่ป่าอีกฝั่งได

 

B38 

Birkenau, Germany

สะพานหน้าตาน่ารักนี้ตั้งอยู่บนมอเตอร์เวย์สาย B38 ของเยอรมัน ลักษณะสำคัญของตัวสะพานสัตว์ข้ามคือการใช้พืชและต้นไม้เป็นแนวป้องกันตามธรรมชาติเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ตกลงมาจากสะพาน เมื่อมองจากมุมมองของถนนจึงเห็นเป็นอุโมงค์ทรงโค้งรับกับแนวต้นไม้ด้านบน

 

Highway 93

Montana, USA

สะพานสัตว์ข้ามบนทางหลวงหมายเลข 93 ตั้งอยู่ใน Flathead Indian Reservation ทางทิศตะวันตกของเมือง Montana ถนนหลวงเส้นนี้ตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ขนาด 1938 ตารางไมล์อันเป็นดินแดนที่อยู่ของชาวอเมริกันพื้นเมือง 3 เผ่า อุโมงค์สัตว์ข้ามที่มอนทาน่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางหลวงเพื่อแก้ปัญหาและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับสหรัฐเองเริ่มมีการตื่นตัวและปรับปรุงทางหลวงทั้งหมดโดยคำนึงถึงสรรพสัตว์โดยรอบในช่วงปี 2006 มีการติดตั้งอุโมงค์ รั้ว ทางข้ามเพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุทั้งจากรถยนต์และจากสัตว์ป่า หลังจากการปรับปรุงมีรายงานว่ามีสัตว์อย่างน้อย 25 สายพันธุ์นับตั้งแต่หมีกริซลี่ เก้งกวางไปจนถึงตัวนากน้ำจืดที่ใช้ทางข้ามที่ได้รับการปรับปรุงนี้

 

Banff National Park

Alberta, Canada

อุโมงค์สัตว์ข้ามที่ดูเท่ๆ ผสมผสานระหว่างสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์และพืชพรรณที่อยู่ด้านบนนี้เป็นสะพานสัตว์ข้ามแห่งแรกของแคนาดาใน Banff National Park มีอายุเก่าแก่กว่า 20 ปี นึกภาพย้อนกลับไป 20 ปีก่อน การลงทุนก่ออุโมงค์ขนาดยักษ์พร้อมติดตั้งแนวรั้วตามท้องถนนถือเป็นเมกะโปรเจคและเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยเชื่อถือเท่าไหร่ ตอนที่สะพานนี้ถูกสร้างขึ้นดูจะเป็นแค่การเสียเงิน 2-3 ล้านเหรียญไปเปล่าๆ แต่หลังจากนั้นนักชีววิทยาและนักออกแบบจึงสำรวจ เก็บข้อมูล เน้นการออกแบบพืชพรรณและโครงสร้างให้เหมาะกับการใช้งานของสัตว์ ผลคือปัจจุบันแคนาดามีอุโมงค์ทางข้ามใหญ่ๆ ทั้งหมด 6 แห่ง และทางลอดสำหรับสัตว์อีก 38 แห่ง มีรายงานว่าสัตว์หลักแสนตัวที่ใช้งาน และทางเชื่อมต่อเหล่านี้ถือเป็นความสำเร็จในการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับผืนป่า

 

Highway A50

Veluwe, Netherlands

เนเธอแลนด์มีทางข้ามสำหรับสัตว์กว่า 66 แห่ง ทางหลวงหมายเลข A50 ถือเป็นทางหลวงสำคัญที่วิ่งข้ามผ่านประเทศของเนเธอแลนด์ ด้วยความที่เป็นเส้นทางหลวงรถยนต์จึงวิ่งด้วยความเร็วสูง และบางส่วนของทางหลวงตัดผ่าน the Veluwe พื้นที่ทางธรรมชาติที่สำคัญ เนเธอแลนด์จึงมีการสร้างอุโมงค์สัตว์ข้ามหลายแห่งโดยเรียกเป็นภาษาดัชต์ว่า Ecoducts สำหรับเจ้า ecoduct บนทางหลวงสาย A50 มีการสร้างขึ้น 2 สะพานในช่วงปี 1988 มีรายงานว่าสองสะพานนี้มีกวางและหมูป่ามาใช้บริการราว 5,000 ตัวต่อปี

 

Eco-Link

Mandai Lake Road, Singapore

แน่นอนว่านวัตกรรมสิ่งปลูกสร้างเขียวๆ เพื่อธรรมชาติ สิงคโปร์ต้องไม่พลาดที่จะมีสะพานสัตว์ข้ามเพื่อเชื่อมต่อผืนป่า ที่สิงคโปร์มีการสร้าง Eco-Link ไว้สองแห่ง แห่งแรกเปิดใช้งานในปี 2013 เรียกว่า Eco-Link@BKE เป็นอุโมงค์สัตว์ข้ามที่พาดบนทางหลวง Bukit Timah Expressway เป็นทางสีเขียวที่เชื่อมระหว่างเขตอนุรักษ์ Bukit Timah และ Central Catchment nature reserves โดยในปี 2019 ทางสิงคโปร์เตรียมเปิดใช้ Eco-Link ที่ Mandai เป็นอุโมงค์สัตว์ข้ามบนนถนน Mandai Lake Road ถนนที่ตัดพื้นที่อนุรักษ์ Central Catchment Nature Reserve สำหรับ Eco-Link ของสิงคโปร์มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ตัวนิ่ม มดและกระรอก

 

Red Crab Bridge

Christmas, Island

ไม่ใช่แค่สัตว์บกที่มีสะพาน แต่ที่อุทยานแห่งชาติเกาะ Christmas Island เองก็มีการสร้างสะพานไว้ให้สำหรับปูแดง (Red Crab) ไว้บนเกาะด้วย ด้วยความที่ทุกปีปูแดงจะต้องมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน แต่ทีนี้พอเป็นอุทยานก็มีการตัดถนน การอพยพของปูนับล้านตัวจึงเกลื่อนถนนและเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุฆาตกรรมหมู่ ทางอุทยานก็เลยทำแผงกั้นและสร้างสะพานลอยเพื่อให้ปูแดงเหล่านั้นข้ามถนน ในทุกๆ ปี สะพานปูนี้เลยกลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ ใครๆ ก็อยากเห็นปูข้ามสะพานลอย

 

Tunnel for turtle

Kyoto-Nara, Japan

มาที่ญี่ปุ่น ดินแดนท่องเที่ยวสำคัญของไทย อันนี้ไม่เชิงเป็นสะพาน แต่เป็นอุโมงค์เล็กๆ คือเรารู้จักดีว่าญี่ปุ่นใช้ขนส่งมวลชนระบบรางเป็นสำคัญ แต่รถไฟฟ้าญี่ปุ่นที่เกรียงไกรนี้ก็เป็นอันสะดุดเพราะดันมีเต่าไปข้ามและติดจนถูกรถไฟฟ้าทับ มีรายงานว่าในช่วงปี 2003-2014 ที่เกียวโตและนารามีรายงานรถไฟทับเต่าจนทำให้การเดินรถสะดุด (และเราทราบดีว่าตารางรถไฟของญี่ปุ่นจะสะดุดไม่ได้ แถมเต่าก็น่าสงสาร) ที่เมืองนาราทาง West Japan Railway ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Suma Aqualife Park สร้างท่อทางเดินรูปตัว U ไว้ใต้รางรถไฟเพื่อให้เต่าน้อยสามารถลอดได้อยู่รอดปลอดภัย ทางบริษัทรถไฟจะตรวจท่อนี้ทุกๆ เดือนว่าเต่าตกค้างรึเปล่า ถ้าเจอก็จะนำส่งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

thebeatnews.org

bloximages.chicago2.vip.townnews.com

missoulian.com

canadiangeographic.ca

squarespace.com

unusualplaces.org

straitstimes.com

telegraph.co.uk

citylab.com
asahi.com

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :