CITY CRACKER

‘เข้าใจแก่นของพุทธ ตีโจทย์การใช้งาน’ งานออกแบบสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา ของ ‘สมชาย จงแสง’

ในวงการสถาปนิกคงรู้จักคุณ สมชาย จงแสง แห่ง DECA Atelier เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ปี 2552 กันเป็นอย่างดี นอกจากการเป็นนักออกแบบที่โดดเด่นด้านงานออกแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น เขายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบอาคารต่างๆ ของสถานปฏิบัติธรรมอย่าง ‘เสถียรธรรมสถาน’ ที่เป็นการนำเอาคติทางศาสนามาผนวกร่วมกับความรู้ จนกลายมาเป็นงานออกแบบที่ทั้งฟังก์ชันและตีความสิ่งที่เป็นนามธรรมออกมาได้อย่างลึกซึ้ง

สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา หรืออาคารทางศาสนา คืองานออกแบบที่สัมพันธ์กับเรื่องความเชื่อ ความศรัทธา ตลอดจนขนบประเพณีดั้งเดิม เป็นการนำศรัทธาอันเป็นนามธรรมมาสะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรม และสะท้อนให้เห็นเป็นกายภาพเชิงประจักษ์ ด้วยงานออกแบบประเภทนี้ยึดโยงอยู่กับศรัทธาความเชื่อ วันนี้ City Cracker จึงได้ชวนคุณ สมชาย จงแสง สนทนาถึงกระบวนการ และแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อให้เข้าใจการทำงาน การคิด และการตีความศรัทธาความเชื่อออกมาให้เห็นเป็นกายภาพ

เจดีย์พระมงคลกิตติธาดา วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ออกแบบโดย Deca Atelier

City Cracker: อยากให้ช่วยนิยามว่า อะไรคือสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสานสถาน

สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา หมายถึง สิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณวัด เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ อาคารหรือสถาปัตยกรรมทางศาสนามีหลายอย่างเช่น โบสถ์ วิหาร ลานธรรม กุฎิ เจดีย์ อาคารปฏิบัติธรรมทั้งผู้อาศัยและมาปฏิบัติ ศาลาต่างๆ ทั้งเพื่อการภาวนาและสันทนาการ รวมถึงหอสวดมนต์ นี่คือตัวอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของอาคารทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา

บรรยากาศภายใน เจดีย์พระมงคลกิตติธาดา วัดป่าวิเวกธรรมชาน์

City Cracker: สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา คืองานออกแบบที่พัฒนามาจากสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างความเชื่อในการออกแบบตีความนามธรรมให้เป็นฟังก์ชันหรือรูปธรรมอย่างไร

นอกจากฟังก์ชันการใช้งานแล้ว การตีความน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การออกแบบศาสนสถานแตกต่างจากงานออกแบบทั่วไปในสายวิชาชีพ การออกแบบศาสนสถานก็เริ่มจากการศึกษาโครงการ ทั้งเรื่องการใช้งาน ประโยชน์ใช้สอย แล้วจึงเป็นเรื่องการตีความ โดยศึกษาอ้างอิงคำสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎก หรือจากคำสอนของครูบาอาจารย์ รวมถึงการศึกษาด้วยตนเอง หรือคำแนะนำจากผู้รู้ โดยนำทั้งหมดมาประมวล แล้วจึงออกแบบโดยการแทนค่าหาความหมายด้วยสื่อสัญลักษณ์ที่เป็นนัยยะทางธรรม หรือบางครั้งก็เป็นการผสมผสานการใช้งานเพื่อให้ตอบโจทย์ที่เหมาะสม ทั้งกับชุมชนและงบประมาณของวัด เช่น ศาลาอุโบสถ เป็นการนำลักษณะอาคารทางศาสนา 2 ประเภท มาผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ศาลาการเปรียญที่ใช้ทำงานบุญของประชาชน รวมกับอุโบสถที่พระสงฆ์ในวัดใช้ทำสังฆกรรมลงอุโบสถร่วมกัน แม้กระทั่งการออกแบบกุฎิ ที่เน้นความเป็นสัปปายะ ความพอเหมาะพอดี เสนาสนะอันเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ควรต้องตอบโจทย์เรื่องการภาวนา อันเป็นวัตรปฏิบัติสำคัญของท่าน

ส่วนการออกแบบที่พักอาศัยของผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องให้ความสำคัญกับการใช้สอยที่ไม่มาก เพื่อความสุขง่ายและใช้งบน้อยๆ อีกทั้งต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และต้องไม่ใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น หากเราเริ่มคิดตั้งแต่ต้นกระบวนการมันก็จะเป็นระบบ ทั้งเรื่องความมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยของผู้ใช้อาคาร การใช้วัสดุก็ต้องตอบโจทย์ทั้งงบประมาณและการดูแลรักษาง่าย ที่ไปได้กับบริบท ทั้งทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อม

เสถียรธรรมสถาน ย่านวัชรพล กรุงเทพฯ

City Cracker: ในการออกแบบได้ใส่ความเป็นสมัยใหม่เพื่อให้แตกต่างจากขนบดั้งเดิมไหม

ความร่วมสมัยเป็นความแตกต่างจากขนบเดิมที่ได้เพิ่มเติมลงไปในโครงการ ที่เป็นอาคารทางพุทธศาสนา เช่น การออกแบบอนุสรณ์สถาน (เจดีย์) ที่เน้นความสำคัญด้วยการตีความ แทนค่าด้วยการใช้สัญลักษณ์และสื่อนัยยะทางธรรมเพื่อสร้างสัญลักษณ์สำคัญที่แตกต่างทั้งที่มาและเหตุแห่งการสร้างเจดีย์ มีการลดลงของลวดลาย และองค์ประกอบ งานประดับตกแต่งภายใน เป็นเรื่องสำคัญที่ต่างไปจากขนบเดิม ด้วยการมุ่งไปที่คำสอนของพระพุทธองค์ ที่เน้นเรื่องการละ การวาง ในสิ่งที่เกินจำเป็น การออกแบบจึงเหลือเพียงแก่น ที่เป็นแกนหลักทางพุทธศาสนาและสถาปัตยกรรม

มีการออกแบบที่เรียบง่าย สื่อความหมายที่เป็นนัยยะทางธรรม รวมถึงการออกแบบให้พื้นที่ภายในได้กลับมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ถือเป็นความใหม่ที่ร่วมสมัยและแตกต่างจากขนบเดิม นอกจากนี้ การก่อสร้างก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่แตกต่างทั้งวิธีคิดและการทำงานก่อสร้างแบบเดิม รวมถึงเรื่องเวลาและงบประมาณ เราต้องเข้าใจว่าปัจจัยที่นำมาก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นเงินทำบุญ แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ในทางธุรกิจ งบประมาณการก่อสร้างอาคารทางศาสนาเป็นการระดมทุน ระดมบุญจากผู้มีจิตศรัทธา การใช้จ่ายเงินจึงต้องคุ้มค่า ต้องใช้เฉพาะในส่วนที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ รวมทั้งวิธีการก่อสร้าง และการเลือกใช้วัสดุ ต้องตอบโจทย์ทั้งความรวดเร็ว ประหยัดงบประมาณ ดูแลรักษาง่ายไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ความคงทนถาวรอย่างน้อย 50-100 ปี จึงเป็นเรื่องที่งานออกแบบและก่อสร้างต้องคำนึงถึง

เสถียรธรรมสถาน ย่านวัชรพล กรุงเทพฯ

สุดท้ายคือการนำวัสดุเก่ากลับมาใช้ น้ำพุแห่งปัญญา สถูปมนต์ลอยน้ำเพื่อการภาวนา เป็นโคงการล่าสุดที่ได้ออกแบบให้กับเสถียรธรรมสถาน 2 ที่แก่งกระจาน คือคณะสังฆะของแม่ชีจะใช้สถานที่นี้เพื่อการสวดมนต์ภาวนา ที่มาที่ไปของโครงการจริงๆ เป็นความร่วมสมัยในเรื่องการนำวัสดุเก่ากลับมาใช้ประโยชน์ เดิมคือทางเสถียรฯ จะมีโฟมขนาดใหญ่เก่าๆ จำนวนหลายสิบก้อนที่เลิกจากการใช้งานจากฐานสถูปมนต์เดิม เรามีไอเดียว่าจะนำวัสดุเก่ามาใช้ประโยชน์ด้วยการนำมาต่อเป็นแพ เพื่อใช้เป็นหอสวดมนต์ลอยน้ำ อันนี้ก็จะเป็นการประยุกต์การใช้ประโยชน์ทั้งวัสดุและการก่อสร้างอาคาร ที่ประหยัดและได้ประโยชน์ ทั้งง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนมากขึ้น

เสถียรธรรมสถาน ย่านวัชรพล กรุงเทพฯ

City Cracker: ศาสนาสถานคืองานออกแบบที่เป็น mega structure เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ในการสร้างมีการคำนึงถึงความสำคัญเรื่องอะไรบ้าง

อาคารแต่ละอาคารจะมีพื้นที่สำหรับการใช้ประโยชน์ในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน มีทั้งโครงสร้างขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะทำศาลาสำหรับผู้คนมาสันทนาการก็ต้องคิดว่าคนที่จะมาใช้งานนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ต่อมาก็ต้องคิดเรื่องการก่อสร้างซึ่งจะคำนึงถึงเรื่องความประหยัดและได้ประโยชน์ อย่างศาลาวงพระจันทร์จะเห็นว่าวิธีการสร้างดูง่ายมาก โครงสร้างเป็นเหล็กถักเล็กๆ เพื่อให้รูปทรงเป็นอิสระ โครงหลังคาก็จะเบาและบาง การออกแบบจึงแตกต่างจากโครงสร้างอาคารทั่วไป ทั้งที่ศาลาพระจันทร์ใช้โครงสร้างง่ายๆ ขนาดไม่ใหญ่ แต่สามารถครอบคลุมพื้นที่จุคนได้เยอะ และใช้ประโยชน์ได้มาก

อนุสรณ์สถานเจดีย์ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโร

City Cracker: งานออกแบบพุทธศาสนาสถานจะยึดโยงกับเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาของคน การออกแบบงานประเภทนี้มีความท้าทายมากน้อยแค่ไหน

งานออกแบบศาสนสถานจะท้าทายแทบทุกงาน โดยเฉพาะงานที่เป็นงานใหม่ที่แตกต่างจากงานที่เคยทำมา มันจะท้าทายทั้งวิธีการคิดงบประมาณและเทคนิคการก่อสร้าง โจทย์คือเราจะสร้างลักษณะเฉพาะให้กับงานนั้นๆ ได้อย่างไร เมื่อเราออกแบบสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา โจทย์นี้ก็จะต่างออกไป เพราะทฤษฎีที่เราเคยเรียน เคยปฏิบัติอาจจะนำมาใช้ไม่ได้ทั้งหมด ด้วยเหตุที่มีทัศนคติทางความเชื่อของพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่าง ศาลาพระจันทร์ การนำเรื่องราวของพระจันทร์มาเป็นแกนความคิด โดยอ้างอิงคำสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎก ที่พูดถึงภิกษุว่า ให้ภิกษุทำตัวเหมือนพระจันทร์ เพราะในความมืดพระจันทร์จะส่องสว่างทุกที่ทุกแห่งหน แม้น้ำในหลุมบ่อที่แตกต่างก็ส่องสว่างโดยเท่าเทียมกัน เพื่อให้ศาลาที่ออกแบบช่วยให้ผู้ปฏิบัติทุกคนเข้าถึงธรรมได้โดยเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ เป็นการแทนค่าและสื่อถึงนัยยะทางธรรมะ

ในทางสถาปัตยกรรม การนำเสนอความใหม่ที่แตกต่างของการใช้พื้นที่บริเวณอัฒจันทร์ตรงกลาง ด้วยวิธีการออกแบบที่ต้องการนำเสนอประสบการณ์ของพื้นที่ระหว่างภายนอกและภายในอาคารที่เรียกว่า in between space เพื่อการใช้งานทั้งประชุม สัมมนา สวดมนต์และภาวนาในพื้นที่ที่แตกต่างจากเดิมที่เคยเป็น

ศาลาอุโบสถ ดอยม่อนนครธรรม นางจามเทวี

City Cracker: พุทธศาสนาเป็นเหมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ งานออกแบบของเสถียรธรรมสถานจะช่วยสนับสนุนอะไรให้กับชุมชนและผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม

การพัฒนาเมือง ชุมชน หรือสังคม ต้องพัฒนาคนควบคู่ไปด้วย การพัฒนาด้านจิตใจของคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ การเข้าใจแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ต้องเกิดจากการปฏิบัติ ต่างจากการอ่าน การท่องจำ การศึกษาจากตำรา หรือการฟังจากเรื่องเล่าสืบต่อกันมา พระพุทธองค์ทรงเน้นเรื่องการเข้าถึง เข้าใจเหตุและผลที่เกิดจากการปฏิบัติ เพราะเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าเป็นผู้สามารถฝึกได้ ด้วยการเป็นผู้ลงทุนในเหตุ เพราะเมื่อเหตุดี ผลย่อมดีตามแต่เหตุ สังคม ชุมชน จะเป็นเช่นไรย่อมขึ้นแต่เหตุ คือประชาชนหรือคนในสังคมนั้นๆ

Photo by Deca Atelier
Share :